วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ ประมวล เพ็งจันทร์: ปรัชญาแห่งความหวัง คือ ศรัทธาแก่มนุษยภาพ

สัมภาษณ์ ประมวล เพ็งจันทร์

โดยอรรคพล สาตุ้ม

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 ที่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนา เรื่อง สันติภาพ โดยบทสนทนาในประเด็นสันติภาพ ที่รากฐานทางประวัติศาสตร์ของปรัชญาพุทธศาสนา กับศาสนาอิสลาม มีความใกล้เคียงกัน เพราะหากพิจารณาในด้านจิตใจของผู้ปฎิบัติธรรม ย่อมมีความเข้าใจที่สื่อถึงกันได้ แต่ว่าเมื่ออยู่ภายใต้รัฐไทย และโลกของกระแสทุนนิยม-โลกาภิวัตน์ ได้เกิดปฏิกิริยาต่อศรัทธา ที่ขาดพลังแห่งการไปสู่ความดีงาม ซึ่งทีมงานประชาไทภาคเหนือ มีโอกาสสัมภาษณ์ และสนทนาร่วมกับ ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เป็นนักปรัชญา ที่ปวารณาตนเป็นพุทธศาสนิกชน โดยดำเนินชีวิตแบบแสวงหาความเป็นมนุษย์ที่แท้ ได้เดินทางวิจัยด้วยฝ่าเท้า ไม่ได้พกเงิน ติดตัว จากเชียงใหม่-ภูเก็ต มีการกำหนดจิตแน่วแน่ ซึ่งเขาผ่านประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เพื่อบอกเล่าเชิงปรัชญาแก่สังคมไทย รวมถึงปัญหาของพระพุทธศาสนิกชนไทยในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

สิ่งที่อาจารย์ พูดถึงความซ่อนเร้นในความขัดแย้งให้แก่พระสงฆ์ไทยกับศาสนาอิสลาม ที่อาจจะนำไปสู่ปัญหา ที่ยิ่งใหญ่กว่าการปล้นปืนเสียอีก เนื่องจากพระสงฆ์ ตกเป็นเครื่องมือของรัฐไทย จะเป็นไปได้ไหมที่สันติภาพจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ข้างหน้า
เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงก่อนนะครับ เพราะคณะสงฆ์ถูกสร้างโดยรัฐ พองั้น เราพูดถึงคณะสงฆ์ของรัฐ ก็พูดถึงในที่นี้คณะสงฆ์ที่ถูกสร้างโดยรัฐ และเป็นสมบัติของรัฐอยู่แล้ว ถ้าเป็นเครื่องมือก็เป็นเครื่องมือของรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องตีโพยตีพาย เรื่องว่าผิด ถูก เพราะคณะสงฆ์ที่ดำรงอยู่ได้เป็นองค์กร มีกฎหมาย พระราชบัญญัติ การปกครองสงฆ์ที่ว่านี้ องค์กรสงฆ์ ถ้าคิดเชิงรายละเอียดว่า เป็นประเด็นโดยเนื้อหาสาระ ของ พุทธศาสนาหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่พูดเรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องผิดถูก แต่เพียงเพื่อจะบอกสถานะของความเป็นจริง ต้องการบอกว่าคณะสงฆ์ไทย เป็นองค์กร ที่ถูกสถาปนา หรือเป็นสิ่งที่ถูกรัฐสร้างอยู่แล้ว

เมื่อพระพุทธศาสนา ถูกใช้ผ่านสื่อ เพื่อเน้นอุดมการณ์ หรือหลักการ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่อย่างเดียวเพียงเท่านั้น ที่ถูกใช้ในสื่อต่างๆ ความเป็นพุทธมากกว่าอิสลาม
คือเวลาเราสถาปนารัฐไทย สถาบันที่เรากำหนดขึ้น ที่เป็นสถาบันศาสนาด้วย คือศาสนาพุทธ โดยลักษณะของความหมายนี้ โดยที่เราเคยพูดถึงเสมอว่า สัญลักษณ์ของสีธงชาติ ที่สีของศาสนาหมายถึงพุทธศาสนาอยู่ในธงชาติโดยการที่เราพยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่า น่ะ ความเป็นไทย กับความเป็นพุทธ มันอันเดียวกัน หรือจะเรียกว่ารัฐไทย อิงอยู่ในรัฐพุทธ หรือรัฐไทยอิงกับพุทธ ผมก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆเป้าหมายที่สำคัญ เวลาที่เขาอ้างถึงศาสนา ก็เพื่อรักษาความมั่นคงในความเชื่อของรัฐไทย ไม่ได้หมายความว่าจะรักษารัฐไทยไว้ เพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนา ตรงนี้ต่างจากพม่า รัฐพม่า หรือประเทศพม่า เขาจะพูดถึงความหมายว่ารัฐพม่าเป็นองค์ประกอบที่จะรักษาพุทธศาสนาไว้ได้ จึงจำเป็นที่จะรักษาชาติพม่า หรือรัฐพม่าไว้ เพื่อเป็นที่วาง ที่ตั้งของพุทธศาสนาไว้ นักปราชญ์ หรือพระชาวพม่าเปรียบเทียบไว้ที่นี้ว่า รัฐพม่าเป็นห้างร้าน พุทธศาสนาเปรียบเสมือนเป็นองค์เจดีย์ ซึ่งรัฐเป็นห้างร้านเพื่อทำความสะอาดองค์เจดีย์ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่เมื่อใดที่จำเป็นต้องเลือกระหว่างห้างร้านกับตัวเจดีย์ไม่มีทางที่จะทุบเจดีย์ทิ้ง ซึ่งความคิดนี้กลับตาลปัตรกับไทย มีความคิดว่าต้องรักษารัฐไทยไว้ โดยใช้พุทธศาสนาเป็นห้างร้าน

*หมายเหตุ;ดูบทสัมภาษณ์ อีกรูปแบบได้ที่ประชาไทhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/page2_comment.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8270&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

ปรัชญาแห่งความหวัง คือ ศรัทธาแก่มนุษยภาพ โดยประมวล เพ็งจันทร์
http://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=178

พูดคุยเรื่องหนังสือกับฉัตรทิพย์และจรรยา นาถสุภา

พูดคุยเรื่องหนังสือกับฉัตรทิพย์และจรรยา นาถสุภา
Tue, 2009-10-27 13:49
สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้มและทีมงาน

“ผมดีใจที่คุณมาสัมภาษณ์เรื่องหนังสือ ก็ดีเหมือนกัน ที่คนจะมาคิดถึงเราในแง่หนังสือ ที่ผ่านมามักคิดถึงเราในแง่นักวิชาการมากกว่า ไม่คิดถึงเราในแง่หนังสือ บางทีเราก็อยากเป็นนักทำหนังสือด้วย” ... นี่เป็นประโยคพูดคุยกับทีมงาน ขณะที่แวะเยี่ยมเยือนคารวะบ้านของ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคุณจรรยา นาถสุภา ผู้เป็นภรรยา

โดยทีมงานพิจารณาว่าบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง เกี่ยวกับเรื่องสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ ในฐานะของการพิมพ์หนังสือวิชาการ และการผลิตผลงานออกมาสู่ตลาดของไทย ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งกล่าวถึงปี 2552 - 2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ และกำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของไทย เป็นเรื่องน่าอ่านเต็มไปด้วยสาระอย่างยิ่ง


000

วิกฤติเศรษฐกิจ และการทำหนังสือวิชาการของสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุถา มองเห็นเรื่องเกี่ยวกับ ผู้ซื้อหนังสือ เป็นอย่างไร?

ฉัตรทิพย์: ผมตั้งราคาแพงไปหน่อย แต่ความจริง ก็คือ หนังสือวิชาการขายไม่ค่อยได้ ขายคนจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้น ก็พิมพ์ได้น้อย ก็เลยต้องตั้งราคาแพง จะได้มีเงินหมุนเวียนเพื่อให้หนังสือพิมพ์ได้ และเมื่อคนเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง จะพิมพ์ ผมก็ขอให้เขาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งด้วย แล้วสำนักพิมพ์ให้หนังสือเขา เขาก็เอาไปขายถูกหน่อย ก็พอจะช่วยไปได้ ก็ขายพอใช้ได้ พอคุ้มทุนเมื่อขายไปนานๆ


หากเปรียบเทียบตลาดของหนังสือวิชาการจากอดีตกับปัจจุบัน

ฉัตรทิพย์: ตลาดหนังสือวิชาการในปัจจุบันดีกว่าหน่อย คือผมพิมพ์หนังสือตั้งแต่ทศวรรษ 2510 ตอนนั้นก็ลำบากกว่านี้มาก ผมสนใจเรื่องทำสำนักพิมพ์ และเราก็ตั้งสำนักพิมพ์ของเราเอง ร่วมกับลูกศิษย์ บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์จำกัด ขึ้นมา เราพิมพ์หนังสือออกมาแล้ว 47 ปกในเวลา 25 ปี ปีนี้เป็นปีที่ 26 ตลาดมันดีขึ้น แต่ก็ไม่ดีขึ้นมาก

คุณจรรยา (ภรรยาของอาจารย์ฉัตรทิพย์) เป็นผู้อำนวยการบริษัท ส่วนผมเป็นประธานบริษัท ลูกศิษย์มีหุ้นส่วนหนึ่ง ผมและครอบครัวถือหุ้นส่วนใหญ่ ตอนที่เริ่มเขียนหนังสือ พิมพ์หนังสือ 1,000 เล่ม เดี๋ยวนี้ก็ยังหลัก 1,000-2,000 นะ มากสุดเดี๋ยวนี้ 3,000 ซึ่งก็มีไม่กี่เล่มที่พิมพ์ 3,000 เพราะฉะนั้น ก็ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ 40 ปีมานี้ แค่จาก 1,000 2,000 มา 3,000 น้อยมากอยู่อย่างนี้ แต่ว่าพอขายได้ แต่ก่อน 1,000 ขาย 10 ปีก็ยังขายไม่หมด แต่เดี๋ยวนี้ คนอ่านหนังสือมากขึ้น

สำนักพิมพ์วิชาการมีน้อย ที่อยู่มาอย่างยาวนานยิ่งน้อยใหญ่ ที่มีก็มติชน ใหญ่โตกว่าเราเยอะ แนววิชาการสังคมศาสตร์กว้างๆ สำนักพิมพ์จุฬาฯทำได้ดี แต่ไม่ใช่เอกชน เป็นของราชการ สำนักพิมพ์ของธรรมศาสตร์ มูลนิธิโครงการตำราฯ สำนักพิมพ์เอกชนทางวิชาการมีน้อยกว่าของรัฐ มีเฉพาะสาขา เช่น เมืองโบราณ แนวโบราณคดี และฟ้าเดียวกันออกมาทางการเมือง

หนังสือในแนวของเราที่ทำเป็นหนังสือเล่ม คนที่เริ่มคือคุณประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล เขาพิมพ์หนังสือพวกวิทยานิพนธ์ ที่ผมคุมวิทยานิพนธ์ตอนนั้น เขาก็เอาไปพิมพ์ แล้วทีนี้ พิมพ์ไปสักพักหนึ่ง ผมก็เลยรู้สึกสนุกอยากจะทำต่อ ก็เลยบอกเขาว่า เรามาทำเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า คุณประสิทธิ์ เขาก็มาช่วยตั้งสำนักพิมพ์ ชื่อสร้างสรรค์ก็ของเขานั่นแหละ เขาก็โอนมาเป็นบริษัทของผม ชื่อบริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด และจดทะเบียนปี พ.ศ. 2526 เราร่วมหุ้นกัน ทำกันมาเรื่อยๆ ชวนลูกศิษย์เข้าหุ้น ว่ากันมา จนทุกวันนี้ ผมมีความสุขนะ ทำอันนี้ได้ ตรวจบรู๊ฟด้วย ทำบัญชีด้วย ติดต่อโรงพิมพ์ด้วย ตอนนี้เราอยู่ได้แล้ว

จรรยา นาถสุภา: เราจ้างคนเป็นครั้งคราว เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะเราเป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ถ้าเราจ้างคนที่ประจำตลอดเวลา ทุนก็หายไปเรื่อยๆ เพราะเราเริ่มตั้งทุนก็ไม่เยอะ ที่มาของสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ ก็คือเป็นชื่อเดิม สร้างสรรค์ ที่คุณ ประสิทธิ์ ตั้งขึ้นมา สร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อสังคม ก็คือ พิมพ์งานของอาจารย์ ลูกศิษย์ และเพื่อน ซึ่งสมัยก่อนเวลาเราจะเอาหนังสือไปให้ใครพิมพ์มันยาก แต่ก่อนเขาไม่พิมพ์หนังสือวิชาการ แล้วก็นานมาก คล้ายๆเขาไม่แน่ใจเรา แล้วอาจารย์ก็คิดว่า เรามารวมกันทำเองดีไหม เพราะเราจะได้เผยแพร่งานที่ดีๆ ของกลุ่ม ของอาจารย์เอง และของลูกศิษย์ บรรดาเพื่อน ซึ่งหมายความว่า เวลาเราลงมือทำก็ทำเลย จุดหมายไม่ได้เอากำไร จุดหมายเพื่อเผยแพร่งานของอาจารย์ ลูกศิษย์ และเพื่อนออกสู่สังคม เพื่อพิมพ์หนังสือให้หมุนเงินกลับมาทำเล่มใหม่ต่อไปได้

ฉัตรทิพย์ และจรรยา: แล้วตอนนี้ เราก็เอาว่า งานดี เราคัดเลือก ต้องตรวจบรู๊ฟให้ดี และเราก็ต้องคิดเรื่องการออกแบบรูปเล่มให้น่าอ่าน มันก็ต้องใช้เวลา

ฉัตรทิพย์: บริษัทของเรา คือ บริษัทสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด และของคุณประสิทธิ์ ก็คือ บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด แล้วเขาก็ทำต่อ ซึ่งเขาพิมพ์หลายอย่าง เรื่องความรู้ก็มี เรื่องพงศาวดารจีนก็มี นิยายจีนก็มี ทั้งหนังสือของหลวงวิจิตร พงศาวดาร นวนิยาย คุณประสิทธ์มีหุ้นในบริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัดด้วยส่วนหนึ่ง

นี่คุณประสิทธิ์เขาว่าจะทำเป็นซีรี่ส์ใหญ่ เรื่องชั่นบ้อเหมา ผมอ่านตอนเด็กๆ เป็นร้อยเล่มเล็กๆ ผมเขียนคำนำให้เขาสำหรับที่จะพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ผมรออยู่ สมัยเด็กๆ ผมอ่านแล้วชอบมาก ให้ความบันเทิง และให้เข้าใจสังคมจีน ประสิทธิ์กับผมจะร่วมมือกันตลอด อย่างเวลาเราจะพิมพ์ เนื่องจากเขามีคณะบก.ของเขา ก็ขอให้เขาจัดหน้ารูปเล่มหนังสือ ทีมงานก็เกือบจะทีมงานกองเดียวกัน อย่างไรก็ตามบางเล่มของผมพิมพ์ที่อื่นก็มีเหมือนกัน


หนังสือของอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ลักษณะปกหนังสืองานวิชาการ โทนสีปก เหมือนกับสร้างสรรค์บุ๊คเลย

ฉัตรทิพย์: หลายครั้งกองบรรณาธิการเดียวกัน ใช่ๆ แต่ก็มีพิมพ์กับฟ้าเดียวกันบ้าง พิมพ์ดีบ้าง ด่านสุทธาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็พิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ เรากำลังจะพิมพ์ออกอีกเล่มหนึ่ง หนังสืออาจารย์ปรีดีที่ให้สัมภาษณ์ผมเมื่อ พ.ศ. 2525 ไม่เหมือนกับที่สัมภาษณ์ลงในเว็บเสียทีเดียว เพราะท่านอาจารย์ปรีดีแก้และเติมตรงไหนที่ไม่ชัด ข้อมูลในหนังสือมีมากกว่า

จรรยา: ก็ดีนะ สำหรับคนที่ยังอาจเข้าใจเรื่อง 2475 สับสน จะเข้าใจชัดจากตัวท่าน

ฉัตรทิพย์: อย่างเรื่องหนึ่ง ผมมาฟังตอนหลังก็รู้สึกว่าชัดเจน คือเรื่อง 2475 ส่วนมากว่าเป็นคนหัวนอก แต่ว่า ท่านอาจารย์ปรีดี จะอธิบายว่า มาจากประสบการณ์ที่ท่านเห็นความยากลำบากของชาวนา ในสังคมไทยเราเอง อันนี้บางทีเราข้ามไป ถ้าฟังจากเทปก็ดี จากหนังสือเล่มนี้ก็ดี จะเห็นชัดว่า นี้มาจากปัญหาในประเทศของเรา

จรรยา: หลายเรื่องที่ท่านพูด อย่างเรื่องโรงสีขูดรีดอย่างไร ซึ่งโรงสีขูดรีดอยู่แล้ว ถ้าแก้ไข แล้วให้รัฐเข้าไปดูแล เราต้องทำอย่างไร ตัดการขูดรีดนี้ให้ลดลง ให้มีทางต่อรอง คือให้มีทางเลือก เพื่อให้ต่อรองได้

ฉัตรทิพย์: ผมดีใจ ที่คุณมาสัมภาษณ์เรื่องหนังสือ ก็ดีเหมือนกัน ที่คนจะมาคิดถึงเราในแง่หนังสือ ที่ผ่านมามักคิดถึงเราในแง่นักวิชาการมากกว่า ไม่คิดถึงเราในแง่หนังสือ บางทีเราก็อยากเป็นนักทำหนังสือด้วย

จรรยา: อาจารย์คิดอันหนึ่ง บ้านเราหนังสือวิชาการมันน้อย ส่วนใหญ่บ้านเราก็เป็นสาระบันเทิง อาจารย์ก็อยากทำตรงนี้ เพื่อให้คนมีโอกาสเลือกสรรที่จะอ่าน ซึ่งถ้าเผื่อเราสามารถส่งเสริม ให้คนอ่านตรงนี้ได้มากๆ จะได้มีสำนักพิมพ์ทางวิชาการเกิดขึ้นมาอีก แล้วถ้าเกิดคนหันมาสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น อย่างน้อยจะได้มีคอนเซ็ปท์ ในเรื่องการหาข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าฟังเขาเล่ามาแล้วกลับไปเล่าต่อ มันจะได้แก้ไขตรงนี้ แล้วเราจะได้มี Scientific Mind มากขึ้น และจะค้นคว้าข้อเท็จจริงจากเอกสาร

ฉัตรทิพย์: คือหนังสือมันน่าสนใจหลายอย่าง มันอ่านซ้ำไปซ้ำมาได้ เลือกอ่านได้ อ่านแล้วคิดได้ อ่านไปคิดไปว่า เป็นอย่างไร ใช้ Imaginationได้ คิดให้เป็นระบบต่อเนื่องได้ แต่ถ้าเผื่อเราดูทีวี มันเร็ว เราจะถูกพาไปเยอะ ไม่ทันมาคิด แล้วเราเลือกได้ยาก เพราะเราดูที่เขาเอามาให้ดูจนจบ แต่หนังสือเราชอบตอนนี้ แล้วคิดให้ดีๆ ไปอ่านอีกตอนหนึ่ง เลือกอ่าน เรามีโอกาสกำหนดแนวทาง เราเอามาผนวกไอเดียเราได้มากขึ้น ในขณะที่อย่างพวกทีวี เราจะถูกชักจูงไปเรื่อยๆ ได้ง่าย คิดไม่ทัน วูบๆไป แล้วเราต้องดูจนจบ

แต่หนังสือ เราเลือก เราคิด เราวิพากษ์วิจารณ์ในตัว แล้วคิดต่อ มีImaginationได้ แล้วช้าๆ ได้ ใช้สมาธิได้ มีประโยชน์หลายอย่าง ซึ่งก็ดีน่ะ โดยเฉพาะ เราเลือกคนเขียนที่เรารู้ว่าแบบที่จะให้อะไรเรา กลั่นกรองมาดี มีข้อมูลดี ก็ช่วยได้เยอะ แล้วก็นอกจากนั้นเป็นวิธีหาความรู้ที่ถูก ทำได้ด้วยตัวเอง ใช่ไหม เรานั่งอ่านอยู่บ้านของเรา เราไม่เสียตังค์เท่าไหร่ ไปยืมมายังได้ ซื้อก็ไม่แพง ไม่ต้องเดินทาง มันดูดีหลายอย่าง เป็นวิธีเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ผู้คนก็จะมีอิสระที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เอาไปเทียบกับเล่มอื่น ไม่เชื่อเล่มนี้ ก็ไปหาที่อื่นๆ แล้วมาเปรียบเทียบกันได้ ผมชอบ Media นี้นะ

แล้วการเขียนนี่น่ะ มันดำรงอยู่ ถ้าพูด โอเคก็ให้ผลอีกแบบหนึ่ง แต่เขียน ใครจะมาพลิกอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นเหมือนการจารึก ดำรงอยู่ตลอดเวลายาวนาน เป็นวิธีเผยแพร่ ที่เอาละอาจจะไม่แบบว่าปลุกระดมเหมือนพูด แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยั่งยืน คุณจะกลับมาดู เวลาผ่านไปก็ดำรงอยู่ เป็นวิธีเผยแพร่ที่เป็นอยู่ได้ยาวนาน แล้วก็มีผลไปยาวไกล และกว้างขวาง คนที่ไหนๆ ไม่ได้เปิดอะไรฟัง แต่ว่าหนังสือก็ไปได้ถึง ก็ต้องมีหนังสือด้วยไม่ใช่ฟังแต่วิทยุ หรือดูทีวีเท่านั้น ผมจึงชอบเขียนหนังสือ ทำหนังสือ ทำมาเรื่อยๆ


งานส่วนใหญ่ ที่จะพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์ มีหลักอะไรบ้าง

ฉัตรทิพย์: คือ คุณภาพทางวิชาการและเป็นบุคคลในเครือข่าย ได้รู้จักกันมา ได้เห็นผลงานกันมา ได้พูดคุยกันมา ได้เข้าใจแนวคิดพอสมควร อันนี้เป็นแนวคิดแบบญี่ปุ่น เขาแบบนี้นะ คือว่าต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน เครือข่ายเดียวกัน แนวคิดไปในลักษณะใกล้เคียงกัน พวกเดียวกัน จะว่าอย่างนั้นก็ได้ และจะต้องดีด้วย คือ ดีอย่างเดียว แต่เป็นคนข้างนอก ก็อาจจะไม่มาเกี่ยวข้อง และเราก็อาจจะรับพิมพ์ไม่ไหว อาจจะต้องดูก่อน แต่ถ้าเกิดพวกอย่างเดียว แล้วไม่ดี กลุ่มเราก็จะอยู่ไม่รอด อีกไม่นานคนเขาก็ไม่เอา เพราะฉะนั้นเราต้องทั้งสองอย่าง

