วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

“บอง ชวลิต” ชาติไทยในมุมมองจากคอนโดฯ

“บอง ชวลิต” ชาติไทยในมุมมองจากคอนโดฯ
Sun, 2009-11-15 04:03
อรรคพล สาตุ้ม

คำว่า “บอง ชวลิต” และบทบาทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
การตอบโต้ของไทยต่อกรณีที่สมเด็จฯ ฮุนเซน แต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และประกาศว่าทักษิณ “เป็นเพื่อนคนหนึ่ง” นั้นเนื่องมาจากความเป็นเพื่อนบ้านไร้พรมแดน (1) กล่าวคือ ความสัมพันธ์ของ พล.อ.ชวลิต-ฮุนเซน-ทักษิณ สืบเนื่องมาตั้งแต่การพูดคุยแบบพี่น้องที่มีสายสัมพันธ์มายาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่พล.อ.ชวลิต ช่วยสร้างสันติภาพให้กัมพูชา โดย พล.อ. ชวลิต กล่าวว่า“ “ฮุนเซน” เรียกผมว่า “บอง ชวลิต” ทุกคำเขาบอกว่าผมเป็นพี่ชายของเขา โดย พล.อ.ชวลิตเล่าไว้ และกล่าวต่อว่า “โอ้ย ผมเป็นซุปเปอร์นายกฯ ไม่ใช่คุย แต่ relation กับเพื่อนบ้านที่ผมสร้างเอาไว้นาน มันมหาศาลไม่ใช่แค่พี่น้อง partnership แต่เป็น Family เดียวกันยิ่งกับผู้นำพม่า เราถือว่าเป็น Brother กันเลย….”

เมื่อเราพินิจคำว่า “บอง ชวลิต” ที่ฮุนเซนใช้เรียก พล.อ.ชวลิต แปลความหมายมาเป็นไทยว่า ผมเป็นพี่ชายของฮุน เซน สิ่งนี้สะท้อนถึงการโยงใยของคำ ร่องรอยความคิด และความเชื่อของไทย โดยคำว่า "พี่น้อง" เป็นการกล่าวถึงเรื่องของพี่น้องหรือเป็นการนับญาติ เรานึกถึงตัวอย่างในชีวิตประจำวันได้ เช่น การเรียกกระเป๋ารถเมล์ว่า พี่ ทั้งที่ไม่ใช่พี่แท้ๆ ตามลำดับญาติก็ตาม

ในทางเดียวกัน คำว่า ครอบครัว เป็นการนับญาติของคนไทย เพราะระบบญาติขยายวงศ์เป็นเหตุให้ใช้ศัพท์ทางญาติกับคนที่ไม่ใช่ญาติแพร่หลายทั่วไป การเรียกคนว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา เช่นเดียวกันกับการเรียกว่า ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ (2) การใช้คำเรียกดังกล่าวในด้านหนึ่งมันเป็นผลดีแก่ผู้ใช้ศัพท์เรียกผู้อื่นว่า “…ลุง พี่ น้อง ทำให้ผู้ถูกเรียก รู้สึกความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม และส่วนความเป็นมาของการพยายามเรียกผู้อื่นให้ใช้คำว่า “ท่าน” ก็มีในสมัยจอมพล ป.พยายามให้เกิดความเป็นอารยะเยี่ยงชาติตะวันตก โดยส่วนใหญ่แล้วก็นิยมใช้คำว่า “ท่าน” หรือ “คุณ” เป็นภาษาทางการมากกว่าในชีวิตประจำวันที่มีการใช้ศัพท์เรียกว่าพี่ น้อง..” (3) นั่นก็คือ มันจะไม่ประสบความสำเร็จในการใช้คำศัพท์ดังกล่าวเหมือนกับคำว่า “สวัสดี” ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไป พล.อ.ชวลิต ซึ่งเคยมีบทบาทในการเจรจาสันติภาพให้กับเขมร 4 ฝ่ายนั้น ในสมัยที่ พล.อ.ชวลิต เป็นนายกรัฐมนตรี “…ในสมัยที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งในกัมพูชาปี 1998 ในช่วงเดือนตุลาคมที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาตินั้นได้ถือโอกาสจัดตั้งกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า เพื่อนกัมพูชา (Friend of Cambodia) โดยมีนาย ประจวบ ไชยสาสน์ เป็นรมต.ต่างประเทศไทย ทำงานเป็นแกนสำคัญในการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยปัญหากัมพูชามาแล้ว..” (4)

