วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ สมเกียรติ ตั้งนโม

สัมภาษณ์ สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สถานการณ์: รัฐประหารครั้งนี้เปรียบเสมือนนิทานในเรื่อง สิงโตกับหมาจิ้งจอก

สัมภาษณ์ โดยอรรคพล สาตุ้ม

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ทีมข่าวประชาไท ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อาจารย์ สมเกรียติ ตั้งนโม หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารผ่านมาในช่วง 3 วันแล้ว โดยทีมงานข่าวประชาไทเริ่มตั้งคำถามต่อข้อสังเกตในคำว่า ปฏิวัติ รัฐประหาร ที่เรียกกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอาจารย์ใช้คำว่าปฏิวัติ และทีมข่าวประชาไทก็ใช้คำว่าปฏิวัติในคำพูดของอาจารย์ต่อการเรียบเรียงบทสัมภาษณ์นี้ และในการวิเคราะห์สถานการณ์ อาจารย์สมเกรียติได้กล่าวเปรียบเปรียบการปฏิวัติครั้งนี้เปรียบเสมือนนิทานเรื่องสิงโต หมาจิ้งจอก แย่งชิงกินไก่

การรัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่หรือไม่ อย่างไร
ผมว่ามันเป็นไม่มีอะไรใหม่ ผมว่ามันเป็นการช่วงชิงอำนาจปกครองของผู้นำสองกลุ่ม ซึ่งพยายามขึ้นมานำตลอดเวลา ผมเล่านิทานให้ฟังละกัน สิงโตกับหมาจิ้งจอก สิงโตก็อยากกินไก่ ในขณะเดียวกันหมาจิ้งจอกก็อยากกินไก่ แต่ปรากฏว่าวิธีการสิงโตใช้วิธีการตะครุบไก่เลย แต่วิธีการของหมาจิ้งจอกไม่ใช้วิธีการนี้ และใช้วิธีการพูดให้ไก่เดินออกมาจากกรงมาให้มันกิน ซึ่งวิธีการมันเป็นคนละอย่างกันระหว่าง ฉะนั้นในขณะนั้นสิงโตเห็นว่าหมาจิ้งจอกกำลังจะกินไก่ จึงตะครุบทั้งหมาจิ้งจอกและไก่พร้อมกัน ในขณะที่ไก่ยังคาอยู่ที่ปากของหมาจิ้งจอก ดังนั้น ผมคิดว่าเล่านิทานให้ฟังเท่าที่ผมแสดงความคิดเห็นต่อการเหตุการณ์ครั้งนี้

ทำไมทหารต้องแสดงบทบาทในครั้งนี้
ทำไมทหารต้องออกมา ผมขอเล่าก่อนว่า เกมนี้มันเป็นเกมที่ค่อนข้างซับซ้อน เกมนี้ก็คือว่า มันเป็นเกมช่วงชิงอำนาจนำ ฝ่ายหนึ่งได้ใช้กระบวนการศาลในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม ผมคิดว่าเฉพาะเกมนี้ก็พอแล้ว ถ้าเกิดมันเป็นตามขั้นตอน แต่ข่าวที่ผมได้ก็คือว่าวิธีการ กระบวนการของศาลนี้ มันเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และขณะที่ดำเนินคดีอยู่ เนื่องจากมีข่าวว่าฝ่ายที่กำลังถูกทำการดำเนินคดี จะปฏิวัติ ด้วยเหตุดังนั้นทหารจึงรีบชิงอำนาจปฏิวัติก่อน ทั้งทีมีกระบวนการทางศาลกำลังดำเนินคดีกับนักการเมือง ที่มีความผิดอยู่หลายข้อกล่าวหาที่เป็นไปได้ว่า จะกำจัดนักการเมืองทำผิดประพฤติมิชอบได้ โดยศาลที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในระหว่างนั้น ข่าวที่ผมได้นั้น ว่าจะมีการปฏิวัติก่อน แต่วิธีการของศาลจะช้าเกินไปกว่าจะดำเนินคดีสิ้นสุดลง กลับกันมันผลักให้มีการช่วงชิงปฏิวัติ หลังจากเหตุการณ์นี้ ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปหมดเลย

ภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด ต่อปัญหาในอนาคต
ประการแรก ถ้าปล่อยให้กลไกตามประชาธิปไตยตามทิศทางที่เรียกว่า เปรมาธิปไตยแล้ว จะเกิดผลที่ตามมาคือนายทหาร นักธุรกิจ จะเข้ามาหาผลประโยชน์ร่วมกันในการบริหารประเทศ และประการสอง เราต้องช่วงชิงการออกแบบให้ฝั่งเรามากขึ้น ดูตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 เป็นฐานในส่วนที่ดี เรื่องพลเมือง มีส่วนของข้อดีให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อ และข้อด้อย ที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ให้อำนาจแก่คณะผู้บริหารมากเกินไป และส่วนของรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายคณะปฏิรูปฯกำลังร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องฟื้นฟูสิทธิชุมชนสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งอำนาจขององค์กรอิสระที่คอยควบคุมรัฐ และผมมีข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ทำหน้าที่เป็นกลไกตรวจสอบรัฐ และนักการเมือง ในที่นี่คือรัฐธรรมนูญที่ทางเราควรช่วงชิงมาให้ได้ในส่วนของฉบับที่ 2 จะได้เป็นของประชาชน ส่วนหน้าที่ในกลไกของรัฐสภาถูกปิดกั้น และคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่จะมีขึ้นไม่ควรเกี่ยวข้องรัฐสภา และจะวางแผนไม่ให้ถูกแทรกแซง ซึ่งทั้งหมดของภาพรวมประกอบด้วยขั้นตอน มีการไต่สวน เช่น ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ก้าวต่อไปของภาพรวมที่เราไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเลยจะตกภายใต้อำนาจของ เปรมมาธิปไตยอย่างเดียว ซึ่งทางที่สอง คือการปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2540 ดังที่กล่าวไปแล้ว

ทำไมการเคลื่อนไหวในเรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญถูกลบออกไป
ก่อนหน้านี้สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ได้วางแผนการปฏิรูปหลังเลือกตั้ง เขาคิดจะปฏิรูปหลังตุลาคม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวเลย เพราะการปฏิวัติของทหาร จึงส่งผลต่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ด้วย เราก็เลยจะออกแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถานการณ์ ขณะนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะหลักการปกครองโดยทหาร มาจากต้องการของคณะทหาร แต่ไม่ใช่องค์ประกอบส่วนรวม มีฉันทามติร่วมกัน ดังเช่นแถลงการณ์คณะปฏิรูปฯ ซึ่งมีมาตรการออกมาไม่มีโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย

ทางออกของสถานการณ์
เราคงทำในแง่ของสัญลักษณ์ เช่น เปิดไฟหน้ารถยนต์ทุกเวลา ฉายความสว่างให้กับความมืดของประชาธิปไตย หรือแต่งชุดดำ หรือให้คณะปฏิรูปเปิดกระดานสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดกระดานข่าวรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอแนวคิดทำกระดานสำหรับเสนอความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อช่วงชิงจากคณะปฏิรูป ซึ่งมีแต่พวกเนติบริกร ทำให้รัฐธรรมนูญ มีแต่พวกนักเทคนิค ชนชั้นสูง แต่ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะประชาชนไม่ช่วงชิงอำนาจ แต่ยืนยันการมีส่วนรวมในการร่างรัฐธรรมนูญ



สถานการณ์จะอึมครึมอีกนานแค่ไหน
แน่นอนว่าทหารก็ยังคุมอำนาจการบริหารประเทศอยู่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี แต่สถานการณ์ขึ้นอยู่กับว่าพลังของประชาชนในภาคส่วนต่างๆว่าเราไม่เห็นด้วยและอยากได้ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

*หมายเหตุที่มาจากประชาไท
http://www.prachatai.com/node/9823/talk

ที่มาจากเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย
http://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=149