นี่เป็นระบบญี่ปุ่นเขา คุณภาพและความสัมพันธ์ยาวนาน ผมใช้หลักนี้ แล้วถ้าสาขาก็ที่ผมสนใจคือ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรม , เศรษฐกิจการเมืองวัฒนธรรม คือ มองเป็นองค์รวม มองสังคมเป็นองค์รวม และมองอย่างเป็นประวัติศาสตร์ เรียกว่า แนวประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม แนวอย่างนี้ อาจจะเรื่องต่างประเทศด้วยยิ่งดี คือมีมิติเปรียบเทียบไม่ใช่เฉพาะแต่ไทย หมายความว่าบางครั้งมีตัวอย่างต่างประเทศเพื่อจะมาเข้าใจสังคมไทยเราด้วย จะออกแนวอย่างนี้ และเรื่องส่วนมากที่พิมพ์เป็นงานของเพื่อน ลูกศิษย์ คนรู้จัก


ผลงานแนวเริ่มแรกของอาจารย์ เป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง จนถึงหนังสือปัจจุบัน

ฉัตรทิพย์ และจรรยา: เศรษฐศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ แล้วมาโยงวัฒนธรรมมาทีหลัง

ฉัตรทิพย์: ชาวบ้าน ชาวไท คือ ผมออกไปทำเรื่องชนบท ชาวนา เสร็จแล้วก็พบว่า วัฒนธรรมของเขานั้น ใกล้เคียงกับชนชาติไทที่อยู่นอกประเทศไทย ถ้าดูในแง่ของพ่อค้า หรือทางด้านรัฐก็จะห่างหน่อย แต่ว่าถ้าดูในแง่ของชาวบ้าน ลาวกับอีสาน จะใกล้มาก หรือว่า ทางเชียงใหม่กับพวกเชียงตุง เชียงรุ่ง รัฐฉาน จะใกล้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าต้องโยงไปด้วย ความจริงเราไปเอาเขตแดนประเทศมากเกินไป ในแง่ชาวบ้านแล้วโยงกลับไปได้ อย่างคุณอรรคพล เมื่อทำวิทยานิพนธ์ออกไปเรื่องแม่น้ำโขง ข้ามไปก็คล้ายคลึงกันมาก


*หมายเหตุ
ที่มาจากประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2009/10/26361

สัมภาษณ์ไชยันต์ รัชชกูล: ระลึกถึงลุงนวมทอง และ 3 ปี 19 กันยา

สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้ม

จากบทความของอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ซึ่งพิมพ์ใน วิภาษา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ปี 2550 ใน เรื่องรัฐประหาร ‘19 กันยา’ กล่าวถึง รัฐประหารว่าได้รับการต้อนรับจากกลุ่มสื่อมวลชน ผมขอให้อาจารย์ช่วยขยายความ


ยิ่งผ่านไป 3 ปี ยิ่งไม่น่าประหลาดใจที่สื่อมวลชนตอบรับการรัฐประหารอย่างสุดจิตสุดใจ แต่ตอนนั้น มันน่าตกใจ ว่าการกระทำที่เป็นอาชญากรรมกับประเทศขนาดนั้น สื่อมวลชนกลับเห็นดีเห็นงามไปด้วย หรือไม่ก็แก้ต่างให้ แม้กระทั่งบางฉบับที่อ้างตัวว่า เป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ เป็นเสียงของประชาชน ยึดถือจรรยาบรรณของสื่อ อะไรก็ว่าไปเรื่อย แต่สิ่งที่เขาทำ มันตรงกันข้ามกับที่อ้าง ตอนนั้นก็น่าประหลาดใจ แต่วันนี้ไม่ตกใจแล้ว เพราะโลกทัศน์ของพวกนี้ ก็คือ ดูถูกดูแคลนราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าเขาจะไม่กล้าพูดว่า เขารังเกียจประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่จะถากถางบริภาษอ้อมไปว่า ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงบ้าง เป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่งนาทีบ้าง หรือไม่ก็ทำตัวนั่งบัลลังก์ชี้นิ้วว่า ส.ส. กระเลวกระราด โกงกิน คำวิจารณ์ คำด่าทอพวกนี้มันคือมนตร์เดิมๆ ซึ่งเป็นทัศนะคติแบบเดียวกับพวกชนชั้นนำ( Elite)

ถ้าจะว่าไปแล้วพวกนี้ ก็ได้รับการสั่งสอนมาจากระบบการศึกษาและมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่นๆ มันน่าเศร้า แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจ มาถึงวันนี้ ก็ไม่น่าบ่นแล้ว พวกนี้มีทัศนะคาบเกี่ยวกับพวกทำรัฐประหาร แต่เขาจะปฏิเสธ แน่นอน เขาต้องปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่ แต่สิ่งที่อยากจะได้ฟังจากเขาตลอด 3 ปีมานี้ ก็คือ เขายังเห็นแบบเดิมหรือเปล่า เพราะมีเพื่อนผมบางคน เขารู้สึกเสียใจ ที่เขาไปตะโกนชุมนุมขับไล่ทักษิณก่อนรัฐประหาร ซ้ำร้ายเขายังเห็นชอบกับรัฐประหาร แต่ตอนนี้เขาเสียใจ เขาไม่ใช่ตัวแทนของเสื้อเหลืองอะไรทั้งสิ้น ล้วนเป็นเพียงปัจเจกชน แต่ที่อยากถามพวกหนังสือพิมพ์พวกนี้ก็คือ มันมองย้อนกลับไปไหม มีการสะท้อนความคิดของตนหรือไม่? หนังสือพิมพ์ที่อ้างว่าเป็นของปัญญาชน

ผมฝากบอกไปเลยก็ได้ว่า ตั้งแต่หลังรัฐประหารผมไม่อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เพราะผมไม่ใช่ปัญญาชน แต่ที่สำคัญกว่า คือ ปัญญาชนชอบแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้รู้ ชอบสั่งชอบสอน ผมอาจจะพูดตีขลุมไปหน่อย เพราะบางข้อเขียนก็พอทนอ่านได้อยู่ แต่โดยรวมๆก็ไม่น่าประหลาดใจ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ สมัยพฤษภาทมิฬ ตอนเริ่มต้นเข้าข้าง สุจินดา นะครับ ผมท้าให้ไปอ่านดูเลย

ก่อนรัฐประหารจากบทความของอาจารย์ กล่าวว่าสื่อมวลชนสนับสนุนทักษิณน้อยมาก

อย่าว่าแต่จะสนับสนุนเลย ถล่มทักษิณทุกวัน แถมซ้ำยังมัดมือชกข้างเดียวอีกว่า ทักษิณคุกคามสื่อ ผมอยากจะมองว่า เป็นความบ้องตื้นต่อการตั้งคำถามและต่อการวิเคราะห์ทางการเมือง พวกนี้รู้ข่าวเยอะมาก รู้รายละเอียดมาก แต่ว่าจะเอาข้อมูลมาสังเคราะห์อย่างไร ผมสงสัยมากเลย แล้วก็อาจจะไปเชื่อพวก Elite (ชนชั้นนำ) พวกปัญญาชน นักวิชาการจำนวนมาก พวก Elite ก็เหมือนกันเป็นไปในแนวเดียวกันนี้หมดเลย

จุดยืนของสื่อ หลังยุคทักษิณ ถูกรัฐประหารไปแล้วเปลี่ยนไปไหมครับ

ผมว่าไม่นะ ไม่เฉพาะแต่พวกเสื้อเหลือง รวมทั้งชนชั้นนำไม่เปลี่ยนไปเลย ถ้าเรามองย้อนไปตั้งแต่พวก กกต.รุ่น วาสนา เพิ่มลาภ ที่ถูกสั่งให้ลาออก แล้วถูกตัดสินจำคุก ตั้งแต่สมัยนั้น จนถึงรัฐประหาร 3 ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพวกอำมาตย์ ไม่ได้ระย่อเลยต่อความไม่ชอบมาพากล ไม่สะเทือนเลยต่อสิ่งที่คนเขาระอากันทั่วเมืองว่า ใช้เหตุผลลักลั่น หรือแปลกันว่าเหตุผล 2 มาตรฐาน ไม่มีความละอายตลอดมาจนถึงวันนี้ ตั้งแต่เรื่องฟ้องการปราบ ‘7 ตุลา’ เรื่องดา ตอร์ปิโด เรื่องทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับฝ่ายพันธมิตร คือ เขาไม่ได้รู้สึกอะไรเลยว่า เรื่องเหล่านี้เป็นความวิปลาส พวกนี้ไม่มีหิริโอตัปปะเลย แสดงว่า เขาคิดว่า เขาถือไพ่เหนือกว่า และคงคิดว่าไอ้พวกเสื้อแดงเนี่ย ไม่มีน้ำยาอะไรหรอก หรือว่าถึงมีน้ำยา

เขาก็คิดว่า เขาจัดการได้ และไม่มีการอ่อนข้อ แม้แต่นิดเดียว ถึงทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ก็ไม่เกรงใจ ซึ่งผมคิดว่า คนที่สมเหตุสมผล คนที่มีสามัญสำนึกเบื้องต้น ก็เห็นแล้วว่า แบบนี้ มันเป็นเหมือนประเทศแอฟริกาใต้ คือ เป็นประเทศแบ่งแยกสีผิว ว่ากฎหมายหนึ่งใช้กับคนขาว กฎหมายหนึ่งใช้กับคนดำ นี่คือ ระบบApartheid เมืองไทยก็เป็นอย่างนั้น บังเอิญก็เป็นสงครามสีเหมือนกัน แต่ที่แอฟริกาใต้เมื่อก่อนเป็นระหว่างสีขาวกับสีดำ

ระบบนี้ก็ใช้กับคนปาเลสสไตน์ในอิสราเอล ถ้าไปถามว่า พวกอิสราเอลว่ารู้สึกไหม ผมว่ามันไม่รู้สึกหรอก รัฐบาลอิสราเอลมันก็ไม่รู้สึก และมันก็ปราบชาวปาเลสสไตน์ต่อไป ผมก็คิดว่าเมืองไทยถึงขั้นนั้น พวกอำมาตย์เขาก็คิดว่า เขาถูกไง และถึงแม้ว่า เขาไม่คิดว่าเขาถูก เขาก็จะว่าอีกข้างหนึ่งเป็นพวกทักษิณ มันแดงไง หรือไปถามคนขาว ที่แอฟริกาใต้ ถามว่า ทำอย่างนี้มันถูกหรือ กูอาจจะไม่ถูกก็ได้ แต่มึงดำไง ถ้าไปถามรัฐบาลอิสราเอล ก็อาจจะบอกว่ากูอาจจะไม่ถูกก็ได้ แต่มึงเป็นพวกปาเลสไตน์ไง เป็นพวกก่อการร้ายไง การปฏิบัติ 2 มาตรฐาน มีในประเทศไหนบ้าง ผมว่ามันเหมือนกันล่ะครับ ประเทศไทยกับประเทศอิสราเอล แอฟริกาใต้ ประเทศเราเจริญทัดเทียมกับประเทศเหล่านี้แล้ว เอวัง

เสื้อแดงกับเครื่องมือโฟนอินในฐานะการสื่อสารจากทักษิณ และจักรภพ ต่างๆ

ก็ดีนี่ครับ เขาก็มีสิทธิจะโฟนอิน เมื่อเขาอยู่ในประเทศเถื่อนๆนี้ไม่ได้ เขาจะสื่อสารกับคนในประเทศโดยเทคโนโลยีก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่เห็นเป็นประเด็นอะไรเลย คนที่อยู่ต่างประเทศจะใช้เทคโนโลยีสื่อสารแสดงความคิดเห็น ก็เหมือนโทรศัพท์ธรรมดา ทำไมจะโทรศัพท์ไม่ได้เหรอ เพียงแต่ว่า โทรศัพท์อีกข้างหนึ่งพูด ใช่ไหม อีกข้างหนึ่งคนฟังเยอะ ทำไมรัฐบาลไทยจะไม่ให้โทรศัพท์ เหรอ

อย่าง จอม เพชรประดับ ก็ไปเซ็นเซอร์เขา ผมขอเตือนความจำว่าตอนสมัยทักษิณ เป็นนายกฯ มีคนด่าเขาเยอะมากเลยว่า คุกคามสื่อ ตอนนี้มีใครด่าบ้างไหม รวมทั้งนักวิชาการสื่อด้วย ไอ้ 2 มาตรฐาน นี่ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนะ ไม่ใช่เฉพาะพวกอำมาตย์นะ มันรวมทั้ง พวกนักวิชาการสื่อ รวมทั้งพวกสิทธิมนุษยชนด้วย ผมว่า พวกนี้ อย่าเรียกว่า 2 มาตรฐาน เลย อย่างนี้เรียกว่า หน้าไหว้หลังหลอก พวกตี 2 หน้า ผมอยากฝากถามพวกนักวิชาการสื่อ พวกที่เคยด่าทักษิณว่าตอนนี้ไปไหน แต่เดี๋ยวเขาจะมาด่าผมว่า แล้วมึงทำไมไม่ด่าเองล่ะ

คำถามก็คือว่า คุณเสมอต้นเสมอปลายหรือไม่ ในฐานะที่คุณเป็นนักวิชาการสื่อ ที่เรียกร้องเสรีภาพสื่อ คุณทำอะไรคงเส้นคงวาไหม คุณจะทำตัวเหมือนอำมาตย์หรือ ผมก็ไม่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์จะละอายเลย แต่นี่ก็ไม่ต้องไปหวังอะไรมันอยู่แล้ว การเล่นลิ้น โป้ปด มดเท็จ พูดอย่างทำอย่างนะฮะ ในพรรคประชาธิปัตย์เป็นกันมาก สิ่งที่น่ากลัว ก็คือว่า คนอื่นๆรวมทั้งนักวิชาการสื่อ ก็จะมีลักษณะทำแบบนี้เหมือนกัน มิไปกันใหญ่ เหรอ

พูดเรื่องนี้ก็ได้ คือ เขาบอกว่า สื่อต้องเป็นกลาง และ ‘2ไม่เอา’ เป็นคำขวัญเก๋ๆดี เออ ความคิดแบบนี้ก็ไม่เลวนะ เหมือนกับยาม ที่ ESCAPE เลย เขาอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก เห็นการประท้วงตลอดมาหลายสิบปี คำสั่งจากเหนือหัวของเขา คือว่า ต้องกั้นไม่ให้คนเข้าใกล้ตึก UN คุณไปสัมภาษณ์ยาม ที่ ESCAPE ดูสิครับ เป็นกลางมากเลย พอสีเหลืองชุมนุมเขาก็ไม่ให้เข้า พอสีแดงชุมนุม เขาก็กั้น ก็against สีแดง เรียกว่ากั้นทั้ง 2 ฝ่าย คือ เขายืนอยู่บนฐานศีลธรรมที่สูงส่งมาก (Moral high ground)

แต่นี่ ผมไม่ได้หมายความว่า คุณต้องเลือกข้างนะ เพียงแต่ผมขอตั้งคำถามว่า ไอ้การที่คุณบอกว่าเป็นกลาง มันหมายความว่าไง คุณตั้งตนอยู่บนตำแหน่งศีลธรรมสูงกว่าคนอื่นเหรอ สีเหลืองก็ลิงกะล่อน สีแดงก็ลูกกะโล่ทักษิณ เหลวไหลทั้งคู่ ถ้าผมนิยมคนวางตัวแบบนี้นะครับ มีอีกเยอะ ยามที่ ESCAPE เขาไม่ได้คิดเอง มาจากหัวหน้าเขา พวกนั่งรถแอร์ ทำงานห้องแอร์ เขาไม่ชอบ ครับ การชุมนุม เขารำคาญ ไปทำงานไม่สะดวกรถติด และไม่สุภาพ

จะทำให้คนเข้าใจเรื่องการสื่อสารประเด็นการชุมนุม ในเรื่องประชาธิปไตยบนท้องถนนอย่างไร
ก็ทำอย่างที่พูด มันมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบอย่างนี้ดีกว่า ถามได้อย่างไรว่า พระควรรักษาศีลหรือไม่ ก็ทำตามกำหนดสิ ไม่ใช่ว่า แต่งตัวเป็นพระแล้ว ฉันข้าวเย็น ก็มีรัฐธรรมนูญอยู่อย่างนั้น คุณจะให้ทำอย่างไร จับสึกเหรอ ผมก็ไม่รู้ว่า จะให้พวกทำงานไม่มีเหงื่อเข้าใจได้อย่างไร พวกนี้น่ะครับ นิสัยสั่งสมมานาน จนเป็นนิสัยที่ตกตะกอน คือ ตัดสินคนอื่น ตำหนิคนอื่น อันนี้เป็นลักษณะของพวกที่คิดว่าตนอยู่เหนือสามัญชน เหนือมนุษย์ที่ทำงานเหงื่อตก ตอนนี้ผมดีใจมากเลยนะ ที่มีขบวนการเสื้อแดง เขาไม่ยอมให้ถูกตัดสินข้างเดียวแล้ว กูจะตัดสิน(judge) มึงบ้าง ให้มึงมาเป็นจำเลยของกูบ้าง

มุมมองต่อสื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ของคนเสื้อแดง
วิทยุดีมากเลย ดีมากๆ มันต้องอย่างนี้ครับ มีวิทยุท้องถิ่น ผมอยากจะถามสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยว่า ทำไมต้องถ่ายทอดข่าวอย่างเดียวกันทั่วทุกสถานี วิทยุท้องถิ่นให้คนชาวบ้าน Phone in ทำไมสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ไม่ทำอย่างนั้นบ้างล่ะ ไหนว่ารับฟังความคิดเห็นของประชาชนไง ประชาชนมีส่วนร่วมไง ทำไมต้องบังคับให้คนฟังเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แค่ข่าวราชการนะ แม้แต่ข่าวฟุตบอลอะไรของมัน ทำไมคนไทยทั้งประเทศต้องสมควรรู้เรื่องผลฟุตบอลหรือ ส่วนวิทยุท้องถิ่นวิเศษมากให้ทุกคนโฟนอินเข้ามาได้ ตอนนี้ได้ข่าวว่า หนังสือพิมพ์ นิตยสารข่าวของเสื้อแดงได้ข่าวว่าขายดีมาก บางฉบับถึงกับต้องพิมพ์ใหม่ การต่อสู้ทางการเมืองสมัยก่อนพิมพ์เป็นใบปลิวไว้แจก ถึงการเขียนข่าวดูแล้วจะเป็นมวยวัดอยู่บ้าง ผมก็ไม่ว่าไม่เป็นไรนี่ มาจาก website บ้าง

เขียนแบบไม่ค่อยได้พิถีพิถันบ้าง นี่ก็ไม่เป็นไร ผมเข้าใจว่าคงมาจากทุนเล็กๆ ไม่ใช่เงินถุง เงินถังอะไร คงไม่มีสตางค์จ่ายค่าเรื่องให้นักเขียนดังอย่างพวก ดอกเตอร์ โปรเฟสเซอร์มือโปร แต่ถ้าเกิดเรามองมาถึง Idea ความเป็นประชาธิปไตย นี่ครับ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง ฝากถามนักวิชาการที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่าเห็นด้วยไหม ที่อ่านหนังสือของ de Tocqueville ประชาธิปไตยในอเมริกา (แปลโดยสมบัติ จันทรวงศ์ – ผู้สัมภาษณ์) พวกนักวิชาการรัฐศาสตร์คงต้องได้อ่าน de Tocqueville กันมาแล้ว พวกเสื้อแดงกำลังทำทำนองนั้น น่ารังเกียจนักหรือ ขอถามหน่อย เสื้อแดงจะชนะหรือไม่ชนะเป็นเรื่องของกาลข้างหน้า ไม่รู้ได้ แต่ที่รู้ได้ตอนนี้คือ สปิริตประชาธิปไตยที่เติบโตอยู่ขณะนี้น่ายินดีกว่านักมวยไทยได้เหรียญทองโอลิมปิก และถ้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐประหาร ‘19กันยา’ พวกอำมาตย์ก็ไม่ได้ชนะฟรีๆเสียแล้ว เสียใจด้วย

ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของจอม เพชรประดับ ซึ่งผมสนใจที่ทักษิณ ตอบว่า พวกคนต่างประเทศ ก็รู้หมดแหละว่าไม่ยุติธรรม อาจารย์ไชยันต์ คิดเห็นอย่างไร

เอาอย่างนี้หละกัน ไม่ต้องไปถึงต่างประเทศไกลๆ แค่ข้ามแม่น้ำโขงไปนี้น่ะครับ ผมพบคนลาวในที่ประชุมนานาชาติมาเมื่อเร็วๆนี้ คนลาวรู้หมด คนลาวรับข่าวสารเกี่ยวกับเมืองไทย และรับข่าวกระแสหลักด้วยนะครับ คนลาวเข้าใจดีเลยว่าอะไรเป็นอะไร อะไรไม่ยุติธรรม อะไรบิดเบือน นะฮะ แล้วจะมาบอกว่า คนไทย ที่เป็นพวกเสื้อแดงเป็นพวกเหยื่อของทักษิณ ได้ประโยชน์จากทักษิณ คนลาวได้ประโยชน์อะไรจากทักษิณหรือเปล่า คนลาว เขายังเห็นเหมือนเสื้อแดงเลยครับ เขารับสื่อข้างเดียวด้วยนะครับ สื่อของฝ่ายเสื้อแดงก็ไม่ค่อยถึงเขา แม้ว่าเขาดูจะโทรทัศน์ จะอ่านหนังสือพิมพ์กระแสหลัก เขาก็รู้ได้ คิดได้ว่า อะไรชอบธรรม อะไรไม่ชอบธรรม

