วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รูปปั้นลุงนวมทองในการเมืองเชิงสัญลักษณ์ของตุลา 53

รูปปั้นลุงนวมทองในการเมืองเชิงสัญลักษณ์ของตุลา 53
Wed, 2010-10-27 11:37
อรรคพล สาตุ้ม

ผู้เขียนเริ่มต้นตั้งใจเขียนงานขนาดไม่ยาวชิ้นนี้ โดยภาพร่างของความคิดเกี่ยวโยงปัญหาของทหาร เช่น ปฏิรูปกองทัพเลิกเกณฑ์ทหารไปรัฐประหาร หรือเกณฑ์ไปฆ่าคนเหมือนเกณฑ์ไพ่รพลในอดีต และปฏิรูปสื่อเกี่ยวโยงทหาร กรณี ททบ.5 เป็นต้น แต่ว่าผู้เขียนโดยส่วนตัวประสบขีดจำกัดของเวลา หน้าที่การงาน จึงต้องกระชับพื้นที่การเขียนให้ชัดเจนง่ายๆ เพราะว่า ผู้เขียนวิเคราะห์รูปปั้นลุงนวมทอง โดยผู้เขียนคิดปรับชื่อบทความขนาดยาว คือ รูปปั้นลุงนวมทองในการเมืองเชิงสัญลักษณ์ตุลา 53 : บริบทเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 กับศิลปะแห่งความทรงจำเป็นสัญลักษณ์ของความใกล้ชิดธรรมชาติของแผ่นดินประชาธิปไตยไทย และพรมแดนของสื่อมวลชนต่อความกล้าหาญของการตัดสินใจต่อสู้แนวสันติวิธี ยังรอคอยพิสูจน์ตอนจบในปัจจุบัน

จากชื่อของบทความ ซึ่งผู้เขียนต้องการเขียนประเด็นใหญ่เพียงประเด็นเดียว ทำให้ต้องพยายามตั้งชื่อบทความนั้นให้สั้นลง ขณะนั้นก็ระลึกถึงมุมมองบางอย่างต่ออดีตของวันวาน เหมือนขอบเขตจำกัดของกรอบรูปภาพ ในคำว่า frame แปลว่า กรอบรูป (N.) และใส่ความ (V.) ได้ทั้งสองความหมาย ในการใช้คำว่า Frame สร้างกรอบรูปภาพ หรือ สร้างความเข้าใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่า เราอาจจะเห็นนัยยะบางอย่างของภาพเหมือนเราไม่อาจใช้คำหนึ่งคำเป็นองค์รวมทั้งหมด เช่น ภาพLas Meninas โดยฟูโกต์ ผู้ศึกษาเรื่องวาทกรรม เกี่ยวกับอำนาจและความรู้ ซึ่งพวกเราหลายคนคงรู้จักฟูโกต์กันดี และฟูโกต์ ก็นำกรอบวาทกรรมมาวิเคราะห์ภาพ Las Meninas ในหนังสือ The order of Things เป็นต้น

ถ้าผู้สนใจสามารถค้นหาภาพโดยกูเกิ้ลจะเจอภาพ Las Meninas และนัยยะของฟูโกต์ คือ สื่อถึงเราไม่อาจมองเห็นตัวการสร้างภาพความจริงได้จากมุมมองทั้งหมดทุกซอกทุกมุม อีกนัยหนึ่งเราไม่สามารถอ้างตำแหน่งพิเศษของความเป็นนักวิจัยหรือผู้เขียน ว่าสามารถกระโดดออกมานอกกรอบของบริบทการศึกษาแล้ว มองเห็นภาพในเชิงองค์รวมทั้งหมด(totality) แม้ว่าการมองเห็นภาพทั้งหมดเป็นเรื่องยาก แล้วรูปภาพยังถูกใส่กรอบรูป และบูชาอีกต่างหาก ดังนั้น ผู้เขียนเน้นย้ำถึงรูปปั้นลุงนวมทอง ในมุมมอง 3 แบบและการต่อสู้ในปัจจุบัน (*)

1.รูปปั้นลุงนวมทอง คือ ศิลปะแห่งความทรงจำเป็นสัญลักษณ์ธรรมชาติของแผ่นดินประชาธิปไตยไทย
ย้อนอดีตโดยผลกระทบของ 19 กันยา 49 ต่อลุงนวมทอง มาจากสาเหตุการรัฐประหารและผู้เขียนเคยเขียนในแง่มุมหนึ่งต่อลุงนวมทองไปแล้ว โดยผู้เขียนในฐานะคนเล็กๆ คนหนึ่งก็ยังคงระลึกถึงลุงนวมทอง(1) จนกระทั่งต่อมา เมื่อคนสร้างรูปปั้นลุงนวมทอง คือ ศิลปะแห่งความทรงจำเป็นผู้พิสูจน์ตนใกล้ชิดธรรมชาติของประชาธิปไตยไทย ที่มีลุงนวมทองเป็นผู้พิทักษ์สภาวะของประชาธิปไตยไทย โดยศิลปะความทรงจำของความใกล้ชิดประชาธิปไตย โดยผู้เขียนเคยเขียนเรื่องธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประชาธิปไตย แล้วล่าสุดผู้เขียนได้รับคำถามหนึ่งที่สำคัญ คือ เมื่อคุณถูกถามว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550(ที่มาจากการรัฐประหาร) ในมาตรา 1 คือ อะไร? คุณอาจจะตอบไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่หลงลืมไปจากความทรงจำ ดังนั้น ผู้เขียนเฉลย คือ หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 1) คือ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ซึ่งพวกเราจะตีความ หรือแปลความว่า แผ่นดินนี้แบ่งแยกไม่ได้ หรือ พรมแดนอันหนึ่งอันเดียว โดยถ้าพวกเราคิดถึงแนวคิดแผนที่อันเป็นพรมแดนของความเป็นไทย โดยธงชัย วินิจจะกูล เคยเขียนถึงปัญหารัฐธรรมนูญเป็นของนอก หรือหากการปลูกวัฒนธรรมประชาธิปไตย และสมมติว่ารัฐธรรมนูญ ดั่งเปรียบเป็นเมล็ดพันธุ์ จึงเป็นรัฐธรรมนูญพันธุเทศ ที่นำเข้ามาปลูกในวัฒนธรรมไทย
ซึ่งถ้ามองดูในแง่ความใกล้ชิดของประชาธิปไตย ถูกทำให้ไกลตัวเป็นของนอก ทั้งรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยต้องทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ก็เป็นปัญหาต่อพัฒนาการ อันเป็นธรรมชาติของการเติบโตทางประวัติศาสตร์ ที่มีวิวัฒนาการกับประชาธิปไตย โดยพวกเรามักเห็นข้อโต้แย้งต่อฝรั่งไม่เข้าใจคนไทย หรือของนอกไม่เหมาะกับความเป็นไทย จากความไกลห่างของฝรั่ง ไม่ใกล้ชิดวัฒนธรรมไทย (2)

ดังนั้น เมื่อชาตินิยมไทย ก็เติบโตบนแผ่นดินของไทย ในการปลูกสร้างธรรมชาติให้วัฒนธรรมของไทย ก็มีลักษณะของความใกล้ชิดกัน เหมือนเครือญาติ ครอบครัวเดียวกัน โดยผู้เขียนยกตัวอย่างสิ่งที่เร้าอารมณ์ความรู้สึกของคนในหัวสมองกับหัวใจ โดยเบน แอนเดอร์สัน ผู้แต่งหนังสือชุมชนจินตกรรมก็เคยบอกว่า ในประเทศไทย"รัฐ"กับ"ชาติ"แต่งงานกัน แล้วพวกเราก็ต้องเข้าใจการสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติ สัมพันธ์กับรัฐ ซึ่งผู้เขียนขยายความ โดยเพิ่มเติมอธิบายต่อความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันของประชาชนกับรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย หรือการตั้งโจทย์ คือ ชาติ+อารมณ์ความรู้สึกใกล้ชิดประชาชน+แต่งงาน+ประชาธิปไตย เหมือนสมมติว่าคนที่มีความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม เมื่อพวกเขาเลือกตัดสินใจเป็นคู่ครองแต่งงานกัน (ถ้ายกตัวอย่างเปรียบเทียบข่าวเหตุการณ์ในปี 53 กรณีสาวบุกทวงสัญญาแต่งงาน แฟนทหาร กลางราบ 11 และสิ่งตรงกันข้ามทหารเกณฑ์ คือพลทหาร เครียด ผูกคอตาย กลัวถูกส่งสลายม็อบ)

เพราะฉะนั้น จากการเรียนรู้ และประสบการณ์ของชีวิต ที่ผ่านมาโดยแบบเรียนตั้งแต่ประถม ซึ่งพวกเราเรียนรู้ ผ่านอนุสาวรีย์ และวัฒนธรรมผลิตสร้างความทรงจำในหัวสมอง และหัวใจของพวกเรา ก็ถูกบันทึกประวัติศาสตร์ในศิลป์ของความทรงจำของพวกเรา คือ รัฐธรรมนูญ กับความเป็นมาจากของฝรั่งก็เป็นพันธุ์ผสมไทย เหมือนกับศาสนาพุทธ ที่มาจากอินเดีย และรัฐธรรมนูญ ก็ควรน่าจะปลูกสร้างได้ลงตัวโดยไม่ต้องรัฐประหารตัดตอน และไม่ทำให้เกิดคนแบบลุงนวมทองมาฆ่าตัวตาย และลุงนวมทอง เขียนจดหมายโดยลายมือเขียนลาตายต่อครอบครัว และลูก รวมทั้งชี้แจงว่า เทิดทูล ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และลุงเขียนขีดฆ่ารัฐทหาร และรัฐตำรวจ (ต้องไม่มี)เป็นสัญลักษณ์ปรากฏในสื่อใหม่ทางอินเตอร์เน็ตโดยดูวิกีพีเดีย ซึ่งพวกเราไม่ต้องใช้เทคโนโลยียุคเก่าแบบโทรเลข ที่มีสมัยสร้างรัฐชาติ แผนที่ก็เริ่มวางสายโทรเลข จนกระทั่งพวกเรารู้ว่าเลิกใช้โทรเลขไป ซึ่งพวกเรารับรู้สื่อใหม่ทางอินเตอร์เน็ตเฟซบุ๊ค บล็อก สเปซเป็นเครือข่ายทางสังคมสำหรับเก็บข้อมูล และเผยแพร่นอกเหนือจากการออกอากาศทางทีวี หนังสือ หนังสือพิมพ์ โดยจดหมายของลุงนวมทอง ก็ปรากฏในสื่อใหม่ของวิกิพีเดียไว้

กระนั้น ผู้เขียนยกตัวอย่างที่สะท้อนการสร้างการปลูกฝังธรรมชาติของอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้เติบโต ในแผ่นดินไทยในเรื่องคุณค่าของความหมายของความตาย และความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดของลุงนวมทอง คือ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก เป็นสิ่งที่ปรากฏในจดหมาย และพวกเราคงไม่ต้องรอคอยประชาธิปไตย แล้วพวกเราต้องทำเหมือนค่ำคืนวันที่ 31 ต.ค.2549 เป็นต้น

ฉะนั้น กรณีรูปปั้นลุงนวมทอง เมื่อกลุ่มศิลปินเสื้อแดง กล่าวว่ารูปปั้นดินเหนียวนี้ เมื่อเสร็จแล้วจะนำไปถอดเป็นแม่พิมพ์ซิลิโคน จากนั้นจะหล่อด้วยปูนซีเมนต์ผสมเลือดของคนเสื้อแดงที่ได้เจาะออกมาแสดงสัญลักษณ์การต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี โดยจะตั้งชื่อรูปปั้นว่า "นวมทองไพรวัลย์ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย" และตั้งไว้บริเวณด้านล่างเวทีการชุมนุม เพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมได้มาปิดทองระลึกถึงและคารวะต่อใจที่เด็ดเดี่ยวของนายนวมทองต่อไป ขณะลงมือปั้นรูปเหมือนดินเหนียว(3) ซึ่งสะท้อนความเป็นดินจากธรรมชาติของแผ่นดิน และต่อมาหล่อด้วยปูนซีเมนต์ผสมเลือดของไพร่ ที่มีกระแสทางการเมืองของขบวนการเคลื่อนไหว ในขณะนั้น เพื่อธรรมชาติของประชาธิปไตยให้แข็งแรงไม่เสื่อมสลายหายไป โดยประชาธิปไตยไทยเติบโตต่อไป

2.ความเสื่อมของสื่อมวลชน ทำให้สร้างเส้นแบ่งพรมแดนของมวลชน ไม่มีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดรูปปั้นลุงนวมทอง
เมื่อการเปรียบเทียบเรื่องความเสื่อมของสื่อมวลชน กรณีนับตั้งแต่เรื่องลุงนวมทอง ก็มีเพียงสถานีโทรทัศน์ ITV เท่านั้นที่นำเสนอรายละเอียดของบทสนทนาก่อนที่ลุงนวมทองจะตัดสินใจทำในสิ่งที่เกิดขึ้น (4) แน่นอนว่า หลายคนมีวิธีเขียนเรื่องราวเป็นบันทึกให้ลุงนวมทอง บางคนเขียนบทกวีให้ลุงนวม เช่น จิ้น กรรมาชน และผู้เขียนเคยเขียนถึงการเมืองเชิงตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย จึงเลือกนำเสนอผ่านภาพลุงนวมทองเกี่ยวโยงสถานีไอทีวีในอดีต สิ่งที่สะท้อนให้ภาพลักษณ์โดยการสร้างภาพของสื่อมวลชนให้ขัดแย้งก่อเกิดความเสื่อมต่อมวลชน และสร้างพรมแดนทางอารมณ์ความรู้สึกอันน่ากลัว คือ กรณีเช่นพาดหัวข่าวว่า “แดงไม่กลัวเอดส์!! ปั้นหุ่นลุงนวมทองผสมเลือด จ่อตั้งสี่เสาฯ” (5) แต่ว่า ภาวะหลังฝุ่นตลบจากสงครามกลางเมือง ผู้เขียนเคยเขียนถึงการสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติกับฺ Big Cleaning Dayในเดอะเฮดว่ารัฐใช้สื่อมวลชน นอกจากปิดสื่อ แล้วใช้สื่อมวลชนสร้างภาพให้เมืองกรุงเทพฯ เหมือนล้างสมองของคน (6)

ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาต่อสื่อมวลชน ในเรื่องความตายของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในฐานะเพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2549 ก็ไม่ได้ถูกยอมรับทั้งสองฝ่าย ซึ่งสองมาตรฐานอย่างแน่นอน และสังคมอาจจะยอมรับได้เหมือนการฆ่าตัวตายของสืบ นาคะเสถียรในอนาคต ก็ยังไม่แน่นอน แล้วทุกคนคงไม่ลืมลุงนวมทอง ต้องระวังถูกล้างหายไปจากในมันสมองเหมือนวันชาติไทย (7) โดยการกระทำของรัฐไทย ทั้งปิดกั้นสื่อเพื่อลบลืมเลือนความจริง

3.รูปปั้นลุงนวมทอง เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ สันติวิธี และผู้พิสูจน์อุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นโจทย์ท้าทายความเคลื่อนไหวหลังเหตุการณ์เมษา-พฤษภา กรณีสันติวิธีไทยในปัจจุบัน
ส่วนประเด็นหลังเหตุการณ์เมษา-พฤษภา ซึ่งผู้เขียน ก็มีโอกาสไปกรุงเทพฯ สังเกตการณ์ช่วงเดือนเมษายน และหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ก็มีโอกาสที่พวกผู้เขียน ได้รับฟังข้อมูลจากมุมมองของคนภายในขบวนการ คือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที หลังจากภาวะฝุ่นตลบแล้ว ทั้งสถานการณ์ในการรับรู้เรื่องแกนนำ และรูปปั้นลุงนวมทอง โดยผู้เขียนขอกล่าวย่อๆ ในแง่มุมดังกล่าว เป็นต้น โดยประเด็นเพิ่มเติมต่อสถานการณ์การเมืองไทยที่ผ่านมา ในมุมมองของธงชัย วินิจจะกูล ที่มองการเมืองในฐานะของประชาธิปไตยและความใกล้ชิดของสันติ อหิงสาของไทย โดยแนวคิดและชื่อของคน ผู้นำความคิดใช้สันติ อหิงสา ใกล้ชิดผูกผันกับศาสนา โดยข้อเสนอของธงชัย ล่าสุดในวารสารอ่าน (8) ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า ทำให้ผู้เขียนคิดถึงสื่อมวลชน กับการเปิดพื้นที่สื่อสารให้คนรุ่นใหม่ แสดงออกสันติวิธีกับรูปปั้นลุงนวมทอง เป็นสัญลักษณ์สันติวิธีมากขึ้น

พวกเราจะตัดสิน(ใจ)ให้ความยุติธรรมต่อคนที่ใช้สันติวิธี ทำให้มีพื้นที่ในแผ่นดินไทย เนื่องจากเหตุการณ์ของลุงนวมทอง จนกระทั่ง ลุงนวมทองกลายเป็นรูปปั้นลุงนวมทอง และเหตุการณ์เมษา-พฤษภา เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสันติวิธี เพราะนักสันติวิธี และ นักประชาธิปไตย จะตอบคำถามได้อย่างไร? โดยยกตัวอย่างของผู้เขียนจากคิดตั้งคำถาม คือ ถ้าพวกเขาถูกถามว่า รัฐฆ่าผู้ก่อการร้าย ถูกต้องไหม? โดยถ้าพวกเขา คิดโดยตรรกะของเหตุผล ซึ่งยอมรับว่าธรรมชาติของคนไม่ฆ่าคน จะยอมรับอย่างไร? และพวกเขา ก็ต้องตอบว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่สันติวิธีอย่างที่นิยามไว้ เพราะพวกเขาใช้อาวุธ

จึงเกิดคำถามต่อว่า พวกเขาเหมาะสมที่ควรถูกฆ่าหรือ? และถ้าคนเสื้อแดง ตั้งคำถามต่อว่าทำไมต้องยิงประชาชนที่ไม่ใช้อาวุธในเขตวัดปทุมฯ ? และคำถามอันเป็นปัญหาประการต่อมา ในแง่การนิยามสันติวิธีแคบๆ ทำให้ลุงนวมทอง ก็ไม่ใช่สันติวิธีแบบนั่งสมาธิอดข้าวประท้วง แน่นอน คำตอบต่อความสนใจของปัจเจกบุคคลของนักสันติวิธี ซึ่งสนใจต่อเหตุการณ์นี้ อาจจะแตกต่างกัน ซึ่งพวกผู้เขียน ขอเล่าโดยย่อก็ได้มีโอกาสสนทนากับนารี เจริญผลพิริยะ ณ สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพของมหาวิทยาลัยพายัพ ต่อกรณีรูปปั้นลุงนวมทอง และเหตุการณ์ภายในวัดปทุมฯ จากภายในมุมมองของนารี ซึ่งเล่าว่าได้เห็นรูปปั้นและถ่ายรูปตอนทหารยกรูปปั้นหายไป เป็นต้น

ส่วนปัญหาของสิ่งที่สำคัญ โจทย์ท้าทายการแสวงหาอิสรภาพของความคิดในการเปิดพื้นที่ส่วนร่วมอันหลากหลาย เพื่อสร้างกรอบคิดในสันติวิธี สำหรับประเด็นของเนื้อหาเพื่อกำหนดรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบสันติแนวใหม่ จากปัญหาข้อจำกัดเดิมก็น่าสนใจมาก และการตัดสินใจในการสลายการชุมนุมของการเคลื่อนไหว จากการจัดการเวที จนกระทั่งหลังปัญหาเรื่อง Road Map ซึ่งแค่คนเดียวคิดก็ไม่ง่าย เมื่อตอนเกิดเหตุการณ์นั้น โดยประสบการณ์ของพวกเราในเชียงใหม่รวมกลุ่มเคลื่อนไหว ก็คิดต่อคำถามในประเด็นการประกาศสลายการชุมนุมต่อหลายแง่มุม ซึ่งมุมมองต่างๆ จากประสบการณ์ และจินตนาการถึงสลายหรือไม่สลาย ก็ไม่ง่ายเป็นตัวอย่างให้พวกเราตั้งคำถามและคำตอบกันเอง จึงเป็นประเด็นการสลายการชุมนุมอย่างสันติวิธี ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายได้ไง ในเมื่อเสื้อแดงถูกป้ายสีให้ถูกฆ่าตาย

โดยการโจมตีของศอฉ.และสื่อมวลชน อันเสื่อมจริยธรรม ศีลธรรมอันดี ในการไม่เข่นฆ่ามนุษย์กันอง ทำให้พวกเสื้อแดงโกรธแค้นเผาเมืองกรุงเทพฯ รวมทั้งต่างจังหวัด และคำถามที่พวกเรารู้แก่ใจว่า รัฐกำลังสร้างสิ่งทีทำให้พวกเขากลายเป็นพวกผู้ก่อการร้าย และทำให้ประเทศไทยแบ่งแยกกันไป โดยรัฐจงอย่าทำร้าย แลัวทำให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติ ไม่มีแผ่นดินอยู่ในประเทศไทย โดยการสร้างแผนที่ของสายตา (the creation of a Visual Map) ร่วมมองเห็นความจริงให้คนไทยร่วมคิดอย่างสร้างสรรค์เป็นแผนที่ทางออกของชุมชนจินตกรรมใกล้ชิดประชาธิปไตยร่วมกันในแผ่นดินเดียวกันของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนต้องการเน้นย้ำชี้ให้เห็นเรื่องธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงจากการเห็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ และการสร้างธรรมชาติประชาธิปไตย ในแผ่นดินไทย ซึ่งธรรมชาติในฐานะทางประวัติศาสตร์ ที่มีประชาธิปไตยไทยยังปลูกสร้างไม่เต็มใบ โดยพวกเรา ก็เห็นความเสื่อมสลายหายไปของระยะเวลาในอดีตของความนิยมชมชอบการเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการแบบสฤษดิ์ จากข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสร้างธรรมชาติประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคต่อมา หลัง 14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519 บางด้านเป็นสิ่งที่ประชาธิปไตยสร้างไม่เสร็จ หรือการเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยผู้เขียนยังไม่ได้อธิบายตัวงานศิลปะของรูปปั้นลุงนวมทองอย่างยาวนัก แต่ผู้เขียนจะอธิบายสั้นๆ โดยรูปปั้นของสามัญชน คนธรรมดาเป็นลักษณะกายภาพร่างกายดูเข้มแข็ง คล้ายแนวคิดรูปแบบศิลปะสัจนิยม รับใช้มวลชนในสังคมของชุมชนจินตกรรม โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นตัวแทนของจิตสำนึกในการสร้างสรรค์ หรือศิลปะสมัยใหม่ ต่างๆนานา

แต่ว่าผู้เขียน คิดว่า เสื้อแดงทุกคน ก็คงมีความต้องการเน้นชัดในเรื่องการลุกขึ้นสู้โดยไม่ใช่พ่ายแพ้แบบเดิม และการต่อสู้ต้องไม่สิ้นหวัง โดยยึดมั่นแนวทางสันติวิธีเชิงสัญลักษณ์ลุงนวมทอง ก็น่าสนใจมากต่อสื่อมวลชน เช่น สมมติจัดงานวาดรูปลุงนวมทอง หรือจัดงานปั้นรูปปั้นลุงนวมทอง เพื่อความเคลื่อนไหวของมวลชนในทุกจังหวัดเพื่อให้ยกเลิกพรก.ฉุกเฉินฯในกรุงเทพฯ แม้ว่าปรากฏบทความข้อถกเถียงเรื่องแกนนำพวกเราเห็นกันมาพอสมควร จากบทเรียนเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วย กับคนที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเขียนเรื่องกรณีหาคนรับผิดชอบต่อคนตาย และนักข่าวต่างชาติ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อผู้เขียนสร้างขอบเขตจำกัดของกรอบภาพเหมือนโครงเรื่องโดยผู้เขียน

เพราะว่าคนเรามีมุมมองของแต่ละคน และผู้เขียนเคยเขียนถึงการเคลื่อนไหว 26 มีนา 52 (9) ต่อมาอย่างที่พวกเรารู้ว่าผลลัพธ์ คือ เมษา 52 แล้วผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่า จากการเปรียบเทียบสองเหตุการณ์เมษา 52 และเมษา-พฤษภา 53 ที่มีการเริ่มต้นเคลื่อนไหวแนวสันติโดยจุดเริ่มต้นวันที่ 12 มีนา 53 ในอดีตเป็นวันที่คานธี เริ่มเดินทางไกลเพื่อประท้วงเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และพวกแกนนำ ก็พยายามชูสันติวิธีเท่าที่ทำได้ แต่พวกเราก็ยังต้องจากจุดเริ่มต้นเดินทางไกลสู่ประชาธิปไตย และแนวทางในปัจจุบันของสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นแนวแกนนอน และสมยศ พฤษาเกษมสุข จะมีข่าวออกมาเป็นภาพดูไม่ดี เช่น คำนูณ สิทธิสมานระบุในคอลัมน์ นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการ ชี้การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของ “สมบัติ บุญงามอนงค์” อันตรายกว่าการต่อสู้แบบใช้ความรุนแรง (10) หรือเสื้อแดงไม่ยอมจบพร้อมพลีชีพ-ป่วนเมือง…และนายสมยศกล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมคนเสื้อแดงส่งท้ายเดือนต.ค. ได้กำหนดให้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวในวันที่ 31 ต.ค.ที่หน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยจะนำรูปปั้นนายนวมทอง ไพรวัลย์ ที่ประกาศสละชีพเพื่อประชาธิปไตยเพื่อให้คนไทยไม่ลืมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ (11)

และแล้วความเคลื่อนไหวจะกลับมาอีกครั้ง ยังไม่จบ ในท้ายที่สุดของบทความนี้ เมื่อผู้เขียนไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ได้ทั้งหมด ซึ่งพวกเรา อาจจะจำเนื้อหาไม่ได้ทั้งหมด สิ่งสำคัญเพียงพวกเราจำได้ว่ารู้สึกเจ็บปวดก็เพียงพอโดยผู้เขียนไม่ได้มองโลกแง่ร้าย หรือ สร้างคำคมๆ ชวนให้ระลึกถึงว่าประชาธิปไตยไทยกำลังไปสู่ลักษณะน้ำท่วมป่าช้า แต่ว่าผู้เขียนขอเลือกให้เป็นความหวังในทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทายโดยจบลงที่ความสวยงามของความทรงจำของบทกวี"ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย" (12)

ขึ้นรูปลุงนวมทอง ผู้กล้าท่องถนนเถื่อน
กี่วัน กี่ปี เดือน ยังเหมือนอยู่ให้รู้เห็น
สงครามของคนไพร่ ผองเพื่อนไทยผู้ลำเค็ญ
ลุกฮือเพราะจำเป็น เขาไม่เห็นเราเป็นคน
ขึ้นรูปลุงนวมทอง ตระกองดินเริ่มตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย





…………………………………..

