วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

“24 มิถุนา , 28 กรกฏา,14-6ตุลา,4 ธันวา-10 ธันวา”จากYoung PAD-คนรุ่นใหม่

“24 มิถุนา , 28 กรกฏา,14-6ตุลา,4 ธันวา-10 ธันวา”จากYoung PAD-คนรุ่นใหม่
มุมมองผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมไทย

อรรคพล สาตุ้ม

ประวัติศาสตร์วันชาติไทย ในวัน 24 มิถุนา กับ 10 ธันวา
จากบทความเรื่องประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก24 มิถุนาถึง 5 ธันวานั้น ซึ่งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้ให้เห็นถึง “ความสำเร็จและล้มเหลวของอุดมการณ์รัฐแบบใหม่ ผ่านประวัติศาสตร์วันชาติ” โดยบอกความเป็นมาว่า หลังปี 2475 การยอมรับวันที่ 10 ธันวาคม(แทนวันที่ 24 และ27 มิถุนา ซึ่งเป็นวันประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราว ต่อมาวันที่ 27 มิถุนาเป็นวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โดยการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ สำคัญมากกว่าวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งยังไม่มีการให้ความสำคัญฉลองวันชาติ ซึ่งในเวลาต่อมา 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ที่เรียกกันว่าคณะราษฎร ได้ประกาศเปลี่ยนการเรียกชื่อประเทศและประชาชน จาก "สยาม" เป็น "ไทย" โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน ได้มีการประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ" มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างมโหฬารเป็นครั้งแรกในปี 2482 นั้นเอง ซึ่งรวมถึงการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ ถนนราชดำเนิน เป็นต้น
ท่ามกลางบริบทต่อมา มีการสร้างวันเกิด จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นวันหยุดราชการเพื่อทำสวน และเลี้ยงสัตว์ ทั้งการสดุดีวันครบรอบมงคลสมรสจอมพล และการติดรูปจอมพลตามสถานที่ราชการ และการทำการเคารพรูปจอมพล ในโรงมหรสพ ตามมาด้วยปรากฏการณ์การสร้างตราไก่สัญลักษณ์ประจำตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม (1) สอดคล้องการสร้างสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งสร้างเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และอนุรักษ์สัตว์ป่า แน่นอนว่า สวนสัตว์ก็เป็นมายาคติทางธรรมชาติด้วย(2) ในส่วนศิลปกรรม ก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นเครื่องมือให้ความรู้ เพื่อปลูกต้นรักชาติ เพราะว่าเกี่ยวข้องวันที่ 24 มิถุนายนนั่นเอง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะตัวแทน “คณะราษฎร” ซึ่งมอบหมายให้หลวงวิจิตรมาทำงาน "ปลูกต้นรักชาติ" ขึ้นในหัวใจประชาชน โดยการแต่งละครประวัติศาสตร์ และเพลงที่เป็นบทปลุกใจให้รักชาติขึ้นในระยะเวลาติดต่อกัน อาทิ เช่น ละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง เลือดสุพรรณ ภาพยนตร์เรื่องค่ายบางระจัน ฯลฯ เป็นต้น (คิดสร้างอนุสาวรีย์ไทย และพิพิธภัณฑ์ปลา แต่ก็ไม่ได้ทำขึ้นมา) ซึ่งรัฐบาล ก็ปรากฏสร้าง พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2484 เพื่อพิทักษ์รักษาป่าไม้

การเปลี่ยนแปลงความสำคัญในวันที่ 28 กรกฏา และ 24 มิถุนา
โดยต่อมากองทัพบกเสนอวันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวันกองทัพบกในครั้งนั้น เนื่องจากวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2484 เป็นวันที่กองทัพไทยได้ฉลองชัยชนะ ในกรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส ต่อมาใน พ.ศ. 2494 สภากองทัพบกพิจารณาเห็นว่า ควรเลือกวันที่มีความสำคัญที่เป็นเกียรติประวัติในทางตำนานและประวัติศาสตร์ของชาติเป็นวันกองทัพบก ในที่สุด กองทัพบกได้กำหนดให้วันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2135 เป็นวันที่ระลึกสำหรับกองทัพบก แน่นอนว่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเหลือเพียงชื่อที่ยังคงอยู่ในความหมายถึงชัยชนะ และเปลี่ยนชื่อถนนประชาธิปัตย์เป็นถนนพหลโยธิน เป็นต้น