นี่เป็นสามัญสำนึก สามัญสำนึกที่ไม่ได้พอกไว้ด้วยอคติ ผมว่าไม่ต้องไปอาศัยสติปัญญาอะไรลึกซึ้งนัก คือ สามัญสำนึกว่า ระหว่างทำกับข้าวกับยึดสนามบินน่ะ อะไรมันทำให้ประเทศฉิบหายกว่ากัน มันมีที่ไหนล่ะครับ ในโลกนี้ที่ยึดสนามบิน แล้วจัดการไม่ได้ ยึดไม่ใช่แค่สนามบิน ยังยึดที่ทำงานรัฐบาลด้วย แต่ว่าอีกด้านหนึ่ง มันเป็นการเปิดเผยให้เห็นสิ่งที่เราเรียกว่า ธาตุแท้ของพวกอำมาตย์ ที่กูจะครองแผ่นดินอยู่อย่างนี้ มึงจะทำไม เราก็ต้องถามกลับบ้างว่า แผ่นดินนี้เป็นของมึงพวกเดียวหรือ

อำนาจของสื่อเสื้อแดง คิดว่าพอจะเพิ่มจำนวนคนเสื้อแดง รวมทั้งแนวทางการต่อสู้ของสื่อสำหรับคนเสื้อแดง
แง่นี้น่าดีใจมาก ภายในเวลาไม่กี่เดือน สื่อออกมาตั้งหลายฉบับ และวิทยุมีตั้งหลายสถานี แล้วแต่ละสถานี กระตือรือร้น (Active) ตลอดน่ะ ไม่ใช่เปิดเพลงคั่นเวลาน่ะครับ คือไม่ใช่ไม่รู้จะพูดอะไรแล้วเปิดเพลงคั่นเวลา และมีคนโฟนอินต่อเนื่อง เท่าที่ผมทราบ ผมก็ไม่ได้ฟังทุกสถานี ก็เปิดไปสถานีนั้นสถานีนี้ ก็รู้สึกได้ว่ามีคนสนใจมาก เมื่อวานนี้เอง ผมออกไปอำเภอรอบนอก เป็นตำบล หมู่บ้านเล็กๆ ยังมีลานชุมนุมเลย ซึ่งคนในหมู่บ้านนั้น เขาก็รู้ว่าใครเป็นใคร ใครคิดอย่างไร แต่ก็มีการชุมนุมกันในหมู่บ้าน เหมือนเป็นสนามหลวงของหมู่บ้าน กอ.รมน.คงรู้แล้วมั้ง ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ควรรับเงินเดือนหรอก นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งมาก ดวงวิญญาณของคณะราษฎรคงจะยินดีอยู่บนสรวงสวรรค์


ผมคิดอย่างนี้น่ะครับ แต่ก่อนขบวนการของประชาชน ส่วนมากเป็นเฉพาะกลุ่ม เช่น ขบวนการแรงงาน สมมติว่า สหภาพแรงงานสไตรค์ เกษตรกร ก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องของกู พอเวลาเกษตรกรประท้วงหอมแดงราคาต่ำ สหภาพแรงงานก็บอกว่า เรื่องของมึง หรือในแง่ทางถิ่นที่อยู่ก็ได้ สมมติเรื่องเขื่อนปากมูลที่อุบลฯ คนอุดรฯยังไม่ร่วมด้วยเลย อย่าว่าแต่คนลพบุรี แก่งเสือเต้นประท้วงไป คนระยองก็บอกว่าบอกไม่เกี่ยวกับข้าพเจ้า แต่ปัจจุบันนี้ขบวนการเสื้อแดงรวมคนหลากหลายอาชีพ รวมคนจากถิ่นฐานกระจายทั้งประเทศ ถ้าใช้ศัพท์ฝ่ายซ้ายสมัยก่อน ก็เรียกว่าเป็น แนวร่วมมวลชนอันไพศาล จะมีประเด็นอะไรที่สามารถเป็นร่มให้ผู้คนนานาอาชีพ นานาภูมิหลัง

จนกระทั่งนานาความฝันมารวม มาร่วมกันได้กว้างขวางขนาดนี้ มันเป็นการรวมของความทุกข์ ความคับข้องใจ ความรู้สึกต่อความพิลึกของสังคมไทย จนกระทั่งความปรารถนาที่อยากจะเห็นสังคมเราพ้นไปจากตมปลักศักดินา เพราะฉะนั้นขบวนการเสื้อแดงจึงไม่ใช่ขบวนการของกลุ่ม ‘Thaksinists’ (แม้จะไม่มีศัพท์นี้ในโลก แต่ถ้าจะมี ก็ไม่เห็นแปลก ก็ทีคำว่า Thaksinomics พวกนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่น้อยทั้งหลายก็ไม่เห็นว่าอะไร) พวกนิยมทักษิณทุกคนเป็นเสื้อแดงนั้นใช่ แต่สมการกลับกันนั้นไม่ใช่ คือ ไม่ใช่พวกเสื้อแดงทุกคนเป็นพวกนิยมทักษิณ ลำพังทักษิณไม่สามารถสร้างเสื้อแดงมาขนาดนี้ได้ ต้องมีตัวช่วย และตัวช่วยตัวสำคัญก็คือ รัฐประหาร ‘19 กันยา’ รวมทั้งอำนาจสนับสนุนอื่นๆ

ผมคิดว่า เป็นการพัฒนาทางการเมืองที่น่าประทับใจมาก สรุปง่ายๆก็แล้วกันว่า ผมดีใจกับ 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐประหาร ระบบอำมาตย์ถูกเขย่าเสาคลอน แม้จะไม่ล้มในตอนนี้ หรืออาจจะไม่ล้มในช่วงชีวิตผมก็ได้ การช่วยกันคนละไม้คนละมือเป็นพลังพังทำนบได้

ขอฟังความเห็นต่อพลังคนเสื้อแดง
กลัวจะพูดซ้ำกับที่เคยสัมภาษณ์มา ขอเพียงเสริมว่า ถ้าจะชุมนุมแต่ละจังหวัด ผมคาดว่า คงอาจจะมีคนมาเป็นหลักหมื่น หรืออย่างน้อยก็หลักพัน ถ้าจัดที่ส่วนกลาง เราเห็นหลักแสนมาแล้ว นี่ไม่ใช่ธรรมดาๆ และ ที่น่านิยมอย่างยิ่งก็คือ การประท้วง เรียกร้องต่างๆนั้นยังอยู่ในรูปเสียงเพลงอีกด้วย แถมมีหลายเพลงเสียด้วย นี่คือสาเหตุที่ก็รู้กันทั่วไปว่า ทำไมฝ่ายโน้นถึงไม่ต้องการเลือกตั้ง แม้ว่าจะราวีกันภายในขนาดไหน
พลังเสื้อแดงยังต้องพิจารณาสัมพันธ์กับฝ่ายตรงข้าม

ฝ่ายโน้นไม่มีความคิดเป็นพลัง เมื่อก่อนเขายังมี “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรเลย สมัยเสื้อเหลืองเรืองรอง ก็มีเรื่องทักษิณโกง แต่ตอนนี้เรื่องนี้ขายไม่ออกแล้ว อุตส่าห์ลงทุนทำรัฐประหารก็ยังหาเรื่องเอาผิดทักษิณไม่ได้ เรื่องที่ทักษิณถูกตัดสินจำคุก ไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้ออ้างทำรัฐประหาร และตอนนี้ก็ไม่มีใครพูดเรื่องการเมืองใหม่แล้ว อย่าว่าแต่จะมีคนฟังเลย การที่ไม่มีความคิดเป็นพลัง ทำให้ฝ่ายอำมาตย์และฝ่ายเสื้อเหลืองทั้งฟ่ามทั้งกลวง ข้อเสนอเศรษฐกิจแนวพุทธ แบบชูมาร์คเคอร์ “Small is beautiful” ไทยเวอร์ชั่น เป็นธงรบไม่ได้

นี่คือสาเหตุว่าทำไมตอนนี้จึงไม่มี mass movement จึงต้องใช้ไม้อื่น (เลยใช้วิธีติดบิลบอร์ดบ้าง พ่นลมเรื่องความสมานฉันท์บ้าง เอาคนมาร้องเพลงชาติตอนชักธงลงบ้าง – เติมภายหลังวันสัมภาษณ์: ผู้สัมภาษณ์) ฝ่ายเสื้อแดงเหนือกว่าในแนวรบด้านพลังความคิด น่าเสียดายที่ฝ่ายอำมาตย์มีคนมีปริญญาเยอะมาก ถ้าเอาปริญญามาเรียงต่อกันแล้ว อาจจะยาวเท่าเส้นศูนย์สูตร แต่ไม่มี ideas อะไรมาเสนอ ขนาดคุมสื่อของรัฐ ก็ยังไม่มีเนื้อหาความคิดอะไรมาใส่ เขาถึงต้องใช้พลังอื่นๆมาสู้ นี่คือสาเหตุว่าทำไมสัญลักษณ์ความยุติธรรมจึงกลายเป็นครกกระเดื่องไปแล้ว และทำไมถึงต้องใช้วิธีนักเลงข้างถนน

อาจารย์ไชยันต์ คิดเห็นว่ารัฐประหารจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
เรามีรัฐประหาร 17 ครั้ง มาแล้ว แล้วทำไมจะมีครั้งที่ 18, 19 และ 20 ไม่ได้ ประเทศไทยจะดีวิเศษอะไรปานนั้น ทำไมพระศรีอาริย์จะมาโปรดเร็วขนาดนั้น แต่ถ้ามีอีก มันคงไม่ใช่กินรวบแบบครั้งก่อนๆ ส่วนจะเกิดเมื่อไหร่ เราไม่รู้ ไม่ใช่หมอดู

สื่อของกลุ่มคนเสื้อแดงกับการเมืองท้องถิ่นในกรณีเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่
การเมืองท้องถิ่นไปโยงผูกกับการเมืองของชาติ ทั้งที่จริงๆ ประเด็นเทศบาลมันเป็นเรื่องเก็บขยะ แต่ว่าการเมืองระดับชาติทำให้การเมืองท้องถิ่นทั่วไปเป็นไปอย่างนี้ กรณีเชียงใหม่ คนที่อยากได้รับเลือกตั้ง ก็พยายามที่จะอิงตัวเองกับเสื้อแดง พวกสมัครคนอื่นที่เคยอิงกับฝ่ายอำมาตย์ หรือว่า สนับสนุนเสื้อเหลือง หรือว่าไม่ได้เต็มใจกับเสื้อแดง เขาจะพยายามไม่ให้ปรากฏในการหาเสียง ผู้สมัครบางคน เมื่อก่อนใช้ยศทหารหาเสียง แต่ว่าตอนนี้ขายเฉพาะความเป็นดอกเตอร์ เพราะอะไรก็รู้กันอยู่แล้ว ผมคิดว่า การเลือกตั้งเทศบาลคราวนี้

ผู้สมัครที่อิงกับเสื้อแดงคงชนะ อันนี้คงจะเป็นการบอกถึงว่า ขบวนการเสื้อแดง รากหญ้า ไร้การศึกษาไม่ทันคนนั้นไม่เหมือนเดิม ดูสิว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ใครจะชนะ ชนะเท่าไร แล้วจะลบทฤษฎีของพวกหากินด้วยน้ำลายกับน้ำหมึกที่ชอบดูแคลนคนหากินด้วยน้ำเหงื่อหรือไม่ ผมขอกลับไปประเด็นเดิมอีกครั้ง คือ พวกปริญญายาวเหล่านี้แต่งตั้งวางตัวเองเป็นผู้พิพากษาเหล่านี้รับค่านิยมที่เป็นนิสัยตกตะกอนของพวกฝ่ายอำมาตย์มา

นิสัยถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ
ใช่ๆ เพราะเขาเป็นฝ่ายปกครอง เป็นฝ่ายที่คิดว่า ตัวเองอยู่เหนือคนอื่น เราอยู่เหนือคนอื่น เราอยู่เหนือทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางอำนาจทางการเมือง เราก็อยู่เหนือทางศีลธรรมด้วย ก็คิดไปเองน่ะ แต่ถ้าเกิดจะไปว่าเขา หรือวิจารณ์เขากลับ เขาจะจับเอาน่ะครับ เอางี้ ผมยกตัวอย่างให้ว่า กฎหมายหมิ่นประมาท คุณไปด่าว่า ชาวนาโง่ ศาลไม่ตัดสินว่าเป็นหมิ่นประมาทนะ แต่คุณลองไปด่าว่า อาจารย์โง่ซิฮะ เขาฟ้องตายเลยใช่ไหม แล้วศาลก็เห็นว่าผิด และไอ้การที่เรา มีข้อหาหมิ่นศาล คือ มึงอย่ามาตั้งคำถามกับคำพิพากษาของกูน่ะ มันมีกฎหมายเลย ห้ามเลย มึงอย่ามาตั้งคำถาม ส่วนกูจะตัดสินใครยังไงก็ได้

แต่คราวนี้ก็ดีนะ เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเขาก็ได้เห็นธาตุแท้หลายอย่าง เช่น นักวิชาการบางคน สมัยเสื้อเหลืองเฟื่องฟู ทำป่าๆเถื่อนๆก็บอกว่าเขาจะไม่เขียนอะไรที่ทำให้เสื้อเหลืองอ่อนแอ โอ้ย ตลกมาก แล้วก็ยังมีพวก ‘2 ไม่เอา’ รวมทั้งพวกอีแอบสีเหลืองด้วย What kind of position is this? อย่างนี้เนี่ย แย่กว่ายาม ESCAPE

สมัยหลัง ‘14 ตุลา’ นักวิชาการเห็นไปในทำนองเดียวกันกับรัฐบุรุษอาวุโส สมัยนี้ก็เป็นเช่นนั้นอยู่ สำหรับนักวิชาการบางคน แต่ที่ต่างกันมาก คือ มันเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนละเบอร์ สมัยนี้บางคนเขาเห็นเหมือนคนเบอร์สองเลยที่ว่าอภิสิทธิ์ควรเป็นนายกฯ

อำนาจของนักวิชาการ ที่มีสัมพันธ์กับสื่อทำร้ายเสื้อแดง โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว และนักวิชาการ ก็ออกสื่อต่างๆ และผลิตความรู้สำหรับครอบงำคนได้
อาจจะมีส่วนกับบางกลุ่ม แต่ผมคิดว่า มันไม่ได้มีอำนาจมากมายอย่างที่เขาคิดหรอก ไม่มีอำนาจเหนือสามัญสำนึก เสมอไปหรอก ไม่ใช่ว่าพูดอะไรแล้วเขาจะเชื่อ ผมประทับใจมากเลยกับคนลาว เขาก็ยังคิดได้ ทั้งที่เขารับแต่สื่อพวกนี้ เขาก็มีสามัญสำนึกว่าอะไรที่มันเกินเลย และการพูดอะไร แสดงความคิดเห็นอะไร มันต้องตัดสินกันข้ามเดือน ข้ามปี เราจะเห็นว่า มีคนพูดกลับไปกลับมา เอาแค่ 3-4 ปี คนพูดกลับไป-กลับมา คนพูดว่า รับร่างรัฐธรรมนูญปี ’50 ไปก่อน รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ ตอนนี้แล้วทำไมมึงไม่แก้ มันพูดว่า เราไปเสียรู้เรื่องเขาพระวิหาร นักวิชาการประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีมีอยู่ตั้งเยอะแยะ แหมเฉยเลย เหรอ แล้วตกลงเขาพระวิหารเป็นของไทย เหรอ ทำไมไม่ออกมาเถียงพวกเสื้อเหลืองบ้าง แต่ผมคิดว่า อำนาจของเขาไม่เกินสามัญสำนึกครับ

แล้วคิดว่า การรับข้อมูลข่าวสาร คนตื่นตัวกันมากขึ้นในการรับรู้ข่าวสารมากไหม?
ผมคิดว่า คนสนใจติดตามข่าวสารกันมาตั้งแต่รัฐประหาร 3 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้นำคนมาสนใจและเกี่ยวข้องกับการเมืองกันมากขึ้น แต่ก่อนเขาก็ทำมาหากินของเขา ปลูกหอม ทำนา รับจ้างกันไปแต่ละวัน ไม่ใช่แค่สนใจการเมืองมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ (Distrust) ฝ่ายผู้มีอำนาจ ความรู้สึกนี้แพร่ไปทั่ว เมื่อก่อนเสื้อเหลืองชุมนุม นักปราชญ์ฝ่ายนี้เขาเรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยราชดำเนิน ถ้าเรายืมสำนวนนี้มาใช้ ก็พูดได้เลยว่า มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ดีมากๆ เขาฟังแล้ววิเคราะห์วิจารณ์ ชาวบ้านคิดเอง ทำให้เขาไม่เชื่อทางการ ยิ่งชาวบ้านจับโกหกได้ ก็ยิ่งเพิ่มภูมิต้านทานโฆษณาชวนเชื่อ การโกหกโป้ปดมดเท็จ มันมีผลดีได้ผลประโยชน์ระยะสั้น แล้วฝ่ายครองเมืองเขาก็ทำกันอย่างนี้ แต่บังเอิญว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 3 ปี ทำให้คนไม่ลืม เลยเห็นคนโกหกเต็มไปหมด เห็นเด็กเลี้ยงแกะเต็มไปหมด ยิ่งเกิดความไม่ไว้วางใจ มันก็เป็นสามัญสำนึกชาวบ้าน ความจริงน่าจะเป็นบทเรียนของการชอบมุสา คนที่ไม่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ตั้งแต่สมัยปรีดี สมัยบรรหารหรอก เอาแค่ 3 ปีนี้ก็เห็นเยอะเลย

จากการที่รัฐบาลประกาศวันรักการอ่าน แล้วอาจารย์คิดเห็นอย่างไรบ้าง
ถ้ามันเป็นเพียงแค่มีวันเฉยๆ มันก็งั้นๆแหละ สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ เงื่อนไขทำให้คนอ่านหนังสือ มันมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้คนอ่านหนังสือเพิ่ม เช่น หนังสือราคาถูก มีห้องสมุดทั่วไปให้คนอ่าน และเงื่อนไขของเวลาและโอกาส เป็นที่รู้กันว่า คนอ่านหนังสือในอังกฤษเคยมีมากกว่าปัจจุบัน แต่หลังจากที่มีโทรทัศน์แพร่หลายไปทุกบ้าน ทำให้คนอ่าน หนังสือน้อยลง อันนี้มีข้อเท็จจริงที่ยืนยัน มีงานวิจัยที่พิสูจน์ประเด็นนี้ ถ้าอยากให้การสร้างการรักการอ่านเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ก็ต้องสร้างเงื่อนไข

ที่เริ่มต้นได้เดือนหน้าเลย คือ ลดเวลาละครโทรทัศน์ลง เลิกข่าวไร้สาระ และโฆษณาบ้าดีเดือด แล้วช่วยเอาเวลาเหล่านี้แทนที่ด้วยการอภิปรายเรื่องหนังสือ เลยอยากจะรู้ว่า นอกจากประกาศวันรักการอ่านแล้ว จะมีมาตรการอะไรบ้าง เช่น มีกองทุนสนับสนุนให้ราคาหนังสือถูกลงไหม ยกตัวอย่างกรณีคุณสุชาติ ทำ โลกหนังสือ ก็ขาดทุน และก็มีความคิดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็คือ หมอสุรพงศ์ สืบวงศ์ลี ที่จะสนับสนุนโครงการให้มีโลกหนังสืออีก แต่ก็ล้มไป แล้วมีบ้างไหม โครงการแบบนี้ ไม่ใช่บ้วนน้ำลายแล้วหายไป

ผมได้ยินได้ฟังมาว่า สื่อเสื้อแดง เป็นพวกหัวรุนแรง ชอบใช้กำลังทำร้ายผู้คน และปลุกระดมมวลชน อาจารย์คิดว่าอย่างไร
ผมได้ฟังวิทยุคนเสื้อแดงบางสถานี มีคนโฟนอินเข้าไป ก็ชวนให้รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งมันก็เป็นที่เข้าใจได้ มันเป็นปรอทวัด ความเหลืออด ความโกรธแค้นจากการถูกย่ำยี ถูกข่มเหงรังแก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่า จากความโกรธ ความไม่พอใจนี้ เพราะฉะนั้น จึงต้องปลุกระดมทำร้ายกัน มันไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผลที่ต่อเนื่องกัน เพียงแต่ว่าทำให้เราทราบคนรู้สึกอย่างไร แต่ว่าการที่พูดเหมาว่า คนเสื้อแดงชอบปลุกระดมให้คนทำร้ายกัน เป็นการใส่ร้าย ผมเคยไปชุมนุมที่ข้างอาเขต (สถานีรถโดยสารที่เชียงใหม่ - ผู้สัมภาษณ์)


ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้รู้สึกเป็นอย่างนั้น คนเป็นหมื่นเป็นแสน ก็มีคนที่อาจจะคิดอย่างนั้นบ้าง และผมคิดว่า ทางฝ่ายนำก็คงต้องจัดการดูแลไม่ให้เกินเหตุ เกินผลไป อย่าให้ไปถึงขั้นเลือดตกยางออก พูดไปพูดมาเหมือนพวกนักสันติวิธี พวกนักสันติวิธีนี่น่ารักมาก พูดจาสุภาพ ใครๆก็ต้องเห็นด้วย มีผู้นำสันติวิธีคนหนึ่งจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยการต่อต้านรัฐประหาร อุตส่าห์ตั้งครป. แต่นั่นมันสมัยสุจินดา แต่รัฐประหารคราวนี้ทำเป็นเฉย ซ้ำยังเป็นสมาชิกสภา (...) นี่เสียอีก นักสันติวิธี ผู้น่ารัก ยังจะน่านับถือกันต่อไปไหมเนี่ย

เราต้องระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เราต้องเชิดชูถึงความเด็ดเดี่ยวของท่าน เป็นคนที่ผมเคารพมากเลย ผมยังไม่เห็นในเมืองไทยเลย ที่คิดว่า มีคนอย่างนี้ ผมไม่ได้หมายความนะครับว่า อยากให้ท่านเสียชีวิต แต่นี่คือ คนยอดคน นี่คือ คนจริง งานศพของท่านอยู่ในวัดเล็กๆที่เมืองนนทบุรี เข้าไปลึกหน่อยจากถนนใหญ่ เป็นงานศพของคนกระจอก แต่มีพวงหรีดของสุรยุทธ์ จุลานนท์ด้วย และมีตำรวจเต็มไปหมด ถ้าคนไม่บอก ก็นึกว่า งานศพนี้จัดที่วัดเทพศิรินทร์ ซะอีก ในอนาคตข้างหน้า น่าจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ท่าน สร้างที่ลานที่ท่านขับรถแท็กซี่ชนรถถังนั่นแหละ แต่ไม่ต้องออกแบบให้เป็นอัศวินขี่ม้าขาวนะ เอาแบบขี่แท็กซี่ดีที่สุด เป็นเอกลักษณ์ดี ไม่เหมือนใคร