*หมายเหตุ : จากการอ่านหนังสือดูข้อมูลเอกสาร ต่างๆ ซึ่งงานเขียนจำกัดการอ้างอิง โดยส่วนตัวจริงๆ แล้วผู้เขียนยาวกว่า 6 หน้า A4 แล้วปรากฏว่าผู้เขียนต้องเขียนบทความให้ย่นย่อได้แค่ 4 หน้า ซึ่งผู้เขียนมี 4 มุมมอง แต่ผู้เขียนต้องลดลงเหลือ 3 มุมมอง ก็ยังเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะย่อเหลือ 2 หน้า โดยสาเหตุของความจำเป็น คือ ผู้เขียนตั้งใจย่อสำหรับเผยแพร่เพื่อให้ทันวันที่ 31 ตุลา 53 ในเว็บไซด์

เชิงอรรถ
1.อรรคพล สาตุ้ม ระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในฐานะญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคมhttp://www.prachatai.com/journal/2009/10/26334
2.ผู้เขียนนำแนวคิดในการเขียนโดยที่มาของธงชัย วินิจจะกูล เขียนเรื่องชาติไทย,เมืองไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์ :คำนำ ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาติไทย,เมืองไทย.แบบเรียนและอนุสาวรีย์”และดูเพิ่มเติม อรรคพล สาตุ้ม“24 มิถุนา , 28 กรกฏา,14-6ตุลา,4 ธันวา-10 ธันวา”จากYoung PAD-คนรุ่นใหม่ มุมมองผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมไทย
3.บทกวีแด่รูปปั้น "นวมทอง ไพรวัลย์" โดย "ไม้หนึ่ง ก.กุนที"
วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 18:15:00 น. มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1270033764&grpid=no&catid=02
4.สัมภาษณ์: จอม เพชรประดับ และถ้อยคำสุดท้ายของ "นวมทอง ไพรวัลย์www.prachatai.com/journal/2006/12/10852
5. “แดงไม่กลัวเอดส์!! ปั้นหุ่นลุงนวมทองผสมเลือด จ่อตั้งสี่เสาฯ” โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 เมษายน 2553 16:00 น.http://www2.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9530000045396
6.อรรคพล สาตุ้ม การสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติกับฺBig Cleaning Dayในเดอะเฮด(โปรดรอดูฉบับเต็มยังไม่ได้เผยแพร่)
7.อรรคพล สาตุ้ม เล่าเรื่องเอกสารในวันประกาศเป็นวันชาติอย่างทางการ กับหนังสือมันสมองของหลวงวิจิตรวาทการ
8.ธงชัย วินิจจะกูล ฝุ่นตลบหลังมีคนถูกฆ่าตายตรงราชประสงค์ วารสารอ่านปีที่ 2 ฉบับที่ 4 เมษายน-กันยายน 2553
9.อรรคพล สาตุ้ม 26 มีนา 2520 หรือ 26 มีนา 2552: ผลกระทบของผีเสื้อ-กระแสแดงทั่วแผ่นดิน
10. “คำนูณ” ระบุการต่อสู้ของ “สมบัติ บุญงามอนงค์” อันตรายกว่าใช้ความรุนแรงhttp://www.prachatai.com/journal/2010/10/31430
11.เสื้อแดงไม่ยอมจบพร้อมพลีชีพ-ป่วนเมือง เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม 2553 เวลา 22:00 น.http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=8&contentID=98139
12.บทกวีแด่รูปปั้น "นวมทอง ไพรวัลย์" โดย "ไม้หนึ่ง ก.กุนที"เพิ่งอ้าง

-หมายเหตุ:ที่มาจากประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2010/10/31646

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ "ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์" เนื่องใน "วันครู"

สัมภาษณ์ "ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์" เนื่องใน "วันครู"
Tue, 2010-01-26 21:20
สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้ม
“อรรคพล สาตุ้ม” สัมภาษณ์ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” เนื่องในวันครู 16 ม.ค. โดยชวนสนทนาในเรื่องวัฒนธรรมความรู้ การศึกษา และปัญญาชนไทย และทำไมนักวิชาการจึงสน (และไม่สน) ประชาธิปไตย?
สำหรับศิโรตม์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่องแรงงานวิจารณ์เจ้า และประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา เคยเป็นบรรณาธิการวารสารวิถีทรรศน์ชุดโลกาภิวัตน์ ล่าสุดศิโรตม์เพิ่งแปลหนังสือเรื่อง รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า ปัจจุบันเป็นนักวิชาการรับเชิญที่โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
000
1
“วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยไทยไม่คิดถึงการอยู่ร่วมกันของคณาจารย์และนักศึกษาในฐานะชุมชนทางปัญญา แต่เป็นโครงสร้างลำดับขั้นที่อาจารย์มีสถานะสูงสุด ส่วนชนชั้นในหมู่คณาจารย์จะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกกรณี
อย่าลืมว่าเมืองไทยเรียกการบรรยายว่า “ไปสอน” เรียกนักศึกษาว่า “ลูกศิษย์” เรียกผู้บรรยายว่า “อาจารย์” คำเหล่านี้มีความหมายทางวัฒนธรรมไม่น้อยกว่าความหมายตามตัวอักษร การแทนคำว่า “ไปสอน” ด้วยคำว่า “ไปนำสัมมนา” แทน “ลูกศิษย์” ด้วย “เพื่อนร่วมงาน” หรือแทน “อาจารย์” ด้วย “คุณ” เปลี่ยนลำดับชั้นทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาได้รุนแรงจนไม่มีใครยอมแน่นอน
ประจักษ์พยานของทัศนะบูชาครูจนล้นเกินคือการจำกัดสิทธินักศึกษาในการยืมหนังสือห้องสมุด เราพูดกันมากว่านักศึกษาไม่เข้าห้องสมุด แต่ที่ไม่มีใครพูดคืออาจารย์มีสิทธิยืมหนังสือได้มากและในเวลานานกว่านักศึกษาจนเหลือเชื่อ หลายมหาวิทยาลัยไม่มีระบบให้ผู้ยืมเรียกคืนหนังสือด้วยซ้ำ ผลก็คือโอกาสในการอ่านหนังสือของนักศึกษาถูกพรากไปด้วยข้ออ้างง่ายๆ ว่าถึงอย่างไรนักศึกษาก็ไม่อ่าน คำตอบแบบนี้จะไม่มีทางเกิดได้เลยถ้าเลิกคิดว่าคณาจารย์เข้าถึงตัวบทศักดิ์สิทธิ์ได้เหนือคนปกติ และมองนักศึกษาเป็นสมาชิกชุมชนวิชาการไม่น้อยกว่าบรรดาคณาจารย์”

2
“ควรคลายความวิตกว่ามหาวิทยาลัยและนักวิชาการเป็นพวกหัวนอกในหอคอยงาช้าง เพราะที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยไทยไกลจากความเป็นหอคอยงาช้างสุดกู่ เราไม่เคยสนความรู้ที่ใช้งานและขายไม่ได้ การอุดมศึกษาของไทยเน้นการผลิตความรู้เชิงเทคนิคเพื่อประโยชน์ทางวัตถุที่จับต้องได้ภายใต้วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบศักดินาที่แสนจะเป็นไทยมาโดยตลอด
การผสมผสานความเหลวไหลแบบไทยกับพลังของสถาบันสมัยใหม่เป็นบุคลิกของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน”

3
“นักวิชาการหลายรายทำงานบนโลกทัศน์ตายตัวว่าด้วยความอ่อนแอทางเศรษฐกิจสังคมของชาวนาและทัศนะศักดินาย้อนยุคของคนจนในชนบท งานอย่างสองนคราประชาธิปไตย การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ การเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย หรืองานของรังสรรค์และประเวศหลายชิ้นมีลักษณะคล้ายๆ กันในแง่ที่ถึงที่สุดแล้วมองสังคมไทยสมัยใหม่ผ่านแว่นหลายแบบที่ทำให้เห็นภาพคนจนชนบทเฉพาะด้านการล่มสลายของสังคมชาวนา มองแต่ความจำเป็นที่พวกเขาต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายอุปถัมภ์ของอำนาจท้องถิ่น และถึงที่สุดคือไม่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีวิธีของเขาในการต่อรองกับสังคมสมัยใหม่ต่างๆ นานา
ในมุมนี้ ชาวนาในชนบทต้องมีนายคุ้มหัวไม่ต่างจากไพร่โบราณมีมูลนายต้นสังกัด คนเหล่านี้ตัดสินใจทางการเมืองโดยอิสระไม่ได้ ผู้แทนจากการเลือกตั้งของพวกเขาจึงไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนในความหมายที่แท้จริง
… การมองชาวนาและคนจนชนบทแบบนี้ทำให้คนฝั่งนี้ดีใจแทบคลั่งกับวาทกรรมพระราชอำนาจ รัฐประหาร 19 กันยา รัฐธรรมนูญ 2550 ขบวนการพันธมิตร ตุลาการวิบัติ ฯลฯ พวกเขาจัดวางการเมืองและวาทกรรมหลงยุคนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต้านพลังทุน…”

000
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ที่มา: แฟ้มภาพ a day weekly)

วันครูและปัญญาชนไทย
ในจารีตทางปัญญาของไทย ครูไม่ได้เป็นแค่ผู้รู้ที่พร้อมด้วยศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ ครูไม่ได้หมายถึงแค่ปัจเจกชนที่ร่ำเรียนจนมีคุณวุฒิมีวุฒิบัตรทางการศึกษาเยอะแยะเต็มไปหมด ครูที่เราคาดหวังตามอุดมคติในจารีตแบบนี้คือผู้บรรลุความรู้ชั้นสูงจนมีสัจธรรมสูงสุดในมือ ครูคือปราชญ์ ครูเป็นอภิมนุษย์ที่การมีความรู้แยกไม่ออกจากการมีบุญบารมีบางอย่าง ครูถูกนับถือ หรือจะพูดว่าถูกคาดหวังก็ได้ ว่ามีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป

ยิ่งคิดถึงสังคมก่อนสมัยใหม่ ก็ยิ่งเห็นภาพครูผู้ทรงบารมีมากขึ้น โหราศาสตร์และไสยศาสตร์ซึ่งเป็นความรู้สำคัญของอดีตสังคมจึงบังคับให้ครูมีพรตเหนือมนุษย์ หาไม่แล้ว วิชาความรู้จะหายไป

โปรดอย่าคิดว่าสองเรื่องนี้ไม่ใช่ความรู้และเลอะเทอะเหลวไหล คำนำของรัชกาลที่ 5 ในพระราชพิธีสิบสองเดือนกล่าวไว้ชัดๆ ว่าราชสำนักไทยถือว่าไสยศาสตร์และคติพราหมณ์เป็นส่วนหนึ่งของราชประเพณีมาช้านาน ถึงจะรู้ว่าสองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเลยก็เถอะ

อาจารย์มหาวิทยาลัยมีอาชีพเหมือนครู แต่ไม่มีคุณสมบัติภายในแบบนี้ เราไหว้อาจารย์มหาวิทยาลัยเพราะปริญญาที่คนพวกนี้แบกไว้เหนือเกล้า ไหว้เพราะบรรดาศักดิ์ในสถานศึกษา ไหว้เพราะคุณสมบัตินอกตัวเขา แต่เราไม่ได้ไหว้คุณสมบัติภายในตัวเขาแบบเดียวกับเวลาไหว้ครู

อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกยกย่องในแง่ความเป็นครูคืออาจารย์ที่มีคุณสมบัติภายในบางแบบ นั่นคือสอนศิษย์ให้เป็นคนดี ฝากงาน หาทุนวิจัย ส่งไปเรียนต่อ ช่วยเหลือผู้อื่น เอื้อเฟื้อต่อชุมชน รักความเป็นธรรม ฯลฯ ความซาบซึ้งแบบนี้ทำให้นักศึกษาบางคนเคลิบเคลิ้มขนาดเห็นอาจารย์เป็นผู้ให้กำเนิดอีกราย ที่นับญาติกับอาจารย์ของอาจารย์ว่าเป็นลูกศิษย์หลานศิษย์แบบไทยๆ เลยก็มี

คนที่อึดอัดกับการไหว้ครูในมหาวิทยาลัย ไม่ต้องแปลกใจ พิธีนี้ยักยอกอุดมคติจารีตมาใช้ในสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ ความประดักประเดิดและเข้ากันไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา มีนักศึกษาที่ปกติกี่คนมองอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนครูที่สอนเราสมัยประถมหรือมัธยม

อุดมคติเรื่องครูแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง คตินี้เกี่ยวแน่ถ้าคิดถึงมันในบริบทสังคมที่แบ่งลำดับชั้น ยอมรับความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยที่เห็นว่าผู้น้อยเป็นติ่งของผู้ใหญ่ ไพร่เป็นติ่งของกษัตริย์และมูลนาย และนักวิชาการรุ่นจิ๋วต้องใต้สังกัดนักวิชาการรุ่นใหญ่ ในที่สุดคตินี้แยกไม่ออกกับโลกทัศน์ทางการเมืองหลงยุคแบบศักดินาโบราณ

ทำไมอุดมคติแบบนี้ยืนยงได้? คำตอบคือสังคมมีพิธีกรรมตอกย้ำความสูงส่งของครูไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น พิธีไหว้ครู พิธีครอบครู ฯลฯ ขณะเดียวกัน พิธีนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ว่าครูได้ถ่ายทอดคุณสมบัติภายในบางอย่างให้เรา เรารับคุณสมบัตินี้จากครู เราเป็นส่วนหนึ่งของครูไปตลอดชีวิต เราเป็นหนี้ครูเพราะครูให้ชีวิตที่วิเศษ ครูคือประทีป ครูมีสถานะกึ่งเทพ อวตารอยู่ในเราตลอดเวลา

ถ้าถามว่าตะวันตกไหว้ครูมั้ย เท่าที่รู้คือไม่มี มีการเคารพในฐานะ mentor แต่ไม่ธรรมดาแน่ถ้าใครไหว้ใครเยี่ยงเทพ ครูที่ผมเคารพมากคนนึงคือบาร์บาร่า อันดาย่า เป็นครูที่ดีจนทำให้รู้ว่าอาจารย์ที่ดีต้องเป็นแบบนี้ ความเป็นครูแบบนี้ไม่ได้เกิดจากศีลธรรมส่วนบุคคล แต่จากการอ่านงานทุกบรรทัด ตรวจทุกย่อหน้า ช่วยแก้ทุกข้อความ วิจารณ์แบบช่วยให้เราคิดได้ถี่ถ้วนรอบด้านมากขึ้น ไม่ใช่วิจารณ์เพื่อให้ตัวเองดูมีภูมิ วิจารณ์เพื่อสรุปว่าข้าพเจ้าเท่านั้นที่ฉลาดและรู้มากที่สุด เหมือนที่คนบางจำพวกในบ้านเราเข้าใจว่าคือการวิจารณ์ที่ดี

สำหรับโลกตะวันตก ครูคือปัญญาชน ครูคือวิชาชีพ ความเป็นครูคือการประกอบอาชีพประเภทหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับการมีศีลธรรมพิเศษหรือมีบุญบารมี ครูจึงไม่วิเศษวิโสกว่าอาชีพอื่น และในครูด้วยกันก็ไม่มีวรรณะต่างกันระหว่างครูโรงเรียนอนุบาลกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่มีชนชั้นระหว่างอาจารย์จบปริญญาเอกจากต่างประเทศกับครูประถมที่จบวิทยาลัยการศึกษาธรรมดาๆ

ความเป็นปัญญาชนคืออะไร? ปัญญาชนแบบตะวันตกไม่ใช่คุณสมบัติภายในอย่างเดียว ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของอาชีพ แต่อีกด้าน ก็เป็นเรื่องของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางปัญญา ชุมชนนี้หมายถึงสถาบันการศึกษา หมายถึงกลุ่มนักอ่าน หมายถึงห้องสมุด หมายถึงการทำงานเผยแพร่ความคิด หมายถึงการค้นคว้าและเขียน หมายถึงการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ หมายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียงทั้งวงกว้างและแคบในเรื่องที่ตัวเองสนใจ

ฟังเหมือนปัญญาชนไม่ต้องมีศีลธรรม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ความเป็นปัญญาชนในโลกตะวันตกแยกไม่ออกกับศีลธรรมในความหมายของสถาบันศาสนา สถาบันวิชาการมหาศาลเกิดจากศาสนิกชนเพื่อเผยแพร่ศาสนา การศึกษาสมัยใหม่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันภูมิปัญญาแบบเทววิทยาตั้งแต่แรก แต่พอนานเข้าก็แยกทางกัน สู้กัน บางแห่งก็เดินเป็นเส้นขนานกันอย่างสิ้นเชิง บางแห่งก็ถือเป็นกิจกรรมทางโลกที่ศาสนิกชนสนับสนุนโดยสถานศึกษาไม่มีภารกิจเผยแพร่ศาสนาอีกต่อไป

มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนใหญ่ๆ ในโลกเยอะแยะที่ศาสนจักรก่อตั้ง แต่ทุกวันนี้มีการสอนศาสนาอยู่นิดเดียว หรือหลายที่ก็ไม่มีเลย และที่มีก็ไม่ได้สอนการบำเพ็ญภาวนาหรือปลูกฝังศีลธรรมตามหลักศาสนา แต่เป็นการเรียนในแง่เทววิทยา

สถานศึกษาในโลกตะวันตกเป็นเรื่องการครอบงำแน่ แต่วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองก็มีฐานที่เข้มแข็งด้วย ความรู้ที่ตั้งคำถามกับความรู้เก่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความรู้อย่างแยกกันแทบไม่ได้ แนวคิดที่ตั้งคำถามกับปัญญาชนและระบบการศึกษามีเยอะแยะเต็มไปหมด คำว่าปัญญาชนสำหรับนักคิดหลายคนแล้วชักชวนให้หันหลังให้ความเป็นปัญญาชนด้วยซ้ำไป

มาร์กซ์พูดมานานแล้วว่าปัญญาชนเป็นโครงสร้างส่วนบนที่เผยแพร่อุดมการณ์เพื่อการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้น กรัมชี่บอกว่าปัญญาชนทำให้เกิดสามัญสำนึกว่าการขูดรีดในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติ อัลธูแซร์มองสถานศึกษาและสถานทางปัญญาเกือบทั้งหมดในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ ปัญญาชนทำหน้าที่เดียวกับทหารและตำรวจ แต่คนละเฉดคนละมุม แนวคิดเรื่องวาทกรรมของฟูโกต์ก็ชี้ให้เห็นอันตรายของวาทกรรมที่ปัญญาชนบางประเภทสร้างขึ้น นักคิดแนวหลังอาณานิคมอย่างซาอิดและคนอื่นๆ เห็นว่าสภาพจิตแบบอาณานิคมนั้นเกี่ยวแน่กับความรู้ที่ปัญญาชนสร้างขึ้น มีการศึกษาภาพถ่าย ดนตรี หนัง ฯลฯ เต็มไปหมดที่ชี้ว่าปัญญาชนสร้างระบอบความรู้ที่อันตราย

สรุปให้สั้นก็คือเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะเกิดการโจมตีว่าแท้จริงแล้วปัญญาชนเป็นตัวการตอกตรึงผู้คนให้อยู่ในโครงข่ายอำนาจตลอดเวลา
ถ้ามองวัฒนธรรมครูในมุมนี้ ปัญญาชนไทยนั้นแสนจะเป็นไทยมากกว่าที่ตัวเองคิด ปัญญาชนแนวจารีตนั้นไม่ปฏิเสธความเป็นไทยของตัวเองแน่ๆ ส่วนปัญญาชนแนววิพากษ์ก็เสพติดคติบูชาครูไม่ต่างกัน ครูพูดเรื่องมาร์กซ์อย่างไร ก็ว่าตามนั้น เขาสอนฟูโกต์แบบไหน ก็จำมันแบบนั้น เขาวิจารณ์สถาบันแบบไหน เราก็สูดคำวิจารณ์นั้นเข้าไปเต็มปอด เขาตั้งคำถามกับใคร เราก็ตั้งคำถามทำนองเดียวกัน กลายเป็นวิพากษ์วิจารณ์โลกได้ทั้งโลกเพื่อกราบครูบาอาจารย์ไว้เหนือหัวตลอดเวลา

อย่าไปห่วงเรื่องปัญญาชนหรือนักวิชาการจะไม่มีความเป็นไทย ทุกคนเป็นไทยทั้งนั้น เหตุผลคือไม่มีใครหรอกที่ไม่อยากมีครู ครูในอุดมคติแบบนี้ไม่ใช่เป็นแค่สถานภาพทางศีลธรรม แต่ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ในวงวิชาการไม่น้อย สัมพันธภาพกับครูบางลักษณะจึงยังให้เกิดสถานะพิเศษทางศีลธรรม สัมมาชีพ และเศรษฐทรัพย์ ได้ตลอดเวลา

อุดมศึกษาของไทย
กำเนิดของสถาบันอุดมศึกษาไทยกับตะวันตกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรื่องนี้สำคัญมากต่อการทำความเข้าใจบุคลิกของการศึกษาและปัญญาชนนักวิชาการไทย
กล่าวโดยย่อแล้ว การศึกษาในโลกตะวันตกในความหมายกว้างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยรัฐ เหตุผลทางการเมืองสมัยใหม่ สถานศึกษาไม่ใช่สถานที่สาธารณะ และการศึกษาก็ไม่ใช่สาธารณกิจ ในทางตรงกันข้าม การศึกษาเป็นเรื่องของผู้มีอันจะกิน คนกลุ่มนี้รุ่มรวยจนไม่ผิดปกติที่จะศึกษาเพื่อแสงสว่างทางปัญญาล้วนๆ วิชาความรู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษาตะวันตกตั้งแต่ต้นคือปรัชญา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ เทววิทยา วรรณคดี อีกนัยคือวิชาที่เน้นแสวงหาพุทธิปัญญาโดยไม่สนใจอรรถประโยชน์ของความรู้โดยตรง

ความร่ำรวยของการศึกษาตะวันตกทำให้สถานศึกษาเป็น “หอคอยงาช้าง” ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรที่น่าภาคภูมิใจโดยแท้ คือเป็นชุมชนของชนผู้รักในความรู้ซึ่งไม่จำเป็นต้องตอบคำถามว่าจะเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร

การศึกษาสมัยใหม่ของไทยไม่มีประวัติแบบนี้ ของอีกหลายประเทศที่ภาษาอาณานิคมเรียกง่ายๆ ว่า “โลกที่สาม” ส่วนใหญ่ก็เช่นกัน ในด้านหนึ่ง ประเทศกลุ่มนี้ยากไร้จนลงทุนกับการเรียนสาขาที่ “ไม่จำเป็น” ไม่ได้แน่ๆ การศึกษาในสังคมแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐในความหมายแคบ การศึกษาเกิดขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรแบบที่ชนชั้นปกครองเห็นว่าจำเป็น ส่วนการอุดมศึกษาก็ยิ่งชัดว่าเกิดเพื่อผลิตข้าราชบริพารและมหาดเล็กมาตั้งแต่ต้น จากนั้นก็คือเป็นโรงเรียนผลิตข้าราชการ ผลิตนักเทคนิคเพื่อการ “พัฒนา” ประเทศ และท้ายที่สุดก็คือการผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับตลาดและวิชาชีพที่สังคมทุนนิยมต้องการ

งานเขียนเรื่องปฏิรูปการศึกษาของอ.เสน่ห์ จามริก อ้างเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีบ่อยมากเรื่องการศึกษาเพื่อให้ทุกคนเป็นคนเท่ากัน แต่ความเท่ากันในที่นี้หมายถึงการเป็นพลเมืองของรัฐอย่างเซื่องๆ คนเท่ากันได้ในความหมายที่ทุกคนเป็นกำลังแรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์เพื่อราชการและตลาดทุนนิยม ไม่ใช่เท่ากันในฐานะความเท่าเทียมทางการเมือง

ชนชั้นปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาในแง่อรรถประโยชน์และวิชาชีพมาโดยตลอด สาขาวิชาที่ท่านชายและราชนิกูลในอดีตนิยมไปเรียนในต่างประเทศคือวิศวกรรม การทหาร และการแพทย์
มีน้อยมากที่จะเรียนทางละคร ภาษา หรือปรัชญา คณะที่มีการเรียนการสอนเป็นแห่งแรกๆ ในประเทศไทยคือนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพราะสองคณะสร้างคนไปปกครองท้องถิ่นและประชาชนในนามรัฐบาลกลาง สร้างข้าราชการมหาดไทย ผู้พิพากษา ตำรวจ ฯลฯ จะเป็นรัฐบาลของกษัตริย์หรือรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญก็ตาม