แต่ว่า ความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับวันที่ 28 กรกฎาคม หายไป โดยมีนัยยะของกองทัพ ที่เกิดรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2490 ขึ้นมา เป็นรัฐบาลโดยตรงกันข้ามกับแนวคิดภาพยนตร์เรื่อง “เลือดทหารไทย” ซึ่งสร้างในปี พ.ศ.2478 ซึ่งยกย่องทหาร นำเสนอให้ทหารพิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อชาติ(3) และต่อมาการเปลี่ยนวันชาติ เป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ ในวันที่ 24มิถุนายน 2498” โดยการรณรงค์ทำแผ่นโฆษณาวันต้นไม้ ในปี 2498 ข้อความว่า “เชิญร่วมมือกับรัฐบาลช่วยกันปลูกต้นไม้ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาติไทย ในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ” และในปี2500 ข้อความว่า “ปลูกต้นไม้เพื่อสุขภาพ สุขใจ ได้ดอกผล อยู่ดีมีสุข โดยการปลูกต้นไม้เท่ากับการปลูกฝังเงินทองไว้ในพื้นดิน ซึ่งมีค่าทวีขึ้นทุกๆวัน” และปลูกต้นไม้ไว้ใช้ ปลูกต้นไม้ไว้ชม ก่อความอภิรมย์ ให้ร่มเย็นสบาย เป็นต้น

ชัยชนะของจอมพล สฤษดิ์ ทางการเมือง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ-ศิลปวัฒนธรรมในสิ่งแวดล้อม หลังวันที่ 14 ตุลา 2516
โดยต่อมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ 16 กันยายน ปี2500 เป็นต้นมา กลุ่มคณะราษฎร คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หมดบทบาททางการเมือง ซึ่งทำให้กลุ่มจอมพลสฤกษดิ์-ถนอม-ประภาส ขึ้นมามีบทบาท ทางการเมือง และยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนา เปลี่ยนเป็น 5 ธันวา โดยรัฐบาล ได้สั่งระงับการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในปีต่อมา จอมพลสฤกษดิ์ ยังพูดราวกับว่าการไม่มีงานในปีนั้นอีก เป็นเรื่องชั่วคราว เมื่อมีการรื้อฟื้นงานเฉลิมพระชนมพรรษาในปี 2502 ก็เท่ากับ ปิดฉากงาน 10 ธันวา อย่างถาวรลงไปด้วย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2503 ซึ่งกำหนดให้วันเข้าพรรษาเป็นวันต้นไม้ประจำปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติก็เริ่มขึ้นเป็นต้นมา ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมือง ก่อนการเคลื่อนไหวของนักศึกษายุค 14 ตุลา ในหนังสือ สัตว์การเมือง ที่วิพากษ์การเมือง 2475 โดยชัยอนันต์ สมุทวณิช ปรากฏผลงานการเขียนดังกล่าวก็มีอิทธิพลแก่นักศึกษายุค 14 ตุลา (4) และการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ในกรณี 29 เมษายน พ.ศ. 2516 เมื่อเฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีดาราหญิงชื่อดังในขณะนั้นคือ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย ผู้เสียชีวิต 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้น ปรากฏพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิง ที่ทางผู้ที่ใช้ล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน ก็สร้างกระแสความไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้น ปลายเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนมิถุนายน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกหนังสือชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ผลการตอบรับออกมาดีมาก จนขยายผลโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" เป็นผลให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีสั่งลบชื่อนักศึกษาแกนนำ 9 คนออก ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงจนนำไปสู่การชุมนุมในวันที่ 21 และ 22 มิถุนายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และดร.ศักดิ์ ก็ได้ลาออกไป ซึ่งต่อมาในวันที่ 6 ตุลาคม มีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ หลายวงการ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น

