วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

ระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในฐานะญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคม

ระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในฐานะญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคม

Sun, 2009-10-25 00:27

อรรคพล สาตุ้ม

…ชาติถูกจินตกรรมขึ้นก็เพราะว่า สมาชิกของชาติ ที่แม้จะเล็กที่สุดก็ตาม แม้จะไม่เคยรู้จักเพื่อนสมาชิกร่วมชาติทั้งหมดของตนไม่เคยพบเห็นพวกเขาเหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่เคยแม้กระทั่งได้ยินชื่อเสียงเรียงนามพวกเขาเหล่านั้นก็ตาม กระนั้นในจิตใจของแต่ละคนก็มีภาพพจน์ของความเป็นชุมชนร่วม Renan นักปรัชญาฝรั่งเศสกล่าวถึงจินตกรรมนี้ว่า “สารัตถะของแต่ละชาติ ก็คือ บรรดาปัจเจกของชาติทั้งมวล ต่างมีหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกัน และในเวลาเดียวกันต่างก็ร่วมลืมหลายสิ่งหลายไปแล้ว….  (เบน แอนเดอร์สัน ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม(ฉบับแปลไทย ฉบับแปลไทย หน้า 9-10)

การผลิตความทรงจำเรื่อง14 ตุลาคม-เดือนตุลาคมของรัฐธรรมนูญ 2540

ผู้เขียนเริ่มย้อนมองอดีตระลึกถึงเรื่องลุงนวมทอง ผ่านการเน้นที่ความเป็นเพื่อนร่วมชาติไทย และญาติร่วมชาติไทยในประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม มันเกิดขึ้นจากประสบการณ์เกี่ยวกับเพื่อนรุ่นพี่ ประกอบกับการที่ผู้เขียนอ่านหนังสือชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม ภายใต้สิ่งแวดล้อมในการทำงานของชีวิตประจำวัน เรื่องนี้ผุดขึ้นมาเนื่องจากผุ้เขียนดูสื่อโฆษณาทีวีเรื่องหนึ่งจบลง รุ่นพี่คนหนึ่งก็พูดถึงอย่างโหยหาอดีตในทางที่ดีๆ ต่อภาพโฆษณาทางสื่อทีวีนี้ เนื้อหามีว่าเมื่อผู้ชายคนหนึ่ง สั่งอาหารแล้วพูดว่า “ป้าขอส้มตำจานหนึ่ง” แล้วป้าตอบว่า “รอแป๊บหนึ่งนะลูก”

สื่อโฆษณาทีวีดังกล่าวโปรยเสียงสรุปเรื่องเป็นประโยคที่ชี้ให้เห็นว่า “คนไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก”หรือประเทศเหมือนบ้าน สะท้อนว่าวัฒนธรรมไทยนั้นเราผูกพันนับญาติกันได้ทั้งหมด ไม่มีขีดจำกัดของชนชั้น และชาติพันธุ์ใดๆ ภายใต้ความเป็นชาติไทยภายใต้ในชุมชนในจินตกรรมร่วมกันได้ ชาติถูกจินตกรรมขึ้น ก็เพราะว่า สมาชิกของชาติ ที่แม้จะเล็กที่สุดก็ตาม แม้จะไม่เคยรู้จักเพื่อนสมาชิกร่วมชาติทั้งหมดของตนไม่เคยพบเห็นพวกเขาเหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่เคยแม้กระทั่งได้ยินชื่อเสียงเรียงนามพวกเขาเหล่านั้นก็ตาม