คณะที่เก่าแก่ไล่เลี่ยกันคือคณะอย่างเศรษฐศาสตร์ และบัญชี สองสาขานี้เป็นวิชาชีพสำหรับสังคมสมัยใหม่โดยแท้ แพทยศาสตร์ก็เช่นกัน โรงเรียนแพทย์ยุคต้นเกิดเพื่อบริการผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่คือชนชั้นสูงในกรุงเทพชั้นใน ในทางกลับกัน การเรียนปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดี คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ฯลฯ ไม่เคยเป็นเรื่องสำคัญในการอุดมศึกษาไทย รวมทั้งในโลกทัศน์ที่คนไทยมีต่อการศึกษาเอง

เมื่อเป็นแบบนี้นานเข้า วิชาอย่างประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์ก็มีสภาพใกล้ตาย หลายมหาวิทยาลัยพูดถึงการยุบภาควิชาประเภทนี้ มีนักศึกษาระดับหัวกะทิน้อยมากที่เลือกเรียนสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ขณะที่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เป็นคณะคะแนนต่ำสุดในสายวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานาน

กรณีวิทยาศาสตร์นั้นน่าสนใจ เพื่อนที่นับถือคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเป้าหมายของการตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คือการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ รัฐบาลทุ่มงบไปมากมายก็เพราะเหตุนี้ แต่พอเปิดโรงเรียนไปสักพัก เด็กกลับไปสอบเข้าหมอเข้าวิศวะไปหมด กลายเป็นว่าการสร้างโรงเรียนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ แต่ไปสร้างลูกจ้างให้โรงพยาบาลเอกชนกับโรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียนกลายเป็นเตรียมอุดมหรือสวนกุหลาบแห่งใหม่โดยปริยาย

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ควรได้เครดิตจากคำพูดที่พูดไว้เป็นเวลาสิบปีๆ แล้วถึงการขาดความเป็นเลิศทางวิชาการและลักษณะลุ่มหลงในเทคนิควิทยาของการอุดมศึกษาไทย แต่นอกจากประเด็นนี้ อุดมศึกษาไทยยังมีปัญหาเรื่องอื่นด้วย นั่นคือทัศนะที่มีต่อตัวการศึกษาเอง

การศึกษาไทยยุคก่อนสมัยใหม่คือการศึกษาแบบพระ จริงอยู่ว่านี่ไม่ใช่ฐานของการศึกษาสมัยใหม่ในปัจจุบัน แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบโบราณมีผลต่อการศึกษาสมัยใหม่มากกว่าที่เราคิด นั่นคือวัฒนธรรมการเรียนที่เน้นความสำคัญของการรู้ตัวบทศักดิ์สิทธิ์เพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุด รู้พระไตรปิฎก อ่านบาลี อ่านชาดก อ่านพระเวท อ่านคัมภีร์โบราณ ฯลฯ เพื่อเข้าใจ “จักรวาลวิทยา” ของความจริงทั้งหมดที่คัมภีร์เขียนไว้เป็นกุญแจไขโลกความรู้ของเรา

วัฒนธรรมความรู้แบบนี้อ่อนแอลงหรือไม่ในระบบมหาวิทยาลัย? คำตอบคือมีบ้าง แต่ไม่มากนัก
ประเด็นสำคัญคือราชบัณฑิตโบราณสร้างเขตอำนาจของตัวด้วยวิธีผูกขาดการเข้าถึงตัวบทมาโดยตลอด ความรู้ถ่ายทอดโดยการสอนตัวต่อตัวและรุ่นต่อรุ่น การอ่านไม่ใช่ส่วนสำคัญในระบบการศึกษาไทย แต่คือการสอนและฟังคำบรรยายให้ครบถ้วนต่างหาก วัฒนธรรมนี้แทบไม่เปลี่ยนในสมัยนี้ แม้การเข้าถึงความรู้จะง่ายขึ้นโดยการพิมพ์และวิทยาการสมัยใหม่ แต่การอ่านก็ไม่ใช่หัวใจของวิธีแสวงความรู้แบบไทยอยู่ดี ทัศนะคติว่าครูบาอาจารย์คือผู้ทรงภูมิธรรมไม่เคยจางหายไป อาจเปลี่ยนรูปไปบ้าง แต่ไม่เสื่อมคลายนักจากเดิม
วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยไทยไม่คิดถึงการอยู่ร่วมกันของคณาจารย์และนักศึกษาในฐานะชุมชนทางปัญญา แต่เป็นโครงสร้างลำดับขั้นที่อาจารย์มีสถานะสูงสุด ส่วนชนชั้นในหมู่คณาจารย์จะเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกกรณี
อย่าลืมว่าเมืองไทยเรียกการบรรยายว่า “ไปสอน” เรียกนักศึกษาว่า “ลูกศิษย์” เรียกผู้บรรยายว่า “อาจารย์” คำเหล่านี้มีความหมายทางวัฒนธรรมไม่น้อยกว่าความหมายตามตัวอักษร การแทนคำว่า “ไปสอน” ด้วยคำว่า “ไปนำสัมมนา” แทน “ลูกศิษย์” ด้วย “เพื่อนร่วมงาน” หรือแทน “อาจารย์” ด้วย “คุณ” เปลี่ยนลำดับชั้นทางวัฒนธรรมในสถานศึกษาได้รุนแรงจนไม่มีใครยอมแน่นอน

ประจักษ์พยานของทัศนะบูชาครูจนล้นเกินคือการจำกัดสิทธินักศึกษาในการยืมหนังสือห้องสมุด เราพูดกันมากว่านักศึกษาไม่เข้าห้องสมุด แต่ที่ไม่มีใครพูดคืออาจารย์มีสิทธิยืมหนังสือได้มากและในเวลานานกว่านักศึกษาจนเหลือเชื่อ หลายมหาวิทยาลัยไม่มีระบบให้ผู้ยืมเรียกคืนหนังสือด้วยซ้ำ ผลก็คือโอกาสในการอ่านหนังสือของนักศึกษาถูกพรากไปด้วยข้ออ้างง่ายๆ ว่าถึงอย่างไรนักศึกษาก็ไม่อ่าน คำตอบแบบนี้จะไม่มีทางเกิดได้เลยถ้าเลิกคิดว่าคณาจารย์เข้าถึงตัวบทศักดิ์สิทธิ์ได้เหนือคนปกติ และมองนักศึกษาเป็นสมาชิกชุมชนวิชาการไม่น้อยกว่าบรรดาคณาจารย์

ควรคลายความวิตกว่ามหาวิทยาลัยและนักวิชาการเป็นพวกหัวนอกในหอคอยงาช้าง เพราะที่จริงแล้ว มหาวิทยาลัยไทยไกลจากความเป็นหอคอยงาช้างสุดกู่ เราไม่เคยสนความรู้ที่ใช้งานและขายไม่ได้ การอุดมศึกษาของไทยเน้นการผลิตความรู้เชิงเทคนิคเพื่อประโยชน์ทางวัตถุที่จับต้องได้ภายใต้วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบศักดินาที่แสนจะเป็นไทยมาโดยตลอด
การผสมผสานความเหลวไหลแบบไทยกับพลังของสถาบันสมัยใหม่เป็นบุคลิกของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน

การศึกษากับประชาธิปไตย
ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องการศึกษากับประชาธิปไตยคือการศึกษาไทยสร้างประชาธิปไตยได้แค่ไหน และองค์ความรู้ของนักวิชาการเอื้อต่อประชาธิปไตยอย่างไร ประเด็นแรกสำคัญแต่ตอบให้ดีได้ยาก จนไม่อยากตอบในตอนนี้ ประเด็นที่สองสำคัญและอยู่ในวิสัยที่จะตอบได้ในปัจจุบัน

เราทุกคนรู้ว่ารัฐประหาร 19 กันยา ทำให้นักวิชาการฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโจมตีอีกฝ่ายว่าเป็นพวกรับใช้เผด็จการ ไม่เข้าใจประชาธิปไตย ได้ประโยชน์จากรัฐประหาร ฯลฯ คำโจมตีนี้ถูกต้องแน่ แต่ก็น่าสงสัยว่าเป็นคำอธิบายที่รอบด้านจริงหรือ ปัญญาชนที่เชียร์ คมช. และคลั่งพระราชอำนาจหลายคนไม่ได้ตำแหน่งอะไร คำอธิบายเรื่องความไม่เข้าใจประชาธิปไตยน่าจะใช้ไม่ได้กับบางคนในกลุ่มนี้ที่ศึกษาประชาธิปไตยเป็นงานหลักด้วยซ้ำ
สำหรับคนกลุ่มนี้ ท่าทีการเมืองช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากปัจจัยอัตวิสัย ในทางตรงข้าม พวกเขาหันหลังให้ประชาธิปไตยเพราะความรู้เรื่องการเมืองไทยบางแบบ ในแง่นี้ เผด็จการแบบไทยใต้เสื้อคลุมวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นผลผลิตของความเข้าใจสังคมและการเมืองไทยที่มีลักษณะทางประวัติศาสตร์อย่างน้อยสี่เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก นักวิชาการหลายรายทำงานบนโลกทัศน์ตายตัวว่าด้วยความอ่อนแอทางเศรษฐกิจสังคมของชาวนาและทัศนะศักดินาย้อนยุคของคนจนในชนบท งานอย่างสองนคราประชาธิปไตย การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ การเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย หรืองานของรังสรรค์และประเวศหลายชิ้นมีลักษณะคล้ายๆ กันในแง่ที่ถึงที่สุดแล้วมองสังคมไทยสมัยใหม่ผ่านแว่นหลายแบบที่ทำให้เห็นภาพคนจนชนบทเฉพาะด้านการล่มสลายของสังคมชาวนา มองแต่ความจำเป็นที่พวกเขาต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายอุปถัมภ์ของอำนาจท้องถิ่น และถึงที่สุดคือไม่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีวิธีของเขาในการต่อรองกับสังคมสมัยใหม่ต่างๆ นานา

ในมุมนี้ ชาวนาในชนบทต้องมีนายคุ้มหัวไม่ต่างจากไพร่โบราณมีมูลนายต้นสังกัด คนเหล่านี้ตัดสินใจทางการเมืองโดยอิสระไม่ได้ ผู้แทนจากการเลือกตั้งของพวกเขาจึงไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนในความหมายที่แท้จริง

มีคำอธิบายหลายแบบว่าทำไมปัญญาชนนักวิชาการคิดแบบนี้ นักวิชาการสังคมศาสตร์จำนวนมากรับทฤษฎีระบบอุปถัมภ์ของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาชุมชนหมู่บ้านไทยตั้งแต่ทศวรรษ 1960 มาใช้อย่างไม่แยกแยะ ไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่านักวิชาการตั้งคำถามถึงการเมืองของทฤษฎีนี้ขนาดไหน ไม่ว่าจะที่ถามโดยนักวิชาการฝรั่ง หรือโดยนักวิชาการไทยรุ่นก่อนสิบสี่ตุลา อย่างวารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ หรือฉลาดชาย รมิตานนท์ ซึ่งเขียนเรื่องนี้ไว้มากมาย

ความคิดที่ไม่ใช่ทฤษฎีวิชาการนัก แต่มีอิทธิพลกับปัญญาชนสูงอย่างความคิดชุมชนนิยม หรือแนวคิดเอนจีโอที่มองชาวนาตามทฤษฎีนารอดนิคอย่างอ้อมๆ ก็มองชาวนาและคนชนบทไม่ต่างจากนี้ ดูเผินๆ แล้วสองแนวคิดเชื่อมั่นในศักยภาพของชนบท แต่แท้จริงแล้วมีสมมติฐานเหมือนกับกลุ่มแรก นั่นคือชาวนาและคนจนชนบทไม่สามารถคิดวิธีต่อรองกับอำนาจรัฐและทุนนิยมด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องรวมความเคลื่อนไหวเพื่อประกอบสร้างความเป็นชุมชน หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักพัฒนาเอกชนเพื่อป้องกันภัยคุกคามของระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่นและทุนเอกชน

การมองชาวนาและคนจนชนบทแบบนี้ทำให้คนฝั่งนี้ดีใจแทบคลั่งกับวาทกรรมพระราชอำนาจ รัฐประหาร 19 กันยา รัฐธรรมนูญ 2550 ขบวนการพันธมิตร ตุลาการวิบัติ ฯลฯ พวกเขาจัดวางการเมืองและวาทกรรมหลงยุคนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต้านพลังทุน เหมือนกับรสนา โตสิตระกูล ที่พูดเต็มปากเต็มคำว่า “พี่รับรัฐประหาร 19 กันยานี้ได้ เพราะเป็นรัฐประหารต้านทุนนิยม”

เรื่องที่สอง ปัญญาชนจำนวนมากปฏิเสธการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ รวมทั้งผลที่ความเปลี่ยนแปลงนี้มีต่อความเข้าใจการเมือง กล่าวอีกนัยคือการแบ่งแยกระหว่างปริมณฑลทางเศรษฐกิจกับปริมณฑลทางการเมือง

นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาปฏิเสธการพัฒนา ในทางตรงข้าม ทัศนะต่อการพัฒนาเป็นฐานทางปัญญาฐานหนึ่งของปัญญาชนไทยทุกฝ่าย ปัญหาคือแทบทั้งหมดเห็นการพัฒนาราวกับวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอดีตไปแล้ว ปัญญาชนกระแสหลักพูดถึงการพัฒนาราวยาสารพัดโรค ขณะที่ปัญญาชนทวนกระแสวิจารณ์การพัฒนาเยี่ยงยาพิษ ทั้งสองกลุ่มนี้เหมือนกันคือไม่ค่อยประเมินว่าสังคมไทยในช่วงหลังทศวรรษ 2530 โดยเฉพาะโลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนไปขนาดไหน และความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อความเข้าใจการเมืองอย่างไร
หนึ่งในคนที่อธิบายเรื่องนี้ไว้มากที่สุดคือนักประวัติศาสตร์อย่างนิธิที่ในช่วงทศวรรษ 2530 พูดเรื่องนี้ไว้ในงานหลายชิ้น พูดให้ง่ายที่สุดก็คือทศวรรษนี้เกิดสภาพที่ชนบทซึ่งเคยถูกขูดรีดโดยรัฐราชการเพื่อการพัฒนาเมืองและภาคอุตสาหกรรมตามแบบทุนนิยมสมัยใหม่ กลายเป็นชนบทที่ปรากฏคนกลุ่มใหม่ๆ และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมืองท้องถิ่นหน้าใหม่ที่ต่อรองกับราชการ และแย่งชิงทรัพยากรจากส่วนกลางผ่านการขยายตัวของประชาธิปไตยรัฐสภาในระดับชาติ การปกครองตนเองระดับท้องถิ่น รวมทั้งขบวนการทรัพยากรของชาวบ้านพื้นที่ต่างๆ

นอกจากนิธิแล้ว นักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาหลายรายศึกษาสังคมหมู่บ้านจนพบการแตกตัวทางชนชั้น การเกิดชาวนาไร้ที่ดินและแรงงานรับจ้างภาคเกษตร การโยกย้ายประชากรชนบทสู่เมือง การแบ่งขั้วระหว่างคนในหมู่บ้าน ฯลฯ ซึ่งเปลี่ยนชนบทและสังคมไทยสู่ภูมิประเทศใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม แต่นี่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยาไทย

แน่นอนว่าการพัฒนาทำให้ชาวนาอ่อนแอ แต่ปัญญาชนอคติเองจนไม่เห็นการปรับตัวของภาคชนบทแทบทั้งหมดเพื่อต่อรองกับรัฐและทุนนิยมโดยอาศัยประชาธิปไตยสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ พวกเขารับไม่ได้กับสภาพที่นักการเมืองบ้านนอกคุมการจัดสรรทรัพยากรของชาติระดับต่างๆ พวกเขาดูถูกผู้แทนราษฎรว่าไม่มีการศึกษา ไม่มีชาติตระกูล เป็นเจ๊กบ้านนอก ฯลฯ สร้างวาทกรรมวิชาการโจมตีว่าคนพวกนี้เป็นทุนสามานย์ เป็นนักเลือกตั้ง เป็นการเมืองอุปถัมภ์เจ้าพ่อท้องถิ่น โดยไม่ตระหนักว่านี่คือกระบวนการเปลี่ยนผ่านการเมืองจากอำนาจของระบบราชการครั้งสำคัญ

อคติทางวิชาการย้อนยุคแบบนี้คลอดอวิชชาทางการเมืองที่ปัญญาชนไม่น้อยรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มาพร้อมกับการขยายตัวของประชาธิปไตยไม่ได้ เสี้ยนหาพลังอะไรก็ได้ที่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงนี้ หลายรายหันไปหาวาทกรรมชาตินิยมก่อนที่จะจบด้วยการอัญเชิญตัวเองเป็นไรฝุ่นของอำนาจลายครามจนรักประชาชนถึงขั้นเห็นคนนับล้านเป็นศัตรูในปัจจุบัน

เรื่องที่สาม ปัญญาชนไทยไม่คิดถึงสังคมในฐานะที่เป็นหน่วยในการศึกษาที่สำคัญโดยตัวเอง อันที่จริง พูดให้ถูกกว่าก็คือความคิดว่าสังคมคืออะไร เป็นเรื่องที่แทบไม่ปรากฏในปัญญาชนไทยหลายฝ่ายด้วยซ้ำ ปัญญาชนไทยศึกษาการเมืองหรือเศรษฐกิจเอาไว้มหาศาล ขณะที่งานศึกษาการจัดตั้งทางสังคม ชีวิตทางสังคม ความคิดทางสังคม ประวัติศาสตร์สังคม ฯลฯ มีอยู่หยิบมือเดียว

วงวิชาการไทยเห็นสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ปัญญาชนส่วนมากสนใจความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่วนยอดโดยไม่มองความเคลื่อนไหวมูลฐานในสังคม แม้กระทั่งเรื่องใกล้ตัวและร่วมสมัยอย่างเรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดง การศึกษาพื้นฐานทางสังคมของคนกลุ่มนี้ก็มีน้อยมาก นอกจากงานของพฤกษ์ เถาถวิล กับของนักศึกษาปริญญาเอกปริญญาโทไม่กี่คน

เราไม่มีคนอย่างอีริค ฮอบส์บอว์ม ที่ศึกษาว่าการขยายตัวของทุนนิยมสู่ชนบทเปลี่ยนโลกทรรศน์ชาวนาอังกฤษอย่างไร เราแทบไม่รู้เรื่องการรวมตัวของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม คนจนเมืองและกรรมกรโรงงานห้องแถวเข้าใจตัวเองแบบไหน? อินเตอร์เน็ตสร้างเครือข่ายความคิดใหม่อย่างไร? คนรักเพศเดียวกันมีความคิดทางการเมืองอนุรักษ์หรือเสรีกว่าคนเพศอื่น? แม้กระทั่งชนชั้นสูงที่เชิดชูกันนักหนา ความรู้เรื่องวิถีชีวิต การจัดตั้ง และวงศ์วานว่านเครือ ของคนเหล่านี้ก็มีจำกัดเหลือเกิน

สภาพแบบนี้เกี่ยวแน่กับการที่ปัญญาชนผลิตคำอธิบายการเมืองไทยวนเวียนกับโครงเรื่องไม่กี่ชนิด ผู้มีการศึกษามากรายอธิบายการเมืองลึกซึ้งเท่าสภากาแฟและหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนเหลืองอธิบายแดงว่าถูกทักษิณซื้อ ปัญญาชนแดงมองว่าเหลืองถูกประธานองคมนตรีใช้ ฝ่ายแรกถือว่าทักษิณคือตัวแสดงหลักของการเมืองไทย ฝ่ายหลังว่าคือสถาบัน ทุกฝ่ายคิดว่าความขัดแย้งจะยุติถ้าไม่มีฝ่ายอื่น ส่วนพวกขาวดีแต่เอาคำขวัญเรื่องความสามัคคีแบบทหารมาแพ้คกิ้งว่ารักพ่ออย่าทะเลาะกัน

ในแง่นี้แล้ว ปัญญาชนทุกฝ่ายเหมือนกันตรงที่เชื่อว่าคนไม่เกิน 4-5 คน อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ทางการเมืองในรอบหลายปี ปัญญาชนหมกมุ่นทำให้การเมืองเป็นเรื่องของการวางแผนและการสมคบคิดลับๆ สถานการณ์สลับซับซ้อนในช่วงไม่กี่ปีถูกอธิบายด้วยวิธีคิดซึ่งวิ่งวนรอบทฤษฎี conspiracy ที่ตื้นเขินและไม่ยังให้เกิดปัญญา ทั้งที่มีเรื่องชวนคิดเยอะไปหมด เช่น กระบวนการทางสังคมในการจรรโลงอำนาจของเครือข่ายราชนิกูล แดงขยายตัวอย่างไรในสภาพที่ถูกรัฐปิดกั้นทุกมิติ ฯลฯ

อาจารย์ทามาดะเคยปาฐกถาว่าการเมืองไทยมีปัญหาเพราะชนชั้นนำไม่เข้าใจประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้น ปัญหาหนึ่งของปัญญาชนไทยคือการหันหลังให้สังคมจนปั่นหัวตัวเองเป็นกองโฆษณาชวนเชื่อว่าไม่มีใครรักประชาธิปไตยเท่าชนชั้นนำ ลองอ่านตำราประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยฉบับมาตรฐานหลายเล่มก็จะเห็นประเด็นนี้เอง

เรื่องที่สี่ ความหมกมุ่นกับทฤษฎีอำนาจบริสุทธิ์และความเข้าใจว่าเป้าหมายของประชาธิปไตยคือการสร้างสถาบันการเมืองในฐานะอวตารของอำนาจแบบนี้ จะเรียกอำนาจนี้ว่าอำนาจแบบเทวราชาหรืออะไรก็ตาม ความหมายโดยรวมคือการคิดถึงอำนาจผ่านบุคลิกของอำนาจว่าคือความสุจริต มีศีลธรรม ปราศจากโลภจริต สมถะ บำเพ็ญตบะ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นอำนาจบริสุทธิ์ที่อยู่เหนือผลประโยชน์ทางโลกทุกชนิด ศักดิ์สิทธิ์จนอยู่เหนือบรรทัดฐานทางการเมืองทั้งหมด จึงต้องอ้างอิงอำนาจนี้ในการล้มล้างหรือสถาปนาบรรทัดฐานตลอดเวลา

แน่นอนว่าคติเรื่องอำนาจแบบนี้มาจากการผสมผสานความคิดเรื่องกษัตราธิราชของพุทธเถรวาทกับพราหมณ์-ฮินดู ประชาธิปไตยเป็นส่วนย่อยในจักรวาลวิทยานี้ ทัศนะนี้ยัดเยียดกรอบการคิดว่าประชาธิปไตยคือสถาบันการเมืองซึ่งเฉพาะคนดีเท่านั้นที่สามารถมีอำนาจ ดีในที่นี้พูดให้ชัดคือมีศีลธรรม มีการศึกษา มีเวสสันดรจริต และมีชาติตระกูล ความดีแบบเพ้อเจ้อเลื่อนเปื้อนนี้ดูดสถาบันการเมืองสมัยใหม่ให้อยู่ใต้อุดมการณ์ยุคสังคโลกจนเป็นอวตารของฝ่ายหลังได้อย่างน่ามหัศจรรย์

การดึงประชาธิปไตยออกจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมในแต่ละจังหวะของประวัติศาสตร์คือความสำเร็จครั้งสำคัญของอนุรักษ์นิยมไทย คำอธิบายประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นตัวอย่างของสังวาสข้ามสายพันธุ์ระหว่างอุดมการณ์โบราณกับสถาบันสมัยใหม่ได้ดีที่สุด ปัญญาชนจำนวนมากคิดเรื่องประชาธิปไตยผ่านฉากจบของเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลา และพฤษภา 35 แต่ไม่เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นส่วนยอดของความเปลี่ยนแปลงมูลฐานหลายอย่าง ประชาธิปไตยกลายเป็นสถาบันที่ไม่สัมพันธ์กับชนชั้น การแย่งชิงผลประโยชน์ ลักษณะของรัฐ การจัดพวกทางประวัติศาสตร์ระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ และการช่วงชิงจัดสรรทรัพยากรของสังคม

ในนามของอำนาจบริสุทธิ์ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นการล้มหรือสถาปนาบรรทัดฐานอะไรก็ได้เพื่อต่อชีวิตอุดมการณ์ชราให้เสื่อมสภาพช้าลงไปอีก ไม่ว่ารัฐประหาร ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตุลาการภิวัตน์ หรือตั้งรัฐบาลที่ผู้นำไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชน

อันที่จริง ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของจุดหมาย แต่คือเงื่อนไข ประชาธิปไตยไม่มีความหมายหยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนได้ตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย กรอบกว้างๆ คือการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นภาวะการเมืองแบบเปิดที่คนทุกกลุ่มสู้เพื่อสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ไม่รู้จบ ประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจก ของกลุ่ม ของชนชั้น คือพื้นฐานของประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่อุปสรรค ในทางตรงข้าม การอ้างส่วนรวมในนามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ชาติ ความสงบสุข ความมั่นคง องค์รวม จิตใหญ่ ฯลฯ เป็นฐานสำคัญของวาทกรรมปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่ต้องระวังอันตรายทุกกรณี

สถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยสำคัญเพราะยึดโยงกับเงื่อนไขการเมืองแบบเปิด หาไม่แล้ว สถาบันประชาธิปไตยก็คือผ้าห่อซากอนุรักษ์นิยมอำมาตยาธิปไตย มีนับครั้งไม่ถ้วนที่อำนาจนอกระบบและอำนาจเหนือระบบทรงเครื่องแบบรัฐสภาจนดูเหมือนประชาธิปไตยอยู่ในภาวะปกติ เส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยกับปฏิปักษ์ประชาธิปไตยคือการมีการเมืองแบบเปิดที่ไม่มีคนกลุ่มไหนชี้นำการตัดสินใจทางการเมืองทุกชนิดได้ล่วงหน้าโดยปราศจากการต่อสู้แข่งขันอย่างเท่าเทียมกันระหว่างคนทุกกลุ่มทุกเหล่าทุกชนชั้นในอาณาบริเวณสาธารณะ พรรคการเมืองและรัฐสภาสำคัญต่อประชาธิปไตย แต่การปกครองโดยพรรคการเมืองและรัฐสภาไม่เท่ากับประชาธิปไตยในทุกกรณี

ขอทิ้งท้ายว่าที่กล่าวมานี้ไม่ใช่การปกป้องปัญญาชนฝ่ายต้านประชาธิปไตย แต่คือการชวนให้คิดว่าความไม่เป็นประชาธิปไตยในปัญญาชนมีรากลึกกว่าความไม่เข้าใจหรือการได้ประโยชน์ทางวัตถุอย่างตื้นๆ นี่ไม่ใช่ทางออกของการสร้างประชาธิปไตย แต่คือการตั้งข้อสังเกตว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันถูกกำหนดกรอบโดยวาทกรรมความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์อย่างไร

แน่นอนว่าการสร้างประชาธิปไตยอยู่ในระนาบการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่การต่อสู้ทางความรู้ แต่ความรู้ก็สำคัญมากต่อการทำให้ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพในระยะยาว

ปัญญาชนไม่ใช่ชนชั้น จุดยืนของพวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดโดยลักษณะทางชนชั้นล้วนๆ ปัญญาชนชนชั้นเดียวกันที่คิดเรื่องการเมืองต่างนั้นมีนับไม่ถ้วน ครอบครัวเดียวกันแล้วเห็นต่างกันก็มาก แต่ปัญญาชนก็ไม่ใช่อิสรชนที่ก่อรูปความคิดหรือจุดยืนได้อิสระ ปัญญาชนในความหมายของบุคคลที่กินเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากสถาบันอุดมศึกษานั้น มีชีวิตกับวัฒนธรรมความรู้แบบไทย งานประจำ การประชุม กรอกใบประเมินคุณภาพการศึกษา เป็นกรรมการชุดต่างๆ เขียนแผนพัฒนาโครงการ ถูกนักศึกษาบูชากราบไหว้ สัมพันธ์กับข้าราชการใต้วัฒนธรรมศักดินา อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์กับคณาจารย์อาวุโส ฯลฯ

แบบแผนในชีวิตประจำวันอย่างนี้นี้ทำให้ปัญญาชนนักวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการและวาทกรรมที่มีรากในประวัติศาสตร์มากกว่าที่คิด ทั้งหมดนี้เกี่ยวแน่กับความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยของปัญญาชนไทย
ควรกล่าวด้วยว่าการอุดมศึกษาไทยเปลี่ยนนิดเดียวในช่วงหลังปฏิวัติ 2475 ที่ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อความรู้ใหม่ผ่านการเรียนการสอนหลักรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ บนจุดยืนแบบใหม่ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป การสอนความรู้แบบที่เป็นเรื่องต้องห้ามภายใต้รัฐบาลของกษัตริย์ การเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ การเรียนโดยขายตำราและเอกสารราคาถูกเพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นของนักศึกษาและทุกคนได้จริงๆ ทั้งหมดนี้เปลี่ยนธรรมชาติของสถานอุดมศึกษาแน่ จะแง่ไหนก็เป็นอีกกรณี

แต่อย่างน้อยมันทำให้การเข้ามหาวิทยาลัยไม่ขึ้นอยู่การมีทรัพย์ มีสติปัญญาพิเศษ หรือมีภูมิหลังทางการศึกษาดีเท่านั้นอีกต่อไป
อุดมศึกษาไทยไม่เคยสานต่อสปิริตแบบนี้ เราสอนหลักรัฐธรรมนูญที่ทำลายหลักอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน สอนกฎหมายโดยไม่พูดถึงความคิดเรื่องความยุติธรรม สอนรัฐศาสตร์โดยไม่ยืนยันหลักการเลือกตั้งในฐานะแหล่งที่มาสูงสุดของอำนาจการเมือง สอนเศรษฐศาสตร์โดยหันหลังให้การแก้ความทุกข์ในชีวิตคนส่วนใหญ่ในประเทศ สอนประวัติศาสตร์ที่เหยียดตัวเองเป็นแค่พงศาวดารราชสำนัก สอนภูมิศาสตร์แบบราชอาณาจักร ฯลฯ อุดมศึกษาแออัดไปด้วยความรู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมปฏิปักษ์ประชาธิปไตยและการจรรโลงสถานะอภิสิทธิ์ชนโดยวิธีต่างๆ

แน่นอนว่าการศึกษาทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์จนถูกท้าทายจากพลังตลาดสูงขึ้น และดูเหมือนต้องพึ่งพิงกระฎุมพีระดับล่างมากขึ้นด้วย คำถามคือวาทกรรม วัฒนธรรมความรู้ และความเข้าใจตัวเองของคนกลุ่มต่างๆ จะเปลี่ยนไปแค่ไหนภายใต้ภูมิประเทศแบบใหม่ซึ่งแตกต่างมากจากเดิม?

-หมายเหตุ ที่มาจากประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2010/01/27481

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ ไม้หนึ่ง ก.กุนที : (2) ว่าด้วย SMEs OTOP และการเหวี่ยงกลับของซ้ายเก่า

สัมภาษณ์ ไม้หนึ่ง ก.กุนที : (2) ว่าด้วย SMEs OTOP และการเหวี่ยงกลับของซ้ายเก่า
Fri, 2009-08-14 00:52
สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้ม และ มุทิตา เชื้อชั่ง
ความเดิมตอนที่แล้ว สัมภาษณ์ ไม้หนึ่ง ก.กุนที: (1) ทำไมถึงต้องแดง! บทวิเคราะห์แดง-เหลือง การเมืองเก่า-ใหม่

"ไม่ว่า SMEs OTOP แต่สิ่งที่พวกคุณคุ้นเคยยกตัวอย่างเรื่องไวน์ คุณคุ้นเคยกับการที่ทักษิณทำให้มีไวน์ออกมา 500 ยี่ห้อ ผ่านไป 5 เดือนเหลืออยู่ 5 ยี่ห้อ แม่ง! นโยบายนี้เลว เฮ้ย! คุณวิปริตว่ะ ถ้าเกิดคุณสรุปอย่างนี้ อันนี้คือปรัชญาพื้นฐานของการพัฒนาสังคม ปริมาณไปสู่คุณภาพ ที่สุดตลาดจะเลือกคุณภาพ"
ประชาไท: ถ้าเราพุ่งเป้าว่าการเสียผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นแรงผลักดันที่ทำให้คนออกมา โดยอธิบายมุ่งไปที่นโยบายประชานิยมซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างจิตสำนึกใหม่ๆของประชาชน คำถามคือ รัฐบาลต่อๆ จากทักษิณก็ไม่ได้ล้มประชานิยม สานต่อหลายอย่าง ผลิตใหม่หลายอย่างด้วยซ้ำ

ไม้หนึ่ง: ผมเถียงครับ อันที่จริงที่รัฐบาลเหล่านี้สานต่อหรือที่ทักษิณทำเองก็ยังเป็นที่กังขาว่า คุณทำแบบอาร์เจนติน่าหรือเปล่า ที่สุดคุณทำให้ประชาชนเป็นง่อยหรือเปล่า แต่ในมุมมองของผม ผมเติบโตในครอบครัวชาวนา พอวัยรุ่นครอบครัวชาวนาของผมยกระดับมาเป็นชาวสวน ชาวนาทำเพื่อกิน ชาวสวนทำเพื่อขาย ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ ผมกลายมาเป็นพ่อค้า ผมยกระดับตัวเองมาตลอด แล้วผมก็มีการศึกษาระดับเดียวกับพวกคุณ ผมเห็นหลายสิ่งหลายอย่าง ผมเห็นชีวิตคนที่มันเปลี่ยนไปด้วยทรัพยากร อำนาจ และโอกาส บางครั้งอำนาจกับโอกาส มันเป็นสิ่งเดียวกัน เงินกองทุนหมู่บ้านสองหมื่น ถึงแม้ว่าคนภาคใต้อาจจะเถียงว่าภาคใต้ไม่มีโอเค มันเพิ่งมีมา 6 ปี ต้องขยายเพิ่มด้วย ที่ผ่านมาใช้ฐานความคิดแบบนักการเมืองซึ่งล้าหลังแบบฐานคะแนนกูก็ให้ก่อน แต่คุณจะบอกว่ามันผิดไม่ได้ คุณต้องบอกว่ามันเป็นพลวัต ถ้ามันหมุนไปสู่จุดที่ดีก็ต้องบอกว่ามันถูก แต่ถ้ามันถอยไปสู่การที่แบ่งประเทศ อันนั้นมันก็เลวร้าย

เพราะฉะนั้น เงินสองหมื่นบาทมันทำให้คนเปลี่ยนจากชาวนาโดยไม่ต้องเป็นชาวสวนแบบผม แต่เป็นพ่อค้าบะหมี่ชายสี่ฯ ได้เลย แล้วคุณอาจจะถามผมว่า อ้าว แล้วความพอเพียงล่ะ...ความพอเพียงก็เป็นความลวง ในขณะที่ภววิสัยทางโลกเป็นทุนนิยม เป็นคลื่นกระแสที่เชี่ยวกราก คุณต้องทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน คือ คุณต้องพอเพียงในรสนิยม คุณควรจะมีมือถือในยี่ห้อที่ไม่ต้องใช้เน็ตได้ถ้าคุณเป็นชาวนา หรือว่าบางเงื่อนไขคุณไม่จำเป็นต้องใช้ ทุกอย่างต้องพอเพียงในรสนิยม แต่ในการทำมาหากินต้องสอดรับกับภววิสัยทางโลก

สรุปง่ายๆ ว่า ตอนนี้นักการเมืองเลว ที่สุดวิธีคิดการมองว่าสังคมชั่วร้าย คนยังด่าพ่อค้าคนกลางอยู่เลย ซึ่งมันถูก แต่พ่อค้าคนกลางคือใคร แทบเป็นเครือข่ายของชนชั้นสูงทั้งนั้น แต่ในขณะกระบวนทัศน์ของพรรคไทยรักไทย หรือวิธีคิดของพรรคไทยรักไทยพูดถึง SMEs และ OTOP สิ่งเหล่านั้นอย่าทำเป็นเล่นไป ชาวนาที่มีลูกจบ MBA มันไม่ยากเลยที่เขาจะมาแทรกตัวในการค้าเสรีแล้วส่งข้าวของพ่อเขาเองตามห้าง ทุกคนได้เงินสองหมื่น มีทรัพยากร มีทุน ได้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อการผูกขาดของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง จริงๆ มันก็สรุปไม่ได้ว่าไม่เอื้อ แต่มันส่งเสริมรายย่อย ไม่ว่า SMEs OTOP แต่สิ่งที่พวกคุณคุ้นเคยยกตัวอย่างเรื่องไวน์ คุณคุ้นเคยกับการที่ทักษิณทำให้มีไวน์ออกมา 500 ยี่ห้อ ผ่านไป 5 เดือนเหลืออยู่ 5 ยี่ห้อ แม่ง! นโยบายนี้เลว เฮ้ย! คุณวิปริตว่ะ ถ้าเกิดคุณสรุปอย่างนี้ อันนี้คือปรัชญาพื้นฐานของการพัฒนาสังคม ปริมาณไปสู่คุณภาพ ที่สุดตลาดจะเลือกคุณภาพ

"นักคิดนักเขียนในสังคมไทย มุ่งผลิตวาทกรรมที่เหมือนกับว่าคนที่ทำมาหากินที่สุจริต แต่ต้องการได้กำไรที่สอดรับกับภววิสัยทางโลกกลายเป็นคนเลวไปหมด ที่สุดอันนี้ก็ยกระดับมาสู่ทักษิณ"
ถ้าคนเคลื่อนไหวเพราะผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้จากโครงการประชา นิยม รัฐบาลไหนก็ทำได้ ก็ทำประชานิยมสิ ทำไมคนจะต้องยึดติดกับไทยรักไทยด้วย หรือมันมีหลักการอะไรบางอย่างหรือเปล่าที่ทำให้เขาออกมา

ความจริงใจไง เอาง่ายๆ ทุกรัฐบาล คนที่ถือครองอำนาจรัฐ มันฉกชิงอำนาจและทรัพยากรไปจากคนทั้งนั้น แต่ความจริงใจจะทำให้ประชานิยมไปพ้นจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติที่แท้จริง พูดตรงๆ นะ ไอ้ม็อตโต้ ที่บอกว่า จงอย่าเอาปลาไปให้ประชาชน แต่จงสอนประชาชนให้จับปลา มันเป็นวาทกรรมที่ใช้ไม่ได้กับเมืองไทย เพราะอะไรรู้หรือเปล่า มันเป็นม็อตโต้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จากสังคมที่ไม่มีความสมบูรณ์ ในเรื่องทรัพยากร ไม่มีความสมบูรณ์ในภูมิประเทศ เอ้า คุณ ดูง่ายๆ อย่างเมืองจีนและรัสเซีย เขามีพื้นที่เพาะปลูกได้กับพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไอ้วิธีคิดอย่างนี้ถึงสอดรับกับภูมิประเทศของเขา แต่ของเราทุกวันนี้แทบไม่มีแล้วไอ้พื้นที่ที่จะต้องมีอีสานเขียวอยู่ มันแทบจะมีแต่พื้นที่น้ำท่วม เพราะปัญหาจากเขื่อน พูดง่ายๆ ว่าอย่าให้วาทกรรมนี้เข้ามา หรือเข้ามาได้แต่คุณศึกษากันในหมู่นักวิชาการ ทันทีที่คุณจะไปสู่การปฏิบัติ คุณต้องบอกใหม่ว่า จงคืนปลาสิบตัวให้แก่ประชาชนสักแปด คุณเอาไปแค่สองตัว
ปัญหาของเราคือ คุณไม่ต้องสอนประชาชนจับปลาหรอก ประชาชนทำมาหากินได้ เขาขาดแค่ปัจจัยบางอย่าง ที่ช่วงสังคมพัฒนาการมาเป็นสังคมสมัยใหม่ หรือสังคมนิคส์ เขาขาดโครงสร้างบางอย่างพังไปอย่างเช่น โครงสร้างแข็งแรงในเรื่องของทฤษฎีเกษตร

ทฤษฏีเก่าคือ ชาวนาชาวสวนถูกทำลายโดยเจียไต๋ ผมเติบโตมาในยุคนั้น เติบโตมาพร้อมกับเจียไต๋ ผมเติบโตที่นครชัยศรี สวนของเรามีนาด้วยเกือบ 80ไร่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ปลูกผัก แต่เราทำเพื่อรับใช้ปากท้องของพวกเรา ต่อมาถูกเปลี่ยนโดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ บริษัทปุ๋ย ให้ลดพื้นที่การปลูกข้าวให้น้อยลงเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือผักเชิงเดี่ยว เพื่อส่งขายปากคลองตลาดเราถูกทำให้อ่อนแอตั้งแต่ตรงนั้น ที่สุดประชาชนของเราจับปลาเก่งมาก แต่ปัญหาของเราที่แท้จริงไม่ใช่ประชาชนจับปลาไม่เป็น แต่คือการที่มีโจรช่วงชิงปลาของประชาชนไปตลอดเวลา ทุกวันนี้ประชาชนได้กินปลาแค่ 2 ตัว แต่อีก 8 ตัวมันถูกชิงไปไม่ว่าโดยอำนาจรัฐ จากชนชั้นสูง หรือกระบวนการบ้านเมือง อะไรก็ตามแต่ ตรงนี้สำคัญ

แล้วอีกอย่างหนึ่ง เงินทองของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง ใช้ไม่ได้กับภววิสัยปัจจุบัน ภววิสัยปัจจุบัน ในเมื่อโครงสร้างปัจจุบันของคุณถูกทำลายแล้ว ความแข็งแรงเรื่องที่นา สวนผัก สวนผลไม้ ถูกทำลายแล้ว คุณต้องมีเงิน คุณไม่มีต้นข่อยมาสีฟัน คุณต้องจ่ายเงินซื้อเดนทิสเต้ ใกล้ชิด ซอลท์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พวกคุณก็ถูกชี้นำแบบนี้ แม้แต่กับวงการวรรณกรรมก็ตาม
จะยกตัวอย่างเรื่องสั้นของคุณ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่คุณศุ บุญเลี้ยง วิจารณ์คุณกนกพงศ์ 3 ปีแล้วมั้ง ผมจำไม่ได้ ที่แพ่งนรา เนื้อเรื่องคือ คุณยายคนหนึ่งอยู่กับบ้านทำการเกษตร หักของเก็บผลผลิตทางการเกษตรมาขายหน้าบ้านโดยไม่เอากำไร การชี้นำอย่างนี้เป็นปัญหา อันตรายกับประชาชน ราษฎร พลเมืองอย่างที่สุด

สมมติว่าคุณยายอยู่พื้นที่ๆ หนึ่งไม่ได้ปลูกหมากเอง ไม่ได้ปลูกพลูเอง คุณยายต้องมีกำไรไหม คุณมองง่ายๆ ว่า เมืองไทยมันอุดมสมบูรณ์ ทุกอย่างเกิดขึ้นจากดิน แล้วคุณเด็ดจากดินไปขาย 2-3 บาทก็ได้กำไรแล้ว มันไม่ใช่ไง คุณต้องอย่าส่งเสริมการเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ เพราะมันมีบางคนที่จะเหมาผักของคุณยายหมดในเงิน 99 บาท ยังไม่ถึง 100 เลย หรือ 5 บาทมันยังจะเอาเงินถอนจากคุณยายเลย ผักบุ้งกำละ 5 บาท ผักบุ้งมันเอาของคุณยายมาทั้งหมด 10 บาท แต่มันเอามาขายได้ 30บาท ที่สุดคุณต้องทำให้สังคมดำเนินวิถีชีวิตสอดรับกับกลไกการตลาดที่เป็นจริง ไม่ใช่ส่งเสริมการเอารัดเอาเปรียบ

ที่สุดชุดวิธีคิดที่ว่า...เออ เสาร์-อาทิตย์นี้ทำ อะไรกันดีแม่...นี่ไปซื้อผักสิถูกมาก แล้วเราเอามาตั้งขายบ้านหน้าบ้านเราได้กำไร 5 เท่า...คุณส่งเสริมวิธีคิดแบบนี้กันอยู่ทุกวันนี้ ทำไมไม่ไปให้การศึกษาป้าล่ะว่าควรขายเท่าไรเป็นอย่างต่ำ เราขาดปัญญาชนที่จะไปรับใช้ประชาชน คุณลงหมู่บ้านก็จะไปเอาจากเขา นั่งดูป้า ใส่เสื้อผ้าสีนี้ เอาคุณลักษณะของเขามาเขียนเรื่องสั้นส่ง เอาเงินมาใช้ แต่ไม่ได้คืนอะไรให้กับประชาชนเลยแม้แต่ไอเดียในการดำเนินชีวิต และเรื่องสั้นเรื่องนี้ ศุ บุญเลี้ยง จึงวิจารณ์ว่า ถ้าผมเป็นคุณยายแล้วผมทำมาหากินแล้วได้กำไรไม่ได้เหรอ ผมชั่วเหรอ มันกลายเป็นว่านักวรรณกรรม นักคิดนักเขียนในสังคมไทย มุ่งผลิตวาทกรรมที่เหมือนกับว่าคนที่ทำมาหากินที่สุจริต แต่ต้องการได้กำไรที่สอดรับกับภววิสัยทางโลกกลายเป็นคนเลวไปหมด ที่สุดอันนี้ก็ยกระดับมาสู่ทักษิณ

"ผมมองว่าภาววิสัยทางโลก เราต้องส่งเสริมให้แปรรูปทุกอย่างเข้าตลาดให้หมด โดยระบุไปในรัฐธรรมนูญเลยว่า สาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือทรัพย์ในดินสินในน้ำ ทุกคนที่เกิดในอาณาเขตของเมืองไทย ทันที่ที่ลืมตาดูโลกแล้วแจ้งเกิดมีรายชื่ออยู่ในสำมะโนประชากร จะต้องมีหุ้นส่วนในวิสาหกิจนั้น"

ถามจริงเมืองไทยทำไมเราถึงรู้ว่าทักษิณมันรวยนัก เพราะทักษิณมันต้องแจ้งยอดเงิน ต้องแจ้งอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกับผู้แทนทั้งปวง เวลาเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภา แต่คนที่ไม่ต้องแจ้งล่ะ แล้วสามารถเอาเปรียบที่กดขี่ประชาชนได้อย่างซึมลึกแล้วก็ทุกเมื่อเชื่อวัน ทำเหมือนกับน้ำเซาะทราย แล้วคำว่า น้ำเซาะทรายของเขาไม่ใช่จากหนึ่งเป็นสอง แต่จากหนึ่งหมื่นล้านเป็นสองหมื่นล้านในสองอาทิตย์ พวกนี้ไม่มีกฎหมายให้เขาชี้แจง ซึ่งที่สุดโครงสร้างเศรษฐศาสตร์แบบก้าวหน้ามีตั้งแต่สมัยนายปรีดี หรือ อาจารย์ป๋วย เค้าโครงเศรษฐกิจหน้าเหลือง ที่สุดก็เป็น Satire เสียดเย้ยกับพรรคประชาธิปัตย์ ภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน จริงๆ แล้วเราสามารถจูนสังคม ค่อยๆ เคลื่อนไปสู่ประโยชน์ของประชาชน หรือการดูแลซึ่งกันและกันของพลเมืองได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าโครงสร้างการเมืองหรือเศรษฐกิจมันก้าวหน้า คนรวย คุณต้องจ่าย
เมืองไทยมีวิธีคิดหนึ่งที่พวกฝักใฝ่มาร์กซิสม์ถูกด่ามาตลอด ซึ่งเป็นวิธีคิดแทรกซึมของคนชั้นสูงหรือผู้ไม่ต้องการเสียผลประโยชน์มัก กล่าวอ้างว่า คุณจะเป็นคอมมิวนิสต์ไปทำไม ทุกวันนี้ มีจนบ้าง รวยบ้าง คนชั้นกลางบ้าง ถ้าเป็นคอมมิวนิสต์ก็จะจนเท่าเทียมกันหมดจะเอาหรือ มันบ้า เพราะลองไปดูรัสเซียมีแต่น้ำค้างแข็ง ภูเขาเหน็บหนาว ไปดูจีนพื้นที่เพาะปลูกไม่มากมาย ไม่สอดรับกับปริมาณคน ประเทศไทยถ้าคุณจัดโครงสร้างดีๆ ทุกคนจะรวยเท่ากัน

ผมจะเสนอแนวคิดหนึ่งแนวคิดนี้แม้แต่กลุ่มเลี้ยวซ้ายที่มุ่งรัฐ สวัสดิการ เขาก็ยังมองไปอีกทาง ผมก็ไม่เห็นด้วยกับเขา กลุ่มเลี้ยวซ้ายจะมองว่าไม่ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ น้ำมัน ไฟฟ้า ประปา แต่ผมมองว่าภววิสัยทางโลก เราต้องส่งเสริมให้แปรรูปทุกอย่างเข้าตลาดให้หมด โดยระบุไปในรัฐธรรมนูญเลยว่า สาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือทรัพย์ในดินสินในน้ำ ทุกคนที่เกิดในอาณาเขตของเมืองไทย ทันที่ที่ลืมตาดูโลกแล้วแจ้งเกิดมีรายชื่ออยู่ในสำมะโนประชากร จะต้องมีหุ้นส่วนในวิสาหกิจนั้น เช่น ปตท. ผมส่งเสริมให้ ปตท.แปรรูปและทำกำไรแต่ประชาชนทุกคนมีชื่ออยู่ในหุ้นของ ปตท.ทันที ถามว่าอย่างนี้ไม่เละเหรอ คุณสามารถจัดสัดส่วนได้ว่าหุ้นที่เป็นของประชากรทั้งหมดเป็นเท่าไร หารได้ปีละ 500 บาทก็สมควร ได้ปีละ 2,000 บาทก็ยิ่งดี ซึ่งในระบบทุนนิยมมันมีแต่ได้ เพราะอะไร เพราะน้ำมันของ ปตท. ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ ผมว่าอันนี้เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้ายังไม่เคยมีใครเสนอคล้ายกับระบบสหกรณ์ ปตท.ที่แปรรูปแล้วอยู่ๆ กลายเป็นระบบสหกรณ์ ประชาชนกิน กำไรส่วนหนึ่งก็ให้ประชาชน แม้ว่ากำไรอีกบางส่วนต้องหมดไปกับการบริหาร มันทำได้ ทำไมแนวคิดนี้ไม่มีใครกล้าคิด มันขัดผลประโยชน์ใคร ทุกวันนี้คุณก็รู้ว่ารัฐวิสาหกิจทั้งปวงโบนัสเท่าไร ทำไมการรถไฟของเรามันถึงไม่ดีกว่านี้

เมื่อกี้พูดว่าตอนนี้ประชาชนสุกงอม แต่ดันขาดปัญญาชนแบบที่เคยมี อย่าง 6 ตุลา 14 ตุลา อะไรคือปัจจัยที่ทำให้พวกเขาจำนวนไม่น้อยเหวี่ยงกลับไปเป็นกลุ่มคอนเซอร์เวทีฟในยุคนี้