เรื่องราวของถ้อยคำจากอดีตจนถึงยุคปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงการค่อยๆ พยายามขยายความหมายของคำว่า พี่น้อง เพื่อน และครอบครัวของไทย ไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในทางกลับกัน การตอบโต้ของรัฐบาลซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งกับกัมพูชา เช่น ข้อความในถ้อยแถลงให้เหลือเพียงคำๆ เดียวว่า “ทักษิณ” ของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (5) กลับเป็นการลดทอนความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คำว่า “ทักษิณ” นำไปสู่การวิเคราะห์ของสื่อมวลชนไทยในเชิงลบต่อเรื่องกัมพูชาในความเป็นพี่น้องของ พล.อ.ชวลิต และความเป็นเพื่อนของทักษิณและให้แคบลงเพียงเรื่องผลประโยชน์และความสัมพันธ์ส่วนตัวเท่านั้น มันทำให้นึกถึงสำนวนทำนองว่า “มีเงินเรียกน้อง มีทองเรียกพี่ ไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่นับพี่นับน้อง” แต่แน่นอนว่า รมต.ต่างประเทศนามว่า กษิต ภิรมย์ ซึ่งเคยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในอดีต จะไม่สามารถสร้างเพื่อนกับสมเด็จฯ ฮุนเซนได้ เพราะคำว่า “ทักษิณ” ไปจนถึงคำว่า “บอง ชวลิต” มีนัยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงต่อการสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน นั่นก็คือ พล.อ.ชวลิต ในฐานะรัฐบาลจากในอดีตสามารถสร้างความสัมพันธ์อาเซียนใหม่ต่อกัมพูชาแตกต่างจาก กษิต ภิรมย์ และอภิสิทธิ์ ในปัจจุบัน


ชีวิตประจำวันของพล.อ.ชวลิต และมุมมองจากคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา

จากชีวประวัติของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นามสกุลยงใจยุทธนั้น สืบเชื้อสายมาจากเชื้อพระวงศ์ของลาว พล.อ.ชวลิตเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และอดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ชวลิต เป็นเจ้าของสมญา “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” ผู้ประสบความสำเร็จในเรื่องเคยต่อสู้ชนะคอมมิวนิสต์ พล.อ.ชวลิต ก็เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในขณะดำรงตำแหน่งทางทหาร พล.อ.ชวลิตเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่คนแรก พล.อ.ชวลิต เป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย และพล.อ.ชวลิต ก็มีคะแนนเสียงหนาแน่นในจังหวัดนครพนม โดยสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเรียก พล.อ.ชวลิต ว่า “บิ๊กจิ๋ว” ส่วนในพื้นที่ภาคอีสานเรียก พล.อ.ชวลิตว่า “พ่อใหญ่จิ๋ว” นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกฉายาหนึ่งว่า “จิ๋วหวานเจี๊ยบ” จากการมีบุคลิกพูดจาอ่อนนุ่ม ฯลฯ เป็นต้น

ที่น่าสนใจ ภาพชีวิตประจำวันของพล.อ.ชวลิตถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสื่อมติชนสุดสัปดาห์ฯ ว่า “…ชีวิตของพล.อ.ชวลิตอยู่บนชั้นที่ 23 ของรีเวอร์ไรน์คอนโดมีเนียม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตื่นมาก็เห็นสายน้ำ ก่อนนอนก็เห็นสายน้ำที่ไหลทอดยาวไม่เคยหยุดนิ่ง แม้แต่ตื่นมากลางดึกตีหนึ่งตีสองที่พล.อ.ชวลิตมักจะตื่นมาใช้ความคิด และวางแผนปฏิบัติการต่างๆ ก็ที่ริมระเบียงแม่น้ำนี่แหละ เขาจึงอาจกำลังกลายเป็น นักฆ่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตัวจริง ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้พ่ายแพ้…” (6)