จากนั้น นักศึกษา 13 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ โดยอ้างถึงใจความในพระราชหัตถ์เลขาของรัชกาลที่ 7ที่ส่งถึงรัฐบาลถึงสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติ แต่ทางตำรวจนครบาลจับได้เพียง 11 คน และจับขังนักศึกษาทั้ง 11 คนนี้ไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน และนำไปขังต่อที่เรือนจำกลาง บางเขน พร้อมตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยม ห้ามประกันเด็ดขาด จากนั้นจึงได้มีการประกาศจับ นายก้องเกียรติ์ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับ นายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.จังหวัดนครพนม ขึ้นอีก รวมทั้งหมดเป็น 13 คน โดยกล่าวหาว่า นายไขแสงเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิวครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นครั้งใหญ่แก่มวลนักศึกษาและประชาชนอย่างมาก

ในที่สุด นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงของการสอบกลางภาคด้วย แต่ทางองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้ประกาศและติดป้ายขนาดใหญ่ไว้ว่า "งดสอบ" พร้อมทั้งยื่นคำขาดให้ทางรัฐบาลปล่อยตัวทั้งหมดนี้ก่อนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม แต่เมื่อถึงเวลาแล้วรัฐบาลก็หาได้ยอมกระทำไม่

กระนั้น การเดินขบวนครั้งใหญ่ จึงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีแกนนำเป็นนักศึกษาและมีประชาชนเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก แกนนำนักศึกษาได้เข้าพบเจรจากับรัฐบาลและบางส่วนได้เข้าเฝ้า ฯ จนได้ข้อยุติเพียงพอที่จะสลายตัว แต่ทว่าด้วยอุปสรรคทางการสื่อสารและมวลชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่อาจควบคุมดูแลได้หมด ก็นำไปสู่การนองเลือดในเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม เมื่อเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่บริเวณหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลา (จงพิทักษ์ประชาธิปไตยโดยสมบรูณ์ของปรีดี พนมยงค์)มีผลต่อการปรับความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมา ในปี 2518 ท่ามกลางกระแสคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งกล่าวโดยสรุป จะเห็นภาพคู่ขนาน "ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และความคิดสีเขียวในเมือง" ตั้งแต่ การริเริ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยกลุ่มนิยมไพรสมาคม ในปี 2498 คิดตั้งอุทยานแห่งชาติ และในเวลาต่อมา เกิดพรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และสะท้อนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ มีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 และ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ-คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2511 เป็นต้นมา (5) ทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวหลัง 14 ตุลา (6) ตั้งแต่ปี 2518 และความซับซ้อนทางพุทธศาสนา “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง2522(ชาตรี ประกิตนนทการ ความทรงจำ อำนาจ ราชดำเนิน) และการสิ้นชีวิตของปรีดี พนมยงค์โดยหลวงพ่อปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดอุโมงค์ ให้ความสำคัญกับงานศพเป็นอย่างมาก และวาทะว่าปรีดี คือตัวแทนประชาธิปไตย กับการวิเคราะห์ที่มาของประเด็นวัฒนธรรม ศิลปะ สิ่งแวดล้อม(สัณฐิตา กาญจนพันธุ์ หน้า 212-222)อย่างชัดเจนว่าคู่ขนาน กับประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมนั่นเอง


วันต้นไม้ประจำปีของชาติ -วันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย

เมื่อกระแสทางการเมือง และเศรษฐกิจต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น เริ่มสงบตามมาด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ และวิกฤติสิ่งแวดล้อม สะท้อนผ่านพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ที่สะท้อนถึงความสนพระทัย และทรงให้ความสำคัญในการปลูกป่า และทรงเห็นว่าทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ เนื่องจากข้อมูลสถิติป่าไม้ในขณะนั้นพบว่าพื้นที่ป่าไม้ของประเทศที่ยังมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้ไม้ก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วย