มันผิดตั้งแต่เราไปมองว่า 14 ตุลา 6 ตุลาเป็นฝ่ายก้าวหน้าแล้ว บอกให้ก็ได้ ทุกวันนี้คนที่ได้ตราประทับจากการเข้าป่า กลายเป็นอภิสิทธิ์ชนส่วนหนึ่ง

"ถ้ากลุ่มคนเหล่านั้นคิดไม่สอดรับกับพวก 14 ตุลา คุณจะเหยียดหยามเขา หรือจะยังไงพวกคุณเหมือนฝูงหมาที่รวมกลุ่มกัน ปริมาณไม่เยอะหรอก แต่คุณเห่าเสียงดัง แล้วคุณเข้าร้าน pet shop คุณตัดแต่งขนอยู่เสมอ มีความสะอาด ขนมัน ปากชมพู ยืนตรง ขี้เล่น ไม่ดื้อ ในขณะที่คุณลืมไปว่าไอ้ทารกหมาป่าตัวจริง ทุกวันนี้มันก็ปรับตัวเข้ากับภววิสัยทางสังคม จนที่สุดมันก็มาอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับคุณ แล้วมันเห็นว่าคุณเป็นหมาไม่แท้ คุณเป็นหมาย้อมสี แล้วที่สุดคุณเป็นสัตว์เลี้ยง"

แต่ตอนนั้นเขาก็ก้าวหน้าไม่ใช่หรือ มีไอเดียของการต่อสู้เพื่อความเป็นเท่าเทียม เป็นธรรมแต่มันยังมีความก้าวหน้าแบบจับพลัดจับผลู ไม่ได้ก้าวหน้าจริง ผมจะยกตัวอย่างให้ ระหว่างคนที่เข้าป่าสมัยนั้น พอป่าแตกออกมาทุกคนเหมือนจะมียศถาบรรดาศักดิ์ที่มองไม่เห็นอยู่ ประชาชนทั่วไปอาจไม่รับรู้ แต่วงวรรณกรรมรับรู้และให้เครดิตพวกเขา แล้วพวกเขาก็เติบโตมาเป็นอะไรต่อมิอะไร คุณไปให้ค่ากับปัญญาชนหรือนิสิตนักศึกษารุ่นนั้น ถ้ามองรายละเอียด หลังจากพวกเขากลับออกมาทำไมเขาจึงฟูมฟายตัดพ้อพรรค ทำไมเข้าไปแล้วไม่ได้เป็น ศ. ไม่ได้เป็นอะไรเลย คุณมีต้นทุนในเมือง แต่โดยทฤษฎีคุณไม่มีต้นทุนชนชั้น และยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า มือนิ่มๆ ของคุณรับใช้พรรค รับใช้ประชาชนผู้เสียเปรียบได้แค่ไหน แล้วมันก็เกิดมายาคติเช่น ผมโตเป็นหนุ่มไม่ทัน 14 ตุลา 6 ตุลา ทันทีที่ทะลึ่งมาเป็นผู้ฝักใฝ่มาร์กซิสม์ คำที่ตามมาก็คือ ซ้ายใหม่ ซ้ายไร้เดียงสา เพราะไม่มีต้นทุน เด็กบางคนจนมันจบมหาวิทยาลัยมันอยู่ในเขตงานมาตั้งแต่เกิด ขณะที่คุณเข้าไปตากอากาศแค่ไม่กี่ปี ใครเป็นตัวจริงตัวปลอม ตรงนี้ไม่เคยมีใครมาพูด คุณมีแต่เรื่องเด็กหญิงหมวกดาวแดงที่เป็นลูกสาวของปัญญาชนที่เข้าไปมีเมียมี ลูกกันในนั้นแล้วก็ออกมา อ้าว! แล้วคุณเคยพูดถึงลูกหลานของสหายผู้ปฏิบัติงานไหมว่าไอ้พวกนั้นที่ทุกวันนี้ พ่อแม่มันก็ยังอยู่ในพื้นที่ แต่ลูกเต้าเติบโตมีวัยเด็กโดยอุดมการณ์การหล่อหลอมของช่วงเวลานั้น

ผมเคยตั้งคำถามกับวินัย อุกฤษณ์ หรือวารี วายุ ที่เกาะบูบู สมัยรัฐบาลทักษิณว่า พี่ ถ้าวันหนึ่งไอ้เด็กที่มันเคยวิ่งส่งข้าวส่งน้ำให้เพื่อนฝูงพี่ที่เข้าป่า แต่วินัยเขาไม่ได้เข้าป่านะ สมัยที่พวกเพื่อนฝูงพี่หนีอำนาจรัฐเข้าไปอยู่ในป่า เด็กพวกนั้นที่มันเป้ข้าวให้พี่ เพราะมือพี่บางเกินไป ถึงวันนี้มันกลายมาเป็นคนรักทักษิณ รักประชานิยม มีโทรศัพท์มือถือ ใช้ชีวิตสอดรับกับกระแสการค้าเสรีอย่างปัจจุบัน พี่จะว่ายังไง พี่วินัยบอกว่าก็ปล่อยมันไป เมื่อมันเหลวแหลกก็ปล่อยให้มันเหลวแหลกไป ตรงนี้ไงที่ทำให้เห็นว่าคุณยึดมั่นถือมั่นกับกลุ่มความคิดบางอย่างแบบแข็ง และไม่เป็นพลวัตเลย

ฉะนั้น ผมว่าตอนนี้คุณภาพใหม่ของสังคมไทยอย่างหนึ่งก็คือ เด็กจากเขตงานพวกนั้นมีโอกาสการศึกษาที่สูง ไทยรักไทยอาจช่วยเป็นส่วนน้อยด้วยซ้ำ แต่พลวัตทางสังคมเป็นไปทางนั้น คุณตั้งคำถามถึงเด็กกลุ่มนั้นไหม ลูกเต้าเหล่ากอของผู้ปฏิบัติงานจริงที่เรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วทุกวันนี้อาจจะมาเป็นนักวิชาการ เป็นคนชั้นกลาง หรือเป็นอภิชนที่นอกคอก มันเสือกประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ถ้ากลุ่มคนเหล่านั้นคิดไม่สอดรับกับพวก 14 ตุลา คุณจะเหยียดหยามเขา หรือจะยังไง
ประเด็นก็คือ พวกคุณเหมือนฝูงหมาที่รวมกลุ่มกัน ปริมาณไม่เยอะหรอก แต่คุณเห่าเสียงดัง แล้วคุณเข้าร้าน pet shop คุณตัดแต่งขนอยู่เสมอ มีความสะอาด ขนมัน ปากชมพู ยืนตรง ขี้เล่น ไม่ดื้อ ในขณะที่คุณลืมไปว่าไอ้ทารกหมาป่าตัวจริง ทุกวันนี้มันก็ปรับตัวเข้ากับภววิสัยทางสังคม จนที่สุดมันก็มาอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับคุณ แล้วมันเห็นว่าคุณเป็นหมาไม่แท้ คุณเป็นหมาย้อมสี แล้วที่สุดคุณเป็นสัตว์เลี้ยง ในขณะที่เด็กเหล่านั้นเป็นหมาจรจัด สุ่มเสี่ยงกับความอดอยากและอะไรหลายอย่าง ล่าเอง ไม่มีต้นทุน พ่อแม่ส่งให้เรียนแล้วจบ ขวนขวายเอาเอง พอไทยรักไทยมา พ่อแม่ก็บอกว่าเอ้า เงินกองทุนหมู่บ้านสองหมื่นไปเซ็นเอาซะ กลับมาในเมืองเปิดบริษัทคอมพิวเตอร์ เปิดเว็บไซต์ทำมาหากิน มันมีคุณภาพใหม่หลายอย่างที่เติบโตในช่วงที่รัฐบาลไทยรักไทยเข้ามาถือครอง อำนาจรัฐ แต่มันถูกทำลายโดยกลุ่มคนซึ่งพยายามชูภาพความเลวร้ายเก่าๆ ของนักการเมือง

ถ้าพูดถึงนักการเมืองอย่างจาตุรนต์ (ฉายแสง) มันก็โคตรเท่ห์ หน้าตาดี มีการศึกษา มีวิธีคิด มีต้นทุนจากการเคลื่อนไหวจากในอดีต แต่ทำไมเวลาทับถมนักการเมืองถึงพูดถึงแต่ประเภทเนวิน (ชิดชอบ) สุเทพ (เทือกสุบรรณ) เฉลิม (อยู่บำรุง) คุณไม่แฟร์กับผู้แทนราษฎร ซึ่งนั่นเท่ากับไม่แฟร์กับราษฎร

"การศึกษาของคนที่ผ่านมาถูกออกแบบโดยอภิชน จึงตอบสนองความจอมปลอมเหล่านี้ทั้งสิ้น เขาไม่ต้องการให้พลเมืองเข้าใจสัจจะความจริงทางสังคม ฉะนั้น ทุกวันนี้มันจึงเป็นว่าทำไมนักสื่อสารมวลชน กวี นักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักอะไรทั้งหลายทั้งปวงที่มันเคยเป็นฝ่ายก้าวหน้า จึงไม่ยืนอยู่ข้างประชาชน ถึงมีอยู่ก็ส่วนน้อยมาก"

แล้วมองอนาคตยังไง อย่างที่มีข้อเรียกร้องเรื่องขับไล่อำมาตย์ มองความเป็นไปได้ในอนาคตแค่ไหนโอว ผมมีความหวังเต็มเปี่ยม ผมเป็นคนพุทธ สรุปรวบควบแน่นสิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทุกวันนี้อภิสิทธิ์ชนสามารถเชิดชู สามารถเล่นทริกต่างๆ กับรัฐบาลที่อภิสิทธิ์ชนหนุนให้มามีอำนาจได้ มันเป็นไปตามกลไก คุณอาจจะเลือกอำนาจ 3 รัฐบาลเบิ้ลก็ได้ แต่ที่สุด คุณตั้งอยู่แล้วคุณต้องดับไป มันเป็นสัจจะ ฉะนั้นไม่มีใครละเมิดอันนี้ได้ ปีนี้เป็นปีที่ฝ่ายอภิชนรุ่งเรืองที่สุด โหมดการเคลื่อนของมันเคลื่อนไปสู่ความเสื่อม เมื่อถึงจุดหนึ่งประชาชนอาจขึ้นมารุ่งเรือง แล้วในที่สุดก็อาจเสื่อม หรือยกระดับ เปลี่ยนคุณภาพไป ที่สุด ประชาชนจะได้เป็นใหญ่อยู่แล้ว แต่มันอาจยืดเยื้อยาวนาน
ผมถึงเกริ่นเบื้องต้นถึงเวียดนาม โฮจิมินห์ หรือมีวีรบุรุษของเวียดนามเยอะแยะมากมายที่ต่อสู้มาเป็นร้อยปี เราไม่มีกระบวนทัศน์หรือสายธารประวัติศาสตร์ที่แจ่มชัดในประชาชนของเรา พูดง่ายๆ พวกเราเพิ่งสร้างชาติกันขึ้นมาไม่กี่ปี วัฒนธรรม ประเพณี คุณก็เพิ่งเซ็ตติ้งกันขึ้นมา หลายอย่างมันก็ไม่มีรากเหง้าแท้จริง มาจัดกันเอง ตกแต่งกันเอง

ฉะนั้น การศึกษาของคนที่ผ่านมาถูกออกแบบโดยอภิชน จึงตอนสนองความจอมปลอมเหล่านี้ทั้งสิ้น เขาไม่ต้องการให้พลเมืองเข้าใจสัจจะความจริงทางสังคม ฉะนั้น ทุกวันนี้มันจึงเป็นว่าทำไมนักสื่อสารมวลชน กวี นักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักอะไรทั้งหลายทั้งปวงที่มันเคยเป็นฝ่ายก้าวหน้า จึงไม่ยืนอยู่ข้างประชาชน ถึงมีอยู่ก็ส่วนน้อยมาก อย่างแรกคือ คุณถูกเซ็ตติ้งรสนิยม ความเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง จะบอกให้ว่าผมสกปรกนะ ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ข้อเขียนของผมรับใช้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่เช่นเดียวกัน พันธมิตรฯ ก็มีนักคิดนักเขียนที่ยอมสกปรก คือรับใช้กลุ่มมวลชนของเขา แต่ผมกำลังพูดว่า ความสกปรกนี้ไม่ได้อยู่ในจริตของปัญญาชนชั้นกลาง ปัญญาชนชั้นกลางถูกสร้าง ถูกปลูกฝังให้รับใช้อภิชน ดังนั้น จริตเขาจะโน้มไปทางอภิชน สวย สะอาด บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ผมมาเหยงๆ กลางเวที ประชาชนปรบมือให้ผม ให้ดอกไม้ ให้มาลัยผม มีเสียงตอบรับกังวานก้องสนามหลวง แต่คุณเอารูปมาดู มันไม่ถูกจริตคุณหรอก แต่ผมเป็นคุณภาพใหม่ของประชาชนในช่วงเวลานี้ และประชาชนก็ก้าวมาพร้อมกับผม คือ ไม่ใช่ผมคนเดียวที่เป็นกวี ส.ส. แม่งก็เป็นกวี ผู้นำ นปช. สามเกลอหัวแข็งบางเวลามันก็กลายเป็นกวีขึ้นมา เฉลิมก็แม่งแทบจะอภิปรายเป็นบทกวี ประชาชน 20 วันข้างทำเนียบผมเห็นอะไร มีคนที่คิดว่าทำงานบริการอยู่ที่พัทยา เห็นผมขึ้นเวทีอ่านกลอน เขาเลยแต่งเพลงมา 3 เพลง เพราะเหมือนทนไม่ไหว คือ แบบนี้กูก็ทำได้ แต่งมา 3 เพลง เพลงหนึ่งเพลงเพื่อประชาธิปไตย อีกเพลงหนึ่งอาจเป็นเพลงรักทักษิณ อีกเพลงหนึ่งพูดถึงความทุกข์ยากของตัวเอง เขามาขอร้องบนเวทีสดๆ มีแต่เนื้อมา นี่คือคุณภาพใหม่ แล้วก็มีการบันทึกบทกวีเอาใส่กระดาษไปอ่านกัน เหมือนเวียดนามในช่วงสร้างชาติ การให้การศึกษาของเขาไม่ใช่แค่การเมืองอย่างเดียว มีสิ่งที่ที่เรียกว่า "เคี่ยวให้ข้น" เพื่อ "ทำมวลสารให้งวด" แล้วก็เหมือนกับเป็นบัวหิมะหรือกำลังใจปลุกเร้ากันและกันในช่วงที่เหนื่อย ล้า

"คุณภาพใหม่อย่างหนึ่งในช่วงปัจจุบันคือ มันก้าวผ่านเข้าสู่แพทเทิร์นเดิมที่ออกมาต่อสู้ สูญเสีย เปลี่ยนอำนาจรัฐ ผมไม่ได้พูดว่าออกมาต่อสู้ สูญเสียแล้วชนะนะ แต่ผมพูดว่าที่ผ่านมาเราถูกหลอกให้วนเป็นเขาวงกตว่า ออกมาต่อสู้ สูญเสีย เปลี่ยนอำนาจรัฐ แล้วรัฐประหาร เราเริ่มรู้ทันอภิชนหรืออำมาตย์แล้วว่า การต่อสู้ในสเกลที่ใหญ่แต่ยืดเยื้อ ซุ่มซ่อน ต่อเนื่อง ยาวนาน คือการต่อสู้ที่จำเป็นสำหรับประชาชน ซึ่งยังไม่มีทรัพยากร ไม่มีอำนาจ ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ"

อย่างนั้นควรส่งเสริมให้ประชาชนขึ้นเวทีไปอ่านกวี ไปทำกิจกรรมต่างๆ ไหมสิ่งนี้เป็นสิ่งที่อ่อนมากใน นปช. ในขณะที่พันธมิตรฯ เขาทำแข็งมาก แต่เบื้องหลังที่ให้ขึ้นมาเขามีการจัดตั้งนะ ไม่ใช่ปล่อยให้พวกไร้สาระขึ้นมา แต่ของ นปช. มันมีคุณภาพใหม่อย่างหนึ่งของสังคมไทยที่เรายังสรุปไม่ได้ว่ามันดีหรือมัน เลว ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวกับอำนาจรัฐหรือการเมือง เรานำโดยภาคประชาชนมาตลอด ไม่ว่านิสิตนักศึกษา หรือช่วงพฤษภา 35 แต่ครั้งนี้มันมีอะไรที่มันเปลี่ยนไป จุดหนึ่งที่ชัดเจนคือ ฝ่ายพรรคการเมืองมานำในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พรรคการเมืองมีความพร้อมทั้งฐานเสียง คือมวลชนที่เขาจัดตั้ง มีความพร้อมด้านทรัพยากร ค่าเช่าแสง สี เสียง เวที มีความพร้อมด้านคอนเน็กชั่นอำนาจรัฐ เขาสามารถพูดคุยกับตำรวจ ทหาร หรือมีเพื่อนฝูงอยู่ในเครือข่ายอภิชน พูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่ถึงจุดที่ขัดแย้งรุนแรงกับสิ่งที่อยู่สูงสุดของขั้วการปะทะ เขาสามารถเคลียร์ความรุนแรงได้หมด

พูดตรงๆ ว่าทำไมสงกรานต์เลือดที่ผ่านมา เราถึงต้องยกเลิกในวันที่ 14 (เม.ย.) เพราะความขัดแย้งมันล่วงเลยการเผชิญหน้าในระดับที่พูดคุยกันได้ พูดง่ายๆ คือ ความขัดแย้งมันเลยเถิดถึงจุดยอดที่เขาไม่จำเป็นต้องแคร์คุณ เขามีแต่ออเดอร์ลง ไม่มีการสื่อสารที่สมบูรณ์ ฉะนั้น เขาไม่สื่อสารกับคุณ เขายื่นข้อเสนอว่าไม่เลิกก็ตาย มันก็จบ

จริงๆ แล้วผมมองว่าคุณภาพใหม่อย่างหนึ่งในช่วงปัจจุบันคือ มันก้าวผ่านเข้าสู่แพทเทิร์นเดิมที่ออกมาต่อสู้ สูญเสีย เปลี่ยนอำนาจรัฐ ผมไม่ได้พูดว่าออกมาต่อสู้ สูญเสียแล้วชนะนะ แต่ผมพูดว่าที่ผ่านมาเราถูกหลอกให้วนเป็นเขาวงกตว่า ออกมาต่อสู้ สูญเสีย เปลี่ยนอำนาจรัฐ แล้วรัฐประหาร เราเริ่มรู้ทันอภิชนหรืออำมาตย์แล้วว่า การต่อสู้ในสเกลที่ใหญ่แต่ยืดเยื้อ ซุ่มซ่อน ต่อเนื่อง ยาวนาน คือการต่อสู้ที่จำเป็นสำหรับประชาชน ซึ่งยังไม่มีทรัพยากร ไม่มีอำนาจ ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ

ผมสนับสนุนคุณวีระนะ ในสายตาผมเขาถูกทำให้สกปรก แต่วีระมีต้นทุนในการต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตยมาตลอด และเขาชัดเจนในการยุติการชุมนุมในวันนั้น นี่แหละคือคุณภาพใหม่ ดันทุรังต่อไปอีก 2 ชั่วโมงก็ตายกันแล้ว ก็เปลี่ยนอำนาจรัฐได้แล้ว แต่คุณภาพใหม่เกิดขึ้น คือเราไม่อยากเห็นการตาย ถึงบางคนจะมองว่าก็มึงก็ไม่อยากตายด้วย จะอย่างไรก็แล้วแต่มันคือคุณภาพใหม่ ต่อสู้ไม่ต้องสงครามครั้งสุดท้าย ไม่ต้องเสียหายกันวันนี้ แล้วก็เหมือนเป็นการสื่อสารนัยๆ ด้วยว่าอำนาจรัฐที่ถือครองนี้มันแค่ตุ๊กตา หนังหน้าไฟ นี่แหละทันทีที่ชัดว่าศัตรูคืออำมาตย์ การต่อสู้ที่ยาวนานยืดเยื้อเท่านั้นจึงจะทำให้สำเร็จผลจริงๆ
"ทศชาติชากดกเรื่องมโหสถมันเหมือนกับรัฐสมัยใหม่เปี๊ยบเลย เป็นรัฐสวัสดิการ เป็นรัฐที่นิติรัฐแข็งแรง คนให้ความนิยมกับกษัตริย์อย่างจริงจัง เพราะล้มล้างการกดขี่ ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร ใครก็แล้วแต่ถ้าต้องการเป็นที่นิยมของประชาชนในระดับสูงสุด ต้องทำให้ความทุกข์ของประชาชนในเรื่องกายภาพนั้นมีน้อยที่สุด"

มีอีกส่วนที่อยากฝากไว้ มันไม่ใช่ส่วนของโครงสร้างหลัก แต่เป็นปฏิบัติการที่สามารถสนับสนุนประชาชน คนที่สิ้นไร้ไม้ตอกได้ อย่างเช่น ชุมชนเมืองอย่างกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ถ้าเกิดประเทศเป็นประชาธิปไตยจริง ทั้งการเมืองเศรษฐกิจ มันก็คงจะเป็นประชานิยมมากกว่านี้ เป็นประชานิยมที่ถาวร แล้วในที่สุดมันจะมีพลวัตไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ทุกวันนี้เรื่องรัฐสวัสดิการอาจดูไกลไป แต่ปฏิบัติการบางอย่างที่สามารถทำได้เลยโดยที่สำนักนายกรัฐมนตรีหรือประกาศ เป็นวาระเร่งด่วน เช่น การมีที่อยู่อาศัยให้กับคนจรเมือง การปลูกโรงนอนที่คุ้มแดดคุ้มฝนที่สนามหลวง มีห้องน้ำสาธารณะ ที่นอน พูดง่ายๆ เราก็จะไม่มีการไปถ่ายอุจจาระตามฟุตบาท เพราะประเทศไทยไม่ได้มีประชากรเยอะเหมือนอินเดีย

อีกส่วนหนึ่งคือ เปลี่ยนวิธีคิดการทำบุญ ทุกวันนี้เราต้องเห็นพ้องกันหลายส่วนว่า วัดในเมืองตักบาตรอาหารเหลือ ภิกษุต้องมีรถเข็นไปเอาอาหารที่คนใส่เกินความต้องการ แทบจะกินได้ทั้งหมู่บ้าน อธิบายถึงการล้นเกิน เราต้องการสร้างรสนิยมการทำบุญกระแสตรง ด้วยการให้ผู้ที่ต้องการกินอาหารที่แท้จริง จะเป็นกุศลที่แท้จริงด้วย เราจะมีทั้งโรงนอนและโรงทาน เปิดโอกาสให้คนมีเงินเยอะมาทำบุญให้อาหารคนในสนามหลวง คนที่ทำบุญเช่นนี้สัก 30 ครั้ง คุณจะได้เข็มเชิดชูจากรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งเราจะให้โอกาสสำหรับคนที่ไม่ได้มีสันดานชั่วร้าย เปิดทางออกให้ประชาชน เปิดปั๊มอิฐดิน ทำเพื่อให้ปัญญาชนชั้นกลางในละแวกนั้นเข้ามาใช้แรงงานบ้าง ให้ได้เหงื่อบ้าง แล้วบันทึกชั่วโมงทำงานของคุณถึงจุดหนึ่งก็ได้เข็มเชิดชู ส่วนประชาชนที่ไม่มีเงินมาปั๊มอิฐดินก็ควรได้เงิน โดยรัฐจะจ่ายให้ก้อนละ 1 บาท เรียกว่ามีทางออกให้คนสิ้นไร้ไม้ตอกบ้าง อิฐดินตัวนี้อยู่ในกระแสที่ได้รับความนิยม คุณต้องจัดระบบการขายอิฐดิน และสร้างรสนิยมแพร่หลายในการสร้างบ้านดิน ซึ่งต้นทุนต่ำกว่าปูนซีเมนต์ อย่างนี้ครบวงจร สิ่งเหล่านี้ทำได้เลยไม่ว่ารัฐบาลไหน ถ้าพันธมิตรฯ เอาเรื่องนี้ไปชู ผมว่ามันเป็นมุมมองใหม่ แล้วพันธมิตรฯ จะได้มวลชนชั้นล่างในเมือง ประชาธิปัตย์ก็จะกินรวบฐานคะแนนในเมือง

อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมคิดเอง แต่ผมได้แรงบันดาลใจจากทศชาติชาดก ส่วนหนึ่งพูดถึงมโหสถ ซึ่งเป็นชาติหนึ่งที่น่าสนใจของพระพุทธเจ้า เขาเป็นปัญญาชนมารับใช้ชนชั้นสูงแต่ถึงที่สุดไปมีเมียเป็นชาวนา และในยุคสมัยของเขา เขาเลือกจะสร้างคณะผู้พิพากษาให้เที่ยงธรรมโดยใช้สติปัญญา มีโรงพยาบาลกลาง มันคือ 30 บาทรักษาทุกโรค มีโรงนอนพักค้างคืน มีโรงทาน อาหารสำหรับคนจร ฉะนั้น ไม่แปลกทำไมศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่ใหม่ ทำลายโครงสร้างเดิมของพราหมณ์และฮินดู วิธีคิดของสิทธารัตถะเรื่องรัฐสวัสดิการมันสั่งสมมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ผมอาจละเมิดมาร์กซิสม์ที่จิตนิยมเกินไปหน่อย แต่ผมอยากให้คนอ่านบทสัมภาษณ์นี้กลับไปอ่านเรื่องมโหสถ เขาพูดเรื่องการพูดด้วย กับเพื่อนบ้านทำอย่างไรไม่ให้มีสงคราม เราเทียบเคียงกับเรื่องเขมรได้เลย ทศชาติชาดกเรื่องมโหสถมันเหมือนกับรัฐสมัยใหม่เปี๊ยบเลย เป็นรัฐสวัสดิการ เป็นรัฐที่นิติรัฐแข็งแรง คนให้ความนิยมกับกษัตริย์อย่างจริงจัง เพราะล้มล้างการกดขี่ ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร ใครก็แล้วแต่ถ้าต้องการเป็นที่นิยมของประชาชนในระดับสูงสุด ต้องทำให้ความทุกข์ของประชาชนในเรื่องกายภาพนั้นมีน้อยที่สุด

-เรื่องที่เกี่ยวข้อง: สัมภาษณ์ ไม้หนึ่ง ก.กุนที: (1) ทำไมถึงต้องแดง! บทวิเคราะห์แดง-เหลือง การเมืองเก่า-ใหม่
-หมายเหตุ:ที่มาจากประชาไท 14 ส.ค. 2552

วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ ไม้หนึ่ง ก.กุนที: (1) ทำไมถึงต้องแดง! บทวิเคราะห์แดง-เหลือง การเมืองเก่า-ใหม่

สัมภาษณ์ ไม้หนึ่ง ก.กุนที: (1) ทำไมถึงต้องแดง! บทวิเคราะห์แดง-เหลือง การเมืองเก่า-ใหม่
สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้ม, มุทิตา เชื้อชั่ง
อันที่จริงสำหรับ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” เขาไม่ได้เพิ่งจะแดงและแรงเอาพักนี้ แต่ฉายแววแรงตั้งแต่ช่วงที่การเมืองเพิ่งเริ่มต้นฮึ่มๆ กัน สังเกตจากบทกวีในมติชนสุดสัปดาห์ที่เปิดโอกาสให้คนตีความกันขนลุกขนชันเป็นระยะ

ยิ่งในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองสุกงอม เราเห็นเขาปรากฏบนเวทีเสื้อแดงแทบทุกเวที ทั้งใหญ่ ย่อย กร่อย คึก เพื่ออ่านบทกวีของเขาในลีลา “กระชากไส้” เรียกเสียงฮือ เสียงปรบมือสนั่น ทำเอาป้าๆ ลุงๆ อุทานด้วยความซาบซึ้ง “ไอ้นี่มันใคร” !