ชีวิตประจำวันของทุกคนย่อมเกี่ยวข้องกับเวลาและสถานที่ Henri Lefebvre เคยเขียนถึง Critique of Everyday Life โดยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องชีวิตประจำวันกับความสัมพันธ์ของกรอบการรับรู้ถึงพื้นที่และเวลาของชีวิตทางสังคม กล่าวคือมันสะท้อนถึงชีวิตประจำวันของเราและมันแสดงถึงความสำคัญและความหมายของพื้นที่ทางกายภาพของคอนโดของ พล.อ.ชวลิต ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครไม่ได้ตั้งอยู่ริมน้ำโขง ซึ่งคอนโดมิเนียมทำหน้าที่ในการช่วยสร้างความคิด จิตใจ และตัวตนของพล.อ.ชวลิต ที่มีการมองเห็นลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ทางสิ่งแวดล้อมสำหรับสร้างความคิดสร้างสรรค์ในคอนโด

การเล่าเรื่องว่า “…พล.อ.ชวลิต มักจะตื่นมาใช้ความคิด และวางแผนปฏิบัติการต่างๆ ก็ที่ริมระเบียงแม่น้ำนี่แหละ เขาจึงอาจกำลังกลายเป็น นักฆ่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตัวจริง…” (7) ทำให้เห็นภาพแสดงแทนจากสื่อมติชนสุดสัปดาห์บ่งชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ชวลิตผู้อยู่ในคอนโดมิเนียมชั้นที่ 23 วางแผนชีวิตประจำวันอย่างกับอยู่ในสมรภูมิรบ ทั้งที่ พล.อ.ชวลิต อยู่ที่คอนโดมิเนียมไม่ใช่สนามรบ แต่มันก็คล้ายคลึงกับคำว่า “สมรภูมิ” ทำให้น่าคิดถึงข้อความของ Henri Lefebvre ที่เคยเขียนถึง Critique of Everyday Life ว่า “..ชีวิตประจำวันจะกลายเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ในการต่อสู้ทางชนชั้น..” แน่นอน เราต้องต่อสู้ในชีวิตประจำวันเพื่อหาทางอยู่รอดดำเนินชีวิตกันต่อไป

แต่การต่อสู้ในชีวิตประจำวันก็มีขีดจำกัดในกรอบของเวลาและพื้นที่ เมื่อวิถีชีวิตประจำวันของคนในกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนียมอันเป็นสถาปัตยกรรมขนาดสูง มันเป็นทั้งภาพแสดงแทนวิถีชีวิตของความทันสมัยของคนกรุงเทพฯ ซึ่งพวกเขากลับจากที่ทำงานถึงคอนโดมิเนียมก็แถบจะหมดเรี่ยวแรงกายในเวลากลางคืนแล้ว ทว่าภาพชีวิตประจำวันของ พล.อ.ชวลิต กลับแตกต่าง ในช่วงเวลาการผลิตความคิดสำหรับแผนปฏิบัติการอยู่ในเวลากลางคืนที่แสงดาวเปล่งประกายเรืองรองระยิบระยับ ท่ามกลางแสงสีจากตึกสูงและอาคารต่างๆ ในกรุงเทพฯ แน่นอนเรารู้ว่า การมองแม่น้ำเจ้าพระยาของทุกคน ในความทรงจำ ล้วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมประเพณีตามความสำคัญอันเกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค และงานลอยกระทง งานประเพณีต่างๆ ซึ่งแน่แท้แล้ว พล.อ.ชวลิตและทุกๆ คน ก็สามารถมองเห็นสายน้ำเป็นดั่งสัญลักษณ์ว่า “เวลาไม่ไหลย้อนกลับมา” ได้อีกด้วย