*หมายเหตุ ที่มาจากประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2009/10/26405

สัมภาษณ์ชาตรี ประกิตนนทการ: "เพดานความคิดในสถาปัตยกรรรมของคณะราษฎรกับสังคม"

ชาตรี ประกิตนนทการ “เพดานความคิดในสถาปัตยกรรรมของคณะราษฎรกับสังคม”

สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้ม

ประวัติความเป็นมาของประเด็นวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับสนใจเรื่องคณะราษฎร มีเหตุผลอะไรบ้าง

จริงๆ งานชิ้นแรกที่ทำ ไปสนใจเรื่องวัดมหาธาตุ ที่บางเขน แต่ว่ายังไม่มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวกับพวกนี้ เพียงแต่ว่าไปสนใจว่า วัดมหาธาตุ อันนั้น เผอิญ อาจารย์ที่เป็นคณบดีคนแรกของศิลปากร เหมือนเป็นIcon ของเรา อะไร ณ ตอนนั้น ไปทำวัดนี้ ก็เลยไปศึกษา ปรากฏว่าพอเข้าไปศึกษา ไปดูเอกสาร ดูรูปแบบสถาปัตยกรรม ก็พบว่ามันเกี่ยวกับคณะราษฎร ก็เลยทำให้ต้องไปสืบหาคณะราษฎร พอหลังจากนั้น ก็เลยสนใจเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร ก็เลยทิ้งคณบดีตัวเอง เพราะว่ารู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่กว่า มันก็ครอบคลุม พอดูจากวัดนี้ มันก็ไปเชื่อมโยงกับตึก อาคารอื่นๆ ที่อยู่ในยุคนี้ พอไปถึงตึกอื่นๆ ในยุคนี้ ก็เลยรู้สึกว่า มันกลายเป็นมีลักษณะเฉพาะ ที่มันสัมพันธ์กับช่วงคณะราษฎรพอดี คือ ตอนที่อยู่ใน พ.ศ. 2490 ตึกก่อนหน้านั้น และหลังจากนั้น ก็ยังเปลี่ยนรูป เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยโดยส่วนรวม มันก็เลยยาวไป

การศึกษาประวัติศาสตร์กับสถาปัตยกรรม ที่ว่า มีการสร้างสถาปัตยกรรม เช่น มีตึกหนึ่ง ขึ้นมานั้น จะมีคนเห็นร่วมกันหมดหรือไม่ ในตึกคณะราษฎรที่ปรากฏออกมา

ผมคิดว่า คงไม่มีทาง ที่จะเห็นร่วมด้วยกันขนาดนั้น คืองานสถาปัตยกรรม มีลักษณะพิเศษ อย่างหนึ่งคือ ใช้งบเยอะ เพราะแน่นอนว่า นอกจากมองในมุมแบบผม ซึ่งก็จำกัดปัจจัยอยู่แล้ว เพราะจริงๆมันมีเรื่องงบประมาณ คือ ตึกหนึ่งบางทีสร้างเป็นร้อยล้าน มันก็ต้องมีผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น มันก็ต้องมีความขัดแย้งอยู่แล้ว แต่ในงาน ที่ผมทำ ก็เข้าใจปัจจัยที่ซับซ้อนในการเกิดขึ้นของตึก แต่ละตึกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า เราจะต้องจำเป็นที่จะต้องจำกัดปัจจัย แล้วก็สร้างPlot มัน ประวัติศาสตร์เขาเรียกสร้างPlot เพื่อสร้างความเข้าใจชุดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมันจะความเข้าใจอีกหลายแบบมากเกี่ยวกับตึกในยุคนี้ ให้คนอื่นศึกษาต่อไป

ตึก จึงมีวิธีการศึกษาในแง่อื่นๆ
อาจจะอธิบายมันในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ

สภาพของการศึกษาสถาปัตยกรรมเฉพาะช่วงคณะราษฎร กว้างมาก แล้วมีวิธีมองแบบใดบ้าง
ใช่ครับ กว้างมาก แล้วเรายังมีได้หลายapprochเลย แต่ว่าทุกคนมักจะมีapproach ติดอยู่แค่ approach เดียว ซึ่งผมก็คิดว่า ผมก็หนีไม่พ้นแบบนั้น เพราะฉะนั้น ณ มุมของผม ตอนนี้ ซึ่งผมคิดได้อยู่ก็วนอยู่แค่ในมุมเพดานความคิดเดียวในยุคคณะราษฎร ก็คิดว่าโอเคไม่หมดหรอก แต่ว่าก็ไม่มีเหลืออยู่เยอะมากในมุมของผม แต่ว่าถ้าเรามองสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฏร เป็นเหมือน Object หนึ่งในการศึกษา มันยังมีอีกหลาย Approach สำหรับคนอื่น ที่อาจจะมีมุมอื่นมามอง ที่จะมาตีความอีกแบบ

ถ้าคนอื่น ที่เขามองงานสถาปัตย์ หรือ งานศิลปะแนวสัจจะสังคมนิยม เป็นมุมมองที่แตกต่าง จะมีอีก Approach หนึ่ง แล้วแบบอื่นๆ
มีงานศิลปะมีหลายแบบ มีApproach อื่นครับ อย่างผมมองในแง่ของงานศิลปะ คือศิลปะของคณะราษฎรเหมือนกัน แต่ว่ากระแสหลัก เค้าก็อธิบายศิลปะในยุคคณะราษฎรนี้ว่า เป็นศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย เขาก็จะมีอีกแง่มุมหนึ่ง ในการอธิบายไป อย่างเช่น เขาก็จะมองว่า ยุคนี้นิยมทำแบบเรียลลิสติก คือเขาก็จะอธิบายโดยใช้ Approch แบบพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ศิลป์มา ก็เป็นได้อีกแบบหนึ่ง ผมก็อีกแบบหนึ่ง ก็คงมีอีกหลายแบบ

ยืนพื้นการวิเคราะห์ด้วยสถาปัตยกรรมเป็นหลัก
คือ อาศัยประสบการณ์ที่เรียนมา ก็อย่างน้อย เราก็คลุกคลี มีข้อมูลอยู่ก็น่าจะเป็นทางที่ทำได้

ปริญญาตรีและปริญญาโทของอาจารย์ เรียนจบด้านใด
ปริญญาตรี จบคณะสถาปัตยกรรมไทย ที่คณะสถาปัตย์ ศิลปากร ปริญญาโท จริงๆ ก็ไม่ได้เรียกว่าประวัติศาสตร์ตรง ก็เป็นที่จุฬาฯ สถาปัตย์เหมือนกัน สาขาก็คือ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต แต่ว่ามันเป็นแขนงวิชาประวัติศาสตร์ และทฤษฎี

หนังสือของอาจารย์ชาตรี ก็ขอบคุณอาจารย์สุธาชัย ซึ่ง เขาเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์
ก่อนจะทำวิทยานิพนธ์ ก็ต้องเลือกเอง ลงคอรส์ ประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่หลัง 2475 ก็ไม่ได้รู้จักอาจารย์สุธาชัยมาก่อน ไปเจอเขา ก็ประทับใจวิธีการสอนของเขา ก็เลยเชิญเขามาเป็นหนึ่งในกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์
ด้วย ซึ่งจริงๆ การคอมเมนต์ของเขา หลายอย่างๆ ก็มีส่วนทำให้ผมมีมุมมองอะไรได้หลายอย่าง มีวิธีคิดแก่ผม

ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม มันจะตันหรือไม่ ในการอธิบายกระแสหลัก ที่เป็นอยู่เชิงประวัติสถาปัตยกรรมทั่วไป แต่ไม่มีตัวอย่างการอธิบายแนวคณะราษฎร ในความคิดเห็นของอาจารย์ คิดว่าอะไร
คือ ไม่เชิงเรียกว่ามองว่ามันจะตัน แต่มันถึงจุดอิ่มในลักษณะหนึ่งตรงที่ว่า ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมกระแสหลัก เราก็เน้นการเก็บรวบรวมข้อมูล และก็อธิบายข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยไม่ได้วิเคราะห์ ตีความ ซึ่งตอนนี้ในวงการประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ผมคิดว่าเรามีข้อมูลพวกนี้ ที่รอจะวิเคราะห์ ตีความ เต็มมากมหาศาลเลย เพราะฉะนั้น ตัน อาจจะไม่ตัน แต่มาถึงจุดอิ่มตัวในApproch หนึ่ง แต่ว่าด้วยการอิ่มตัวของApproch ทำให้มีข้อมูลมากองรอสำหรับ Approch อื่นๆอีกมากเลย เพราะฉะนั้นในการศึกษาทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ถ้าคนส่วนใหญ่ยังเห็นว่ามี Approch อื่น จะได้ประโยชน์จากกระแสหลักตอนนี้ อย่างมากมายมหาศาล และสิ่งที่ผมทำอย่างสม่ำเสมอ ก็ทำด้วยความเคารพกระบวนวิธีแบบเดิมอย่างมาก เพราะสิ่งที่ผมตีความ วิเคราะห์มาได้ถึงปัจจุบัน เพราะมีประวัติศาสตร์กระแสหลัก คอยเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นเหมือนคลังมหาศาล

ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์กระแสหลัก และประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม เป็นพื้นฐานของการใช้ Approch ในต่อไป
พูดไปก็เหมือนกับเป็นเทรนด์ แต่จริงๆ มันก็เป็นความจริง คือมันควรจะถึงยุคที่จะข้ามสาขา บูรณาการกันจริงๆ ตามคำยอดฮิต พอหลัง ถ้ามองในแง่ดี มันก็เป็นจริง นับช่วงหลายสิบปี หรืออาจจะเป็นร้อยปีที่ผ่านมา เราแยกสาขาเฉพาะแล้วเจาะลึก ไปถึง ณ จุดหนึ่ง ก็น่าจะถึงเวลาที่จะต้องผนวกอะไรต่างๆเข้ามาอธิบายสังคม

งานของอาจารย์ชาตรี ก็มีอิทธิพลโพสต์โมเดริน์ ในการวิเคราะห์

ก็ผมคิดว่า ก็ยอมรับว่ามีส่วน แต่ไม่กล้าพูดเต็มปาก เพราะไม่เคยอ่านทฤษฎีตัวต้นของมันจริงๆ แต่รับมาจาก ถ้าเรียกว่า ไม้สอง ไม้สาม ก็ไม่กล้าที่จะไปพุดถึงอย่างนั้น แต่โดยส่วนตัวก็ยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อตัวเองมากพอสมควร

มีมุมมองอย่างไรบ้าง กับกระแสโพสต์โมเดริน์ทางสถาปัตยกรรม ที่จะมีประโยชน์ต่อสังคมไทย

ผมคิดว่ามีประโยชน์ ถ้าเรามองมัน ในแง่ที่ว่าสัมพันธ์กับสังคมจริงๆ ไม่ใช่เทรนด์ในการศึกษา ซึ่ง ณ กลุ่มคน ที่นำแนวคิดโพสต์โมเดริน์มาใช้ในวงการศึกษา เอาเฉพาะที่วงการสถาปัตย์ ก็จะมีประเภท ศึกษาเพื่อนำไปสู่การออกแบบ เพื่อมุ่งสู่ปัจเจก ในการออกแบบเพื่อจะได้อาศัยทฤษฎีโพสต์โมเดริน์ เพื่อจะให้ตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์ให้มากมายกว่ากระแสหลัก ซึ่งอันนั้นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ผมคิดว่าอันนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อสังคม แต่สิ่งที่ผมใช้โพสต์โมเดิรน์มาอธิบายประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ในแง่ที่สัมพันธ์ ปัญหาของสังคม บริบทของสังคม อำนาจที่มันแย่งชิงกัน ต่อสู้กัน แย่งชิงความทรงจำ เรื่องของการนิยาม ใช้สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือของอำนาจ หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่าในมุมนี้ มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจสังคมปัจจุบันมากขึ้น

ความสำคัญของสถาปัตยกรรมของยุคคณะราษฎร และการถูกรื้อ ทำลายของตึก ดังกล่าว ในความคิดเห็นของอาจารย์ชาตรี จะถูกรื้อไปเรื่อยๆ หรือไม่

ตึกยุคคณะราษฎร ในความคิดของผมเอง ผมรู้สึกว่าตึกยุคนี้ กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติในแง่ของการจะถูกรื้อ เพราะว่าด้วยมรดกของความคิดทางประวัติศาสตร์ หลัง 2500 มา ที่มองว่าตึกพวกนี้ ไม่เป็นไทยอย่างหนึ่ง และเป็นพวกของยุคคณะราษฎร ซึ่งถูกบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ว่า ชิงสุกก่อนห่ามบ้าง พวกแรกเริ่มเผด็จการทหารบ้าง ซึ่งเป็นผลของประวัติศาสตร์บิดเบี้ยว เช่น รูปธรรมที่เรามักพูดถึง โรงหนังเฉลิมไทย และก็ตึกอีกเยอะ ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักมาก โรงพยาบาลกลาง โรงพิมพ์คุรุสภา และก็กรณีล่าสุด ศาลฏีกา และผมก็คิดว่าแนวโน้มเช่นนี้ ยังเป็นไปอีกนาน ตราบใดที่ เขาเรียกว่า เพดานความคิด หรือวาทกรรมในสังคมไทย ยังเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ถึงแม้ว่า ตึกพวกนี้เข้าเกณฑ์จะอนุรักษ์ได้แล้ว ในทางกรมศิลปากร แต่ว่ามันก็ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียน หรือมองว่ามีคุณค่า


*หมายเหตุ ที่มาจากประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2007/10/14669

สัมภาษณ์ "สัณห์ชัย โชติรสเศรณี" แห่งมูลนิธิหนังไทย: เป้าหมายของการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ทำให้คนไทยโง่ !?

สัมภาษณ์ "สัณห์ชัย โชติรสเศรณี" แห่งมูลนิธิหนังไทย: เป้าหมายของการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ทำให้คนไทยโง่ !?


Thu, 2007-11-29 21:28
"สัณห์ชัย โชติรสเศรณี" ฝ่ายประสานงานของมูลนิธิหนังไทย ท่ามกลางประเด็นร้อน "ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ..." ถูกเสนอเข้าวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 50 โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่ง "สัณห์ชัย โชติรสเศรณี" ได้ถ่ายทอดความคิดเห็นต่อประเด็น พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ในเวทีการประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1 และมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย อย่างน่าสนใจ

สัมภาษณ์/ถ่ายภาพโดย อรรคพล สาตุ้ม

สัณห์ชัย โชติรสเศรณี


บรรยากาศงาน ดูหนังมุมมองใหม่ การประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ณ แกลเลอรี่ 2 บางกอกโค้ด (ศูนย์ชุมชนน่าอยู่กรุงเทพ) มีเวทีเสวนา เรื่อง "ดูหนังมุมมองใหม่ กับ การประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1" โดย มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมป์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งแรกในประเทศไทย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยพัฒนาวงการศึกษาภาพยนตร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นเสมือนเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจภาพยนตร์ไทยในแง่เชิงวิชาการ ภายในงานจะมีการนำเสนองานวิจัยและบทความเชิงวิชาการเกี่ยวกับภาพยนตร์ 13 เรื่อง ครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ กระบวนการศึกษาภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม ความเป็นไทย อัตลักษณ์ ลัทธิหลังสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์ และการสัมมนาเรื่อง"การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์: การคุกคามเสรีภาพทางปัญญา เป็นต้น"

ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี ผู้ประสานงานของมูลนิธิหนังไทยเกี่ยวกับมุมมองในด้านประเด็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ในการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทยและมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย ดังกล่าว

000

เมืองไทยกับการศึกษาภาพยนตร์

เรียนให้ทราบนิดนึงครับว่า โดยปกติแล้ว คอร์สวิชาภาพยนตร์ในเมืองไทยทุกวันนี้ มีอยู่ไม่ถึง 10 มหาวิทยาลัย ที่เปิดวิชาเอกภาพยนตร์จริงๆ แต่ว่าทุกคณะ มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ การผลิตนักศึกษามุ่งเน้นไปที่โปรดักชั่นเป็นหลักโดยเฉพาะ เขาสอนว่าจับกล้องอย่างไร เขียนบทอย่างไร อะไรอย่างนี้ ผลผลิตออกมา คือ เด็กปริญญาตรีทำหนังสั้นส่งหรือฝึกงานในกองถ่าย แต่วิชาที่ มันเป็น Film studies การวิจารณ์ทฤษฎี มีสัดส่วนที่น้อย ถ้าเทียบกับวิชาที่เป็นโปรดักชั่น โดยส่วนใหญ่แล้ว ก็จะมีสัก 1-2 วิชา จะมีบางมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นทางเลือก มีหลายวิชา แต่ก็ส่วนใหญ่ แล้วเน้นโปรดักชั่นเป็นหลัก

เคยได้คุยกับทางมหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัย เขามุ่งเน้นที่ตอบสนองอุตสาหกรรมภาพยนตร์พอสมควร โดยเฉพาะบางมหาวิทยาลัยจะวัดเกณฑ์ว่ามหาวิทยาลัยดีหรือไม่ดี โดยดูว่าเด็กที่จบไปได้หรือไม่ได้งาน และเขามองว่า การเรียน การสอนโปรดักชั่นนั้น เด็กได้โปรดักชั่นแน่ๆ ไปทำงานโปรดักชั่น แต่ว่าทางด้าน Film studies มันไม่ค่อยมีโอกาสตรงนี้ ความจริงต้องมองว่าวิชาทาง Film Studies เป็นวิชาพัฒนาสมอง มันไม่ได้ออกมาเป็นตัวงาน หรือทำหนังให้เป็นแบบนี้ มันจึงไม่เห็นเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน เด็กที่สนใจเรียนภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็มองภาพยนตร์เป็นเชิงโปรดักชั่นเป็นหลัก คืออยากทำภาพยนตร์ แต่ไม่มีใครคิดว่าอยากเป็นนักวิชาการภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์เมืองไทย ก็อาจจะมีบ้าง แต่งานวิจารณ์ภาพยนตร์เมืองไทยเองก็เหมือนเป็นเชิงโปรดักชั่น เช่น มุมกล้องเป็นอย่างไร สีอย่างไร แสงอย่างไร ต้องบอกเลยว่าการศึกษาภาพยนตร์ไทย ยังไม่ข้ามผ่านความเป็นโปรดักชั่น (Film Production) ถ้าไปศึกษาทฤษฎี ก็จะเป็นทฤษฎีรูปแบบนิยม (Formalist Film Theory) และ สัจนิยม (Realist Film Theory) ที่จะดูรูปแบบของการสร้างภาพยนตร์เป็นหลัก

ส่วนนี้มันก็อาจจะสะท้อนมายังภาพยนตร์ไทยได้ คือมันจะมีลักษณะแบบไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากนัก เพราะเขามองว่า ภาพยนตร์ไม่ได้ลึกอะไรเลย ในท้ายที่สุด คุณใช้กล้องเป็น คุณจับกล้องเป็น คุณวางกล้องได้ คุณก็สร้างภาพยนตร์ได้แล้ว แต่เขาไม่ได้คิดถึงว่าภาพยนตร์แท้จริง มันลึกกว่านั้น

คนที่มาเสนอบทความ ในงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งนี้ ไม่ได้จบสายภาพยนตร์กันมาเลย แต่มาจากหลายสายๆ นั่นแสดงว่า มันมีการพยายามอีกฟากหนึ่งที่จะใช้ทฤษฎีวรรณกรรม ทฤษฎีสังคม ทฤษฎีอื่นๆ มาใช้กับภาพยนตร์ มาเจาะภาพยนตร์ เพราะต้องยอมรับว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อที่แพร่หลาย ทุนนิยม เป็นสื่อประชานิยมของสังคมไทยด้วย มันเลยกลายเป็นว่า มันมีอีกด้านหนึ่ง อีกขั้วหนึ่งที่ไม่ใช่ขั้วของการศึกษาภาพยนตร์เลย แต่เป็นขั้วของการศึกษาวรรณคดีเปรียบเทียบ การศึกษามนุษย์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ที่ใช้ภาพยนตร์มาเล่นเป็นตัวถูกศึกษาเพื่อจะอธิบายสภาพสังคม อะไรอย่างนี้…ถ้าอยากฟังบทความ หรืองานวิจัยเหล่านี้ ก็ต้องไปตามงานที่คณะอักษรศาสตร์ และคณะสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ เราต้องไปคณะเหล่านี้ ถึงจะรู้ว่าภาพยนตร์แท้จริงมีมากกว่าที่เห็น


อยากให้บอกเล่าจากประสบการณ์ที่ไปดูวงวิชาการประชุมด้านภาพยนตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศเพื่อนบ้าน

2-3 ปีที่ผ่านมา เรามีงานประชุมวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ จัดโดยกลุ่มของนักวิชาการด้านภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเวียนจัดตามประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จัดที่ธรรมศาสตร์ โดยมูลนิธิหนังไทยฯ รับเป็นเจ้าภาพจัดงาน คนที่มานำเสนองานในงานประชุมนี้มีนักวิชาการอยู่ 2 ประเภท นักวิชาการประเภทหนึ่งเป็นคนต่างประเทศหรือคนไทยหรือคนท้องถิ่นที่ไปโตใน ต่างประเทศ เขาพวกนี้จะเป็นอาจารย์สอนที่อเมริกา อังกฤษ หรืออื่นๆ แล้วศึกษา วิจัย รากเหง้าของตนเอง อย่างคนไทยมี คุณอาดาดล อิงคะวณิช เรียนมัธยมที่อังกฤษจนจบปริญญาเอกที่อังกฤษ ก็เป็นอาจารย์สอนที่อังกฤษเลย แต่สนใจศึกษาภาพยนตร์ไทย

อีกประเภทหนึ่งเป็นนักวิชาการของแต่ละประเทศ คือเป็นคนชาตินั้นๆ โอเคบางคนอาจได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ แต่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่ประเทศของตัวเอง และศึกษาภาพยนตร์ของประเทศของเขา โดยสัดส่วนแล้ว จำนวนของสองประเภทนี้ก้ำกึ่งกัน