แน่ล่ะ เขาเป็นด้านกลับหลายๆ อย่างของบรรดากวีรุ่นใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดีในสังคม นอกจากเนื้อหาจะ (ขัดแย้ง) แม่นมั่นแล้ว ยังมีสไตล์เป็นของตัวเองชัดเจน กวีใหญ่ตระเวณอ่านบทกวีเปิดงานนิทรรศการภาพวาดเฉลิมพระเกียรติและงานระดับชาติมากมาย กวี ‘ข้าวหน้าเป็ด’ ตระเวณอ่านบทกวีสดุดีประชาชนในงานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ของคนเสื้อแดงที่เพิ่งรู้จักกันในม็อบ

ยิ่งคุยกับเขา เรายิ่งพบส่วนผสมที่แปลกประหลาด ไม่เฉพาะอาชีพที่เป็นพ่อค้าข้าวหน้าเป็ดและเป็นกวีในเวลาเดียวกัน ในวิธีคิดทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง เราก็จับเขาแปะฉลากได้ยาก เป็นมาร์กซิสต์ เป็นเสรีนิยม เป็นพุทธ เป็นคนชั้นกลาง เป็นคนรักทักษิณ ฯลฯ

ถ้าคิดว่าเขาน่าสนใจเพียงพอ สามารถทำความเข้าใจทั้งหมดทั้งปวงได้ตามสะดวก...


000


“หนึ่งหน่วย หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่แต่ละคนออกมาสู้เพื่อตัวเอง
สู้เพื่อชิงอำนาจของตัวเอง สู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
มันคือเส้นทาง มันคือรอยเท้าแต่ละรอยที่สะสมกัน
เพื่อนำไปสู่อุดมคติใหญ่ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยของพลเมือง”


การเมืองเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวหรือเปล่า ทุกคนจำเป็นต้องชอบ หรือสนใจในการเมืองเหมือนกันหรือ
ในมุมมองของผม การที่ใครจะออกมาแสดงออก มีส่วนร่วมทางการเมือง มันมีสองลักษณะ คือลักษณะที่เป็นจริง กับลักษณะที่ลวง การดำเนินการทางการเมืองมีสองแนวทางมาตลอด ดูจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของจีนก็ได้ การต่อสู้ของจีนก่อนจะมายุคปลดปล่อยเป็นประเทศใหม่ มันคือการต่อสู้กับชาวต่างชาติ คือ คนญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นด้วยอุดมคติชาตินิยม แต่หลังจากไล่ญี่ปุ่นแล้ว ต่อมาอุดมคตินั้นก็กลายเป็นสองแนวทาง คือแนวทางชาตินิยมอนุรักษ์แบบเดิม กับแนวทางใหม่ที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว ส่วนตัวหมายถึง ส่วนตัวแต่ละคนๆ ของประชาชาติ ของประชาชน

ผมมองว่า ‘ประชาชน’ เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด เขาไม่มีทางสู้เพื่อคนอื่น มโนคติของพันธมิตรฯ ที่บอกว่าเขาต่อสู้เพื่อใครบางคน อันนั้นเป็นแนวทางที่มันไม่ใช่ความจริง แต่ถ้าเป็นอุดมคติที่บอกว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย ถึงแม้มันดูเป็นม็อตโต้ เป็นคำพูดซ้ำๆ แบบอัตโนมัติ หรือสำเร็จรูป แต่ประชาธิปไตย มันคือเรื่องของหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่มันเป็นจริง เพราะฉะนั้น ถ้าเราแปลสมการออโตเมติกอันสวยหรูว่า แต่ละคนสู้เพื่อตัวเอง มันก็เหมือนกับย้อนมาถึงคำถามที่ถามเรื่องการเข้ามาร่วมทางการเมือง ผมมาร่วมการเมือง ก็เหมือนกับทหารซึ่งอาสาสมัครรบเวลามีสงคราม แต่เขาไม่ได้สู้เพื่อชาติ เขาสู้เพื่อตรึงแนวรบ เพื่อชนะสงคราม หรืออย่างน้อย ข้าศึกจะไม่ทำร้ายลูกเมีย ไม่ทำลายไร่นาของเขา พูดตรงๆ ก็คือว่า การต่อสู้ที่แท้จริงคือการต่อสู้บนผลประโยชน์ของประชาชนคนตัวเล็กๆ ครอบครัวแต่ละครอบครัว เพื่อที่จะได้ยันฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มารุกรานครอบครัวของตัวเอง

ทีนี้หนึ่งหน่วย หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง หรือผลประโยชน์ของแต่ละคนของพลเมือง มันก็รวมเป็นอุดมคติที่ใหญ่ คือ สังคมไทยทุกวันนี้ หนึ่งหน่วย หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่แต่ละคนออกมาสู้เพื่อตัวเอง สู้เพื่อชิงอำนาจของตัวเอง สู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง มันคือเส้นทาง หรือรอยเท้าแต่ละรอยที่สะสมกัน เพื่อนำไปสู่อุดมคติใหญ่ที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยของพลเมือง’



“ถ้าคุณชนะสงครามสื่อ มวลชนคุณจะจริงหรือปลอมก็แล้วแต่…
คุณสามารถทำให้มันเป็นจริงได้...”


ถ้าใช้ตรรกะนี้ การต่อสู้อะไรก็ย่อมไม่มีทางผิด พันธมิตรฯ ต่อสู้กับการคอรัปชั่น เขาก็สู้เพื่อตัวเขาเหมือนกัน
เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สองแนวทางที่พูดถึงก็เหมือนเจียงไคเช็คกับเหมาเจอตุง พันธมิตรฯ ก็คือ เจียงไคเช็ก ชัดเจนมาก เขาต้องการสร้างความเป็นชาตินิยมเพื่อหลอมรวมมวลชน มันเป็นสูตรเดิม ไม่ว่าสังคมไหนก็แล้วแต่ ถ้าต้องการที่จะหลอมรวมมวลชนให้ได้รวดเร็ว ต้องหาศัตรูร่วมหรือผลประโยชน์ร่วมที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ความเป็นชาติ ความเป็นเชื้อชาติ อะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย การสร้างอสูรกาย ปีศาจขึ้นมา ยกตัวอย่างว่าเป็น ‘ทักษิณ ชินวัตร’ มันจะสร้างศัตรูที่จะเผชิญหน้า ให้สามารถแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน เพราะฉะนั้น มวลชนจึงจุดติดง่าย

ผมมองว่าการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ที่เขาเลือกแนวทางนี้ เพราะว่าเขาใจร้อน เขาไม่สามารถรอให้มวลชนสุกงอมจากกระเป๋าตัวเองได้ ผมใช้คำว่า ‘สุกงอมจากกระเป๋าตัวเอง’ ก็คือ ประชาชนทุกวันนี้ คนเสื้อแดง ทำไมจึงออกมา อย่างรายงานข่าวอันหนึ่งที่ผมเจอ ครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่ลูกสองคน มีคนไปถามว่า ทำไมคุณถึงออกมาต่อสู้ร่วมกับ นปช. ทั้งที่เขาไม่ได้สังกัดกลุ่มรักทักษิณเลย เขามาในฐานะส่วนตัว เขาบอกว่า ประสบการณ์ตรงที่ทำให้เขาต้องออกมาร่วมกับ นปช. เพราะว่าเขาได้ผลประโยชน์จาก 30 บาทรักษาทุกโรค คือลูกคนเล็กของเขาป่วยเป็นไข้เลือดออก ถ้าอยู่ในเงื่อนไขเดิมที่เขาเห็นจากตัวเองสมัยวัยเด็ก เห็นจากพ่อแม่ เห็นจากญาติพี่น้อง หรือเครือญาติที่เป็นชนชั้นล่างทั้งปวง กว่าคุณจะได้รับการรักษาพยาบาล กว่าจะอยู่ในภาวะที่หมดห่วงที่ว่าไม่ตาย โห มันเนิ่นนานมาก แต่ในขณะที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคไทยรักไทย มีนโยบายออกมาแล้วลูกเขาปลอดภัยในระยะเวลาอันสั้น เขาถึงสรุปว่า นี่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาที่มันเปลี่ยนไปจากยุคบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้น เขาจึงมาร่วมต่อสู้กับ นปช.

แต่ในขณะที่การเคลื่อนไหวมวลชนบางอัน เขาต้องการปริมาณในระยะเวลาที่รวดเร็ว อย่างให้ผมวิจารณ์พันธมิตรฯ การเคลื่อนมวลชนของเขาใช้การจัดตั้งที่ชัดเจน แต่เนื่องจากภาวะวิสัยทางมวลชน ส่วนใหญ่เขากลับเห็นดีเห็นงามจากนโยบายประชานิยมของไทยรักไทย เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ไม่สามารถชิงมวลชนจากประชานิยมมาได้ ดังนั้น ทางหนึ่งเขาจึงสร้างกระแสชาตินิยม และกระแสศัตรูร่วมของการหลอมมวลชนของเขา นี่ก็คือความต่าง

ที่คุณคิดซับซ้อน นั่นเพราะมันไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานความจริง คือ ความสุกงอมของประชาชน คุณจึงต้องมีกระบวนการจัดตั้งที่พลิกแพลงมากมาย เพื่อที่จะสะสมปริมาณ แล้วเอามาชูในสังคม แต่ภาวะวิสัยของสังคมไทยก็คือสื่อ และเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้พันธมิตรฯ สามารถสรุปได้เร็วมากว่า ถ้าคุณชนะสงครามสื่อ มวลชนคุณจะจริงหรือปลอมก็แล้วแต่…คุณสามารถทำให้มันเป็นจริงได้...

แล้วยิ่งเขาสรุปอารมณ์ของสังคมไทย หรือธรรมชาติของสังคมไทยที่มีฉันทาคติ อคติแบบหนึ่งๆ หรือชนชั้นที่แอบแฝงอยู่ เขาย่อมรู้ว่ามิตรของเขาในหมู่เมือง หรือในสังคมที่ทำเรื่องสื่อมีอยู่มากมาย พวกเขามีจริตเดียวกัน รสนิยมเดียวกัน อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ครูบาอาจารย์เถือกเขาเหล่ากอเดียวกัน เพราะฉะนั้นเขาคุยกันไม่ยาก เขาจึงเลือกแนวทางที่มันลัด มวลชนของเขาไม่ได้สุกงอมจริง แต่ได้มาปริมาณหนึ่งที่จะโชว์ภาพได้ว่ามีขนาดเท่านี้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องการติดต่อ connection ที่คุยกันง่าย เพราะรสนิยม และพื้นฐานการศึกษาแบบเดียวกัน ตรงนี้เป็นแนวทางลัด แต่ไม่ได้หมายความว่า แนวทางนี้จะไม่สามารถยกระดับมาสู่แนวทางที่เป็นจริง เหมือนกับที่ นปช.ทำ



“ผมมีข้อมูลของคนที่ผมต้องการเผชิญหน้า ผมดูเอเอสทีวี แม้แต่การชุมนุมครั้งที่ผ่านมา
มันไม่ได้ไง ที่เราจะคับแคบจนไม่ยอมรับการมีอยู่ของฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วย
หรืออคติจนมองเห็นว่าเขาไม่มีดีเลย
เช่นที่ผมบอกข้อดีของเขา เช่น เขาจุดประเด็นสภาสาขาอาชีพ เป็นเรื่องถูกต้อง
แต่ไม่ใช่เปลี่ยนสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นสภาสาขาอาชีพเลย
เพราะทันทีที่คุณเปลี่ยนเลย มันมีปัญหากับโครงสร้าง”

ผมเองก็ยอมรับว่า นปช. ก็มีการผสมหลายส่วน แนวทางที่จัดตั้ง แต่มันเป็นส่วนที่น้อย หรือแนวทางที่ยึดติดกับตัวบุคคล คนรักทักษิณ แต่คนที่รู้สึกว่าต่อสู้มาจากกระเป๋า ต่อสู้มาจากสุขภาพ ต่อสู้มาจากบ้านเรือนของตัวเองนั้นมีไม่น้อย และพอถึงจุดหนึ่ง ทุกคนอยากหาเพื่อน บางคนเริ่มต้นด้วยการต่อสู้ส่วนตัว แต่ก็เข้าไปสังกัดกลุ่มคนรักทักษิณ หลักการอธิบายเหตุผลมันอย่างเดียวกัน

และการเมืองใหม่ของพันธมิตร จะล้มเลิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วแทนที่ด้วยสภาประชาชน ผมบอก มึงจะบ้าเหรอ ราษฎรมันก็คือประชาชน ทำไมคุณจะเปลี่ยนให้มันวุ่นวาย ทำไมไม่ส่งเสริม อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับเรื่องหนึ่งของพันธมิตรฯ คือ เรื่องผู้แทนจากแต่ละสาขาอาชีพ ตอนนี้กลายเป็นว่า ส.ส.ที่ควรจะเป็นคือ ส.ส.ปกติจากเขตเลือกตั้ง ส.ส.สัดส่วน วุฒิสมาชิก ทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง แล้วก็เพิ่ม ส.ส.จากสาขาอาชีพ โดยทำทะเบียนเลยว่า ประชาชนมีอาชีพอะไรเท่าไร แล้วให้เขาเลือกตั้งในสาขาอาชีพเขา เราจะมีผู้แทนเพิ่มเข้ามาอีก 250 คน หรือ 500 คนก็ได้ ประชาชนจะมี 2 คุณภาพ ในฐานะพลเมืองปกติกับพลเมืองสังกัดอาชีพ ถามว่า เพิ่มมาเยอะขนาดนี้ไม่บ้าไปกันใหญ่หรือ ผมว่าคุณสิบ้า ทุกวันนี้ผู้แทนไม่สามารถรับใช้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง อัตราประชาการของเรา 60 กว่าล้านคน เพิ่มผู้แทนมาอีก 500 คน ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ

ตอนนี้เรากำลังถูกดึงโดยการจำกัดจำเขี่ยทั้งปวงของอำนาจประชาชน ผู้แทน 500 คนก็เหลือ 480 คน เอาทุกอย่าง 20 ก็เอา คุณเป็นนักข่าวเป็นอะไรกัน เคยมีคำถามไหม อ้าว เหตุผลที่มันหายไปเพราะอะไร การแบ่งเขตการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 50 มันชัดเจนมากว่าเพื่อส่งเสริมใครและทำลายใคร



“ถึงที่สุดเรายังต้องกลับมาตีความคำว่า “ผู้แทนราษฎร” ด้วย
เขาคือตัวแทนของเรา แต่ปัญหาสังคมไทย 3-4 ปี ทุกวันนี้คือ
คุณพยายามทำลายประชาชนนั่นแหละ แต่ทำลายมาทีละขั้น
แล้วปัญญาชนชั้นกลางก็ไม่รู้ว่าถูกชี้นำให้ทำลายบันไดขั้นแรกคือ ผู้แทนราษฎร
ซึ่งขั้นสุดท้ายมันก็คือประชาชน”

คุณศึกษาแนวทางของพันธมิตรฯ ของเอเอสทีวีด้วยใช่ไหม
คนที่ทำงานในเอเอสทีวีผู้จัดการก็พี่น้องผมหลายคน สมัยที่พันธมิตรฯ เคลื่อนมวลชน ผมก็ยังได้ป้าย VIP ที่เข้าไปหลังเวทีได้ พูดตรงๆ เวทีพันธมิตรฯ เป็นเวทีของอภิชน คุณจะเป็นใครก็ได้ ถ้าคุณมีต้นทุนทางสังคมแล้วต่อคอนเน็กชั่นได้ ผมมีข้อมูลของคนที่ผมต้องการเผชิญหน้า ผมดูเอเอสทีวี แม้แต่การชุมนุมครั้งที่ผ่านมา แต่มันไม่ได้ไง ที่เราจะคับแคบจนไม่ยอมรับการมีอยู่ของฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วย หรืออคติจนมองเห็นว่าเขาไม่มีดีเลย เช่นที่ผมบอก ข้อดีของเขาคือเขาจุดประเด็นสภาสาขาอาชีพ เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ไม่ใช่เปลี่ยนสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นสภาสาขาอาชีพเลย เพราะทันทีที่คุณเปลี่ยนเลย มันมีปัญหากับโครงสร้าง เพราะผู้แทนของเราส่วนหนึ่งเป็นผู้แทนในระบบเก่า เหมือนชนชั้นหมอผีในสังคมบรรพกาล ทันทีที่คุณเป็นหมอผี คุณไม่ต้องทำนา ไม่ต้องทอผ้า ทันทีที่คุณเป็นผู้แทน คุณมีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ต่อสู้เพื่อประชาชนที่เขาเลือกคุณมา คุณไม่มีเวลาไปทำมาหากินส่วนตัว ส่วนใหญ่แล้วคุณไม่มีสภาวะของผู้ประกอบอาชีพ ฉะนั้น ผู้แทนก็กลายเป็นอภิชนเกือบหมดโดยสิ้นเชิง อาจยกเว้นสมัยคุณจำลอง ดาวเรือง คุณเตียง ศิริขันธ์ ต้องยอมรับว่าพวกนี้ยังยืนหยัดอยู่บนชนชั้นและที่มาที่ไปของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ทันทีที่คุณเข้าสู่รัฐสภา คุณได้ชีวิตที่ดีกว่า และคุณสมควรได้ เพราะคุณเป็นผู้แทนของประชาชน บางครั้งเราต้องเข้าใจสถานภาพของการเป็นตัวแทน คนพวกนี้เราเลือกมาใช้ชีวิตที่ดีกว่าแทนเรา เพื่อกลับมารับใช้พวกเราซึ่งเป็นประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ให้ชีวิตมันดีใกล้เคียงกับชีวิตที่ดีซึ่งมีน้อย

ถึงที่สุดเรายังต้องกลับมาตีความคำว่า “ผู้แทนราษฎร” ด้วย เขาคือตัวแทนของเรา แต่ปัญหาสังคมไทย 3-4 ปีทุกวันนี้คือ คุณพยายามทำลายประชาชนนั่นแหละ แต่ทำลายมาทีละขั้น แล้วปัญญาชนชั้นกลางก็ไม่รู้ว่าถูกชี้นำให้ทำลายบันไดขั้นแรกคือ ผู้แทนราษฎร ซึ่งขั้นสุดท้ายมันก็คือประชาชน พูดง่ายๆ ตอนนี้มีปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางคนแพลมออกมาในข้อเขียนของตัวเองว่า ไม่ได้เรียกการเมืองการปกครองในประเทศไทยว่าประชาธิปไตย เรียกว่า ...อธิปไตย คุณไปรื้อดูได้ยังอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์บางเล่ม



“รูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะนำ มันก็มีส่วนใหม่ แต่จะว่าล้าหลังก็มีส่วนล้าหลัง
ผมขออธิบายคำว่า “ล้าหลัง” ว่า ยังมีบุคลิกของการทำมวลชนทางลัด
คือ ใช้วิธีการของ ส.ส. ใช้เครือข่ายพรรคการเมือง หัวคะแนน
จัดตั้งมวลชนขึ้นมา รูปแบบนี้ล้าหลัง แต่มันก็จำเป็นในระยะแรก
สรุปว่า ผมยอมรับไอ้ทฤษฎีการจัดตั้งเต็มที่อยู่แล้ว
แต่ความก้าวหน้าของ นปช. ที่ทำให้ในที่สุด
ระดับนำหรือแกนนำในการเคลื่อนไหวมวลชนต้องละล้าละลัง ก็คือ
ความก้าวหน้ามันอยู่ที่มวลชน มวลชนสุกงอม”


รูปแบบและเนื้อหาการเคลื่อนไหวของ นปช. มีอะไรใหม่บ้าง
รูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะนำ เหมือนกับจะพูดว่าใหม่ มันก็มีส่วนใหม่ จะว่าล้าหลังก็มีส่วนล้าหลัง ผมขออธิบายคำว่า ‘ล้าหลัง’ ว่ายังมีบุคลิกของการทำมวลชนทางลัด คือ ใช้วิธีการของ ส.ส. ใช้เครือข่ายพรรคการเมือง หัวคะแนนจัดตั้งมวลชนขึ้นมา รูปแบบนี้ล้าหลัง แต่มันก็จำเป็นในระยะแรก สรุปว่าผมยอมรับไอ้ทฤษฎีการจัดตั้งเต็มที่อยู่แล้ว แต่ความก้าวหน้าของ นปช. ที่ทำให้ในที่สุดระดับนำหรือแกนนำในการเคลื่อนไหวมวลชนต้องละล้าละลังก็คือ ความก้าวหน้ามันอยู่ที่มวลชน มวลชนสุกงอม ซึ่งไม่ได้หมายความว่า สุกงอมจากความคิด ทฤษฎี แต่สุกงอมจากพื้นฐานข้อจำกัดการปะทะทางชีวิตรายวันแล้วได้รับการสะกิดความคิด ผมไม่อยากพูดว่า เป็นการให้การศึกษานะ แต่อย่างที่คุณสุรชัย แซ่ด่าน ทำ ผมมองว่า เขาทำได้ดีที่สรุปทฤษฎีเพื่อประชาชน เพื่อสังคมทั้งปวง แล้วเอามาย่อยด้วยภาษาง่ายๆ สำหรับส่งให้ชาวบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่การให้การศึกษา มันเป็นการแค่สะกิด

อันนี้พูดถึงความสุกงอมของมวลชนที่เหมือนกับตอนแรก เริ่มต้นจากความห่ามๆ พอสะกิดนิดหนึ่ง มันสุกเลย ขณะที่ฝ่ายการเมืองเองยังก้าวหน้าไปไม่เท่า หลายคนขึ้นมาระดับ mass เป็นขวัญใจของมหาประชาชน แต่เขายังมองว่า มหาประชาชนคือผลผลิตในฤดูเก็บเกี่ยว แล้วเขาถือเคียวเพื่อที่จะไปเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นมาเป็นคะแนนเสียง หรือเป็นฐานสนับสนุนในการเริ่มต้น ตั้งแต่นักการเมืองท้องถิ่น ส.ส. จนถึงระดับรัฐมนตรี แล้วทันทีที่มันมีบุคลิกแบบฝ่ายการเมือง ความเห็นแก่ตัวอย่างนี้ทำให้มีทิศทางการมองต่างกันไป

อย่าง นปช.ทุกวันนี้ ทิศทางหนึ่งในการเคลื่อนมวลชน อำนาจการนำอยู่ในฝ่ายการเมือง ซึ่งมีความพร้อมทั้งการจัดตั้งพื้นฐาน คะแนนเสียงในภูมิภาคหรือในชนบท อีกส่วนหนึ่งอำนาจการนำอยู่ในภาคประชาชนซึ่งพวกนี้เป็นนักเคลื่อนไหวที่มีประวัติศาสตร์ มีต้นทุนมาจากการเคลื่อนไหวของสังคมไทยอยู่แล้ว ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ บางคนเคลื่อนไหวโดยที่ไม่มีบทบาทมาตั้งแต่สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ ตอนนี้แก่มาก แต่ก็ยังผลิตรุ่นลูกรุ่นหลานรุ่นเหลนออกมาเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ เป็นถั่วงอกใหม่ๆ ที่ออกมารับใช้สังคม

โดยสรุปว่ามีสองส่วนนี้ ส่วนหนึ่งยังมีปัญหาคลุมเครือที่ถูกวิพากษ์ได้เสมอ คุณต่อสู้เพื่อตัวเอง คุณต้องการลงไปเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อใส่ยุ้งฉางที่บ้านคุณ ในขณะที่อีกแนวทางหนึ่งที่เป็นภาคประชาชน ต้องการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อมาเป็นยุ้งฉางกลางแล้วแจกจ่ายแต่ละมวลชน หรือแต่ละครัวเรือน เพราะฉะนั้น ทั้งสองอันนี้จึงทำให้การเคลื่อนไหวของ นปช.ดูไม่เนียน ดูกระด้างกระเดื่อง ไม่สามารถหลอมรวมได้กลมกลึง