นั่นก็คือ เวลาเป็นความจริงแท้ของพื้นที่ในความคิดของแต่ละคน ส่วนพื้นที่ก็ก่อให้เกิดจินตนาการของภาพสะท้อนทางภูมิศาสตร์ จากพื้นที่ เรามองเห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำ บ้านเมืองในชุมชนของประเทศ จนกระทั่งเรานึกถึงพื้นที่ทางสังคมกับเรื่องราวของชีวิตของผู้คน ไม่น่าแปลกใจ หาก พล.อ.ชวลิต มองเห็นแม่น้ำกับวิถีชีวิตของคนเช่นกัน ทั้งจากการตีความหมายของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความมืดมนสลัวของสายน้ำที่มองจากคอนโดมิเนียม เชื่อมโยงกับความหมายของผู้คนแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ ใน Senses of Place

ชื่อชวลิต มีความหมายว่า รุ่งโรจน์, รุ่งเรือง, แสงสว่าง อาจเปรียบประดุจแสงสว่างให้พรรคเพื่อไทยก็ว่าได้

นับตั้งแต่การเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ชีวิตประจำวันของพล.อ.ชวลิต ณ คอนโดมิเนียม ก็คือสถานที่ของผู้วางแผน ซึ่งต่อมาการเดินทางไปประเทศกัมพูชาซึ่งข้ามอาณาเขตของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปพบสมเด็จฯ ฮุนเซน สะท้อนถึงการผลิตความหมายชีวิตส่วนตัวจากสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมไปสู่อีกสถานที่หนึ่งก็คือปราสาทพระวิหาร

มันทำให้เกิดการขยายอาณาเขตของความเป็นส่วนตัว (Private sphere) ของพี่ชวลิต หรือ “บอง ชวลิต” ไปสู่สมเด็จฯ ฮุนเซน ซึ่งเขาก็เรียกทักษิณว่าเพื่อน การสร้างความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อนกับกัมพูชา จึงขยายกลายเป็นประเด็นอาณาเขตสาธารณะ (Public Sphere) ซึ่งมันผนวกกับความเป็นเพื่อนบ้านในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิต ได้นำประเด็นนครปัตตานีกลับมานำเสนอใหม่อีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พวกเราก็รู้กันดีว่า เราอยู่ในความหวังของการพัฒนากระบวนการสร้างความทันสมัยของรัฐประชาชาติไทย และเราต้องสร้างอาณาเขตสาธารณะในการมีส่วนร่วม เสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น และอธิปไตยของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในทิศทางถูกต้อง

ในที่สุดแล้วเราก็รู้ว่า ประเด็นเรื่องการรอคอยเพื่อพิสูจน์ว่า ความหวังในการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐประชาชาติไทย ซึ่งธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวว่า “…อดีตเป็นสิ่งที่เกิดไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความหวังจึงอยู่ในสภาวะของอนาคต แต่ครั้น เมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด และก็ไม่มีมนุษย์ผู้ใดจะรู้ได้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร ความหวังจึงเป็นเพียงความหวัง เพราะไม่สามารถหาหลักฐานหรืออะไรที่จะมายืนยันไปได้มากกว่าการเป็นเพียงความหวัง..” (8) ท่ามกลางบทบาทของพล.อ.ชวลิต ในคอนโดมิเนียม ซึ่งต่อมาทำหน้าที่เป็นประธานฯ พรรคเพื่อไทย พล.อ.ชวลิต จึงเป็นความหวังใหม่ เพื่อเพื่อนร่วมชาติ ในประเด็นนครปัตตานี และประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เพื่อสันติภาพ