ดังนั้น การเมืองและเศรษฐกิจ ศิลปะ คือเรื่องที่คู่ขนาน กับกระแสอนุรักษ์ทรัพยากรป่า จึงเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม และเพื่อเป็นการฟื้นฟูป่าไม้เมืองไทยให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ดั่งเช่นในอดีต กรมป่าไม้ขอเชิญชวนคนในชาติทุกหมู่เหล่าร่วมกันปลูกต้นไม้ในวัน วิสาขบูชา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 กำหนดให้วันวิสาขบูชาของทุกปี คือ วันต้นไม้ประจำปีของชาติ เพราะว่า มีการเปลี่ยนวันเข้าพรรษาเดิม เคยเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ มาเป็นวันวิสาขบูชา อยู่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งโดยทั่วไปเป็นระยะเริ่มต้นของฤดูฝน ควรกำหนดเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ แต่ก็ไม่ใช่วันที่ 24 มิถุนายน เหมือนในอดีตนั่นเอง

โดย กำเนิดวันสิ่งแวดล้อมไทย ในวันที่ 4 ธันวาคม 2532 ณ ศาลา ดุสิดาลัย พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา มีใจความตอนหนึ่งว่า “วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่า เมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้ง ไม่มีน้ำเหลือจะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งก็อาจเป็นได้” จากพระราชดำรัสของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนชาวไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน

ฉะนั้น คณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 ให้กำหนดวันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย ตามที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการให้ความร่วมมือ ในการดำเนินการด้วย ซึ่งวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ในสถานการณ์ภายใต้ “นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ทางเศรษฐกิจของไทยกับเพื่อนบ้าน เพื่อเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2535 อันเป็นปีมิ่งมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ กองทัพอากาศก็ได้จัดสร้างพระมหาธาตุเจดีย์(พระมหาธาตุ นภพลภูมิสิริ) ไว้บนดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นเคียงคู่"พระมหาธาตุ นภเมทนีดล"เป็นต้น

เมื่อจะก้าวข้ามยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ฉบับที่ 13 ในการเรียกขานว่า “รัฐธรรมนูญครึ่งใบ” ก็ถูก "ยกเลิก" โดยการรัฐประหารอีกจนได้ เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช.) ภายใต้การนำของ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ได้เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534และเกิดกรณี พฤษภาในปี 2535 กรณีเรียกขานว่า“ม็อบมือถือ” ซึ่งเวลาต่อมาสภาพทางการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2540 ขณะที่ไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ (ในนาม ต้มยำกุ้ง )

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ใจความว่า “การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง” ซึ่งพระองค์ทรงกระตุ้นเตือนให้พสกนิกร หันกลับมาสู่เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง(7) รวมทั้งปัญหาการเกษตร สิ่งแวดล้อมต่างๆ และการให้ความสำคัญกับพระราชดำรัส 4 ธันวาคมแบบในปัจจุบันนั้น เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของทศวรรษ 2530 ขอให้นึกถึงพระราชดำรัส 4 ธันวาคม ปี 2532 เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ, ปี 2534 เรื่อง "รู้รักสามัคคี"(ก่อนพฤษภา ปี 2535), ปี 2537 เรื่อง "ทฤษฎีใหม่", และปี 2540 เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" (8)