“การเมืองเก่าต้องส่งเสริมอย่างจริงใจและจริงจัง
ปัญหาของสังคมไทยคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ทุกอย่างเล่นละครกันโดยสิ้นเชิง”


มองสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองใหม่” ยังไง
คำว่า การเมืองใหม่ถูกจุด แพร่ขยายเชื้อวงกว้างโดยเวทีของพันธมิตรฯ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมมองว่าสังคมไทยมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังไปไม่ถึงจุดอิ่มตัวกับของที่มีอยู่แล้ว เหมือนว่าคุณต้องใช้ภาชนะอันหนึ่งให้คุ้มค่า ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ ผมกำลังพูดถึงการเมืองเก่า พูดตรงๆ นะครับ ไอ้ประชาธิปไตยของเมืองไทย ถ้าหากมันเป็น เพราะตอนนี้ก็มีการถกเถียงกันในระดับนักวิชาการระดับสูงว่า จริงๆ ตามรัฐธรรมนูญมันเป็นประชาธิปไตย หรืออะไรอธิปไตย สมมติว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าโดยโครงสร้างอำนาจการปกครองมันยังใช้ได้ก็ควรใช้ ผมเองมองย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า เรายังไม่ต้องหาของใหม่ เอาของเก่ามาใช้ แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 มีจุดบอดในโครงสร้างคร่าวๆ ที่ยังมีรายละเอียดต้องปรับเปลี่ยนอีกหลายส่วน คร่าวๆ ที่เห็นก็คือว่า องค์กรอิสระทั้งปวงต้องมาจากการเลือกตั้งด้วย

ยกตัวอย่างศาลรัฐธรรมนูญ คุณก็ต้องให้เลือกตั้งเหมือน ส.ส.นี่แหละ เพียงแต่คุณอาจระบุคุณสมบัติไปว่า ต้องจบกฎหมาย หรือว่าไม่จบก็ได้ เป็นประชาชน ใบสมัครมี 2 ประเภท ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาสมัครได้เลย ผู้ไม่มีวุฒิการศึกษา เรามีแบบทดสอบเบื้องต้นที่เหมือนการสอบใบขับขี่ ถ้าคุณสอบผ่าน คุณมีสิทธิสมัครเป็นคณะกรรมการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างใช้การเลือกตั้ง กกต.ก็ด้วย ทุกวันนี้เป็นลักษณะการแทรกแซงจากการแต่งตั้ง แต่จริงๆ แล้วการแทรกแซงก็เกิดขึ้นได้ การเลือกตั้งก็แทรกแซงได้ ซึ่งจากประวัติศาสตร์เราก็มี แต่การแต่งตั้ง มันไม่เคลียร์มากกว่า ซึ่งถ้าคุณออกแบบโครงสร้างทุกอย่างให้มาจากประชาชนมันจะแข็งแรงขึ้น

ที่นี้ผมก็อยากพูดถึงการเมืองเก่า คุณทำให้มันสมบูรณ์ก่อนสิ หรือใช้ให้มันเปล่งศักยภาพสูงสุดเสียก่อน อย่างเช่นคุณมีสิ่วอย่างดีที่คมมาก แต่คุณใช้แค่ทำไม้จิ้มฟัน คุณไม่เคยเอาสิ่วไปใช้ให้เปล่งศักยภาพสูงสุดเพื่อแกะสลักประติมากรรมมาสักอันหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ผมมองว่า ‘การเมืองเก่า’ ต้องส่งเสริมอย่างจริงใจและจริงจัง ปัญหาของสังคมไทยคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นจริง ทุกอย่างเล่นละครกันโดยสิ้นเชิง คำว่า ‘ไม่ส่งเสริมอย่างจริงจัง’ คือ เราใฝ่ฝันและปรารถนาที่จะเห็นยอดผู้มาใช้สิทธิเต็ม 100% หรือใกล้เคียง 100% กันทั้งนั้น แต่เราไม่มีนโยบายที่จริงจังที่จะส่งเสริมยอดผู้มาใช้สิทธิ นโยบายที่มันตอแหล ทุ่มงบไปให้ กกต.โหมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี ผมเห็นว่ามันเป็นนโยบายที่ลวงและตอแหล เงินก้อนนี้ เป็นเงินหลายล้านบาท คุณลองไปเช็คนะ ผมไม่แน่ใจว่ามันอาจเป็นพันล้านบาท เงินก้อนนี้คุณเอามาแบ่งให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งดีกว่า จะหารได้เท่าไหร่ก็แล้วแต่ จะ 200 หรือ 500 บาท ระบุไปในรัฐธรรมนูญเลยว่า ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทุกสมัยมีสิทธิได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลคนละเท่าไหร่ เป็นค่าชดเชยการหยุดงาน เป็นค่าการเดินทาง เป็นค่าอะไรทั้งปวง ที่สุดคุณก็จะเลิกอ้างกันเรื่องพลังเงียบซะที ทุกวันนี้ยอดผู้มาใช้สิทธิ 60 หรือ 70% เขาก็ถามถึง 40% หรือ 30% ที่เหลือ เลิกเบี่ยงเบนให้เฉไฉ คุณเปิดเผยพลังเงียบกันด้วยวิธีนี้เลย ที่สุดใครจะเอาทักษิณหรือไม่เอา เขาจะเอาประชาธิปไตย หรือ อำมาตย์ โดยปริมาณ โดยสถิติ จะประจานกันเองว่าอะไรคือความจริง

ทุกวันนี้ มีอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตย คือการห้ามขายเหล้าในวันเลือกตั้ง ทำไมผมพูดจาผิดปกติเช่นนี้ นอกจากคุณให้เงินประชาชนในการมาใช้สิทธิการเลือกตั้งแล้ว คุณต้องให้ประชาชนรู้ค่าวันเลือกตั้ง ทำให้รู้สึกเหมือนเป็น Festival เป็นมหกรรมเฉลิมฉลองที่ทุกคนหยุดงานหมด หลังจากออกไปเลือกตั้งเสร็จ ทุกคนมีเงินออกไปกิน ดื่ม เพื่ออะไร เพื่อแสดงว่าประชาชน แม่งเป็นใหญ่ที่สุด ประชาชนสามารถสำมะเลเทเมา หรือว่าทำอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราส่งเสริมให้ประชาชนสำมะเลเทเมา แต่เราต้องการสื่อสารให้ประชาชนเขาเห็นถึงอำนาจของเขาว่า จริงๆ คนที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน คือ เขา ไม่ใช่ให้อภิชนปิดห้องกินไวน์ชั้นดี ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง หรือว่ามั่วเสพยาเสพติดกัน การสำมะเลเทเมาของมวลมหาชนนั้น ไม่ต้องห่วงมันจะคุมเชิงกันเอง สังคมจะตรวจสอบกันเอง ทุกคนมีเงินบางส่วนเท่านั้น มันจึงจะมากินเหล้าหรือสุดฤทธิ์สุดเดชกับความฟุ่มเฟือยเท่าที่มี เงินเหล่านี้จะทำให้ชีวิตที่มีข้อจำกัด หรือชีวิตที่อาภัพบางชีวิตมีโอกาสเพิ่มขึ้น เงิน 500 บาทสำหรับการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง อาจเป็นนมผงชั้นดีหนึ่งกระป๋อง เป็นอะไรหลายอย่าง คำพูดของผมเป็นการฉีกหน้ากากอภิชนชั้นสูงที่เตะสกัดประชาธิปไตยมาโดยตลอด ด้วยการไม่ได้ส่งเสริมอย่างจริงจัง


“เราแสวงหาความใหม่โดยเครื่องมือเก่ายังไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่
เพราะมีกลุ่มคนที่จะเตะสกัดถ่วงมันไว้
เราจึงต้องทำลายวาทกรรมว่าผู้แทนเลวเสียก่อน”

ที่ผ่านมาการเลือกตั้งเป็นเรื่องพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ใครก็รู้อยู่แล้ว ต่อมาพันธมิตรฯ เขามาอีกกระแสหนึ่ง โดยมีเอ็นจีโอและภาคประชาชนร่วม โดยพยายามผลักดันเรื่องการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน เช่น การต่อสู้กับโครงการที่กระทบกับคนในพื้นที่ มันก่อตัวมาจากเรื่องพวกนี้ด้วยจนกลายเป็นวาทกรรมใหญ่ว่า แนวทางแบบพันธมิตรฯ นี่แหละ คือการเข้าสู่ประชาธิปไตยที่เหนือกว่าประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง 4 นาทีในคูหาเลือกตั้ง
เราแสวงหาความใหม่โดยที่เครื่องมือเก่ายังไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่ เพราะมีกลุ่มคนที่จะเตะสกัดถ่วงมันไว้ เราจึงต้องทำลายวาทกรรมว่าผู้แทนเลวเสียก่อน พูดง่ายๆ ทุกวันนี้ ทำไมผู้แทนบางคนแม่งเลว โอเค ที่เลวโดยสันดานมีอยู่ แต่บางคนเสียคน เพราะการประจบสอพลอของบริวาร ผู้แทนแต่ละคนมีที่ปรึกษา แต่ทันทีที่สังคมสร้างวาทกรรมให้ว่าผู้แทนเลว มันก็จะไม่มีปัญญาชนเข้าไปทำงานให้ผู้แทนไปโดยปริยาย ผู้แทนบางคนอาจจะแย่ แต่มันกลายเป็น Symbol (สัญลักษณ์) ของท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะทำงานไม่ได้ รับใช้ประชาชนไม่ได้ ถ้าเอาความเป็นขวัญใจของประชาชนมารวมกับคณะทำงานซึ่งมีปัญญาชนกลุ่มหนึ่งอุทิศตัวเข้าไปรับใช้ไอ้คนนี้ ผู้แทนทุกคนจะยกระดับตามวันและเวลา ยิ่งประชาธิปไตยในเมืองไทยเบ่งบานเท่าไหร่ ผู้แทนที่ดีก็จะมีมากขึ้น ส่วนไอ้ที่เลวก็จะดี ไอ้ที่ล้าหลังก็จะอัพเกรด

ทัศนคติต่อนักการเมืองเป็นปมสำคัญ ในช่วงพันธมิตรฯ ที่ทำการตรวจสอบทักษิณในช่วงแรก ก่อนไปสู่การเรียกร้องมาตรา 7 คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า นักการเมืองเลว และยิ่งกว่านั้นคือประชาชนกำลังคุมนักการเมืองไม่ได้ เพราะทักษิณมีอำนาจมาก ขณะที่ระบบตรวจสอบก็มีช่องโหว่มาก ทำไมคุณจึงเชื่อว่า ประชาชนคุมนักการเมืองได้ และเชื่อว่านักการเมืองพัฒนาได้
ถ้าคุณพูดถึงพรรคไทยรักไทย พวกเราติดกับอคติอยู่นะ นโยบายของไทยรักไทย ทำให้คนกลุ่มเล็กเท่านั้นที่เสียผลประโยชน์ แม้แต่เราเองก็ได้ประโยชน์ แต่เราไปมีอารมณ์ร่วมกับคนเสียผลประโยชน์ โดยผ่านคอนเนคชั่นของข้อมูลข่าวสาร ผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัว ประโยชน์ของพวกคุณคืออะไร พวกคุณคือคนหนุ่มคนสาวที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือเพื่อนนักเขียนหลายคน ทุกวันนี้ไม่ได้ทำงานประจำที่ไหน เป็นนักเขียนอิสระ นโยบายไทยรักไทยที่สอดคล้องกับชีวิตพวกคุณที่กำลังก่อร่างสร้างตัว คือ บ้านเอื้ออาทร และ 30 บาทรักษาทุกโรคแต่บ้านเอื้ออาทรกลับถูกทำให้กลายเป็นสิ่งเหินห่างกับพวกคุณ ถูกทำให้พวกคุณไม่ใช่กลุ่มลูกค้า ทั้งที่บ้านเอื้ออาทรคือพวกคุณเลย แต่คำว่าเอื้ออาทรมันดูเป็นลูกทุ่งไง มันล้าสมัย

ตรงนี้ผมมองแล้ว ที่สุดหลายอย่างเป็นเรื่องการขัดผลประโยชน์ ผมอยากพูดถึงวิธีมองของมาร์กซิสม์ในเรื่องสังคม คู่ขัดแย้งหลัก คู่ขัดแย้งรอง ถ้าพูดถึง 14 ตุลา 6 ตุลา ตอนนั้นยังไม่ใช่ลักษณะความขัดแย้ง ถึงแม้ว่าจะมีคนทุกข์ยาก ลำบากยากจนจริง แต่กระแสชาตินิยมอะไรมันยังแรงมาก เพราะฉะนั้นการรู้ตื่น รู้เบิกบานของประชาชนนั้นมีความคลุมเครือ แล้วเขาก็ต่อไม่ติดกับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) หรือว่าทฤษฎีฝ่ายก้าวหน้าที่นำโดยกลุ่มปัญญาชนนักศึกษา แล้วกลุ่มนั้นก็เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งมาก่อนกาล คำว่า ‘มาก่อนกาล’ ที่ผ่านมา เราใช้กับผู้อภิวัตน์อย่างนายปรีดี (ปรีดี พนมยงค์) หรือว่าเสรีไทย หรือว่ากลุ่มในเครือข่ายนายปรีดีที่ก้าวหน้า หรือแม้แต่ ‘บุษบา ท่าเรือจ้าง’ หรือ ‘นรินทร์ กลึง’ คนขวางโลก ตอนนั้นอัตวิสัยของปัญญาชนสุกงอม แต่ภาวะวิสัยของประชาชนยังไม่สุกงอม ที่สุด พคท.ก็ล่มสลายไป กลุ่มความคิดก้าวหน้าก็ล่มสลายไป แล้วที่สุดก็สวิงกลับมาเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมในปีปัจจุบัน ขณะที่ทุกวันนี้ภาวะวิสัยมันสุกงอม แต่เรากลับไม่มีกลุ่มปัญญาชนที่จะลงไปรับใช้เขาในปริมาณที่พอสมควรที่จะทัดทานความล้าหลังของนักการเมืองที่กุมทรัพยากรและอำนาจบางอย่างไว้


“สังคมไทยเป็นสังคมไร้สติที่คุณไม่ให้โอกาสกับกลุ่มความคิดที่ก้าวหน้า
ทันทีที่คุณเห็นว่า สังคมกำลังเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่แปลกใหม่
คุณหากระบวนการแทรกแซงและล้มทันที
คุณเอาสิ่งที่มีมาไม่ถึงสิบปี
ไปเทียบกับพัฒนาการหลายอย่างๆ ของต่างประเทศไม่ได้”

การเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ มันเจือปนอคติมากเกินไปหรือ
ผมพยายามบอกว่า สมัย 14 ตุลา กับ 6 ตุลา มันยังไม่มีความชัดเจนในคู่ขัดแย้งหลัก พูดตรงๆ มันยังเป็นคู่ขัดแย้งรองด้วยซ้ำ ผมมองว่าปัญญาชนทะเลาะกับอำนาจรัฐแค่นั้น ปัญญาชนคิดแทนชาวบ้าน ว่าชาวบ้านเสียเปรียบ ยากจน แต่ยังไม่สามารถปลุกเร้าให้เขาตื่นฮือได้ทั้งประเทศเหมือนกับปัจจุบัน เพราะฉะนั้น มันเหมือนกับปัญญาชนทะเลาะกับอำนาจรัฐเท่านั้น

แต่ถึงรัฐบาลทักษิณ มันมี 2 ลักษณะ คือคู่ขัดแย้งหลักมันออกมาเคลื่อนไหวการเมือง ตามแรงผลักดันของกระเป๋าตังค์ ตามสุขภาพของลูกเมีย ตามข้าวที่หายไป ตามเสาเรือนที่แม่งโยกโย้เย้แล้วไม่สามารถหาเงินมาซ่อมบำรุงได้ กับคู่ความขัดแย้งรอง คือการขัดแย้งระหว่างชนชั้นสูงกับทักษิณ ซึ่งต้องยอมรับว่าทักษิณก็คือชนชั้นสูงเช่นกัน เขาพัฒนาตัวเองจากพ่อค้า ที่สุดมาได้อำนาจรัฐ ที่สุดมาพัฒนารสนิยมจริตอะไรหลายอย่าง ทักษิณขัดแย้งกับชนชั้นสูงบางคน ที่สุดก็เกิดการปะทะกัน แต่พอถึงจุดหนึ่งทักษิณเห็นภาวะวิสัยที่สุกงอมของประชาชน หรือว่า ทักษิณเอง หรือว่า ทีมงานของไทยรักไทยเองนั่นแหละที่เอื้อให้เกิดภาวะสุกงอมผ่านนโยบายประชานิยม

สิ่งหนึ่งที่เราต้องมาไตร่ตรองกันคือ เวียดนาม กว่าอำนาจจะเป็นของประชาชน ไม่ว่าจะปลดปล่อยจากฝรั่งเศส ไม่ว่าจะปลดปล่อยจากรัฐบาลอนุรักษนิยม ไม่ว่าจะปลดปล่อยออกจากกลุ่มอภิชน ทั้งหลายทั้งปวงกินเวลาเกือบร้อยปี แต่พัฒนาการเมืองไทยสมัยใหม่ที่นำโดยไทยรักไทย มันเกิดขึ้นแค่ 6-7 ปี สังคมไทยเป็นสังคมไร้สติที่คุณไม่ให้โอกาสกับกลุ่มความคิดที่ก้าวหน้า ทันทีที่คุณเห็นว่า สังคมกำลังเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่แปลกใหม่ คุณหากระบวนการแทรกแซงและล้มทันที คุณเอาสิ่งที่ไม่มีมาถึงสิบปีไปเทียบกับพัฒนาการหลายอย่างๆ ของนานาชาติของต่างประเทศไม่ได้

สิ่งที่ผมพูดก็คือคู่ขัดแย้งรอง นั่นคือการทะเลาะกันของอภิชน ที่สุดอภิชนฝ่ายหนึ่งก็ไปอยู่กับประชาชน หรือการสะกิดที่ผมพูดถึง ที่สุดชนชั้นนำที่แพ้พ่ายมาในสมรภูมิหอคอย แล้วลงมาอยู่กับมหาประชาชน ลงไปสะกิดมหาประชาชนที่ห่างอยู่ให้สุกงอมไปเลย

บางครั้งความสำคัญของการสะกิดก็ไม่ได้มากมายมหาศาล เพียงแต่เขาถูกพรากสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นโลกใหม่ไปจากเขา ก็คือประชานิยม อยู่ๆ คุณกำลังจะมีชีวิตใหม่ มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง แต่พอรัฐประหาร สิ่งนั้นหายไปจากคุณ นี่คือการที่ทุกคนต่อสู้มาจากกระเป๋าของตัวเอง อย่างเช่นที่อุดรธานี มีคนที่ส่งลูกไปเรียนเยอรมัน ไปเรียนฝรั่งเศส รัฐประหารเสร็จระงับทุน มันคือการเสียผลประโยชน์ส่วนตัว

นี่แหละการต่อสู้ของ นปช.ที่ออกมาต่อสู้ ต่อต้านรัฐประหาร 2549 ส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่เลยมาจากการเสียผลประโยชน์ส่วนตัว เงินกองทุนหมู่บ้าน ถึงแม้จะมาซื้อโทรศัพท์ ซื้อมอเตอร์ไซด์ก็แล้วแต่ ประเด็นคือ ปีก่อนกูได้ แต่พอรัฐประหารเสร็จกูไม่ได้

หมายเหตุ;ที่มาของบทสัมภาษณ์จากประชาไท 9 ส.ค. 2552 
www.prachatai.com/node/25391

ฟังนักวิชาการตอบโจทย์ บริโภคนิยมทำคนงานไทยใจไม่สู้

ฟังนักวิชาการตอบโจทย์ บริโภคนิยมทำคนงานไทยใจไม่สู้
Submitted by admin on Wed, 01/11/2006 - 11:11

รองศาสตราจารย์ศิวรักษ์ ศิวารมย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อรรคพล สาตุ้ม .. รายงาน

ในการสัมมนาหัวข้อ ?คนรุ่นใหม่กับการปฏิรูปการเมือง? ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น ได้มีการเสวนาหัวข้อ ?วัฒนธรรมกับการบริโภค : ความหมายกับการเคลื่อนไหวในโลกสินค้า? ซึ่งมี รศ.ดร.ศิวรักษ์ ศิวารมย์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ และสถาบันสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรนั้น

เสนอทุนผลิตสินค้าเพิ่มคุณค่าการบริโภค

อาจารย์ศิวรักษ์มีแง่มุมต่อ ?การบริโภค? และ ?แรงงาน? ที่น่าสนใจโดยเสนอว่า แต่เดิมระบบทุนนิยมไม่ได้รับอิทธิพลของการออกแบบสินค้า ทุนนิยมเพียงแต่เปลี่ยนสินค้าจากเพื่อประโยชน์ของการใช้สอยและได้เพิ่มความปรารถนาเข้าไป จากนั้นจึงได้สร้างคุณค่าให้กับสินค้านั้น

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx ? นักวิชาการ, นักปฏิวัติสังคมนิยม ผู้เขียนแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1848) ได้อธิบายสังคมทุนนิยมในยุคของตนว่า มีการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรง การค้าและอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างขนานใหญ่ ทำให้ระบบตลาดและการแลกเปลี่ยนเป็นแก่นสาระสำคัญของสังคม วัตถุถูกทำให้กลายเป็นสินค้าเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนด้วยการกำหนดมูลค่าแลกเปลี่ยน (ราคา) วัตถุนอกจากจะมีคุณค่าตามประโยชน์ใช้สอย ยังถูกกำหนดคุณค่าด้วยการตีราคาเพื่อใช้แลกเปลี่ยนตามหลักการแบ่งงานกันทำ ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมทุนนิยมถูกทำให้เป็นสินค้าแม้กระทั่งแรงงานมนุษย์

ทุนนิยมสร้างวัฒนธรรมการบริโภค กินแล้วยกฐานะ

ยุคต่อมาได้มองแง่มุมเกี่ยวกับสินค้าต่างกันออกไป โดยอาจารย์ศิวรักษ์ได้กล่าวถึงกรณีของเยอรมันตะวันออก กำแพงเบอร์ลินพังทลาย สังคมนิยมได้เปลี่ยนจากการเข้าแถวเพื่อรอซื้อสินค้า เช่น กางเกงยีนยี่ห้อลีวาย ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมากในสังคมเยอรมัน เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของปัจเจกที่ถูกวัฒนธรรมทุนนิยมปรับตัวเข้ามาสร้างวัฒนธรรมบริโภค คือไม่ใช่แค่มนุษย์กินเพราะจำเป็นหรือหิวข้าวอย่างเดียว แต่ได้มีการขยับซ้อนความหมายของความปรารถนาให้มากกว่าความต้องการทางกายภาพ เช่น ต้องดูดี แต่ใช้เงินซื้อ เช่น กินแมคโดนัลด์แล้ว เกิดความรู้สึกว่าได้ยกฐานะของตนเอง

คาร์ล มาร์กซ์ เคยอธิบายเรื่อง ความแปลกแยกในโรงงานเอาไว้ว่า การผลิตสินค้าเหมือนเดิมทุกๆ วันของคนงานในโรงงานนั้น จะทำให้คนงานแปลกแยกกับวัตถุ แต่ทุนนิยมได้แก้ไขปัญหาของตัวมันเอง คือมันมีการผลิตสินค้าโดยตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหาความแปลกแยกจากการผลิต โดยตอบโจทย์ปัญหาผลิตสินค้า คือมันผลิตโทรศัพท์มือถือ ที่ถ่ายรูปและฟังเพลงได้ และคนงานก็ได้หลงใหลกับความแปลกแยกนั้นคือปลื้มกับการบริโภคสินค้าด้วยว่า มีสินค้าที่รองรับจากความแปลกแยกนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุในโทรศัพท์มือถือเอง

?ทำให้คนงานคิดว่าเราเป็นผู้กระทำ คือเลือกซื้อสินค้านั้นโดยไม่แปลกแยก และเป็นผู้บริโภคที่ ?ฉลาดซื้อ? ด้วย เมื่อมีนักออกแบบ ทำการสร้างวัตถุให้เป็นแฟชั่น คือสินค้า เป็นวัฒนธรรมเพื่อสร้างความหมาย คอยกระตุ้นดึงความปรารถนาต่อสินค้า ทำให้ดูเหมือนเรามีความจำเป็นที่จะต้องบริโภค อันมีความหมายของชนชั้นและเพศ รสนิยม ที่กำหนดจากสังคมทุนนิยม? อาจารย์ศิวรักษ์กล่าว

?การปฏิวัติชนชั้น? หรือ? ยังห่างไกลและไม่น่าจะเป็นไปได้

อาจารย์ศิวรักษ์เสนอว่าการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพตามทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ยังคงไกลห่าง และไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะบทเรียนของการปฏิวัติสังคมนิยมในยุโรปได้บอกแล้วว่า ปัจเจกยังได้รับอิทธิพลจากเจตจำนงเสรี ฝังลึก ทำให้ตกอยู่ภายใต้การบริโภคของปัจเจกชน มีความหรูหรา สะดวกสบายของแต่ละคน แม้ในรัฐสังคมนิยมร้านรวงเป็นของรัฐ มีสินค้าราคาถูกของรัฐ แต่ว่ามีร้านเอกชนที่นำเข้าสินค้า ดังนั้นมือหนึ่งจึงถือมาร์กซ์ อีกมือหนึ่งถือมาร์ลโบโล (Marlboro) เพราะคนต้องการเป็นปัจเจก แต่ว่าเขาเป็นปัจเจกเลิศหรูบริโภคไม่ได้ในสังคมนิยม ทุนนิยมจึงเข้าไปในช่องโหว่นี้และเข้ามาในประเทศไทยเองด้วย

ความเป็นปัจเจกที่เกิดจากผลกระทบของทุนนิยมในชนชั้นคนงานและแม้กระทั่งชนชั้นกลาง จึงเกิดสินค้าเพื่อแก้ปัญหาความแปลกแยกของผู้คนจากการทำการผลิตในโรงงานของตน ดังนั้นคนงานกลับมาจากที่โรงงานก็อยากพักผ่อน ฟังเพลง ฟังวิทยุ เล่นเกม นี่เป็นการบริโภคเพื่อมุ่งแก้ปัญหาความแปลกแยกนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ทุนนิยมได้อาศัยช่องโหว่ในความต้องการของปัจเจกชน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริโภค พิซซ่า แมคโดนัลด์ ฯลฯ

การศึกษาสร้างคนให้เชื่อว่า ตนให้เป็น ?คนชั้นกลาง? ไม่ใช่ ?คนงาน?