แต่สำหรับประเทศไทย นักวิชาการประเภทหลังจะมีสัดส่วนที่น้อยมาก แทบจะไม่มีนักวิชาการคนไทยที่ไม่ได้โตหรือทำงานต่างประเทศมานำเสนองานวิจัย หรือบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย อุปสรรคอันหนึ่ง อาจจะเกิดจากการนักวิชาการที่เป็นคนไทยที่เป็นคนไทยแท้ๆ ไม่ได้รับการศึกษาต่างประเทศ หรืออาจไปเรียนต่างประเทศ สัก 1 ปี หรือ 2 ปี จะมีอุปสรรคด้านภาษา เพราะเวลาพรีเซ็นต์งานต้องเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยข้ออ้างนี้เราจึงอาจจะเห็นว่านักวิชาการที่เยอะ คือ ประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ ที่พูดภาษาอังกฤษค่อนข้างคล่อง

แต่ถ้าถามว่าในแง่แวดวงการศึกษาของภาพยนตร์ของเขา ส่วนใหญ่เท่าที่คุยกันแต่ละที่ก็เน้นโปรดักชั่น ความจริงมันก็เป็นกระแสทั่วโลกอยู่แล้ว ผมไม่แน่ใจในยุโรป แต่ว่าที่อเมริกา มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย ถ้าเปิดภาพยนตร์ ส่วนใหญ่จะเปิดเพื่อโปรดักชั่น ส่วนสายทฤษฎี หรือ Film Studies ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยจะเปิดวิชาเอก Film Theory ส่วนในประเทศเพื่อนบ้าน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ ถ้ามหาวิทยาลัยเปิดด้านภาพยนตร์จะเปิดเน้นโปรดักชั่น เรื่อง Film Studies อาจ จะไปอยู่ในสาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา หรืออะไรอย่างนี้ไปแทน สถานการณ์ระหว่างบ้านเรากับประเทศอื่นๆไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่าคนอื่นๆ เขามีการเริ่มต้น แล้วตัวของนักวิชาการของเขาเองก็แข็งแรง เขาพยายามนำเสนองานวิชาการที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ มันมีการเปิดพื้นที่นำเสนอได้ เขาจึงสามารถพัฒนาความรู้ไปได้ไกลกว่าที่เราเป็นอยู่


ถ้าเทียบกันในเชิงพื้นที่สื่อของไทย ระหว่างสื่อนิตยสารกับสื่อวิชาการ คิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ความแพร่หลายของสื่อวิชาการของเรายังน้อยอยู่ เราอยู่ค่อนข้างจำกัด เราอยู่จำกัดวงเล็กๆมากๆ ยอดพิมพ์หนังสือบางที 500 เล่ม 1,000 เล่ม ยังขายกันไม่หมดเลย ใช่ไหม อาจารย์ของผมท่านหนึ่ง

พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ 1,000 เล่ม ผ่านมาแล้ว 6 ปี ทุกวันนี้ ผมยังเห็นมันยังวางขายอยู่เลย… แสดงว่ามีคนไม่กี่คนได้อ่านเล่มนี้ คุณอาจจะคิดว่า เขาอาจจะยืมห้องสมุดมาอ่านก็ได้ แต่ถ้าพิมพ์ออกมา 1,000 เล่ม เรามีประชากร 60 ล้านคน แปลว่า เรามีคนอ่านหนังสือเล่มที่เป็นเนื้อหนังเกี่ยวกับภาพยนตร์อย่างจริงจังคิด เป็นสัดส่วนเท่าไร คนไทยดูหนังอย่างต่ำล้านคน เพราะเรามีหนังรายได้ 100 ล้าน แสดงว่าคน 1 ล้านคน ต้องดูหนังแล้ว นี่ไม่รวมคนดูหนังจากวีซีดี ดีวีดี หรือ เคเบิ้ลทีวี แต่คนอ่านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ แค่ 1,000 คน หรือไม่ถึง 1,000 คนด้วยซ้ำ โดยสัดส่วนแล้ว 1 ต่อ 1,000 ถ้า เทียบกันแล้วสัดส่วนค่อนข้างน้อย ผมไม่อยากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไม่รู้ว่าสถิติของเขาเป็นอย่างไร แต่ผมว่าความคิดในการดูหนังของเขากับเรา ก็คงใกล้ๆ กัน คือ การดูหนังเพื่อความบันเทิง แต่เรื่องงานวิชาการ ผมไม่รู้ว่า เขาตีพิมพ์มากน้อยแค่ไหน…

แต่ถ้าสมมติจะพูดในแง่นิตยสาร นิตยสารเกี่ยวกับหนังในเมืองไทยเอง เรามีหลายหัวอยู่ แต่ว่าในแต่ละหัว จะเน้นไปตรงข่าวคราวด้านโปรดักชั่นเป็นหลัก หรือบางทีก็ข่าวประชาสัมพันธ์หนังแต่ละเรื่อง หัวที่หนักๆ จริงจังก็ยังไม่มี… ซึ่งผมไม่แน่ใจในกรณีของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ ในประเทศอังกฤษ จะมีSight and Sound ซึ่งเป็นนิตยสารหนังที่ดังมาก จะเป็นหนังสือรวบรวมบทวิจารณ์หนังทั้งเล่ม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการวิจารณ์หนังเชิงลึก มันมีตั้งหลายทฤษฎีที่เล่นกันในบทวิจารณ์หนังในเล่มหนึ่งๆ ซึ่งพอคนเสพบทวิจารณ์เหล่านี้มากๆ เข้า ความเข้าใจหนังในเชิงลึกก็จะเกิดขึ้น และพัฒนาเรื่อยๆ

อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ มักจะมีคนถามว่า คุณจะไปซีเรียสอะไรกับหนัง หนังมันแค่สิ่งบันเทิง ดูสนุกก็ดีแล้ว ตัวผมเองสอนหนังสือ เคยถามเด็กสาขาสื่อว่า ภาพยนตร์ที่ดีของคุณ คืออะไร เด็กก็จะตอบประมาณว่าดูสนุก เขาจะคิดว่า ภาพยนตร์จ่ายตังค์ไปแล้วร้อยนึงขอให้ฉันได้สนุก คือได้สนุก ได้อิน ได้อารมณ์ ร้องไห้ ได้อารมณ์ ฉันคุ้ม เขาจะไม่คิดว่าได้อะไรมากกว่านั้น แล้วเวลาไปสอน คุณจะต้องอ่านนั่นอ่านนี่ เขาจะถามว่า ทำไมต้องอ่าน ภาพยนตร์… มันก็แค่นี้ไม่ใช่เหรอ ผมคิดมากไปเองหรือเปล่า ผมไม่อยากโทษว่าเป็นความผิดของเด็กนะ ที่เขาคิดแบบนี้ เพราะทัศนคติแบบนี้ถือเป็นวาทกรรมหลักที่ครอบงำสังคมไทยอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่ของสังคมตลาดทุนนิยม ที่ทุกอย่างมันต้องขึ้นอยู่กับการตอบสนองเงิน กำไร ยอดพิมพ์ออกมาต้องขายได้ คนต้องอ่าน หนังออกมาต้องขายได้มากที่สุด มันก็ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาวงการที่ไม่ใช่กระแสหลัก หรือที่ไม่ทำเงิน มีโอกาสน้อยลง แล้วคนก็ไม่จะสนใจมุมอื่นๆ ของหนังอีก นอกจากความสนุก หรือถ้าเป็นหนังผีขอให้น่ากลัวก็พอ

ส่วนงานวิชาการภาพยนตร์ในประเทศไทย ก็ยิ่งอยู่สุดชายขอบของตลาดทุนนิยมเลยก็ว่าได้


เป้าหมายของการสัมมนาเรื่อง การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ : การคุกคามเสรีภาพทางปัญญา ในการจัดประชุมภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1

พอดี การจัดงานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงที่ ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.... กำลังอยู่ในคิวพิจารณาจากสภานิติบัญญัติเพื่อจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งตัวร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทางมูลนิธิหนังไทยฯ ได้รวมกลุ่มกับพันธมิตรหลายๆ ฝ่าย เพื่อจะคัดค้านเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในเรื่องของความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะมีอำนาจในการสั่งตัดหรือสั่ง ห้ามไม่ให้ฉายหนังได้ แม้ว่าจะมีการจัดเรตติ้งแล้วก็ตาม

ต้องเข้าใจก่อนว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มันถูกเรียกร้องให้จัดทำขึ้นเพื่อแทน ตัว พ.ร.บ. ฉบับเก่า ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2473 ยุค สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งฉบับเก่าจะไม่มีการแบ่งเรตติ้งภาพยนตร์ แต่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ ตัด หรือแบน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงถูกคาดหวังว่าเนื้อหาของมันจะสอดคล้องกับสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เมื่อทางมูลนิธิหนังไทยฯ ได้เห็นเนื้อหาจริงๆ มันกลับไม่เป็นเช่นนั้นแต่อย่างไร มันกลับเป็นการเคลือบหน้าด้วยสิ่งที่สังคมเรียกร้องคือเรตติ้ง โดยซ่อนแนวคิดอำนาจนิยมอยู่ภายใต้นั้น

ก่อนหน้านี้ ทางมูลนิธิหนังไทยฯ เคยจัดเวทีสัมมนาเรื่องเซ็นเซอร์มาแล้วสองครั้ง โดยทุกครั้งจะเป็นการเชิญวิทยากรจากหลายๆ ฝ่าย มารวมพูดคุย ถกปัญหา ในแต่ละมุมมอง พอมาคราวนี้ มันจัดอยู่ในงานประชุมวิชาการ เราก็เลยอยากจะลองจัดอีกครั้ง แต่อยากได้มุมของนักวิชาการล้วนๆ แทน รวมทั้งเราคาดหวังว่าผู้ฟังของเราก็เป็นผู้ที่สนใจในงานวิชาการด้วย การถกเถียงต่างๆที่จะเกิดขึ้นจะช่วยขยายความให้ลึกซึ้งมากขึ้น และเราอยากให้นักวิชาการท่านอื่นๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ในสังคมไทยด้วย

ประเด็นหลักอีกอันหนึ่งคือ เรามองว่า การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์จริงๆ แล้ว มันคุกคามเสรีภาพการเรียนรู้ของประชาชนนะ เรามองว่า ภาพยนตร์มันก่อให้เกิดปัญญาต่อคนดูได้ การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ก็เท่ากับการเซ็นเซอร์สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญญา ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง The King and I (ไม่ ว่าจะฉบับไหนก็แล้วแต่) จะถูกแบนห้ามฉาย ห้ามเผยแพร่ ในประเทศไทย จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ผมก็มองว่า คำสั่งห้ามเผยแพร่ หรือห้ามฉาย นี้ไม่เหมาะสม เพราะ ประการแรก มันเท่ากับว่าเราปฏิเสธการมีอยู่ของหนังเรื่องนี้ เราปิดประเทศตัวเอง ไม่รับรู้โลกภายนอกเลย จริงๆ แล้ว เป็นไปไม่ได้ โลกในปัจจุบัน คุณไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ยิ่งคุมมันก็จะมีช่องว่าง ช่องทางในการเล็ดรอดได้อยู่แล้ว เอาง่ายๆ ผมแค่บินไปสิงคโปร์ ผมก็สามารถหาซื้อแผ่นหนังเรื่องนี้ได้แล้ว จากประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่า การเซ็นเซอร์ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงภาพยนตร์จริงๆได้เลย ตรงกันข้าม มันกลับสร้างความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมระหว่างคนที่มีโอกาสกับคนด้อย โอกาส ในขณะที่คนที่มีโอกาสอาจจะฐานะดีกว่า อยู่ชนชั้นสูงกว่า ก็สามารถเข้าถึงหนังเรื่องนี้ได้ คนด้อยโอกาสในสังคมก็ยังคงถูกควบคุมต่อไป ไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ต่อไป

ประการที่สอง ในส่วนของการก่อให้เกิดปัญญานั้น สมมติผมจะศึกษาเรื่องภาพลักษณ์ของสยามประเทศในสายตาชาวตะวันตกผ่านภาพยนตร์ เป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะไม่กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่อง The King and I นี้ เพราะภายใต้ภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจะเห็นแนวคิดของชนชาติตะวันตกที่มองสังคมไทยว่าเป็นอย่างไร การสั่งห้ามเผยแพร่ หรือห้ามฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเท่ากับปฏิเสธหนทางที่ก่อให้เกิดปัญญาครับ สุดท้ายมันก็วนไปที่ที่พูดเมื่อกี้ว่า คนต่างแดนเท่านั้นที่จะมีสิทธิที่จะศึกษาประเด็นนี้ ส่วนคนไทยก็จะไม่ได้รับโอกาสนั้น แน่นอนเท่ากับว่างานวิชาการในสังคมไทยก็จะไม่โตเท่าที่ควรด้วย



คิดไงบ้างกับการจัดงานครั้งนี้

ต้องบอกว่าตัวเองค่อนข้างประหลาดใจกับยอดคนที่มาฟัง แม้จะไม่ได้เยอะมากมายนัก เพราะตอนแรกคิดว่า 20 คนต่อวันก็เยอะแล้ว สุดท้ายก็ประมาณ 40 คน ต่อวัน ได้กลุ่มคนที่หลากหลายจำนวนหนึ่ง เท่าที่ถามๆ ดู คนที่มาจะสนใจภาพยนตร์ หรือไม่ก็เห็นหัวข้อบทความแล้วสนใจอยากฟัง มีคนมาจากสายอุตสาหกรรมบ้าง และมีนักศึกษาภาพยนตร์บ้าง ส่วนใหญ่คงอยากจะทดลองอะไรบางอย่างกับชีวิต ถ้าดูในแง่คุณภาพ คนที่มาฟังผมโอเค มีการซักถาม มีการพูดคุยอะไรอย่างนี้น่ะครับ งานที่นำเสนอ ก็มีหลากหลาย มีลักษณะหลายหัวข้อ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า สมมุติเปิดรอบต่อไป จะมีคนมาพรีเซ็นต์กันอีกหรือเปล่า เพราะว่าหมดมุกกันหมดแล้ว

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ มันก็เป็นสิ่งดี เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น เหมือนที่บอกในวันเปิดว่า วัตถุประสงค์ของงานคืออยากสร้างตัวตนของการศึกษาภาพยนตร์ไทยให้เกิดขึ้นใน สังคมไทยอย่างเป็นจริงจัง การจัดครั้งนี้เป็นลักษณะทดลองของเราด้วย คือ ทางมูลนิธิหนังไทยฯ อยากจัดมาตั้งนานแล้ว แต่ต้องหาเวลา หาอะไรหลายอย่างๆ ตอนนี้ คงต้องรอดูผลตอบรับออกมาจะเป็นอย่างไร ดูอะไรหลายๆอย่าง มันคุ้มกับที่เราเหนื่อยไหม หรือว่าเราต้องรอเวลาอีกนิดหนึ่งให้ทุกอย่างมันลงตัวมากกว่านี้ไหม


เกี่ยวกับสัณห์ชัย โชติรสเศรณี
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี เรียนจบปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน แล้วเรียนจบปริญญาโท ทางด้าน Film Studies จาก University of East Anglia ในประเทศอังกฤษ และปัจจุบัน เขาเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิหนังไทยฯ และอาจารย์พิเศษที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่วนประสบการณ์ด้านทำภาพยนตร์สั้นเรื่อง "จำเลยรัก" นั้น เป็นหนังสั้นแบบทดลองเป็นหนึ่งในโครงการหนัง Spoken Silence ของ มูลนิธิหนังไทยฯ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งโครงการนี้ต้องการให้ผู้กำกับหนังสั้นแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง ผ่านหนังสั้น เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม
ดูหนังมุมมองใหม่ กับ การประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1
http://www.thaifilm.com/newsDetail.asp?id=316
คนรักหนังขอเปลี่ยนม้วน "พ.ร.บ.ภาพยนตร์" ฉบับ โลกแคบ-ใจแคบ
http://www.prachatai.com/05web/th/home/10378
ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ. ...
http://www.senate.go.th/Secretariat/proceeding/index_nla.php?id=vi65-50_nla


หมายเหตุที่มาจากเว็บประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2007/11/14980
และดูเพิ่มเติมนิตยสารFlick

สัมภาษณ์ สมเกียรติ ตั้งนโม

สัมภาษณ์ สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สถานการณ์: รัฐประหารครั้งนี้เปรียบเสมือนนิทานในเรื่อง สิงโตกับหมาจิ้งจอก

สัมภาษณ์ โดยอรรคพล สาตุ้ม

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ทีมข่าวประชาไท ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อาจารย์ สมเกรียติ ตั้งนโม หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารผ่านมาในช่วง 3 วันแล้ว โดยทีมงานข่าวประชาไทเริ่มตั้งคำถามต่อข้อสังเกตในคำว่า ปฏิวัติ รัฐประหาร ที่เรียกกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอาจารย์ใช้คำว่าปฏิวัติ และทีมข่าวประชาไทก็ใช้คำว่าปฏิวัติในคำพูดของอาจารย์ต่อการเรียบเรียงบทสัมภาษณ์นี้ และในการวิเคราะห์สถานการณ์ อาจารย์สมเกรียติได้กล่าวเปรียบเปรียบการปฏิวัติครั้งนี้เปรียบเสมือนนิทานเรื่องสิงโต หมาจิ้งจอก แย่งชิงกินไก่

การรัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่หรือไม่ อย่างไร
ผมว่ามันเป็นไม่มีอะไรใหม่ ผมว่ามันเป็นการช่วงชิงอำนาจปกครองของผู้นำสองกลุ่ม ซึ่งพยายามขึ้นมานำตลอดเวลา ผมเล่านิทานให้ฟังละกัน สิงโตกับหมาจิ้งจอก สิงโตก็อยากกินไก่ ในขณะเดียวกันหมาจิ้งจอกก็อยากกินไก่ แต่ปรากฏว่าวิธีการสิงโตใช้วิธีการตะครุบไก่เลย แต่วิธีการของหมาจิ้งจอกไม่ใช้วิธีการนี้ และใช้วิธีการพูดให้ไก่เดินออกมาจากกรงมาให้มันกิน ซึ่งวิธีการมันเป็นคนละอย่างกันระหว่าง ฉะนั้นในขณะนั้นสิงโตเห็นว่าหมาจิ้งจอกกำลังจะกินไก่ จึงตะครุบทั้งหมาจิ้งจอกและไก่พร้อมกัน ในขณะที่ไก่ยังคาอยู่ที่ปากของหมาจิ้งจอก ดังนั้น ผมคิดว่าเล่านิทานให้ฟังเท่าที่ผมแสดงความคิดเห็นต่อการเหตุการณ์ครั้งนี้

ทำไมทหารต้องแสดงบทบาทในครั้งนี้
ทำไมทหารต้องออกมา ผมขอเล่าก่อนว่า เกมนี้มันเป็นเกมที่ค่อนข้างซับซ้อน เกมนี้ก็คือว่า มันเป็นเกมช่วงชิงอำนาจนำ ฝ่ายหนึ่งได้ใช้กระบวนการศาลในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม ผมคิดว่าเฉพาะเกมนี้ก็พอแล้ว ถ้าเกิดมันเป็นตามขั้นตอน แต่ข่าวที่ผมได้ก็คือว่าวิธีการ กระบวนการของศาลนี้ มันเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และขณะที่ดำเนินคดีอยู่ เนื่องจากมีข่าวว่าฝ่ายที่กำลังถูกทำการดำเนินคดี จะปฏิวัติ ด้วยเหตุดังนั้นทหารจึงรีบชิงอำนาจปฏิวัติก่อน ทั้งทีมีกระบวนการทางศาลกำลังดำเนินคดีกับนักการเมือง ที่มีความผิดอยู่หลายข้อกล่าวหาที่เป็นไปได้ว่า จะกำจัดนักการเมืองทำผิดประพฤติมิชอบได้ โดยศาลที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในระหว่างนั้น ข่าวที่ผมได้นั้น ว่าจะมีการปฏิวัติก่อน แต่วิธีการของศาลจะช้าเกินไปกว่าจะดำเนินคดีสิ้นสุดลง กลับกันมันผลักให้มีการช่วงชิงปฏิวัติ หลังจากเหตุการณ์นี้ ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปหมดเลย

ภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด ต่อปัญหาในอนาคต
ประการแรก ถ้าปล่อยให้กลไกตามประชาธิปไตยตามทิศทางที่เรียกว่า เปรมาธิปไตยแล้ว จะเกิดผลที่ตามมาคือนายทหาร นักธุรกิจ จะเข้ามาหาผลประโยชน์ร่วมกันในการบริหารประเทศ และประการสอง เราต้องช่วงชิงการออกแบบให้ฝั่งเรามากขึ้น ดูตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 เป็นฐานในส่วนที่ดี เรื่องพลเมือง มีส่วนของข้อดีให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อ และข้อด้อย ที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ให้อำนาจแก่คณะผู้บริหารมากเกินไป และส่วนของรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายคณะปฏิรูปฯกำลังร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องฟื้นฟูสิทธิชุมชนสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งอำนาจขององค์กรอิสระที่คอยควบคุมรัฐ และผมมีข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ทำหน้าที่เป็นกลไกตรวจสอบรัฐ และนักการเมือง ในที่นี่คือรัฐธรรมนูญที่ทางเราควรช่วงชิงมาให้ได้ในส่วนของฉบับที่ 2 จะได้เป็นของประชาชน ส่วนหน้าที่ในกลไกของรัฐสภาถูกปิดกั้น และคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่จะมีขึ้นไม่ควรเกี่ยวข้องรัฐสภา และจะวางแผนไม่ให้ถูกแทรกแซง ซึ่งทั้งหมดของภาพรวมประกอบด้วยขั้นตอน มีการไต่สวน เช่น ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ก้าวต่อไปของภาพรวมที่เราไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเลยจะตกภายใต้อำนาจของ เปรมมาธิปไตยอย่างเดียว ซึ่งทางที่สอง คือการปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ. 2540 ดังที่กล่าวไปแล้ว

ทำไมการเคลื่อนไหวในเรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญถูกลบออกไป
ก่อนหน้านี้สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ได้วางแผนการปฏิรูปหลังเลือกตั้ง เขาคิดจะปฏิรูปหลังตุลาคม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวเลย เพราะการปฏิวัติของทหาร จึงส่งผลต่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ด้วย เราก็เลยจะออกแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถานการณ์ ขณะนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะหลักการปกครองโดยทหาร มาจากต้องการของคณะทหาร แต่ไม่ใช่องค์ประกอบส่วนรวม มีฉันทามติร่วมกัน ดังเช่นแถลงการณ์คณะปฏิรูปฯ ซึ่งมีมาตรการออกมาไม่มีโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย

ทางออกของสถานการณ์
เราคงทำในแง่ของสัญลักษณ์ เช่น เปิดไฟหน้ารถยนต์ทุกเวลา ฉายความสว่างให้กับความมืดของประชาธิปไตย หรือแต่งชุดดำ หรือให้คณะปฏิรูปเปิดกระดานสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดกระดานข่าวรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอแนวคิดทำกระดานสำหรับเสนอความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อช่วงชิงจากคณะปฏิรูป ซึ่งมีแต่พวกเนติบริกร ทำให้รัฐธรรมนูญ มีแต่พวกนักเทคนิค ชนชั้นสูง แต่ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะประชาชนไม่ช่วงชิงอำนาจ แต่ยืนยันการมีส่วนรวมในการร่างรัฐธรรมนูญ



สถานการณ์จะอึมครึมอีกนานแค่ไหน
แน่นอนว่าทหารก็ยังคุมอำนาจการบริหารประเทศอยู่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี แต่สถานการณ์ขึ้นอยู่กับว่าพลังของประชาชนในภาคส่วนต่างๆว่าเราไม่เห็นด้วยและอยากได้ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

*หมายเหตุที่มาจากประชาไท
http://www.prachatai.com/node/9823/talk

ที่มาจากเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย
http://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=149

ส่งท้ายซีเกมส์ ณ สปป.ลาว

ส่งท้ายซีเกมส์ ณ สปป.ลาว

ความสนุกสนานน่ารักๆ เป็นสีสันจากสัญลักษณ์ตัวมาสคอต และดูเหรียญ ดีกว่าดูบอลไทยแพ้ตกรอบแรก กีฬาซีเกมส์!