“..ชาติกลายเป็นสถานที่ที่ถือกันว่าเป็นบ้าน และประวัติของชาติเป็นเรื่องราวของบ้าน..” (9) โดยเราก็รู้ว่า ขณะเวลาของประวัติศาสตร์ในปัจจุบันนั้น เมื่อชาติภายใต้เวลาของอำนาจทางการเมืองเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เหมือนกับอภิสิทธ์เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งเราต้องอาศัยหลับนอนในบ้าน โดยรัฐบาลอภิสิทธ์ ฉะนั้น กรณีรัฐบาลถอนทูตไทยออกจากกัมพูชา อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดการค้าชุมชนชายแดน โดยรัฐบาลต้องสนใจเปิดโอกาสทางพื้นที่และเวลาให้ประชาชน มีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองไม่อาจคาดหวังกับรัฐบาล ที่มีการเล่นเกมก่อนอาจจะเลือกตั้งใหม่ จึงปลุกกระแสชาตินิยมดึงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ และบทบาท พล.อ.ชวลิต จึงน่าจับตาในฐานะเป็นประธานฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่มีชื่อชวลิต หมายความว่า รุ่งโรจน์, รุ่งเรือง, แสงสว่าง เปรียบประดุจแสงสว่างให้พรรคเพื่อไทย แล้วเขาจะเป็นแสงสว่าง และความหวังใหม่ เพื่อเพื่อนร่วมชาติ ในประเด็นนครปัตตานี และกัมพูชา เพื่อสันติภาพได้มากเท่าใด นับว่าท้าทายกับสังคมไทย

โดยเขาต้องวางแผนเตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว เหมือนไขกุญแจเปิดประตูออกจากห้องในคอนโด ที่เป็นบ้าน โดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในห้องคอนโด เหมือนกับเปิดอาณาเขตส่วนตัวสู่อาณาเขตสาธารณะ ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง

สร้างพื้นที่ให้เกิดทางรอดของประเทศไทยพ้นอันตราย


เชิงอรรถ
(1) อรรคพล สาตุ้ม “ฮุน เซน-ทักษิณ: เพื่อนบ้านไร้พรมแดน”
http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26436
(2) อรรคพล สาตุ้ม “ระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในฐานะญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคม”
http://www.prachatai.com/journal/2009/10/26334
(3) สุวรรณา สถาอานันท์, เนื่องน้อย บุณยเนตร “ความคิดและภูมิปัญญาไทย คำ ร่องรอยความคิด ความเชื่อไทย” กรุงเทพฯ: สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535:166-167
(4) อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ (บรรณาธิการ) “อาเซียนใหม่” กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541:168-169
(5) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์พาดพิงไทยของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา, 11 พ.ย. 52 http://www.mfa.go.th/web/200.php?id=23421
(6) แผน ‘ขงเบ้ง’เขย่า ‘มาร์ค’ เปิดลับโต๊ะถกเขมร,ซุปเปอร์นายก‘จิ๋ว’ และข้อความถึง‘ป๋า’ มติชนสุดสัปดาห์ 30 ต.ค.-5 พ.ย.2552 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1524 : 16
(7) แผน ‘ขงเบ้ง’เขย่า ‘มาร์ค’ เปิดลับโต๊ะถกเขมร,ซุปเปอร์นายก‘จิ๋ว’ และข้อความถึง‘ป๋า’, มติชน สุดสัปดาห์, เพิ่งอ้าง
(8) ธเนศ วงศ์ยานนาวา “อาณาเขตสาธารณะ/ประชาสังคมและนักมานุษยวิทยากับคนชายขอบ”จุลสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 15 ฉบับที่ 14 (พ.ค.-ก.ค.2542): 16
(9) ธงชัย วินิจจะกูล “เรื่องเล่าจากชายแดน” ศิลปวัฒนธรรม 23, 12 ต.ค. 2545 : 80

*หมายเหตุ ที่มาจากประชาไท http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26617

ที่มาจากไทยอีนิวส์“บอง ชวลิต” : ชาติไทยในคอนโด
http://thaienews.blogspot.com/2009/11/blog-post_3765.html