โดยที่แม้เขาจะถูกเรียกว่า คนงาน แต่เขาเองก็มีฐานะเป็นปัจเจก มาจากต่างจังหวัด เขาไม่ได้ถูกกำหนด ถูกนิยามว่าเป็น ?ชนชั้นคนงาน? โดยเขาเอง เพราะกระบวนการทางการศึกษาในสังคมให้เขาเป็น ?ชนชั้นกลาง? มีแนวทางและอุดมการณ์ของการบริโภค มันทำให้การซื้อ ?ผ้าอนามัย? ของคนงานหญิงในโรงงาน ต้องใช้บริโภคความหมายของสินค้าว่า คุณภาพดีกว่า แตกต่าง เหนือกว่าคนอื่น ด้วยรสนิยมของการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัย และไม่ว่าจะทางตรง หรือในทางอ้อม เช่นผ่านการแนะนำจากเพื่อนที่ชมภาพจากโทรทัศน์

ทั้งนี้ การบริโภคของสินค้ามีความหมายรวมถึงสัญญะ เช่น โฆษณาแชมพูหรือครีมนวดผม ?เพื่อสุขภาพเส้นผม? เป็นต้น คือปัจจุบันมันเกิดโจทย์ของการวิเคราะห์การบริโภคสินค้าซึ่งต่างจากการวิเคราะห์กระบวนการผลิตแบบทุนนิยมของคาร์ล มาร์กซ์

ที่ว่าการบริโภคสินค้าเพราะจำเป็นในแบบหน่วยการผลิตและการแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อเกิดการผลิตสินค้าแล้วไม่ได้กระจายสินค้าอย่างจำเป็นในความหมายของมาร์กซ์ แต่มันมีระดับของการอธิบายวัตถุหรือสินค้าที่แตกต่างไปจากเดิม

สหภาพแรงงานไม่ตอบโจทย์ คงใช้เวลาอธิบายกันอีกนาน

อาจารย์ศิวรักษ์ ศิวารมย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า อิทธิพลกระแสบริโภคของทุนนิยมได้แพร่ขยายไปทั่ว ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและด้านการบริโภค โดยมีตัวกระตุ้นในเรื่องของความต้องการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่ง แอนโทนี กิดเดน (Anthony Gidden - นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน) เสนอว่า ทุนนิยมทำให้คนไว้วางใจในสินค้า เพราะฉะนั้นคนจึงเชื่อในยี่ห้อสินค้า

ในเรื่องของการเคลื่อนไหวเรียกร้องของสหภาพแรงงานของคนงานนั้น อาจารย์ศิวรักษ์มองว่า ในการขับเคลื่อน ในการเรียกร้องเรื่องสวัสดิการ ตนเห็นว่า มันไม่ตอบใจคนงาน ที่จะให้มาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานมันดันไปตอบโจทย์อื่น การอธิบายเรื่องการขูดรีด มันยาก เพราะคนงานไทย เติบโตแบบผสมศักดินาที่เน้น ?ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ มัธยัสถ์? และทุนนิยม ที่ทำให้คนมองไม่ให้เห็นการขูดรีด

ดังนั้น จึงต้องใช้ความสามารถมากที่จะเปลี่ยน เพื่อบอกว่าเราถูกขูดรีด เพราะสังคมไทยสอนให้เราขูดรีดตัวเอง กล่าวแบบภาษาเศรษฐศาสตร์คือ ?เราจัดการคนอื่นไม่ได้ เราต้องจัดการตัวเอง ถ้าเราอดทนเดี๋ยวก็ข้ามพ้นไปได้?

ยกตัวอย่างเรื่องความอดทนในแบบสังคมตะวันตก เช่น การเข้าแถว คนไทยจะไม่อดทน และคนไทยถูกเลี้ยงสอนมาในมิติคนละแบบ ดังนั้นประเด็นเรื่องสหภาพต้องใช้เวลาอีกนาน ในการอธิบายเรื่องการขูดรีดเป็นรูปธรรม อาจารย์ศิวรักษ์กล่าวในที่สุด

-หมายเหตุ:ที่มาโดยประชาไท และhttp://www.ftawatch.org/node/10193

นั่งสมาธิ ณ สนามหลวง

นั่งสมาธิ ณ สนามหลวง โดย อรรคพล สาตุ้ม
Mon, 05/07/2007 - 01:29 by เปรื่องเดช ผดุงครรภ์, บอย บ้า
บอย บ้า
จริงๆ แล้วผมได้หวังค้นพบ "ความจริงแท้" ของสัจธรรมที่กำลังเป็นอยู่และกำลังมาถึงที่สนามหลวง แต่บางสิ่งที่ก็เข้าถึงได้ยากยิ่งในข้อเท็จ
จริง นึกย้อนอดีตถึงการให้เหตุผลทางตรรกศาสตร์อย่างเช่นพวกโซฟิสต์ นักปรัชญากรีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มจากนักปรัชญาการเมืองของก
รีกยุคโบราณ โซฟิสต์มักใช้เหตุผลหลอกล่อผู้คนได้ดีนักแล ทำให้ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัว ดังศิลปะของความฉลาดที่ปราศจากความจริงกับ
จริยธรรม
พวกโซฟิสต์ทำตัวเช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เราต้องลงลึกซึ้งถึงรากแก่นสารของความ
จริง ไม่ใช่แค่พื้นผิวเผินจนถูกกับดักลวงตาที่เป็นข้ออ้างในการแสดงความชอบธรรม เสมือนช่วงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทย ลอง
สำรวจอ่านการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์จะพบว่ายุคจอมพลป. จอมพลสฤษดิ์ ก็ใช้ข้ออ้างเหตุผลในการออกเดินทางต่างประเทศ หรือเดิน
ทางภายในประเทศไทยเยี่ยมเยือนราษฏรตามจังหวัดต่างๆ เช่นเดียวกัน รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ออกเดินทางตามจังหวัดต่างๆ เพื่อหยั่ง
คะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย (นี่เป็นลักษณะการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบของผม)

จุดประสงค์ของการเดินทางก็คงคล้ายกับที่มีการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการหาทางเสริมบารมี ระบบอุปถัมภ์ แต่ย่อมมีความแตกต่าง
ของบริบททางประวัติศาสตร์ของสังคม น่าจะมีความเป็นเสรีประชาธิปไตยในยุคทุนโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมของประชาชนกับระบบการเลือกตั้ง
และการใช้นโยบายประชานิยมล่อหลอกได้อย่างดีเยี่ยม (การใช้เหตุผลให้คล้อยตาม)

อย่างไรก็ดี กรณีการเกิดกระแสเคลื่อนไหวนี้ก็มีจุดต่างที่ชัดเจนกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ การลุกฮือของประชาชน นิสิต นักศึกษาไล่จอม
พลป.โกงเลือกตั้ง กับผู้สืบทอดอำนาจของระบอบสฤษดิ์ คือ จอมพลถนอม-ประภาส-ณรงค์ ที่ชัดเจนเรื่องบุกรุกป่าสงวน จนกระทั่งเกิด 14-6
ตุลาฯ ของขบวนการเคลื่อนไหวนิสิตนักศึกษา ประชาชนของประเทศไทย และเหตุการณ์นองเลือด ส่งผลสั่นสะเทือนทั่วภูมิภาคกับทั่วโลก

เนื่องจากยุคทุนกับโลกาภิวัตน์การติอต่อไร้พรมแดนของการลงทุน (ขอประดิษฐ์คำว่า โลกาพวกกูรวย) และการโอนย้ายถ่ายเทหุ้นของระบบ
ทุนนิยมใหม่ ตลาดเสรีนี้ ชาวบ้าน ร้าน ตลาดอาจจะยังตามไม่ทันกับกระแสของนักธุรกิจ ดังเช่นพวกนักธุรกิจห่วงใยประเทศที่ออกมาขับไล่รัฐ
เพราะกลัวเศรษฐกิจตกสะเก็ดในช่วงพฤษภาทมิฬ บัดนี้ นายกรัฐมนตรีจากทักษิณ 1 มาถึงทักษิณ 2 การตรวจสอบขององค์กรอิสระ ศาลรัฐ
ธรรมนูญปล่อยให้ท่านรอดพ้นข้อกล่าวหามาได้จากการซุกหุ้น มาถึง การเลี่ยงภาษีนี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ขับไล่ท่านลงจากตำแหน่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาคาราคาซังรุงรังของทักษิณ 2 หลายเรื่อง ที่ถูกหยิบยกกล่าวถึงนั้น แต่ก็ไม่ชัดเท่ากับเรื่องหลบหนีภาษีไม่ยอมจ่าย
ภาษีให้ประชาชนที่ส่งเงินภาษีสนับสนุนรัฐบาลดังกล่าว ท่านได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย ข้ออ้างเชิงเหตุผล ตรรกะ (ตะกละ) ต่อเงินที่ได้มาถูกต้อง
เพราะ พ.ร.บ. นี้มีช่องโหว่ทางกฏหมาย และบริษัทนี้ก็เคยไม่เสียภาษี (ไม่ได้บอกว่าโอนหุ้นไปเกาะได้ไง?) ข้อความบางอย่างถูกซ่อนเร้นละไว้
และโยงใยกับบริษัทอื่นๆ อ้างว่าทำไมไม่โดนบ้างละ?
คำตอบที่ไม่เกี่ยวกับจริยธรรมนี้ไม่ช่วยให้เกิดสันติภาพ แต่มุ่งหาเรื่องผูกพันเป็นลูกโซ่พันธนาการโจมตีคนนั้น คนนี้ ความขัดแย้งในการโต้แย้ง
ของการสื่อสารกับสังคมยุคมีเสรีภาพสื่อ (จริงหรือ) แน่นอนว่าคำถามหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนแอของจริยธรรมแบบไทยๆ เพราะ
วัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่เชื่อผู้นำนั้นเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังต้องการคนที่มีบารมี และสิ่งที่ขัดกันว่าแล้วความเสื่อมทางจริยธรรมใน
ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้นำ จนกระทั่งทุกวันนี้สังคมไทยยังอิหลักอิเหลื่อ ไปเรื่อยเจื้อย ไม่กล้าฮือต่อผู้นำทางการเมือง

จากที่กล่าวมา จะต้องมีการรื้อฟื้น การตรวจสอบกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญกันใหม่ ขบวนการเคลื่อนไหวก่อให้เกิดความระส่ำระส่ายไม่เข้าใจ
จุดอ่อนตัวบทกฎหมายภายใต้โครงสร้างสังคมไทยพุทธๆ (ไม่ค่อยมีอิสลาม ฯลฯ) กับการถือหุ้นไม่เสียภาษีผิดจริยธรรม ดังนี้ฝ่ายที่นำเสนอ
ข้อมูลอีกด้านก็ได้ออกโรงเวทีเน้นที่ว่า คำตอบ ของท่านทักษิณไม่ชัดเจน อย่างไร รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มักหมม ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้
โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ผลกระทบต่อสื่อสารมวลชน ผลกระทบเอฟทีเอระยะยาวของโครงการต่างๆ และม็อบชนม็อบ

การคอรัปชั่นเป็นประเด็นที่ชี้นำกระแสสังคมได้ถูกจังหวะโดนใจผู้คน ไม่ว่าจะใช้สำนวนโวหาร วาทศิลป์ คอรัปชั่นเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์
พวกพ้อง (เช่น คำว่า หน้าด้าน หน้าเหลี่ยม คำถ่อยๆ ฯลฯ) จนกระทั่งมาถึงวลี ทักษิณ ออกไป! ดังที่กล่าวถึงความร่ำรวย รุ่มรวย ทางกระบวน
การของภาษา มีคนได้ตั้งคำถามว่าความเป็นกลางของสื่อ เช่นเดียวกัน ผมก็อยากนำเสนอความเป็นกลางในแบบตัวผม ที่ต้องมานั่งสมาธิที่
สนามหลวง มิใช่ความเป็นกลางแบบเดินสายกลาง หรือเป็นกลางเพื่อชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมตรงที่ใด แต่ ?ความเป็นกลางคืออะไร? อะไร
คือความเป็นกลาง ขอบอกว่ามันขึ้นอยู่กับเงือนไขของสถานที่ เวลา เช่นที่ผมมานั่งสมาธิที่นี่

และยกตัวอย่างกรณีเวเบอร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการเยอรมันในช่วงบริบทประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของการทำการศึกษาได้พบเจอข้อขัดแย้งกับ
กระแสแนวคิดชาตินิยม เจ้านิยม (ถ้าผมจำไม่ผิด) จึงเลือกนำเสนอความเป็นกลางเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองปลอดค่านิยมในการศึกษา
ปรากฏการณ์นั้นๆ แต่ยุคนี้ก็มีข้อโต้แย้งว่าไม่จริง ความเป็นกลางไม่มี ถ้าคุณเป็นกลางก็ไม่มีจุดยืน อื่นๆ แต่ผมต้องการบอกว่าความเป็นกลาง
แม้จะถูกตัดสินหรือถูกชี้แจงดังกลาง แต่มันก็เป็นตัวเลือกหนึ่งหรือตัวชี้วัดแบบอย่างของการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจมิใช่หรือ? (ในความ
หลากหลาย)

สถานการณ์ที่เกิดการแบ่งขั้วอำนาจของการ เอารัฐบาล ไม่เอารัฐบาล (พูดให้อ่านง่ายๆ) จนกระทั่งรัฐบาลต้องยุบสภาชิงชิ่งหนีจากเกมที่ฝ่าย
โจมตีได้วางสนุ้กเอาไว้ เมื่อมีการลดกระแสปลุกปั่นล้มรัฐบาลจากการอาจเกิดเหตุการณ์นองเลือดซ้ำๆ และสุญญากาศทางการเมืองใน
สถานการณ์นั้น รัฐบาลต้องถือว่าวางหมากเกมได้เหนือชั้นเชิง คู่ต่อสู้ต้องงงงวย จนกระทั่งพลิกเกมกลับมาโต้ตอบใหม่ได้โดยโจมตีต่อว่าหลบ
หนีการซักฟอก โกหก หลอกลวงประชาชนอื่นๆ มันเป็นการเสียคะแนน และเสียหน้าของรัฐน้อยที่สุดเท่าที่รัฐบาลทำได้ โดยบอกกล่าวผ่านสื่อ
ถึงการถูกโจมตีของรัฐบาล จึงให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตั้ง ผู้แทนเข้ามาใหม่เป็นความชอบธรรม

ส่วนตัวผมเองที่อยู่เชียงใหม่ได้ไปพบปะพูดคุยกับคนเชียงใหม่ในอำเภอเมือง และอำเภอสันกำแพงในช่วงกลียุคของความรุนแรงทางการเมือง
เชิงโครงสร้างนี้สดๆ ร้อนๆ จากอำเภอของบ้านท่านนายกฯ ที่ชาวบ้านเรียกและชื่นชม สามสิบบาทรักษาทุกโรค เอสเอ็มแอล ซึ่งพ่อหลวงก็
นิยมชมชอบ และออกอาการนักเลงหน่อยๆ ค่อนข้างปกป้องรัฐบาล เนื่องจากผมไม่ได้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง แต่ไปเรื่องหนี้สินเกษตรกรเลย
รอดมาได้ และผมได้ไปแถวๆ ในเมือง ที่มีการปักป้ายเชียร์ท่านนายกฯ คนที่มีโลกทัศน์แบบชนชั้นกลางบางคนเชียร์ บางคนไม่เชียร์ ครอบครัว
เกือบแตกร้าวราวกับคนละฝักฝ่ายคนละพรรค คนละพวก (ที่ได้เงินกับไม่ได้เงินจากพรรคฯ)

เกือบเย็นผมนัดเพื่อนที่สนามหลวง กินข้าวเสร็จเริ่มสนธยายามค่ำ ซึ่งก็คือสาเหตุที่ผมมานั่งสมาธิ ณ สนามหลวง กึ่งหลับกึ่งตื่นเหมือนอยาก
จะทำเท่ห์ แต่กึ่งอุบาทว์มากกว่าเท่ห์ อยากจะนอนก็นอนไม่ค่อยหลับถูกเสียงกล่อมประสาท กึ่งหลับกึ่งฝัน มีโอกาสนั่งสมาธิสูดกลิ่น สูดฝุ่น
สนามหลวงเข้าปอดบ้าง และคุยกับเพื่อนว่าอยากกลับหรือไม่กลับดี อุดมการณ์แน่จริงๆหรือเปล่า ? นี้เป็นบททดสอบ ฯลฯ มาที่นี่ผมก็ได้พบ
เพื่อนที่ไม่ได้เจอกันตั้งนานแล้ว (กับแอบคิดถึงเธอ) คนที่ร่วมอุดมการณ์ด้วยกันได้ และถ้าจะไม่ได้มาแอบนอนอย่างเช่นคนจรจัด เปล่าผมไม่ได้
ว่าคนจรจัด ผมแซวเฉยๆ ผมได้เรียนรู้ ประสบการณ์ (แม้ไม่ได้รับชัยชนะ) กับการนอนใกล้เคียงเป็นเพื่อนคนจรจัด (ปลอบใจตัวเอง -คนเล็ก-
ธุลีดิน) นอนกับพื้นสนามหลวง ดียังมีหนังสือพิมพ์รอง ไปนอนตรงที่นั้นสักพักก็สะดุ้งเฮือกกลัวกระเป๋าตังค์หายเป็นครั้งๆ ระหว่างทางผมได้
รู้จักกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรฯ อีกทัศนะมุมมองหนึ่งจากจุดนี้ (และคืนนั้นก็มีเวทีอีกม็อบ และเหตุการณ์ตำรวจจับคนเมาประหลาด)

ผมว่าเครื่องมือชี้วัด ว่าคนไหนเป็นม็อบรับจ้าง มาในสนามหลวง คนไหนถูกครอบงำท่องเป็นสูตรๆ รับรู้ข้อมูลจากฝ่ายสนามหลวงอย่างเดียว
คนไหนไม่จริงใจในการเข้าร่วมเพื่อมาบันทึกภาพประวัติศาสตร์สนุกๆ แต่ในจริงมีเท็จ ในเท็จมีจริง การฟังคนบางกล่มในม็อบนี้พูด บางครั้ง
ก็มีเหตุผลตามการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ของผม บางครั้งก็ใช้แต่อารมณ์ และชาวบ้านบางคนก็ดูซื่อๆ เดินทางไกลมาถึงที่นี่ และนักศึกษาที่
ดูไม่โง่เง่าเต่าตุ่น มวลชนถูกชี้นำมีเงินให้มาถึงมือก็ไม่ใช่ ผมเองไม่ได้รับเงินสักบาททั้งที่อยากได้จะแย่อยู่แล้ว (แต่มีของแจก)

ประเด็นการตัดสินลงโทษพิพากษานายกฯ ข้อมูลเพียบพร้อม แต่การนำเสนอทางลงที่ชัดเจนกับนายกฯคนใหม่จะเป็นเช่นไร น่าเป็นห่วงกับคำว่า
นายกฯพระราชทาน อะไรคือเหตุผลหลัก ที่อยู่เบื้องหลังความคิดนี้ ที่มีการชี้นำของใคร แต่บางคนที่เข้าร่วมก็มีสัญลักษณ์อยู่ที่ข้อมือแล้ว และ
ก็คงไม่ต้องบอกความขัดแย้งด้านข้อมูลของสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร ผมคิดว่าทุกคนคงรับรู้กับสถานการณ์นี้ ข้อมูลนายกฯ ต่างๆ คงไม่แจก
แจงซ้ำอีก แต่ปลายเหตุของปัญหานี้ มันมีกระบวนการวาระซ่อนเร้น ทำร้ายสัญญาประชาคมของสังคม ประชาชนสื่อสารกันมีภาษากฎหมาย
ขึ้นมา และจริยธรรม นายกฯ (หน้าตาออกเจ๊กๆ คล้ายจีน สิงค์โปร์) กับศีลธรรมแบบไทยๆ (กินเหล้าได้ต่างจากมุสลิม) รวมถึงกฎหมายไทย มัน
จะลื่นไหลออกจากการควบคุม มันจะเป็นการลุกฮือขาดสติ และหลงลืมกฎหมายรัฐธรรมนูญปรัชญา ความจริงแท้ คือต้องเกี่ยวข้องสิทธิของ
ประชาชน

ข้อดี ข้อเสียของคนไม่ค่อยรู้อะไรอย่างผมที่ได้ไปเรียนรู้ศึกษาการเมือง สังคม เปิดโลกทัศน์ที่นั่น ร่วมเดินขบวนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่มีรถ
ถัง ไม่มีระเบิด ไม่ถูกเหยียบ ปลอดภัยดีกับพวกเขา และถ่ายรูปให้คุณป้าคนหนึ่ง ซึ่งบัดนี้ติดต่อไม่ได้จะเอารูปให้ท่าน
การพยายามจากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวที่พรรณนามาทั้งหมดที่จะให้มหาชนยอมรับข้อสรุปของเวทีนายกฯ โดยการปลุกระดมหรือหาคะแนน
เสียง ไม่ค่อยใช้เหตุผล แต่เร้าอารมณ์โดยใช้วาทศิลป์ อ้างว่าทุกๆ คนกำลังรวมตัวช่วยเขาทั้งม็อบเชียร์ที่สนามหลวงกับม็อบเชียร์ทักษิณ หาได้
ว่าจะถูกเสมอไปตามที่อ้างความรู้กัน เพราะความรู้อาจเกิดขึ้นจากโลกทัศน์ ค่านิยม มุมมองของผู้นำในการช่วงชิงความหมายของถ้อยคำโก้ เก๋
แต่นำมาใช้เพื่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชน ใช่หรือไม่?

บทสังเกตปิดท้าย ไม่ใช่บทสรุป

มิเช่นนั้นแล้ว ผมคงต้องกลับไปนั่ง (นิยาม) สมาธิเพื่อทบทวน มือที่มองไม่เห็นชักใยความถูกต้อง ความจริงแท้ ถูกบิดเบือนโดยใคร โปรด
ระวังการสรุปที่มาจากผู้ฟังถูกจิตวิทยากล่อมประสาทเริ่มเพลียล้า เบื่อหน่ายกับการใช้เหตุผล ทำให้หลักการเหตุผล อนุมาน อ่อนแอนี้เป็นข้อ
สังเกตของผม จากอารมณ์ร่วมส่วนหนึ่งของสถานการณ์ ที่ปรารถนาสมาธิหรือผมควรเลิกนั่งสมาธิ แต่ไปเล่นว่าวกับผู้คน เตะตะกร้อ ณ สนาม
หลวงแทน

คำสารภาพตอนจบ (ไม่ได้หักมุม หักมุขจบ) การมองปรากฏการณ์รอบด้าน ช่วงเข้าสู่สมาธิ (หลับ) ผมไม่ใช่นักวิสัยทัศน์หลังสมัยใหม่ ไม่ใช่
นักบุญ ไม่ใช่ฝ่ายซ้ายอ่อนหัดปวกเปียก ขี้แง แต่ผมเป็นฝ่ายขายดิ่งตรงจากเชียงใหม่พกหนังสือกะไปนั่งขายกับเพื่อน (นิยมฉกฉวยโอกาส) พวก
เดียวกับคนขายไข่เจียว (แต่เขาอาจจะต่อต้านทักษิณก็ได้) ข้อสังเกตเบื้องต้นไม่รู้จะไปสู่ข้อสรุปไหม ไม่ใช่ Thesis /Anti-
thesis/Synthesis แต่มรรคผลวิถีกึ่งพุทโธ่ของผมเอง (ไม่ใช่กองทัพธรรม)

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ได้ไม่ใช่รูปธรรม สัมผัสวัตถุ การเดินถือธง โพกผ้า ตะโกนออกเสียง แต่ชัดเจนสุดๆของตัวผม คือตรรกะ และหลัก
ฐานการมาขายไข่เจียว ขายหนังสือของผมในปรากฏการณ์นี้!

"จิตใจคิดคด อคติ จะนำมา ซึ่งความมืดบอดจากแสงสว่างแห่งปัญญา แลสันติจริงแท้"


ดูเพิ่มเติม คอลัมภ์ประชาทุยhttp://www.prachatai3.info/column-archives/node/2413
-หมายเหตุ: บทความนี้เคยเผยแพร่ใน ก้าวที่กล้า นิตยสารนักศึกษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 10 เมษายน 2549
ปล.บทความนี้ไม่เหมือนกับเผยแพร่ในก้าวที่กล้า นิตยสารนักศึกษา เช่น ไม่มีเรื่องคนใช้คัตเตอร์จี้นศ.เป็นตัวประกันในมช.เรียกร้องไม่ยุบสภา ฯลฯ เป็นต้น