โดย อรรคพล สาตุ้ม
18 ธันวาคม 2552

เมื่อทุกคนร่วมรับชมภาพจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ สิ่งที่เรารู้สึกได้ถึงชีวิตชีวา ความสนุกสนาน และความผิดหวังกับทีมฟุตบอลไทย ซึ่งเล่นบอลย่ำแย่ตกชั้นผิดฟอร์ม เริ่มตั้งแต่วันเปิดสนามกีฬา ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ซึ่งถือว่าเป็นวันชาติของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยผมก็เปิดทีวีดูได้ไม่นาน ก็เบื่อ เซ็ง กับลีลากีฬาชวนให้ปวดหัว ไม่สนุกสนาน เร้าใจเลย โธ่ ทีมชาติไทย ไม่น่าโชว์ฝีเท้านัดเปิดสนามกีฬาแห่งชาติ (สนามใหม่) ของลาว ที่ประเทศจีนช่วยดำเนินการก่อสร้างให้ทั้งหมด ให้คนดูบอลไทยหลายคนผิดหวังไปตามๆกัน ซึ่งผมดูทีวีแล้วคิดตลกขบขัน เสียดายสนามหญ้า สำหรับเตะบอล เพราะนักบอลไทยเตะหญ้าตายอย่างเดียว(ฮา)


ซึ่งมันน่าเศร้าสำหรับเหล่ากองเชียร์กีฬาฟุตบอล ถ้าเราคิดให้จริงจังขึ้นมา ทำให้ผมนึกถึงเรื่องหลักสูตรวิชา จัดการหญ้าของสนามกีฬา ที่มีให้เรียนจริงๆในประเทศอังกฤษ น่าคิดสำหรับเรามาพัฒนาสนามกีฬา ให้หญ้าสีเขียวกันเลยครับแน่ๆว่า ผมดูบอลไทยไม่เร้าใจ ก็ชวนคนอ่านดูตัวมาสคอต (Mascot) น่ารักๆ ดีกว่าดูบอลไทยชวนผิดหวังสำหรับแฟนๆ ผู้เชียร์บอลไทยแล้วเห็นทีมบอลไทยล้มเหลว ฉะนั้น อย่าสนใจบอล ดูมาสคอตของกีฬาซีเกมส์ให้บันเทิงเริงใจมากๆ ไม่ต้องเครียด ซึ่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดงานซีเกมส์ครั้งที่ 25 ตามค.ศ.2009

ซึ่งลาวไม่ได้นับเวลาเป็นพ.ศ.แบบไทย และมาสคอตเป็นช้างเผือก ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของลาวมายาวนาน เชื่อมโยงอดีตประวัติศาสตร์ของลาว คือ อาณาจักรล้านช้างมาก่อน เปลี่ยนแปลงเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทั้งนี้ ช้าง เป็นตัวผู้ชาย ถือคบไฟ ก็เรียกว่าจำปา และช้าง เป็นตัวผู้หญิง ทัดดอกจำปา ก็เรียกว่า จำปี ซึ่งช้างแต่งตัวใส่ชุดประจำชาติของลาวอย่างงดงาม และช้างแสดงออกถึงความสุข ในชีวิต และ ใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมดวงตาสนุกสนาน

นี่คือ ความสำคัญในการสร้างการแข่งขันกีฬาอย่างสนุกสนานเป็นสุขของชีวิต ซึ่งมันเป็นการแสดงออกรู้สึกยินดีต้อนรับของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และความน่ารักเป็นสีสันของกีฬาซีเกมส์ส่วนเหรียญรางวัลสำหรับใช้ในการแข่งขันซีเกมส์ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเราคงไม่ต้องเท้าความอดีตของเหรียญ และประวัติศาสตร์กีฬากันมากมาย

โดยสปป.ลาว ก็ทำการออกแบบเหรียญรางวัลเพื่อใช้ในการแข่งขัน ซีเกมส์ ครั้งที่ 25คือ “เวียงจันทร์เกมส์” ซึ่งในการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “พระธาตุหลวง” เป็นสถานที่สำคัญซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ประจำชาติลาว และ“ดอกจำปา”เป็นดอกไม้ประจำชาติลาว และ“ช้างเผือก” เป็นสัตว์ประจำชาติของลาว กับช้าง ก็เป็นตัวมาสคอต ที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว

เหรียญทอง : แนวคิดของการออกแบบ

โดยรวบรวมการแข่งขันกีฬาสมัยใหม่ แนวคิดเชื่อมโยงคุณค่าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศิลปะ ซึ่งการออกแบบพระธาตุหลวงเป็นการแสดงถึงความสำคัญของภาพพจน์ เชื่อมโยงสัญลักษณ์ของชาติลาว เกี่ยวกับแม่น้ำโขง โดยแม่น้ำเพื่อประชาชนอาศัยอยู่ของคนลาวหลายชาติพันธุ์ สะท้อนวัฒนธรรม วิถีชีวิติ และทรัพยากรธรรมชาติของแม่น้ำโขงในประเทศ

ซึ่งแม่น้ำเปรียบเทียบกับสัญลักษณ์หลอมรวมประเทศอาเซียน ในฐานะแม่น้ำมิตรภาพจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกีฬา และสัญลักษณ์มาสคอต เหรียญทองของกีฬา เป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับพระธาตุหลวง หรือ พระเจดีย์โลกจุฬามณี ซึ่งนับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งแห่งนครหลวงเวียงจันทน์ และเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวลาวทั่วประเทศ ตามตำนานกล่าวว่าพระธาตุหลวงมีประวัติการก่อสร้างนับพันปี เช่นเดียวกันพระธาตุพนมในประเทศไทย และปรากฏความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างแยกไม่ออก

สถานที่นี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างของประเทศลาว จึงสะท้อนความหมายของเหรียญ และมาสคอตเป็นช้างเผือก ทั้งสองคู่ ที่อยู่ร่วมกันอย่างสนุกสนาน และน่ารักมาก สำหรับกีฬาซีเกมส์

*หมายเหตุ ดูภาพเพิ่มเติมจากไทยอีนิวส์
http://thaienews.blogspot.com/2009/12/blog-post_18.html

ปรีดี-ประเวศ กับทัศนะต่อประเทศเพื่อนบ้าน

ปรีดี-ประเวศ กับทัศนะต่อประเทศเพื่อนบ้าน
Fri, 2009-12-25 00:47
อรรคพล สาตุ้ม

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวถึงกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาพอสรุปได้ว่า ประเทศไทยนั้นใหญ่กว่า มีประชากรมากกว่า กองทัพก็มีศักยภาพสูงกว่า รวมทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจก็มากกว่ากัมพูชา ประเทศไทยจึงเป็นเสมือนผู้ใหญ่ ส่วนกัมพูชาก็เหมือนเด็ก

ดังนั้น เราต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่ดี อย่าไปท้าตี จะถูกมองว่าไปรังแกเด็ก อย่างไรก็ตาม ต้องระวังอย่าไปหลงกลเด็ก เพราะบางครั้งเด็กก็หลอกผู้ใหญ่ และอาจทำให้ผู้ใหญ่เพลี่ยงพล้ำได้เหมือนกัน

โดยอยากให้เชื่อมั่นว่าความชอบธรรมจะอยู่ในสายตาของคนทั้งโลก ซึ่งพวกเขารู้ดีว่า ใครมีความชอบธรรมมากกว่ากัน ดังนั้น ไทยต้องมองกัมพูชาด้วยความเมตาและอยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูล (1)

แนวคิดเรื่อง “ภราดรภาพ” หรือการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง เป็นอีกประเด็นที่ปรีดี พนมยงค์ ย้ำเสมอ ไม่ว่าในขณะที่เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือในขณะที่ทำงานทางการเมือง รวมทั้งที่สะท้อนผ่านนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก(2) ที่รบกับพม่า ก็ยืนยันถึงแนวคิดเรื่องภราดรภาพ สันติภาพ ก่อนเกิดรัฐชาติไทยที่มีอาณาเขตที่แน่นอน(3)

โดยปฏิเสธอาการคลั่งชาติอย่างชัดเจน อีกทั้งในหนังสือเรื่อง ‘กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ จากกรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก’(4) อ้างถึง ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งเล่าว่า ในขณะที่ท่านเรียนกฏหมายอยู่กับอาจารย์ปรีดีนั้น สิ่งที่อาจารย์ย้ำอยู่เสมอคือ เรื่องของภราดรภาพ หรือการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง(5)

ความคิดของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ จึงแตกต่างจากประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน แน่นอนว่า ความแตกต่างนี้มีที่มาจากสังคมที่แตกต่างคนละยุคสมัยของทั้งสองคน
อันที่จริง ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เคยเขียนหนังสือเรื่อง “วิถีสังคมไท ชุดที่ ๑ ภูมิปัญญา กระบวนทัศน์ใหม่ และจินตนาการใหม่" หนังสือเล่มนี้ คือ สรรนิพนธ์ทางวิชาการ เนื่องในวาระหนึ่งศตวรรษ ปรีดี พนมยงค์

อีกทั้งปรีดีและประเวศ ก็อยู่ภายใต้กระแสชาตินิยม และคลั่งชาติเหมือนกัน
ปรีดีนั้น เรียนจบกฎหมายเป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศ เคยดำรงตำแหน่ง รมต.การต่างประเทศ-รมต.การคลังฯลฯ สภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น มีสถานการณ์การเรียกร้องดินแดนคืน ผ่านร้อนผ่านหนาว และได้รับการยกย่องให้เป็น ‘รัฐบุรุษอาวุโส’

ขณะที่ปี 2552 ก็สืบเนื่องกรณีดินแดนใต้ปราสาทเขาพระวิหารเหมือนกัน แต่เป็นยุคสมัยของกระแสคลั่งชาตินิยมที่ปั่นขึ้นจากกลุ่มพันธมิตรฯ-พรรคการเมืองใหม่ (ไม่มีกลุ่มพันธมิตรฯในสมัยปรีดี) และมีรัฐบาลที่ชูนโยบาย ‘ไทยเข้มแข็ง’

ประเวศ เรียนจบด้านการแพทย์ และทำงานด้านช่วยเหลือสังคมแนววัฒนธรรมชุมชน และได้รับการยกให้เป็น ‘ราษฎรอาวุโส’

ระหว่าง ‘ไทยเป็นผู้ใหญ่ กัมพูชาเป็นเด็ก’ ของประเวศ กับแนวคิดเรื่อง ‘ภราดรภาพ’ ของปรีดีระหว่าง ‘ราษฎรอาวุโส’ กับ ‘รัฐบุรุษอาวุโส’ จึงน่าสนใจ

แม้คำศัพท์ที่แสดงทัศนะต่อประเทศเพื่อนบ้านของปรีดี กับประเวศ จะแตกต่าง และคำยกย่องที่มีต่อคนทั้งสองก็แตกต่าง และมีนัยสำคัญ แต่บทความนี้ไม่ต้องการวิเคราะห์ ตีความตัวบท และมุ่งโจมตีใคร รวมทั้งประเวศ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า คำสะท้อนข้อเท็จจริงของทั้งสองคนนี้ แสดงความหมายแตกต่างกันชัดเจนอย่างแท้จริง

เพราะในขณะที่ แนวคิดภราดรภาพ คือ ‘ฉันท์พี่น้องอยู่ร่วมกัน’ และช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของชุมชนจินตกรรม (6) ที่เกี่ยวข้องชาติไทย
กรณีศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ที่ถูกกล่าวหาว่า จัดฉากเหมือนภาพยนตร์นั้น ทว่ารัฐบาลไทยกลับไม่คิดแก้ไขปัญหาประเทศความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง มีแต่การวางตัวให้ระวังเด็กรังแก ทำให้คิดว่า แล้วใครจะเป็นเหยื่อคนต่อไป บนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ท่ามกลางความขัดแย้งที่ไม่เคยแก้ไขให้เกิดภราดรภาพระหว่างกัน

เชิงอรรถ
1."หมอประเวศ"เตือน"มาร์ค"ทำตัวเป็นผู้ใหญ่อย่าไปตีเด็กระวังหลงกลเขมรhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1258101768&catid=01วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 15:42:16 น. มติชนออนไลน์

2.สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน.กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? : กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก : 215

3.อรรคพล สาตุ้ม ย้อนดูภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’ สงคราม สันติภาพ ชาตินิยมhttp://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?p=4079&sid=eb4e0fbe0b29b0644eac9ba584845353

4.กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? : กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก เพิ่งอ้าง และแน่นอนเรายังมีหนังสือ ที่น่าสนใจของปรีดี เช่น วิธีพิจารณาทางรอดของสังคมไทย โดย ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น

5.สุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน.กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? : กรณีศึกษาเรื่องพระเจ้าช้างเผือก : 216 เพิ่งอ้าง

6.ธงชัย วินิจจะกูล “อ่่าน Imagined Communities ของ Benedict Anderson หรือ IC ของ “ครูเบ็น” วารสาร“อ่าน” ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 เมษายน-กันยายน 2552

*หมายเหตุที่มาจากเว็บประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2009/12/27136

ที่มาจากเว็บไทยอีนิวส์
http://thaienews.blogspot.com/2009/12/blog-post_8771.html

ปรีดี-ประเวศ กับทัศนะต่อประเทศเพื่อนบ้านต่างกัน หมายเหตุเพิ่มเติม:ขอบคุณ พี่วรดุลย์ ตุลารักษ์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจ สำหรับบทความนี้ ครับ

สัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

สัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
Tue, 2009-12-08 02:03
อรรคพล สาตุ้ม

ผมค้นคว้าข้อมูลเอกสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุค 2475 การเกิดสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ เป็นเรื่องซับซ้อนที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งสะท้อนความเป็น "ซิวิไลซ์"
ความเป็นมาในอดีตเรื่องความเป็น“ซิวิไลซ์”(civilized-อารยะ,ความเจริญรุ่งเรือง)นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ นายกราชบัณฑิตสภาในขณะนั้น ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่า “ซิวิไลซ์” บางคนเห็นว่าสยามซิวิไลซ์แล้ว

บางคนเห็นว่ายัง แต่ว่าไม่มีใครอธิบายว่าจะประเมินอย่างไร หลายคนกล่าวขวัญถึง อังกฤษ จีน ยุโรป ไฮติ ธิเบต และอื่นๆ ทั้งนี้ ว่าด้วยความเป็นซิวิไลซ์ แล้วบ้าง หรือ ยังไม่ซิวิไลซ์ก็มาก แต่ไม่กระจ่างว่า ประเทศเหล่านั้นมีอะไรจึงนับว่า ซิวิไลซ์ หรือขาดอะไร จึงนับว่ายังไม่ซิวิไลซ์ ปาฐกถาพิเศษนี้ทรงแสดงภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ได้ 6 เดือน ขณะที่ความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างฝ่ายนิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎรยังดำรงอยู่ตลอดเวลาขณะนั้น จึงเป็นไปได้อย่างมากที่ปาฐกถานี้เล็งเป้าไปที่คณะราษฎร และพวกผู้สนับสนุน เพราะคนเหล่านั้นมักโจมตีเจ้า และเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประเทศสยามเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลาย [1]

จากการเปลี่ยนแปลงของความเป็นซิวิไลซ์ ก็กลายเป็นมาคำว่า ศิวิไลซ์ ในภาษาไทย ก็คือ ความหมายของcivilized(อารยะ,ความเจริญรุ่งเรือง)เป็นต้น ต่อมา ก็มีข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรที่พูดถึง ศิวิไลซ์หรือ “ความสุขความเจริญ” ผ่าน “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ซึ่งเขียนสรุปตอนท้ายว่า “เราได้พร้อมใจไขประตูเปิดช่องทางแก่ราษฎรแล้วจะรีๆ รอๆ ไม่นำราษฎรต่อไปให้ถึงต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งราษฎรจะได้เก็บผลเอาจากต้นไม้นั้น คือ ผลแห่งความสุขความเจริญ ดั่งที่ได้มีพุทธทำนาย กล่าวไว้ในเรื่องศาสนาพระศรีอาริย์” จากนั้นเป็นต้นมาก็ทำให้ปรีดี โดนข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และที่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างสำคัญที่สุดก็คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ ซึ่งนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏซึ่งนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ “กบฏบวรเดช”พ.ศ.2476

สำนักงานโฆษณาการของหลวงกลการเจนกิต(เภา วสุวัต)กับบริษัทถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง บันทึกภาพเหตุการณ์สู้รบจริงในกรณีกบฏบวรเดช มีความยาวของภาพยนตร์ถึง 7ม้วน เนื้อหาภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกร และชัยชนะของทหารผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญเหนือทหารของฝ่ายกบฏ โดยคำอธิบายว่าฝ่ายกบฏเป็นศัตรูต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ภาพทหารของรัฐธรรมนูญเด่นชัดขึ้น ขณะที่ทหารของพระเจ้าแผ่นดินค่อยๆเลือนหายไป[2]

ศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
คำอธิบายภาพ : ศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ใช้อักษรย่อว่า พ.ร.ธ. เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จกล้าหาญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญนั้นสำหรับเป็นบำเหน็จความชอบ แก่ผู้ช่วยเหลือราชการทั้งฝ่ายทหาร และ พลเรือนในการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นสมควร ได้รับ พระราชทาน โดยให้ตรา “พระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๖” ขึ้นใช้ไว้ ตั้งแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป คือ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน

ด้านหน้าของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีภาพสมุดรัฐธรรมนูญวางบนพานแว่นฟ้าสองชั้น อยู่ภายในวงพวงมาลัยชัยพฤกษ์ แผ่รัศมีกระจายทั่วมณฑล ด้านหลังของเหรียญ มีรูปพระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์ ยืนลอยอยู่เหนือตัวอักษรตามขอบล่างว่า “ปราบกบฏ พ.ศ.๒๔๗๖” ภายใต้ห่วงอันมีอักษรว่า “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” แพรแถบสีธงไตรรงค์ กว้าง 28 มิลลิเมตร ห้อยบนแพรแถบมี เข็มโลหะทองแดงรมดำ จารึกอักษรว่า “สละชีพเพื่อชาติ” และการสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นต้น


การต่อสู้ของทหารเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงเกิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นสะท้อนความแตกต่างกับ“เหรียญปราบฮ่อ” ซึ่งมีลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลักษณะพระพักตร์เสี้ยว ซึ่งผินพระพักตร์ไปทางซ้าย มีพวงมาลัยรองรับ เบื้องบนเป็นแถวอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความ “จุฬาลงกรณ บรมราชาธิราช” ด้านหลังของเหรียญ เป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงช้างถือพระแสงของ้าว มีควาญอยู่ท้ายช้างคนหนึ่ง รองรับด้วยกลุ่มแพรแถบ เบื้องบนของรูปนั้น มีอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความว่า “ปราบฮ่อ ๑๒๓๙,๑๒๔๗,๑๒๔๙” เหรียญนี้ จึงใช้ห้อยกับแพรแถบสีดำริมสีเหลือง ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ที่แพรแถบประดับเข็มบอกปีจุลศักราชที่มีการปราบฮ่อ ได้แก่

“๑๒๓๙” (พ.ศ. 2420) “๑๒๔๗” (พ.ศ. 2428) และ “๑๒๔๙” (พ.ศ. 2430) เหรียญดังกล่าวใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย และเข็มปีจุลศักราชที่ประดับบนแพรแถบประดับให้สำหรับผู้ที่ไปราชการสงครามปราบฮ่อ นั่นเอง ราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ 5 เริ่มประกาศรายชื่อขุนนางที่ได้รับพระราชทานเหรียญปราบฮ่อใน ร.ศ.117 เป็นปีเริ่มต้น โดยเริ่มพระราชทานแจกในวันที่ 21 กันยายน ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) จำนวน ๔๙ ท่าน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม), เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม) ฯลฯ เป็นต้น [3]



เหรียญปราบฮ่อนั้น สะท้อนถึงอุดมการณ์ของสงครามต่อการกำเนิดทหารในสมัยรัชกาลที่ 5 เหรียญปราบฮ่อ มีลักษณะของสัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราชทรงช้างถือพระแสงของ้าว โดยมีควาญอยู่ท้ายช้างคนหนึ่ง(ช้างดังกล่าวแทนสัญลักษณ์ช้างเอราวัณ คือ ราชาแห่งช้างเผือก?)สะท้อนความหมายแตกต่างกับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะเหรียญปราบฮ่อ เกี่ยวข้องเรื่องทางภูมิศาสตร์ทำแผนที่โดยผู้ไปร่วมราชการปราบฮ่อครบ 3 ครั้ง ก็คือ พระวิภาคภูวดล(เจมส์ แมคาธี) [4] ทำแผนที่อาณาเขตของสยาม ส่วนเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นั้นมีสัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราชทรงพระขรรค์ในท่าประหารปรปักษ์


ศิลปะและสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นั้นสะท้อนความหมายของชีวิตที่มีกล้าหาญแห่งความเป็นอารยะ(Civilized) เชื่อมโยงความหมายของเหรียญทางวัฒนธรรมในเส้นทางเสี่ยงชีวิตต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ เพราะว่า ทหาร ก็มีการเชื่อมความหมายทางสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งองค์ประกอบของเครื่องแบบทหาร ก็แสดงออกถึงสัญลักษณ์ทางการทหาร [5] และในเวลาต่อมาจอมพลป. พิบูลสงคราม ก็สร้างสัญลักษณ์ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมมากมาย รวมถึงการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย และเปลี่ยนชื่อพระสยามเทวาธิราชมาเป็นพระไทยเทวาธิราช ในช่วงที่ไทยเข้าสู่สงครามอินโดจีน ต่อมามีการสร้างเหรียญชัยสมรภูมิ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปรีดี พนมยงค์(รัฐบุรุษอาวุโส ผู้มีเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบุรุษเปรม ไม่มีเหรียญดังกล่าว)นอกจากนี้ปรีดี ก็สร้างเหรียญศานติมาลาด้วย วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญ ทำให้ผมนึกเขียนถึงศิลปะแห่งสัญลักษณ์ของเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

เชิงอรรถ

1.ธงชัย วินิจจะกูล “ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์ เมื่อชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเอง ผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ.” รัฐศาสตร์สาร 24, 2 (2546) :1-66

2.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา “ภาพยนตร์กับการต่อสู้ทางชนชั้นในห้วงเวลาแห่งการผลัดแผ่นดิน” ในเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 7 ฉบับที่ 1-2 มกราคม-มิถุนายน 2532:22-27

3.ดูภาพเพิ่มเติม ในหนังสือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฉบับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2523 และสงครามปราบฮ่อ http://th.wikipedia.org/ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทย http://www.geocities.com/nongnee_wong/page07_00.htm และเหรียญปราบฮ่อTheHaw Campaign Medal และhttp://www.pralanna.com/shoppage.php?shopid=21231 และเหรียญอันเนื่องมาจากการรบ http://203.144.136.10/service/mod/heritage/king/kruangraj/mframe.htm(หอมรดกไทย)

4.ราม วัชรประดิษฐ์ สัปดาห์พระเครื่อง สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 56 ฉ.44 24-30 ก.ค.2552

5.สุทัศน์ นำพูลสุขสันต์ ในจุลสารโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ปีที่2 ฉบับที่ 2 ม.ค.2518 เก็บความจาก David A.Wilson. “The Military In Thai Politics” ใน John J.Johnson (ed).The Role of the Military in Underdeveloped Countries Princeton New Jersey : Princeton University.Press,1962 :7-9

*หมายเหตุ ดูรูปเพิ่มเติมที่มาจากเว็บประชาไทhttp://www.prachatai.com/journal/2009/12/26904

เว็บไทยอีนิวส์ http://thaienews.blogspot.com/2009/12/blog-post_09.html

-บทความนี้เป็นฉบับย่อ ส่วนบทความฉบับเต็มยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหน

การสร้างภราดรภาพแห่งพี่น้อง!?!