กระนั้นในจิตใจของแต่ละคนก็มีภาพพจน์ของความเป็นชุมชนร่วมและการระลึกถึงอดีตของเพื่อนสมาชิกร่วมชาติ ในความเป็นชุมชนร่วมกัน โดยผ่านสื่อหนังสือพิมพ์สร้างชุมชนจินตกรรมได้(อ้างอิงหนังสือเรื่องชุมชนจินตกรรม) มันจึงไม่แปลกที่เรารู้จักเพื่อนสมาชิกร่วมชาติจากบทสัมภาษณ์เรื่องความทรงจำของญาติวีรชนในสิบสี่ตุลาคมในหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ได้ แม้ว่าอดีตกับปัจจุบันเป็นมิติทางเวลาที่วางอยู่บนคนละกาละ แต่ความทรงจำ คือ ข่ายใยที่เชื่อมโยงระหว่างกาละทั้งสองแบบ ความทรงจำพูดไม่ได้ แต่ดำรงอยู่ได้ผ่านตัวกลางของความทรงจำ ความทรงจำแตกต่างจากประวัติศาสตร์ ความถูกผิดของความทรงจำขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความเข้าใจที่ผู้คนและสังคมมีต่อเรื่องหนึ่งๆ

นักคิดคนหนึ่งจึงกล่าวว่าความทรงจำไม่จำเป็นต้องถูกต้องตามประวัติศาสตร์ก็ได้ และเพราะเหตุนี้ ความจริงแท้จึงไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญของความทรงจำ และงานเขียนเป็นตัวกลางของความทรงจำ หรือจะพูดอีกอย่างว่างานเขียนเป็นตัวแทนของความทรงจำก็คงได้

คุณสมบัติเช่นนี้จึงทำให้งานเขียนสามารถดึงความทรงจำจากอดีตมาสู่ปัจจุบันได้ และเมื่อมิติทางเวลาเป็นเรื่องลื่นไหล งานเขียนจึงทำให้อดีตและอนาคตโยงใยถึงกัน<1> ความทรงจำของเรื่อง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 จึงเป็นตัวแทนของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองมที่ไม่ถูกลบเลือน บิดเบือน สูญหายไป โดยเราสามารถรับรู้ผ่านงานเขียน รวมถึงการผลิตสื่อภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ 14 ตุลา สงครามประชาชน (ที่มีการวิจารณ์ว่าเปลี่ยนเป็นชื่อเดิมว่า คนล่าจันทร์ดีกว่า ฯลฯ) และเมื่อวันเวลาผ่านไป คนยุค 14 ตุลาก็ยังไม่พ้นวังวนของปัญหาการเมืองประชาธิปไตย

เพราะว่าพวกเขาต้องมาพบกับเหตุการณ์ของ 17 พฤษภาคม 2535 ซึ่งมันทำให้เกิดคนเดือนพฤษภา แล้ววันเวลาต่อมาก็ได้เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสู่ขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2540 และแล้วความสำคัญของเดือนตุลาคม ก็ยังกลับมาเกี่ยวข้องในรัฐธรรมนูญ 2540 ในแง่ที่ว่าเราแทบจะหาสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้เลย แต่ไหนๆ รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ก็น่าพอจะกล้อมแกล้มถือเอาเป็นวันสัญลักษณ์ไปได้เหมือนกัน<2>

ฉะนั้น การผลิตความทรงจำที่ดีและการโหยหาอดีตเพื่อสร้างชุมชนจินตกรรมขึ้น โดยก่อร่างความทรงจำต่อเดือนตุลาคม มันจึงมีหลายแง่มุมที่ถูกผลิตออกมาเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือจงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน14ตุลาคมของปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น ส่วนผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็น ‘เดือนตุลาคม’ ในอีกแง่หนึ่งว่ามันถูกทำให้เป็นชุมชนจินตกรรม ภายใต้สมาชิกเพื่อนร่วมชาติเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและมันมาเป็นพลังสู่การสร้างความเข้าใจเดือนตุลาคมจาก 14 ตุลาถึงรัฐธรรมนูญ 2540 รวมไปถึงความทรงจำต่อลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เพื่อนร่วมชาติ และญาติร่วมชาติไทยได้อีกด้วย

ความแตกสลายของเพื่อนร่วมชาติในเดือนตุลาคม

รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ กล่าวถึงความแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาในปี พ.ศ. 2549 เมื่อ double false consciousness (จิตสำนึกหลงผิดซ้ำซ้อนกลับหัวกลับหางในสังคมการเมืองเดียว) และ self-righteousness (คิดว่าตนเองถูกทั้งหมด คนอื่นผิดทั้งหมด) บังเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย

ในประเด็น 14 ตุลา และ 6 ตุลา มันต่อเนื่องเกี่ยวพันกันชนิดที่พูดได้ว่า ถ้า ไม่มีสิทธิเสรีภาพก็ไม่อาจต่อสู้เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมทางสังคม ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิเสรีภาพที่ได้มาก็ไม่มีความหมาย อย่างน้อยก็ไม่มีความหมายต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อเพื่อนร่วมชาติร่วมทุกข์ร่วมสุขคนอื่น ๆ อาจจะมีความหมายบ้างต่อปัจเจกบุคคล

แต่นั่นไม่พอ การแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของสองเหตุการณ์นี้ที่แตกต่างแต่ว่าต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน คือ พันธมิตรสามประสาน ได้แก่ กรรมกร ชาวนา และสามัญชน เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้อย่างสันติในเมืองก่อน 6 ตุลา แล้วหลัง 6 ตุลา ก็คลี่คลายไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท “ผมอยากเสนอว่าอุดมการณ์ 14 และ 6 ตุลาคม หรืออุดมการณ์เดือนตุลาอันได้แก่สิทธิเสรีภาพผูกกับความเป็นธรรมทางสังคมได้แตกสลายลงแล้วในปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายของการแตกสลายนี้คือการแบ่งแยกแตกข้างของพลังประชาชนในสังคมไทย ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐบาลทักษิณในช่วงปีที่ผ่านมา มันใช้เวลา 30 ปี กว่าอุดมการณ์เดือนตุลาจะพัง แต่ในที่สุด ผมคิดว่ามันพังแล้ว มันสะท้อนให้เห็นได้ง่ายผ่านความขัดแย้งในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่คนเดือนตุลา ซึ่งต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกข้างแยกค่าย ด่าทอประณามกันเอง ชุลมุนวุ่นวายจนเลาะเป็นวุ้นไปหมด” <3>

ดังนั้น อุดมการณ์ของสิบสี่ตุลาถึงจุดแตกสลายไปจากความเป็นเพื่อนร่วมชาติ พร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 ในเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้นมา มันก่อเกิดเป็นการแบ่งฝักฝ่ายเข้าข้างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ)

ซึ่งทั้งสองฝ่าย ประกอบด้วยกลุ่มสหายเก่าที่เคยเป็นมิตรร่วมรบในการต่อสู้ของสงครามกันมา แล้วกลายเป็นไร้เพื่อน โดยมันไม่ใช่สมการว่า พันธมิตร+ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ = พันธมิตรต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(หลอมรวมสีเหลืองและสีแดง)ได้ ผู้เขียนเห็นว่ามันเป็นการปะทะของอุดมการณ์ในเพื่อนร่วมชาติ สถานะทางการเมือง และอำนาจของกลุ่มการเมือง ผนวกกับความเป็นเพื่อน มิตร สหายกัน รวมทั้งในฐานะพ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อนสนิท มิตรสหาย ญาติร่วมชาติ

แต่ว่ามันก็ยังมีภาพตัวแทนอีกอันหนึ่งในเดือนตุลาคม คือ ลุงนวมทอง ผู้สละชีวิตเพื่อชาติและประชาธิปไตย อีกทั้งลุงนวมทองสวมเสื้อใส่เสื้อสีดำที่มีบทกวีของศรีบูรพา และรวี โดมพระจันทร์ ในฐานะสัญลักษณ์ของ 14 ตุลา ซึ่งทั้งความตาย และความหมายของการเสียชีวิตของลุงนวมทอง ในบรรยากาศของงานศพ จนถึงวันเวลา ณ ปัจจุบัน ทำให้เราต้องมาพิจารณาความเป็นตัวแทนของเดือนตุลาคมเช่นเดียวกันในฐานของการระลึกถึงคนธรรมดา สามัญชน กับวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ที่มีฐานะเป็นญาติร่วมชาติไทย

ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ กับความเป็นญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคม
เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 นายนวมทอง ซึ่งเป็นอดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร ของบริษัท สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งต่อมาในคืนวันที่ 31 ตุลาคมหลังออกจากโรงพยาบาลมาแล้ว นายนวมทองก็ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออกเยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พันเอกอัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้

ในคืนวันที่ 31 ต.ค.2549 นายนวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยด้านหน้าเป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ และด้านหลังเป็นบทกวีของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) และข้อมูลต่อมาที่มีบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับลุงนวมทอง ไพรวัลย์ (พ.ศ. 2489 - 31 ต.ค. 2549; อายุ 60 ปี) ก็คือเป็นคนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอตายใต้สะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิต หลังจากขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

นายนวมทองเป็นพลเมืองไทยเพียงคนเดียวที่ได้ประกาศตนต่อสาธารณชนว่าได้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อประท้วงการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองฯ และได้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าวในที่สุด เพื่อตอบสนองคำพูดของรองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่เขาถือว่าเป็นการเหยียดหยามวัตถุประสงค์ในการกระทำของเขานั้นเอง<4>

กระนั้น ผู้เขียนระลึกถึงบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล แล้วกระตุ้นให้ผู้เขียนนึกถึงประสบการณ์ต่างๆ ไม่ให้ผู้เขียนหลงลืม “ลุงนวมทอง ไพรวัลย์”..ว่า เราต้องระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เราต้องเชิดชูถึงความเด็ดเดี่ยวของท่าน เป็นคนที่ผมเคารพมากเลย แต่นี่คือ คนยอดคน นี่คือคนจริง งานศพของท่านอยู่ในวัดเล็กๆที่เมืองนนทบุรี เข้าไปลึกหน่อยจากถนนใหญ่ เป็นงานศพของคนกระจอก

แต่มีพวงหรีดของสุรยุทธ์ จุลานนท์ด้วย และมีตำรวจเต็มไปหมด ถ้าคนไม่บอก ก็นึกว่า งานศพนี้จัดที่วัดเทพศิรินทร์ ซะอีก ในอนาคตข้างหน้า น่าจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ท่าน สร้างที่ลานที่ท่านขับรถแท็กซี่ชนรถถังนั่นแหละ แต่ไม่ต้องออกแบบให้เป็นอัศวินขี่ม้าขาวนะ เอาแบบขี่แท็กซี่ดีที่สุด เป็นเอกลักษณ์ดี ไม่เหมือนใคร.<5>

ครั้นแล้ว วันเวลาของงานศพ “ลุงนวมทอง”ผ่านไป จะทำอย่างไรดีไม่ให้ความทรงจำต่อลุงนวมทอง หายไป ผู้เขียนครุ่นคิดถึงความเข้าใจเรื่องกาลเวลาว่ามันเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงความเป็น “ชาติไทย”สมัยใหม่ กาลเวลาไม่ได้เพียงอยู่บนพื้นฐานของเวลาแบบการเวียนว่ายตายเกิดแบบพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ผู้เขียนมองเวลาแบบการมองปฏิทิน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของวันเวลาของไทยในยุคสมัยใหม่ แล้วก็ตระหนักได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม มันเป็นวันสิ้นเดือนพอดี เป็นวันสำหรับเงินเดือนออกของพนักงาน

ขณะที่เป็นวันท้าทายทหารของลุงนวมทอง ทำอย่างไรไม่ให้สิ้นเดือนทำให้ความทรงจำต่อลุงนวม หายสาบสูญสิ้นไป แน่ชัดว่า ความต่างของวันที่ 31ตุลาคม กับวันที่ 14,6ตุลา นั้นมีค่อนข้างมาก กรณีหลังมีภาพสะท้อนหมู่เพื่อน มิตรสหายที่พร้อมปรากฏตัว พวกเขามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ในยุคก่อนจนถึงปัจจุบัน โดยปรากฏทั้งฐานะบุคคล กลุ่ม เหมือนกับตัวละครจำนวนมาก แต่กรณีลุงนวมทอง เห็นได้ชัดเจนถึงความสามารถของปัจเจกบุคคล เขาเป็นคนๆ เดียวที่พยายามสะท้อนพลังการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยตัวเขาเอง

แล้วเราจะระลึกถึงอดีตของคนๆ เดียวให้ไม่โดดเดี่ยว โดยระดมเชื้อเชิญให้ผู้คนมีส่วนร่วม ทั้ง พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติสนิท มิตร สหาย เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตย มาจัดงานให้กับความเป็นคนเด็ดเดี่ยวของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ได้อย่างไร ผู้เขียนเคยนำเสนอความคิดเห็นเล็กๆ เกี่ยวกับเรื่องลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในการจัดงานเรื่องศิลปะกับการเมือง: มุมมองว่าด้วย รสนิยม ชนชั้น ประวัติศาสตร์ และการตีความซึ่งจัดงานโดยกลุ่มประชาไท โลคัลทอลค์ และกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ<6>

ซึ่งกรณีง่ายๆ ว่า คุณอาจจะรู้สึกว่านั่นเป็นเพื่อนของเรา คนนั้น คนนี้ โดยอาจจะลืมไปว่าเขาเป็นใคร และความทรงจำต่ออดีตในเรื่องเดียวกันที่เคยคิดเห็นตรงกัน กลับกลายเป็นความคิดเห็นไม่ตรงกัน เพราะวันเวลาทำให้คนรุ่น 14,6 ตุลาคม ถูกแย่งชิงความทรงจำ และวันเวลาก็ชนะในการช่วงชิงความทรงจำของคนเรา ทำให้ลืมอุดมการณ์ของเพื่อนร่วมชาติบางคนได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนในฐานะคนเล็กๆ คนหนึ่งก็ยังคงระลึกถึงลุงนวมทอง และจินตนาการถึงการสร้างภาพยนตร์เรื่อง 31 ตุลา ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมาก เราต้องตระหนักว่าบรรดาปัจเจกของชาติทั้งมวลต่างมีหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกัน และในเวลาเดียวกันต่างก็ร่วมลืมหลายสิ่งหลายไปแล้ว แน่นอนว่า เรายังคงมีความหวังอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งในวันที่ 31 เดือนตุลาคมของทุกปี เราระลึกจดจำถึง“นวมทอง ไพรวัลย์” เป็นญาติร่วมชุมชนจินตกรรมของชาติไทยได้ เชิงอรรถ

<1>ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: วาทกรรมสิบสี่ตุลาhttp://www.prachatai.com/journal/2009/10/26203

<2>ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ใต้เท้าขอรับ : ขอเป็นคน ‘เดือนตุลา’http://www.prachatai.com/journal/2009/10/26153

<3>รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ : ความแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาในปี พ.ศ. 2549 เมื่อ double false consciousness และ self-righteousness บังเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยhttp://invisiblenews.exteen.com/20061018/2549-double-false-consciousness-self-righteousness

<4>ข้อมูล:นวมทอง ไพรวัลย์th.wikipedia.org/wiki/นวมทอง_ไพรวัลย์http://th.wikipedia.org/wiki/นวมทอง_ไพรวัลย์

<5>ผู้เขียน สัมภาษณ์ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล อาจารย์ประจำสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ

<6>ศิลปะกับการเมือง: มุมมองว่าด้วย รสนิยม ชนชั้น ประวัติศาสตร์ และการตีความwww.prachatai.com/05web/th/home/13070

*หมายเหตุปรับปรุงเพิ่มเติมจากที่ประชาไท
http://www.prachatai.com/journal/2009/10/26334

ปรับปรุงเพิ่มเติม และบางสำนวนต่างจากที่http://thaienews.blogspot.com/2009/10/blog-post_1945.html
ระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคม

…ถ้าเราจะมองดู ‘ชาตินิยม’(ในบริบทของไทย)ว่ามีความใกล้ชิดกับคำว่า ‘ศาสนา’ หรือ ‘เครือญาติ’(kinship)มากกว่าที่มันจะใกล้ชิดกับ ‘ลัทธิเสรีนิยม’(liberalism)....