กล่าวโดยสรุป ในทางปัญหาประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งไม่ว่าจะเรื่องพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งพ.ศ.2535หลังพฤษภาทมิฬ ประชาธิปัตย์อาศัยวลี “จำลองพาคนไปตาย”และคำขวัญเชิดชูว่าชวน หลีกภัย”เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา เข้ามาเป็นรัฐบาล ซ้ำยังนำรูปของนายปรีดี พนมยงค์(อนุสาวรีย์ปรีดี)กับรูปนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งพวกเขาเคยได้รับผลกระทบจากการกระทำของชาวพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาโฆษณาหลอกลวงคนไทยด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับแนวทางสันติวิธีของทั้ง2ท่านนี้(ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนว่า2ท่านนี้ต้องไปตายในต่างแดนทั้งคู่ก็เพราะผลพวงจากการกระทำของประชาธิปัตย์ทั้งนั้น) แต่ไม่นานก็ถูกตีตกเวทีด้วยเรื่องสปก.ของเลขาธิการพรรคพวกนายเทพเทือก และที่มีการเคลื่อนไหวการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญฉบับรสช.(2535) ต่างๆ จึงเป็นผลสืบเนื่องกับปัญหาทางรัฐธรรมนูญและความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอ้างมาตรา 7 นายกรัฐมนตรีพระราชทานจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นขับไล่มาจากเรื่องทางการเมืองทักษิณ ชินวัตร ต่อมาจากนั้นหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เป็นต้นมา บทเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ได้กลายเป็นเพลงยอดนิยมที่สุดในการชุมนุมร่วมกับพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ในแต่ละวันมีการร้องเพลงนี้หลายรอบ ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเมือง และ วิกฤติเศรษฐกิจในนามแฮมเบอร์เกอร์โดยอเมริกา ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ว่าหลังงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ(9) จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ไม่มีพระราชดำรัสใด


การปลูกวัฒนธรรมประชาธิปไตย, 10 ธันวา -Young PADถึงคนรุ่นใหม่
สิ่งที่ชี้ให้เห็นจากอดีตว่า รัฐในสมัยคณะราษฎร พยายามปลูกสร้างผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม ดังกล่าวจาก 24 มิถุนา เป็นต้นมา หลายอย่างที่รัฐ ปลูกต้นรักชาติ ทางวัฒนธรรม และรณรงค์การทำสวน(11) รวมทั้งปลูกต้นไม้ประจำปีของชาติ วันสิ่งแวดล้อมไทย และวันรัฐธรรมนูญ หรือวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นInternational Day of Human Rights ,วันธรรมศาสตร์ – วันที่ระลึกการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เปลี่ยนจากเดิม 27 มิถุนายน) ,วันโทรทัศน์และวิทยุเพื่อเด็ก(12) ซึ่งหากสมมติว่ารัฐธรรมนูญ ดั่งเปรียบเป็นเมล็ดพันธุ์ จึงเป็นรัฐธรรมนูญพันธุเทศ ที่นำเข้ามาปลูกในวัฒนธรรมไทย แล้วออกดอกผลเป็นพันธุ์ทาง นานาชนิด ตามดินฟ้าอากาศแบบไทยๆ ต่อกิ่งติดตาล้มลุก คลุกคลานกันมาหนึ่งชั่วอายุคน เราจะนับเอาผลผลิตพันธุ์ทางนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมได้หรือไม่ ในเมื่อวัฒนธรรมไทย ก็เป็นวัฒนธรรมพันธุ์ทางมาจากแขก จีน พุทธ พราหมณ์ ผสมกับของพื้นบ้านทั้งนั้น(13)

เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจในปี2551 ก็เข้ามาประเทศไทย ถ้าอุปมาเรากินต้มยำกุ้ง พร้อมกับแฮมเบอร์เกอร์แล้วไม่อร่อย ซึ่งเราชอบกินข้าวมากกว่า โดยจะสร้างเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ หรืออุปมาการเมืองใหม่ของเรา สำหรับการเพาะปลูกวัฒนธรรมประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญ ในเมื่อ กรณี 19 ก.ย. 49 มีรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญจากการพยายามเรียกร้องของประชาชน ปี 2540 จบสิ้นลง มีอายุยังไม่เก่าแก่เท่ารัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 และต่อมาเรา ก็มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ถูกพันธมิตรฯ ใช้ที่ปรบมือ(14) คือ มือตบ(ในความหมายถึง มือที่มองไม่เห็น) หรือ นปช.ใช้ตีนตบก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแบบใด โดยก็เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่ ต้องยอมรับในยุคสมัยนี้ ว่าเป็นความจริง โดยอาจจะตีความทางภาษา ที่โจมตีกันอย่างหยาบคาย รวมทั้ง ภาษา สัญลักษณ์ทางแนวคิด ทฤษฎี วัฒนธรรม ที่ปรากฏตามสื่อมวลชน ไม่ว่าปลูกข้าว ที่ทำเนียบ พิธีรดน้ำมนต์ให้ม็อบพันธมิตรฯ และภาพการ์ตูน มีรูปอุปกรณ์มือตบ ทับแผนที่ประเทศไทย(15) และพรรคประชาธิปัตย์-พันธมิตรฯ ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การฉายภาพปรากฏการณ์ของสื่อมวลชนของASTV ผ่านการสะท้อนหล่อหลอมมวลชนได้ก็ตาม และแล้วในอนาคตของเรา จะมีอนุสาวรีย์ให้แก่ชัยชนะของพวกเขาอย่างเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดสงคราม ในอดีตเพื่อให้มีความทรงจำ จึงสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ(16) และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่ผ่านมา ส่วนในอนาคตเราจะสร้างความทรงจำรูปแบบใด โดยในกรณีสุดท้าย Young PAD หรือ เยาวชนกู้ชาติ(17) คือ ทางเลือกหรือไม่ แล้วทางเลือกอันหลากหลายของคนรุ่นใหม่ ซึ่งทางเลือกมากกว่าอุดมการณ์เดียวของ Young PAD ถ้าสมมติ Young PAD ในฐานะสำหรับเมล็ดพันธุ์ใหม่เกิดจากสังคมเพาะปลูกรัฐธรรมนูญในวัฒนธรรมไทย และออกดอกผล ว่าด้วยประชาชนพันธุ์เลือดรักชาติประชาธิปไตย และ พวกเราต้องร่วมกันเรียนรู้บทเรียนจากYoung PAD เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ช่วยกันสร้างชาติและพวกเราจะสามารถทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบเบ่งบานได้!