การสร้างภราดรภาพแห่งพี่น้อง!?!
Mon, 2009-11-30 20:46
อรรคพล สาตุ้ม

“เป็นหน้าที่ของนักเขียนดังอย่าง Mark Twain ที่จะสร้างภาพลักษณ์อันไม่อาจลบเลือนได้ของคนผิวดำและคนผิวขาวในเรื่อง Huckleberry Finn ว่าเป็น ‘พี่น้อง’ อเมริกันด้วยกันในปี ค.ศ.1881 หลายปีหลัง “สงครามกลางเมือง” และหลังคำประกาศเลิกทาสของประธานาธิบดี Lincon ที่ Jim กับ Huck เพื่อนเกลอล่องเรือไปตามสายน้ำของแม่น้ำมิสซิสซิปปีอันกว้างใหญ่ แต่กรอบโครงเรื่องยังเป็นแบบทั้งความทรงจำ/ทั้งการหลงลืม ในยุคก่อนสงครามกลางเมืองอเมริกันที่คนผิวดำยังคงเป็นทาสอยู่
“จินตนาการถึงภราดรภาพต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ในสังคมที่เกิดการแตกร้าวจากความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์กันทางเชื้อชาติและชนชั้นอย่างรุนแรง…”
(เบน แอนเดอร์สัน ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม ฉบับแปลไทย: 374-375) *


กล่าวได้ว่า ความเป็นพี่เป็นน้องแบบอเมริกันของ Huck กับ Jim สะท้อนเรื่องทางเชื้อชาติและชนชั้นตามกฎหมายในสมัยนั้น
Huck จะต้องทรยศ Jim เพื่อที่จะได้ส่งตัว Jim กลับคืนไปให้นายทาสผู้โหดร้าย แต่ทั้งสองคนตัดสินใจเดินทางไปด้วยกันโดยการล่องแพไปตามลำน้ำมิสซิสซิปปี เพื่อแสวงหาเสรีภาพ
ผู้เขียนเรื่องนี้ คือ Mark Twain ได้ให้ความหมายของคำว่า Brotherhood ผ่านเรื่องราวเรื่องนี้ว่า คือความสัมพันธ์บนพื้นฐานที่เสมอกัน เนื่องจาก Huck ค้นพบความรู้สึกของเขาที่มีต่อ Jim คนผิวดำ และไม่ใช่แค่ Jim จะเป็นคนที่น่าชื่นชม แต่เขาเริ่มรู้สึกถึงความเป็นพี่เป็นน้องกับคนผิวดำคนนี้ โดยผ่านกระบวนการต่อสู้ภายในจิตใจของเขา คือระหว่างอคติในตนเองกับความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

เราจะลองนำข้อความคิดในนิยายเรื่องนี้มาพิจารณากรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา
จากคำกล่าวที่ได้ยินกันติดหูว่า ประเทศไทยเหมือนเป็นพี่ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่มีเศรษฐกิจที่เล็กกว่าเหมือนเป็นน้อง (แต่บางท่านใช้คำว่าผู้ใหญ่กับเด็ก)

นัยของความเป็นพี่เป็นน้องในแง่มุมชนชั้นทางเศรษฐกิจดังกรณีไทยกับเพื่อนบ้านนี้ จึงแตกต่างจาก Brotherhood ในความหมายของ Mark Twain เพราะแทนที่จะเป็น ‘จินตภาพของทางออก’ แต่มันกลับเป็นกับดักความขัดแย้งระหว่างประเทศ และมันถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสังคมของเราเอง

นับตั้งแต่คำว่าไทย-จีน เป็นพี่น้องกัน และไทย-ลาวเป็นพี่น้องกัน หากลองพิจารณานัยยะความหมายของคำว่า ‘พี่น้อง’ ระหว่างประเทศทั้งของจีนและลาว ซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมที่นับถือกันแบบสหายร่วมชาติ เราก็จะพบในกรณีของลาวว่า ประเทศลาวไม่ชอบเป็นน้อง เพราะมันสะท้อนถึงความด้อยกว่าไทย และความเป็นพี่ของไทยก็แสดงถึงความเหนือกว่าลาวจากปมประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องศูนย์กลางอำนาจของสยามกับลาว มาจนถึงความคลางแคลงใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังสงครามเย็นเมื่อภัยคอมมิวนิสต์จางลงมา จนกระทั่งเปิดประเทศ

ความเป็นพี่น้องนั้น เราสามารถแยกแยะลักษณะของคำ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นชนชั้นของภาษาทางการเมือง โดย นพพร ประชากุล เคยกล่าวถึงอย่างน่าสนใจต่อประเด็นอำนาจในภาษาว่า ภาษามีอำนาจกำหนดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเราได้ ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเช่น ในฐานะคนไทย เราได้เรียนรู้ที่จะแยกแยะกลุ่มบุคคลที่ร่วมบิดา-มารดากับเราผ่านคำว่า “พี่” “น้อง” ซึ่งเท่ากับภาษาสอนให้เราใช้เกณฑ์อาวุโสเป็นหลักในการแยกแยะกลุ่มบุคคลต่อไป [1]

ดังนั้น ความเป็นพี่น้องระหว่างประเทศต่างๆ ในอุษาคเนย์ จึงแสดงถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่ากัน แต่ก็มีพลวัต ความเป็นพี่เป็นน้องขึ้นอยู่กับว่าประเทศใดจะมีอำนาจด้อยกว่า/หรือเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการทหารในยุคสงครามเย็น และอำนาจทางเศรษฐกิจยุคเปิดตลาดการค้า การใช้คำว่า พี่ น้อง กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านรั้วติดกัน จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว

หลายปีก่อนหน้านี้ สังคมไทยเริ่มเรียนรู้ในเรื่องนี้กันพอสมควร หลังจากที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาว นับตั้งแต่ การเรียกกล่าวว่า น้อง ไปจนถึงการใช้ภาษาและเนื้อหาในสื่อต่างๆ หรือในภาพยนตร์ที่ผู้นำเสนอไม่ระแวดระวังระวังต่อความรู้สึกของประเทศเพื่อนบ้าน
แต่ในปัจจุบัน เหตุใดการเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับอคติของตัวเอง และการยอมรับประเทศเพื่อนบ้านบนฐานของความเสมอกัน จึงอันตรธานหายไป

พี่น้องกับความเป็นชาติ
ความขัดแย้งของคำว่า “กุ๊ย” จากปากของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ต่อสมเด็จฯฮุนเซน นับเป็นเรื่องอ่อนไหวมากที่สุดของการพูดในทางการเมืองระหว่างประเทศ

เนื่องจาก การเมืองของภาษา เป็นประเด็นสำคัญในสถานการณ์ระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
หากเรานึกถึงอำนาจกับการใช้ภาษาผ่านถ้อยคำ ตามโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้า การหาเสียงเลือกตั้งนั้นเอง เช่น ราชการเรียกกลุ่ม พคท.คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่า “ผู้ก่อการร้าย” แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายในกรณี 66/23 ทางราชการก็เปลี่ยนไปเรียกพวกเขาเสียใหม่ว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

หรืออีกกรณีหนึ่งที่ นพพร ประชากุล ยกตัวอย่างถึงเรื่องขบถจิตแพทย์กลุ่มหนึ่งได้วินิจฉัยพฤติกรรมและสภาพจิตใจของฮิตเลอร์ตามหลักวิชาการแล้วได้แถลงต่อสาธารณชนด้วยถ้อยคำว่า “ฮิตเลอร์เป็นผู้มีอาการป่วยทางจิต” แน่นอนว่า ฮิตเลอร์ มีบัญชาให้สอบสวนเรื่องนี้ขึ้น เมื่อสิ้นสุดการสอบสวน คณะกรรมการก็แถลงผลต่อสาธารณชนว่า จิตแพทย์กลุ่มนี้ที่แท้แล้วเป็น “ผู้ทรยศต่อชาติ” [2]

นี่เป็นตัวอย่างสะท้อนความคิดเรื่องของภาษาในการใช้คำว่า ชาติ มาเป็นเครื่องมือจัดการกับคนในชาติ โดยลดทอนหรือทำลายความหมายที่สื่อถึงภราดรภาพแห่งพี่น้อง [3]

ดังนั้น ภาษาทางการเมือง ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ความเป็นชาติ และภาษากับการเมือง มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เช่น ในกรณี 'ป๋าเปรม' ลั่นคำว่า ไม่เคยกล่าวว่า 'จิ๋ว' ทรยศต่อชาติ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ภาษากับการเมืองในเรื่องทรยศชาตินั้น เมื่อผู้มีอำนาจพูดก็เหมือนกับฮิตเลอร์เป็นผู้พูด ย่อมแสดงพลังออกมาชัดเจนกว่าปัญญาชนและหลักวิชาการ เนื่องจาก ผู้มีอำนาจเชื่อมโยงกับความเป็นชาติ ผู้มีอำนาจพูดด้วยอำนาจของภาษาในการบังคับบัญชาคน และสร้างความเชื่อให้กับคนทั่วไป

กล่าวโดยเปรียบเทียบก็คือ จิตแพทย์ของเยอรมันก็เหมือนกับปัญญาชน ซึ่งกลับกลายเป็นคนปัญญาอ่อนที่ถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ ปัญญาชนเป็นผู้ทรยศชาติ ในด้านกลับกัน สำหรับประเทศไทย ปัญญาชนบางคนคลั่งชาติอย่างหน้ามืดตามัว ทั้งจากกลุ่มการเมืองที่หลากหลายและคนที่เป็นปัญญาชนเอง พวกเขาไปประท้วงหน้าสถานฑูตกัมพูชาในประเทศไทยในกรณีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่พรมแดนด้วยการปลุกระดมพลอย่างคลั่งชาติ

แล้วเราจะเติมช่องว่างให้เต็มในเรื่องการสร้างสันติภาพ ความเป็นพี่น้องกันอย่างเสมอกัน เหมือนกับภราดรภาพในเรื่อง Huckleberry Finn โดยเน้นความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติได้อย่างไร
ความหมายของพี่น้อง-เพื่อนแบบใหม่ๆ จึงไม่ใช่เพียงความหมายแคบๆ แบบเดิมๆ เพื่อขยายอาณาเขตความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติอย่างเป็นสมัยใหม่ เพราะมันน่าจะเป็นทางออกในการสร้างสันติภาพของประเทศไทยในขณะนี้

เมื่อเราอยู่ภายใต้วิกฤติการณ์ทางการเมือง เราจึงต้องการรู้ถึงตัวอย่างการสร้างสันติภาพแบบเพื่อน เหมือนกับเพื่อนใกล้ตัวของเรา และแน่นอน มันย่อมเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา ใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อสันติอย่างมีมิตรภาพ

ทางกลุ่มเสื้อแดงซึ่งใช้คำศัพท์ว่า “อำมาตยาธิปไตย” กับการต่อสู้ของพวกเขา ในจำนวนนั้น บางคนยังเดินทางออกจากประเทศไทยไปกัมพูชาเพื่อพบกับทักษิณ ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาไปพบกับใคร แต่เป็นเรื่องการใช้ช่องทางการไปมาหาสู่กับประเทศเพื่อนบ้านตามปกติ แม้จะอยู่ในภาวะที่รัฐบาลและกลุ่มการเมืองสร้างความตึงเครียดระหว่างสองประเทศให้เกิดขึ้นก็ตาม เพราะในแง่หนึ่งแล้ว มันเป็นความไว้วางใจและความผูกพันข้ามพรมแดนของประเทศที่ไปมาหาสู่กันได้ตั้งแต่ในอดีต โดยเราอาจจะคิดต่อมาง่ายๆ ว่า ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถูกต้อง มันพัฒนามาจากความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้วขยายไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การเริ่มจากการค้าขายตามพรมแดนติดต่อกัน

กรณี พล.อ.ชวลิต กับบทบาทการใช้คำว่า เขาเป็นพี่น้อง brother, family กับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ [4] เราสามารถพิจารณาข้อมูลประวัติศาสตร์ เช่น ในกรณีของพม่า การเดินทางมาเยือนไทยของ พล.ท.ขิ่นยุ้นท์ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต เป็นเจ้าภาพในนามรัฐบาลเต็มตัว ในฐานะที่ พล.อ.ชวลิต สนิทกับ พล.ท.ขิ่น ยุ้นท์อยู่ก่อนแล้ว เขาได้จัดปาร์ตี้บนเรือ Oriental Queen ล่องน้ำชมแสงสีสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจน เป็นที่มาของการจับมือเป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน

อย่างไรก็ดี หากเราประเมินบทบาทและความสามารถทางการต่างประเทศของ บิ๊กจิ๋ว และทักษิณ นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในช่วงที่ทักษิณเป็น รมต.ต่างประเทศ เขาได้พยายามหาทางแก้ไขข้อขัดแย้งทางทะเลของไทย-เขมร-เวียดนามอีกด้วย [5]

จากข้อมูลของคอลัมนิสต์ ซึ่งเขียนเรื่องโฟกัสอินโดจีน ได้สะท้อนบทเรียนของประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราเห็นว่า หน้าที่ของการสร้างความร่วมมือกัน สะท้อนถึงประสบการณ์ทางการต่างประเทศเพื่อใช้สร้างความร่วมมือ มิใช่ใช้เพื่อทะเลาะเบาะแว้งกัน ภายใต้ทิศทางของการนิยามคำว่า พี่น้อง ให้ข้ามพ้นโลกทัศน์ที่ตกอยู่ภายใต้เกณฑ์อาวุโสเพียงอย่างเดียว

เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมที่เกิดขึ้น เช่น การที่กลุ่มเสื้อเหลืองชาตินิยมประท้วงหน้าสถานทูตกัมพูชา ประกอบกับการที่นายวีระ สมความคิด เคยให้สัมภาษณ์ว่า “มีคนว่าผมบ้า” [6] ก่อนที่เขาจะมาเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ-พรรคการเมืองใหม่ แต่มันคงไม่ทำให้ผู้คนบ้า หรือคลั่งชาตินิยมตามแนวทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ถึงขนาดนี้ หากผู้ที่มีบทบาทในรัฐบาลมิใช่ นายกษิต ภิรมย์ ผู้เป็นสัญลักษณ์ในการทะเลาะกับสมเด็จฮุนเซน ตั้งแต่กรณี ”กุ๊ย” ไปจนถึงการที่รัฐบาลไม่สามารถปลดนายกษิตออกจากตำแหน่งได้ อาจเป็นเพราะว่าไม่มีสัญญาณจากบ้านป๋าเปรม [7] ซึ่งในอดีตก็คือบ้านพักของจอมพลสฤษดิ์นั่นเอง [8]

แม้ว่าการพัฒนาประชาธิปไตยของเราจะก้าวข้ามพ้นสัญลักษณ์ของยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์แล้วก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องอาณาเขตสาธารณะ การสร้างข้อถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล เพื่อเสรีภาพ และการปลดปล่อย [9]
ในทางการเมืองของพลเมืองไทย จึงต้องพัฒนาการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านภาษา ผ่านการสร้างสรรค์หนังสือ แบบเรียน นิยาย ภาพยนตร์ ฯลฯ กันต่อไป
แต่การแก้ไขปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ นอกเหนือจากเรื่องความเป็นพี่น้องในภาษาทางการเมืองแล้ว

สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้นก็คือ “สปิริต” ของรัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน ซึ่งก็ควรแสดงสปิริตทางการเมืองดังเช่นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ นายนภดล ปัทมะ เคยมาทำมาแล้ว เพื่อลดแรงกดดันไม่ให้ปัญหาการเมืองปะทุบานปลายออกไป ทั้งนี้คำว่าพี่น้องหรือเพื่อนก็ไม่สามารถขาดส่วนผสมหลักคือ “สปิริต” ไปได้

ส่วนการสร้างข้อถกเถียงอย่างมีเหตุมีผลเพื่อเสรีภาพและการปลดปล่อย คงต้องเป็นไปมากกว่าการแก้ปัญหาตัวบุคคล ทั้งนายกษิต นายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ ซึ่งพวกเขาอาจจำเป็นต้องปลดปล่อยตนเองจากการตกอยู่ภายใต้อำนาจของคำศัพท์ว่า “อำมาตยาธิปไตย” ซึ่งผนวกกับความหมายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่คลั่งชาติ ไปจนถึงป๋าเปรม อันปรากฏถึงการดำรงอยู่ของ “พี่น้อง” ในระบบอาวุโสของบ้านป๋าเปรม

สิ่งนี้สะท้อนถึงความคิดตามความหมายของโครงสร้างการเมืองแบบเก่าที่ก่อปัญหาความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชื้อชาติและชนชั้นในความเป็นชุมชนจินตกรรมของชาติไทยเองได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น บุคคลในรัฐบาลก็จะไม่ยอมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในยุคใหม่ ซึ่งนั่นก็คือปมปัญหาที่เราไม่สามารถสร้างภราดรภาพแห่งพี่น้องจากประเทศไทยถึงกัมพูชาได้ !?!


