วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ ประมวล เพ็งจันทร์: ปรัชญาแห่งความหวัง คือ ศรัทธาแก่มนุษยภาพ

สัมภาษณ์ ประมวล เพ็งจันทร์

โดยอรรคพล สาตุ้ม

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 ที่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนา เรื่อง สันติภาพ โดยบทสนทนาในประเด็นสันติภาพ ที่รากฐานทางประวัติศาสตร์ของปรัชญาพุทธศาสนา กับศาสนาอิสลาม มีความใกล้เคียงกัน เพราะหากพิจารณาในด้านจิตใจของผู้ปฎิบัติธรรม ย่อมมีความเข้าใจที่สื่อถึงกันได้ แต่ว่าเมื่ออยู่ภายใต้รัฐไทย และโลกของกระแสทุนนิยม-โลกาภิวัตน์ ได้เกิดปฏิกิริยาต่อศรัทธา ที่ขาดพลังแห่งการไปสู่ความดีงาม ซึ่งทีมงานประชาไทภาคเหนือ มีโอกาสสัมภาษณ์ และสนทนาร่วมกับ ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เป็นนักปรัชญา ที่ปวารณาตนเป็นพุทธศาสนิกชน โดยดำเนินชีวิตแบบแสวงหาความเป็นมนุษย์ที่แท้ ได้เดินทางวิจัยด้วยฝ่าเท้า ไม่ได้พกเงิน ติดตัว จากเชียงใหม่-ภูเก็ต มีการกำหนดจิตแน่วแน่ ซึ่งเขาผ่านประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ เพื่อบอกเล่าเชิงปรัชญาแก่สังคมไทย รวมถึงปัญหาของพระพุทธศาสนิกชนไทยในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

สิ่งที่อาจารย์ พูดถึงความซ่อนเร้นในความขัดแย้งให้แก่พระสงฆ์ไทยกับศาสนาอิสลาม ที่อาจจะนำไปสู่ปัญหา ที่ยิ่งใหญ่กว่าการปล้นปืนเสียอีก เนื่องจากพระสงฆ์ ตกเป็นเครื่องมือของรัฐไทย จะเป็นไปได้ไหมที่สันติภาพจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ข้างหน้า
เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงก่อนนะครับ เพราะคณะสงฆ์ถูกสร้างโดยรัฐ พองั้น เราพูดถึงคณะสงฆ์ของรัฐ ก็พูดถึงในที่นี้คณะสงฆ์ที่ถูกสร้างโดยรัฐ และเป็นสมบัติของรัฐอยู่แล้ว ถ้าเป็นเครื่องมือก็เป็นเครื่องมือของรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องตีโพยตีพาย เรื่องว่าผิด ถูก เพราะคณะสงฆ์ที่ดำรงอยู่ได้เป็นองค์กร มีกฎหมาย พระราชบัญญัติ การปกครองสงฆ์ที่ว่านี้ องค์กรสงฆ์ ถ้าคิดเชิงรายละเอียดว่า เป็นประเด็นโดยเนื้อหาสาระ ของ พุทธศาสนาหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่พูดเรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องผิดถูก แต่เพียงเพื่อจะบอกสถานะของความเป็นจริง ต้องการบอกว่าคณะสงฆ์ไทย เป็นองค์กร ที่ถูกสถาปนา หรือเป็นสิ่งที่ถูกรัฐสร้างอยู่แล้ว

เมื่อพระพุทธศาสนา ถูกใช้ผ่านสื่อ เพื่อเน้นอุดมการณ์ หรือหลักการ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่อย่างเดียวเพียงเท่านั้น ที่ถูกใช้ในสื่อต่างๆ ความเป็นพุทธมากกว่าอิสลาม
คือเวลาเราสถาปนารัฐไทย สถาบันที่เรากำหนดขึ้น ที่เป็นสถาบันศาสนาด้วย คือศาสนาพุทธ โดยลักษณะของความหมายนี้ โดยที่เราเคยพูดถึงเสมอว่า สัญลักษณ์ของสีธงชาติ ที่สีของศาสนาหมายถึงพุทธศาสนาอยู่ในธงชาติโดยการที่เราพยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่า น่ะ ความเป็นไทย กับความเป็นพุทธ มันอันเดียวกัน หรือจะเรียกว่ารัฐไทย อิงอยู่ในรัฐพุทธ หรือรัฐไทยอิงกับพุทธ ผมก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆเป้าหมายที่สำคัญ เวลาที่เขาอ้างถึงศาสนา ก็เพื่อรักษาความมั่นคงในความเชื่อของรัฐไทย ไม่ได้หมายความว่าจะรักษารัฐไทยไว้ เพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนา ตรงนี้ต่างจากพม่า รัฐพม่า หรือประเทศพม่า เขาจะพูดถึงความหมายว่ารัฐพม่าเป็นองค์ประกอบที่จะรักษาพุทธศาสนาไว้ได้ จึงจำเป็นที่จะรักษาชาติพม่า หรือรัฐพม่าไว้ เพื่อเป็นที่วาง ที่ตั้งของพุทธศาสนาไว้ นักปราชญ์ หรือพระชาวพม่าเปรียบเทียบไว้ที่นี้ว่า รัฐพม่าเป็นห้างร้าน พุทธศาสนาเปรียบเสมือนเป็นองค์เจดีย์ ซึ่งรัฐเป็นห้างร้านเพื่อทำความสะอาดองค์เจดีย์ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่เมื่อใดที่จำเป็นต้องเลือกระหว่างห้างร้านกับตัวเจดีย์ไม่มีทางที่จะทุบเจดีย์ทิ้ง ซึ่งความคิดนี้กลับตาลปัตรกับไทย มีความคิดว่าต้องรักษารัฐไทยไว้ โดยใช้พุทธศาสนาเป็นห้างร้าน

*หมายเหตุ;ดูบทสัมภาษณ์ อีกรูปแบบได้ที่ประชาไทhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/page2_comment.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8270&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

ปรัชญาแห่งความหวัง คือ ศรัทธาแก่มนุษยภาพ โดยประมวล เพ็งจันทร์
http://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=178