*บทความปรับปรุงเพิ่มเติมจากเว็บไซด์ประชาไท เมื่อวันที่ 2008-12-09
-อ้างอิง
1. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ “แผนชิงชาติไทย :ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2
2.เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ “สวนสัตว์: มายาคติว่าด้วยธรรมชาติและสัตว์ป่า” วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2545
3.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา “ภาพยนตร์กับการต่อสู้ทางชนชั้นในห้วงเวลาแห่งการผลัดแผ่นดิน” ในเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 7 ฉบับที่ 1-2 มกราคม-มิถุนายน 2532
4. ประจักษ์ ก้องกีรติ “24 มิถุนา ในขบวนการ 14 ตุลาฯ:การเมืองและอำนาจของประวัติศาสตร์” ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ “สู่ทศวรรษที่ 7 ปฏิวัติ 2475 สถาปนา มธก. 2477 ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่”
5.สัณฐิตา กาญจนพันธุ์ "ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และความคิดสีเขียวในเมือง" สังคมศาสตร์ วารสารทางวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2/2543 หน้า 210-240
6.คำบรรยายของ เกษียร เตชะพีระ : “จาก 14 ถึง 6 ตุลา : สองชาตินิยมชนกัน”
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=10817&Key=HilightNews และกรณี 6 ตุลา 2519 ในปี 2539 จึงมีพื้นที่ทางการเมือง ศิลปะและสิ่งแวดล้อม เช่น สวนประติมากรรม กำแพงประวัติศาสตร์ ใน “โครงการกำแพงประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” คือภาพสะท้อนความพยายามของคนเดือนตุลาและชาวธรรมศาสตร์ในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์หน้านี้ไว้ ด้วยความริเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2539 อันเป็นวาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา http://www.2519.net/wall-history/page-06.htm
7.วอลเดน เบลโล , ลี เค็ง ปอห์, เขียน ; สุรนุช ธงศิลา, แปล “โศกนาฏกรรมสยาม : การพัฒนาและการแตกสลายของสังคมไทยสมัยใหม่”
8.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519
http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&s_id=12&d_id=20 และบทเพลงต้นไม้ของพ่อ
9.พนิดา สงวนเสรีวานิช “เนรมิต "สวนสีฟ้า" ชะลอป่าหิมพานต์ งานพระเมรุกลางสนามหลวง”
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01250851&sectionid=0131&day=2008-08-25
10.ความคิดที่น่าสนใจทางด้านสวนกับการเมือง ใน อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย “แกะรอย: สวนกับการเมือง- คนละเรื่องเดียวกัน” *หมายเหตุสังคม กล่าวถึงประวัติของการออกแบบสวน (ของยุโรป) เข้าจริงๆ เราจะพบว่าการเมืองเข้ามาสัมพันธ์กับสวนอย่างใกล้ชิดราวกับคนละเรื่องเดียวกันทีเดียว
http://www5.sac.or.th/downtoearthsocsc/modules.php?name=News&file=article&sid=33 และงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549- 31 มกราคม 2550
11. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ใช้วิธีการศึกษาปฏิทิน และการรับรู้เรื่องวันที่ 10 ธันวา มาก่อน ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ “สู่ทศวรรษที่ 7 ปฏิวัติ 2475 สถาปนา มธก. 2477 ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่” และวาระ 32 ปี 6 ตุลา ซึ่งในปี 2551 ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เสนอช่องทางการรับรู้เรื่อง 6 ตุลา ผ่านการสืบค้นข้อมูลจาก Google เป็นต้น "อนาคตของ 6 ตุลา 2519"
http://www.midnightuniv.org/forum/index.php?topic=9410.0
12.วันที่ 10 ธันวาคม – วันรัฐธรรมนูญ,วันโทรทัศน์และวิทยุเพื่อเด็ก,วันธรรมศาสตร์ – วันที่ระลึกการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เปลี่ยนจากเดิม 24 มิถุนายน),International Day of Human Rights ซึ่งอ้างอิงจากวิกีพีเดียไทยมีความสับสนเล็กน้อยกรณีวันที่ 24 มิถุนากับ27มิถุนาในวันสถาปนาฯ
13.ธงชัย วินิจจะกูล เขียนเรื่องชาติไทย,เมืองไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ทั้งเรื่องชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตยจาก 14 ตุลา ถึงพฤษภา ซึ่งชาตินิยมไม่ได้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง และรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย แม้ว่ารูปโฉมและที่มาจะเป็นของนอก แต่รัฐธรรมนูญของไทย ก็ผูกพันแนบแน่นกับความผันแปรของสังคมการเมืองไทย “คำนำ ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาติไทย,เมืองไทย.แบบเรียนและอนุสาวรีย์”
14. มือตบ
http://th.wikipedia.org/wiki/มือตบ
15.ปรากฏการณ์ทางการเมืองของพันธมิตรฯ มีลูกจีนกู้ชาติ นักรบศรีวิชัย นักดนตรี บทเพลง บทกวี เสื้อสีขาว-สีแดง-สีเหลือง,นักวิชาการ และพื้นที่ทางการเมือง ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ในแนวการศึกษา ประเด็นพื้นที่กับการพัฒนา จากหนังสือ “วาทกรรมการพัฒนา:อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น” และปัจจัยต่างๆ จำนวนมากมายทางวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งน่าจะเลือกหัวข้อมาทำวิทยานิพนธ์ ศึกษาเฉพาะเจาะจงในกรณี พรรคประชาธิปัตย์ และยุบพรรคพลังประชาชน ต่างๆ
16.อรรคพล สาตุ้ม ปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม: ปราสาทเขาพระวิหาร-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
http://www.prachatai.com/05web/th/home/12834 และพื้นที่ทับซ้อนของปราสาทเขาพระวิหารกับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
17. เว็บไซด์ Young PAD http://www.youngpad.org/introduction/index.htm และไฮ 5 ของYoung PAD http://youngpad.hi5.com/friend/profile/displayProfile.do?userid=307369442
และกรณีYoung PAD ขอให้ปิดเว็บไซด์ฟ้าเดียวกัน และประชาไท

*ขอขอบคุณ พี่เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ สำหรับหนังสือ คำแนะนำ และแรงกำลังใจ ในการกระตุ้น ให้ผู้เขียน ทำบทความนี้เอง