*หมายเหตุ: ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม โดยเบน แอนเดอร์สัน ซึ่งผู้เขียนผลงานLanguage and Power: Exploring Political Cultures in Indonesia. และส่วนของผลงานมาร์ค ทเวน ผู้เขียนเรื่องThe Stolen White Elephant เป็นต้น

เชิงอรรถ
[1] นพพร ประชากุล “ภาษากับอำนาจ” สารคดี ปีที่13 ฉ.147 พ.ค.2540:361-368

[2] นพพร ประชากุล, เพิ่งอ้าง

[3] คำว่าพี่น้อง สำหรับคนอเมริกันแล้ว คำว่า “brother” “sister” จะชักนำให้เขาแยกแยะไปอีกทัศนะหนึ่ง โดยมองไปที่ความแตกต่างทางเพศเป็นหลัก ซึ่งน่าสนใจจากภาษาของสตรีไทยยังแยกเพศหลายระดับของสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ที่มีคำแทนตัวว่า ดิฉัน กับ หนู หรือบางครั้งก็ใช้ชื่อเล่นแทนตัวเอง ต่างๆ ซึ่งมันแตกต่างจากอเมริกาซึ่งมีการพูดถึงคุณ you มากกว่า เรียกว่าพี่ น้อง นับญาติเหมือนกับโฆษณาทีวี ว่า ถ้าประเทศเป็นบ้าน คือ คนนับญาติกันได้หมดทั้งประเทศไทย ถ้าเรานึกถึงคำเรียก พี่ น้อง ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังปรากฎถึงการใช้คำว่า brother ในกลุ่มพี่น้องกรรมกร ย่อมแน่นอนว่า นอกจากการใช้คำว่าพี่น้อง สื่อถึงพี่น้องร่วมอาชีพ ยังมีความหมายถึงความเสมอภาคอีกด้วย

[4] อรรคพล สาตุ้ม “บอง ชวลิต” ชาติไทยในมุมมองจากคอนโดฯhttp://www.prachatai.com/journal/2009/11/26617

[5] หลานฟง “ทางแก้ข้อขัดแย้งทางทะเลของไทย-เขมร-เวียดนาม”โฟกัสอินโดจีน ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 41 ฉ.38 วันที่ 19-25 ก.พ.38 :12

[6] วีระ สมความคิด “มีคนว่าผมบ้า” กรุงเทพธุรกิจ เสาร์สวัสดี ปีที่ 17 ฉ.5756 วันที่ 26 มิ.ย.47 : 2-5 และดูเพิ่มเติมกรณี “สุริยะใส” ลั่นคลั่งชาติดีกว่าขายชาติ http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26577

[7] เราสามารถพิจารณาเรื่องความหลากหลายทางภาษาเหนือ ภาษาใต้ เหมือนกับเราพิจารณาภาษากับการเมืองได้ โดยดูจากผลงานเรื่องภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมืองของไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร

เนื่องจากความน่าสนใจถึงการเมืองของการพูด คือ อำนาจของภาษาในระดับชาติ ซึ่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวว่า"คนพูดแทนประเทศไทยได้คือนายกรัฐมนตรี แต่ในระดับเจ้าหน้าที่ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นเมื่อถูกสื่อมวลชนซักถาม ซึ่งต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องดูแลให้พูดจาไปในทิศทางไหน อย่างไร" เหยียบเบรกหัวทิ่มหัวตำ โดย จังหวะ "คัตเอาต์" ตัดไฟ "เทพเทือก" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง…

เนื่องจากสไตล์นักการทูตยี่ห้อ "กษิต ภิรมย์"โดยปมหนึ่งที่น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เลือกเล่นเกมอุ้ม "ทักษิณ" ตบหน้ารัฐบาลประชาธิปัตย์ และฝ่ายคุมเกมอำนาจในประเทศไทยมาจากลูก "หมั่นไส้"จำฝังใจกับคำว่า "ไอ้กุ๊ย" บนเวทีม็อบพันธมิตรฯ หรือ "Gangster" ในบทสัมภาษณ์ผ่านสื่อฝรั่งที่นายกษิตด่าข้ามประเทศไปถึงกัมพูชา และรัฐบาลประชาธิปัตย์ตีกินได้แค่กระแสชาตินิยมในเมืองไทย นโยบายต่างประเทศภายใต้ทีมงาน "กษิต ภิรมย์" ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แน่นอนถ้าถามใจนายกฯ อภิสิทธิ์ กับ "เทพเทือก" โดยวิสัยยี่ห้อประชาธิปัตย์ไม่ต้องเดาให้ยาก คงอยากกำจัด "จุดอ่อน" โละทิ้งยี่ห้อ "กษิต ภิรมย์" ทิ้งเต็มแก่ แต่ปัญหามันติดอยู่ที่โควตานี้ถูก "ล็อกไว้" ไม่อยู่ในวิสัยที่ "อภิสิทธิ์" หรือ "เทพเทือก" จะตัดสินใจได้โดยลำพังตราบใดที่ไม่มีสัญญาณไฟเขียวจากบ้านใหญ่ย่านเทเวศร์.

ที่มา : วิเคราะห์การเมือง แล้วเฉลยก็อยู่ที่ กษิต ภิรมย์ “ไทยรัฐออนไลน์ 17 พฤศจิกายน 2552, 05:00”http://www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/47244

[8] บ้านสี่เสาเทเวศร์http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%8C

[9] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ “สิทธิดื้อแพ่ง, ความเป็นสาธารณะ และประชาธิปไตยของความเป็นศัตรู”รัฐศาสตร์สาร 22, 3 (2543): 273

หมายเหตุที่มาจากประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26818

ที่มาจากไทยอีนิวส์
http://thaienews.blogspot.com/2009/11/blog-post_1356.html

“บอง ชวลิต” ชาติไทยในมุมมองจากคอนโดฯ

“บอง ชวลิต” ชาติไทยในมุมมองจากคอนโดฯ
Sun, 2009-11-15 04:03
อรรคพล สาตุ้ม

คำว่า “บอง ชวลิต” และบทบาทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
การตอบโต้ของไทยต่อกรณีที่สมเด็จฯ ฮุนเซน แต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และประกาศว่าทักษิณ “เป็นเพื่อนคนหนึ่ง” นั้นเนื่องมาจากความเป็นเพื่อนบ้านไร้พรมแดน (1) กล่าวคือ ความสัมพันธ์ของ พล.อ.ชวลิต-ฮุนเซน-ทักษิณ สืบเนื่องมาตั้งแต่การพูดคุยแบบพี่น้องที่มีสายสัมพันธ์มายาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่พล.อ.ชวลิต ช่วยสร้างสันติภาพให้กัมพูชา โดย พล.อ. ชวลิต กล่าวว่า“ “ฮุนเซน” เรียกผมว่า “บอง ชวลิต” ทุกคำเขาบอกว่าผมเป็นพี่ชายของเขา โดย พล.อ.ชวลิตเล่าไว้ และกล่าวต่อว่า “โอ้ย ผมเป็นซุปเปอร์นายกฯ ไม่ใช่คุย แต่ relation กับเพื่อนบ้านที่ผมสร้างเอาไว้นาน มันมหาศาลไม่ใช่แค่พี่น้อง partnership แต่เป็น Family เดียวกันยิ่งกับผู้นำพม่า เราถือว่าเป็น Brother กันเลย….”

เมื่อเราพินิจคำว่า “บอง ชวลิต” ที่ฮุนเซนใช้เรียก พล.อ.ชวลิต แปลความหมายมาเป็นไทยว่า ผมเป็นพี่ชายของฮุน เซน สิ่งนี้สะท้อนถึงการโยงใยของคำ ร่องรอยความคิด และความเชื่อของไทย โดยคำว่า "พี่น้อง" เป็นการกล่าวถึงเรื่องของพี่น้องหรือเป็นการนับญาติ เรานึกถึงตัวอย่างในชีวิตประจำวันได้ เช่น การเรียกกระเป๋ารถเมล์ว่า พี่ ทั้งที่ไม่ใช่พี่แท้ๆ ตามลำดับญาติก็ตาม

ในทางเดียวกัน คำว่า ครอบครัว เป็นการนับญาติของคนไทย เพราะระบบญาติขยายวงศ์เป็นเหตุให้ใช้ศัพท์ทางญาติกับคนที่ไม่ใช่ญาติแพร่หลายทั่วไป การเรียกคนว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา เช่นเดียวกันกับการเรียกว่า ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ (2) การใช้คำเรียกดังกล่าวในด้านหนึ่งมันเป็นผลดีแก่ผู้ใช้ศัพท์เรียกผู้อื่นว่า “…ลุง พี่ น้อง ทำให้ผู้ถูกเรียก รู้สึกความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม และส่วนความเป็นมาของการพยายามเรียกผู้อื่นให้ใช้คำว่า “ท่าน” ก็มีในสมัยจอมพล ป.พยายามให้เกิดความเป็นอารยะเยี่ยงชาติตะวันตก โดยส่วนใหญ่แล้วก็นิยมใช้คำว่า “ท่าน” หรือ “คุณ” เป็นภาษาทางการมากกว่าในชีวิตประจำวันที่มีการใช้ศัพท์เรียกว่าพี่ น้อง..” (3) นั่นก็คือ มันจะไม่ประสบความสำเร็จในการใช้คำศัพท์ดังกล่าวเหมือนกับคำว่า “สวัสดี” ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไป พล.อ.ชวลิต ซึ่งเคยมีบทบาทในการเจรจาสันติภาพให้กับเขมร 4 ฝ่ายนั้น ในสมัยที่ พล.อ.ชวลิต เป็นนายกรัฐมนตรี “…ในสมัยที่รัฐบาลไทยเข้าร่วมแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งในกัมพูชาปี 1998 ในช่วงเดือนตุลาคมที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาตินั้นได้ถือโอกาสจัดตั้งกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า เพื่อนกัมพูชา (Friend of Cambodia) โดยมีนาย ประจวบ ไชยสาสน์ เป็นรมต.ต่างประเทศไทย ทำงานเป็นแกนสำคัญในการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยปัญหากัมพูชามาแล้ว..” (4)

เรื่องราวของถ้อยคำจากอดีตจนถึงยุคปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงการค่อยๆ พยายามขยายความหมายของคำว่า พี่น้อง เพื่อน และครอบครัวของไทย ไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในทางกลับกัน การตอบโต้ของรัฐบาลซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งกับกัมพูชา เช่น ข้อความในถ้อยแถลงให้เหลือเพียงคำๆ เดียวว่า “ทักษิณ” ของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (5) กลับเป็นการลดทอนความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คำว่า “ทักษิณ” นำไปสู่การวิเคราะห์ของสื่อมวลชนไทยในเชิงลบต่อเรื่องกัมพูชาในความเป็นพี่น้องของ พล.อ.ชวลิต และความเป็นเพื่อนของทักษิณและให้แคบลงเพียงเรื่องผลประโยชน์และความสัมพันธ์ส่วนตัวเท่านั้น มันทำให้นึกถึงสำนวนทำนองว่า “มีเงินเรียกน้อง มีทองเรียกพี่ ไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่นับพี่นับน้อง” แต่แน่นอนว่า รมต.ต่างประเทศนามว่า กษิต ภิรมย์ ซึ่งเคยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในอดีต จะไม่สามารถสร้างเพื่อนกับสมเด็จฯ ฮุนเซนได้ เพราะคำว่า “ทักษิณ” ไปจนถึงคำว่า “บอง ชวลิต” มีนัยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงต่อการสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน นั่นก็คือ พล.อ.ชวลิต ในฐานะรัฐบาลจากในอดีตสามารถสร้างความสัมพันธ์อาเซียนใหม่ต่อกัมพูชาแตกต่างจาก กษิต ภิรมย์ และอภิสิทธิ์ ในปัจจุบัน


ชีวิตประจำวันของพล.อ.ชวลิต และมุมมองจากคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา

จากชีวประวัติของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นามสกุลยงใจยุทธนั้น สืบเชื้อสายมาจากเชื้อพระวงศ์ของลาว พล.อ.ชวลิตเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และอดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ชวลิต เป็นเจ้าของสมญา “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” ผู้ประสบความสำเร็จในเรื่องเคยต่อสู้ชนะคอมมิวนิสต์ พล.อ.ชวลิต ก็เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในขณะดำรงตำแหน่งทางทหาร พล.อ.ชวลิตเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่คนแรก พล.อ.ชวลิต เป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย และพล.อ.ชวลิต ก็มีคะแนนเสียงหนาแน่นในจังหวัดนครพนม โดยสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเรียก พล.อ.ชวลิต ว่า “บิ๊กจิ๋ว” ส่วนในพื้นที่ภาคอีสานเรียก พล.อ.ชวลิตว่า “พ่อใหญ่จิ๋ว” นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกฉายาหนึ่งว่า “จิ๋วหวานเจี๊ยบ” จากการมีบุคลิกพูดจาอ่อนนุ่ม ฯลฯ เป็นต้น

ที่น่าสนใจ ภาพชีวิตประจำวันของพล.อ.ชวลิตถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสื่อมติชนสุดสัปดาห์ฯ ว่า “…ชีวิตของพล.อ.ชวลิตอยู่บนชั้นที่ 23 ของรีเวอร์ไรน์คอนโดมีเนียม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตื่นมาก็เห็นสายน้ำ ก่อนนอนก็เห็นสายน้ำที่ไหลทอดยาวไม่เคยหยุดนิ่ง แม้แต่ตื่นมากลางดึกตีหนึ่งตีสองที่พล.อ.ชวลิตมักจะตื่นมาใช้ความคิด และวางแผนปฏิบัติการต่างๆ ก็ที่ริมระเบียงแม่น้ำนี่แหละ เขาจึงอาจกำลังกลายเป็น นักฆ่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตัวจริง ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้พ่ายแพ้…” (6)

ชีวิตประจำวันของทุกคนย่อมเกี่ยวข้องกับเวลาและสถานที่ Henri Lefebvre เคยเขียนถึง Critique of Everyday Life โดยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องชีวิตประจำวันกับความสัมพันธ์ของกรอบการรับรู้ถึงพื้นที่และเวลาของชีวิตทางสังคม กล่าวคือมันสะท้อนถึงชีวิตประจำวันของเราและมันแสดงถึงความสำคัญและความหมายของพื้นที่ทางกายภาพของคอนโดของ พล.อ.ชวลิต ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครไม่ได้ตั้งอยู่ริมน้ำโขง ซึ่งคอนโดมิเนียมทำหน้าที่ในการช่วยสร้างความคิด จิตใจ และตัวตนของพล.อ.ชวลิต ที่มีการมองเห็นลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ทางสิ่งแวดล้อมสำหรับสร้างความคิดสร้างสรรค์ในคอนโด

การเล่าเรื่องว่า “…พล.อ.ชวลิต มักจะตื่นมาใช้ความคิด และวางแผนปฏิบัติการต่างๆ ก็ที่ริมระเบียงแม่น้ำนี่แหละ เขาจึงอาจกำลังกลายเป็น นักฆ่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตัวจริง…” (7) ทำให้เห็นภาพแสดงแทนจากสื่อมติชนสุดสัปดาห์บ่งชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ชวลิตผู้อยู่ในคอนโดมิเนียมชั้นที่ 23 วางแผนชีวิตประจำวันอย่างกับอยู่ในสมรภูมิรบ ทั้งที่ พล.อ.ชวลิต อยู่ที่คอนโดมิเนียมไม่ใช่สนามรบ แต่มันก็คล้ายคลึงกับคำว่า “สมรภูมิ” ทำให้น่าคิดถึงข้อความของ Henri Lefebvre ที่เคยเขียนถึง Critique of Everyday Life ว่า “..ชีวิตประจำวันจะกลายเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ในการต่อสู้ทางชนชั้น..” แน่นอน เราต้องต่อสู้ในชีวิตประจำวันเพื่อหาทางอยู่รอดดำเนินชีวิตกันต่อไป

แต่การต่อสู้ในชีวิตประจำวันก็มีขีดจำกัดในกรอบของเวลาและพื้นที่ เมื่อวิถีชีวิตประจำวันของคนในกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนียมอันเป็นสถาปัตยกรรมขนาดสูง มันเป็นทั้งภาพแสดงแทนวิถีชีวิตของความทันสมัยของคนกรุงเทพฯ ซึ่งพวกเขากลับจากที่ทำงานถึงคอนโดมิเนียมก็แถบจะหมดเรี่ยวแรงกายในเวลากลางคืนแล้ว ทว่าภาพชีวิตประจำวันของ พล.อ.ชวลิต กลับแตกต่าง ในช่วงเวลาการผลิตความคิดสำหรับแผนปฏิบัติการอยู่ในเวลากลางคืนที่แสงดาวเปล่งประกายเรืองรองระยิบระยับ ท่ามกลางแสงสีจากตึกสูงและอาคารต่างๆ ในกรุงเทพฯ แน่นอนเรารู้ว่า การมองแม่น้ำเจ้าพระยาของทุกคน ในความทรงจำ ล้วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมประเพณีตามความสำคัญอันเกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค และงานลอยกระทง งานประเพณีต่างๆ ซึ่งแน่แท้แล้ว พล.อ.ชวลิตและทุกๆ คน ก็สามารถมองเห็นสายน้ำเป็นดั่งสัญลักษณ์ว่า “เวลาไม่ไหลย้อนกลับมา” ได้อีกด้วย

นั่นก็คือ เวลาเป็นความจริงแท้ของพื้นที่ในความคิดของแต่ละคน ส่วนพื้นที่ก็ก่อให้เกิดจินตนาการของภาพสะท้อนทางภูมิศาสตร์ จากพื้นที่ เรามองเห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำ บ้านเมืองในชุมชนของประเทศ จนกระทั่งเรานึกถึงพื้นที่ทางสังคมกับเรื่องราวของชีวิตของผู้คน ไม่น่าแปลกใจ หาก พล.อ.ชวลิต มองเห็นแม่น้ำกับวิถีชีวิตของคนเช่นกัน ทั้งจากการตีความหมายของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความมืดมนสลัวของสายน้ำที่มองจากคอนโดมิเนียม เชื่อมโยงกับความหมายของผู้คนแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ ใน Senses of Place

ชื่อชวลิต มีความหมายว่า รุ่งโรจน์, รุ่งเรือง, แสงสว่าง อาจเปรียบประดุจแสงสว่างให้พรรคเพื่อไทยก็ว่าได้

นับตั้งแต่การเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ชีวิตประจำวันของพล.อ.ชวลิต ณ คอนโดมิเนียม ก็คือสถานที่ของผู้วางแผน ซึ่งต่อมาการเดินทางไปประเทศกัมพูชาซึ่งข้ามอาณาเขตของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปพบสมเด็จฯ ฮุนเซน สะท้อนถึงการผลิตความหมายชีวิตส่วนตัวจากสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมไปสู่อีกสถานที่หนึ่งก็คือปราสาทพระวิหาร

มันทำให้เกิดการขยายอาณาเขตของความเป็นส่วนตัว (Private sphere) ของพี่ชวลิต หรือ “บอง ชวลิต” ไปสู่สมเด็จฯ ฮุนเซน ซึ่งเขาก็เรียกทักษิณว่าเพื่อน การสร้างความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อนกับกัมพูชา จึงขยายกลายเป็นประเด็นอาณาเขตสาธารณะ (Public Sphere) ซึ่งมันผนวกกับความเป็นเพื่อนบ้านในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิต ได้นำประเด็นนครปัตตานีกลับมานำเสนอใหม่อีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พวกเราก็รู้กันดีว่า เราอยู่ในความหวังของการพัฒนากระบวนการสร้างความทันสมัยของรัฐประชาชาติไทย และเราต้องสร้างอาณาเขตสาธารณะในการมีส่วนร่วม เสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น และอธิปไตยของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในทิศทางถูกต้อง

ในที่สุดแล้วเราก็รู้ว่า ประเด็นเรื่องการรอคอยเพื่อพิสูจน์ว่า ความหวังในการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐประชาชาติไทย ซึ่งธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวว่า “…อดีตเป็นสิ่งที่เกิดไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความหวังจึงอยู่ในสภาวะของอนาคต แต่ครั้น เมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด และก็ไม่มีมนุษย์ผู้ใดจะรู้ได้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร ความหวังจึงเป็นเพียงความหวัง เพราะไม่สามารถหาหลักฐานหรืออะไรที่จะมายืนยันไปได้มากกว่าการเป็นเพียงความหวัง..” (8) ท่ามกลางบทบาทของพล.อ.ชวลิต ในคอนโดมิเนียม ซึ่งต่อมาทำหน้าที่เป็นประธานฯ พรรคเพื่อไทย พล.อ.ชวลิต จึงเป็นความหวังใหม่ เพื่อเพื่อนร่วมชาติ ในประเด็นนครปัตตานี และประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เพื่อสันติภาพ

“..ชาติกลายเป็นสถานที่ที่ถือกันว่าเป็นบ้าน และประวัติของชาติเป็นเรื่องราวของบ้าน..” (9) โดยเราก็รู้ว่า ขณะเวลาของประวัติศาสตร์ในปัจจุบันนั้น เมื่อชาติภายใต้เวลาของอำนาจทางการเมืองเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เหมือนกับอภิสิทธ์เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งเราต้องอาศัยหลับนอนในบ้าน โดยรัฐบาลอภิสิทธ์ ฉะนั้น กรณีรัฐบาลถอนทูตไทยออกจากกัมพูชา อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดการค้าชุมชนชายแดน โดยรัฐบาลต้องสนใจเปิดโอกาสทางพื้นที่และเวลาให้ประชาชน มีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองไม่อาจคาดหวังกับรัฐบาล ที่มีการเล่นเกมก่อนอาจจะเลือกตั้งใหม่ จึงปลุกกระแสชาตินิยมดึงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ และบทบาท พล.อ.ชวลิต จึงน่าจับตาในฐานะเป็นประธานฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่มีชื่อชวลิต หมายความว่า รุ่งโรจน์, รุ่งเรือง, แสงสว่าง เปรียบประดุจแสงสว่างให้พรรคเพื่อไทย แล้วเขาจะเป็นแสงสว่าง และความหวังใหม่ เพื่อเพื่อนร่วมชาติ ในประเด็นนครปัตตานี และกัมพูชา เพื่อสันติภาพได้มากเท่าใด นับว่าท้าทายกับสังคมไทย

โดยเขาต้องวางแผนเตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว เหมือนไขกุญแจเปิดประตูออกจากห้องในคอนโด ที่เป็นบ้าน โดยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในห้องคอนโด เหมือนกับเปิดอาณาเขตส่วนตัวสู่อาณาเขตสาธารณะ ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง

สร้างพื้นที่ให้เกิดทางรอดของประเทศไทยพ้นอันตราย


เชิงอรรถ
(1) อรรคพล สาตุ้ม “ฮุน เซน-ทักษิณ: เพื่อนบ้านไร้พรมแดน”
http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26436
(2) อรรคพล สาตุ้ม “ระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในฐานะญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคม”
http://www.prachatai.com/journal/2009/10/26334
(3) สุวรรณา สถาอานันท์, เนื่องน้อย บุณยเนตร “ความคิดและภูมิปัญญาไทย คำ ร่องรอยความคิด ความเชื่อไทย” กรุงเทพฯ: สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535:166-167
(4) อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ (บรรณาธิการ) “อาเซียนใหม่” กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541:168-169
(5) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์พาดพิงไทยของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา, 11 พ.ย. 52 http://www.mfa.go.th/web/200.php?id=23421
(6) แผน ‘ขงเบ้ง’เขย่า ‘มาร์ค’ เปิดลับโต๊ะถกเขมร,ซุปเปอร์นายก‘จิ๋ว’ และข้อความถึง‘ป๋า’ มติชนสุดสัปดาห์ 30 ต.ค.-5 พ.ย.2552 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1524 : 16
(7) แผน ‘ขงเบ้ง’เขย่า ‘มาร์ค’ เปิดลับโต๊ะถกเขมร,ซุปเปอร์นายก‘จิ๋ว’ และข้อความถึง‘ป๋า’, มติชน สุดสัปดาห์, เพิ่งอ้าง
(8) ธเนศ วงศ์ยานนาวา “อาณาเขตสาธารณะ/ประชาสังคมและนักมานุษยวิทยากับคนชายขอบ”จุลสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 15 ฉบับที่ 14 (พ.ค.-ก.ค.2542): 16
(9) ธงชัย วินิจจะกูล “เรื่องเล่าจากชายแดน” ศิลปวัฒนธรรม 23, 12 ต.ค. 2545 : 80

*หมายเหตุ ที่มาจากประชาไท http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26617

ที่มาจากไทยอีนิวส์“บอง ชวลิต” : ชาติไทยในคอนโด
http://thaienews.blogspot.com/2009/11/blog-post_3765.html