วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์อานันท์ กาญจนพันธ์: ชาตินิยมล้าสมัยกับการรับมือชาวนาขายที่ให้ต่างชาติ

อานันท์ กาญจนพันธุ์’: ชาตินิยมล้าสมัย กับการรับมือชาวนาขายที่ให้ต่างชาติ

อรรคพล สาตุ้ม และทีมงานประชาไท
15 ก.ย. 52

ขณะที่ประเด็นร้อนกรณีขายที่ดินของชาวนา ไทย ถูกสร้างกระแสให้กลายเป็นขายชาติ ตามด้วยข่าวเจ้าหน้าที่รัฐพยายามสืบสวนผู้เข้ามากว้านซื้อที่ดิน เชื่อมโยงกับข่าวว่า ชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจด้านการเกษตรในประเทศไทย ด้วยการตั้งบริษัทนอมินีเพื่อหลบเลี่ยงบทบัญญัติทางกฎหมายที่สงวนอาชีพนี้ ให้กับคนไทยโดยเฉพาะประชาไท สัมภาษณ์ ศ. ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับชาวนาและที่ดินมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่ผลงานวิทยานิพนธ์ ไปจนถึงการเฝ้ามองปรากฏการณ์ต่างๆ ตลอดจนการบริหารนโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

0 0 0
อยากให้อาจารย์พูดถึงนโยบายเกี่ยวกับที่ดิน การขายที่ดินของชาวนาไทยของรัฐบาลทักษิณ จนมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์สะท้อนถึงอะไร
ปรากฏการณ์เรื่องการขายที่ดินที่เกิดขึ้น ก็สะท้อนถึงยุคเสรีนิยมใหม่นี่แหละ ซึ่งมีความคิดที่อยู่เบื้องหลังว่า หากปล่อยให้ตลาดทำงานได้อย่างเสรี ทุกอย่างจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ดังนั้น สิ่งที่ทักษิณทำอย่างเช่น นโยบายเกี่ยวกับแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ก็เป็นการดำเนินงานตามเสรีนิยมใหม่

เพราะฉะนั้น การกล่าวหาในขณะนี้ว่า บางคนเป็นนอมินีของทักษิณ แต่เมื่อก่อนทักษิณก็เป็นนอมินีของเสรีนิยมใหม่เช่นเดียวกัน กระนั้นนโยบายที่ทักษิณทำก็มีทั้ง 2 แบบ คือ มีทั้งแบบเศรษฐกิจชุมชน และเสรีนิยมใหม่ด้วย อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคก็เป็นรัฐสวัสดิการ คือ ทักษิณไม่ใช่เสรีนิยมใหม่อย่างเดียว หรืออาจจะพูดได้ว่า ทักษิณทำให้ชุมชนไปรับใช้เสรีนิยมใหม่ก็ได้

แต่ปัญหาของเสรีนิยมใหม่ที่แฝงอยู่คนก็มองไม่เห็น เสรีนิยมใหม่นั้นมีรัฐเข้าไปช่วยเหลือทำให้ตลาดทำงานได้ หรือการทำงานของตลาดนั้น อาศัยรัฐช่วยทำงานทั้งนั้น เช่น ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกา ก็ต้องให้รัฐเข้ามาช่วยจัดการให้ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ทำงานได้ โดยรัฐเข้ามาจัดการในส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ

นโยบายรัฐไม่ว่าจะเป็น ทำสินทรัพย์ให้เป็นทุน การเอกสารสิทธิ สปก. จะเป็นสมัยทักษิณ หรือสมัยพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ว่าจะสมัยไหน การเปิดเสรีการค้า การเปิด FTA ต่างๆ ก็คือการเอาทรัพยากรไปป้อนตลาด เปิดช่องให้ตลาดเข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสะดวก ซึ่งต้องอาศัยรัฐมาช่วยปลดเงื่อนไขทั้งนั้น
อย่างตอนนี้มีข่าวเรื่องขายที่ดิน แล้วก็ไปรณรงค์ว่า อย่าไปขายชาติ…ทั้งที่รัฐนั่นเองเปิดเสรีการค้า เปิดช่องขายทรัพยากรธรรมชาติตลอดมา ทั้งที่รัฐบาลในอดีตประกาศเขตป่าสงวน เขตอุทยานต่างๆ แต่พอกรณีปลูกยางพาราขนาดใหญ่ เพื่อผลประโยชน์ของรัฐก็ไม่ถูกจับ แต่พอชาวเขาทำไร่หมุนเวียนในเขตป่าสงวนกลับถูกจับ
กรณีการปลูกยางพาราขนาดใหญ่ เราก็จะเห็นได้ว่า มันเปลี่ยนทรัพยากรที่ดินให้เป็นสินค้า กลายเป็นที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับรัฐได้เปลี่ยนแปลงจากการขยายอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ (Territorialization) มาสู่การถอนอำนาจรัฐออกจากพื้นที่ (De-Territorialization) โดยมอบให้ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแทน คือรัฐทำเป็นไขสือ ปล่อยให้ตลาดทำงาน แล้วย้อนมาใช้พื้นที่ของป่า และรัฐก็ทำเขื่อน ปั่นไฟฟ้าจากน้ำ เช่น เขื่อนปากมูล
ดังนั้น เมื่อใครบอกว่าตลาดทำงานได้เองจึงไม่เป็นความจริง รัฐเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นทุนตลอดมา ลดต้นทุนให้ตลาด มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตลาดน้อยลง พูดง่ายๆ รัฐเข้ามาจัดการเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ทุน แต่ว่ารัฐไม่ได้ให้กับชาวบ้านเลย

ปัญหาเรื่องขายที่ดินเพื่อทำเกษตรให้กับชาวต่างชาติ ถูกโยงว่าเท่ากับขายชาติ

มักจะพูดกันว่า รัฐนั้นต้องส่งเสริมนโยบายควบคุมการใช้ที่ดิน และจัดการตลาด แต่ที่จริงรัฐในระบบทุนนิยมทำงานเพียงครึ่งเดียว โดยเฉพาะรัฐไทยไม่ทำการสร้างกลไกมาควบคุม (Regulate) ตลาด เพื่อไม่ให้ตลาดเอาเปรียบเกินไป กลไกลควบคุมอย่างเช่น นโยบายภาษีก้าวหน้า โฉนดชุมชน และกลไกเสริมความก้าวหน้าอื่นๆ ถ้ามีกลไกเหล่านี้ รัฐก็ไม่ต้องมาพูดว่า คนต่างชาติมาซื้อที่ดิน เพราะที่ผ่านมาชาวต่างชาติไม่ได้มาซื้อที่ดินนะครับ แต่เขามาเอาประโยชน์จากที่ดินต่างหาก เช่น มาปลูกมันฝรั่ง ปลูกข้าวโพดพันธุ์อ่อน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็ใช้วิธีเกษตรพันธสัญญากันทั้งนั้น อย่างกรณีโรงงานไต้หวัน เขาเข้ามาซื้อที่ดินของคุณทำเป็นโรงงาน และคุณเป็นแรงงานของเขาเลย

ประเด็นจึงไม่ใช่แค่เรื่องที่ดิน แต่ไม่ได้หมายความว่า ชาวต่างชาติซื้อที่ดินไม่ได้นะครับ เพราะประเทศไทยอยู่ในภาวะไร้พรมแดนอยู่แล้ว แต่จะทำย่างไรให้ทุนของต่างชาติถูกกำกับ โดยไม่ให้ภาษีของไทยไปอุดหนุนชาวต่างชาติให้มาซื้อที่ดินอย่างง่ายๆ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐได้แต่เอากระแสชาตินิยมมาใช้ ซึ่งเป็นลักษณะปากว่าตาขยิบเท่านั้น หากไม่สร้างกลไกของการจัดการที่ดิน เช่น หากให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดิน เขาต้องทำเกษตรอินทรีย์ (Organic farming) และเราต้องตั้งกลไก เช่น อบต. และสถาบันท้องถิ่น ขึ้นมากำกับ ให้ชาวต่างชาติ ให้ตลาดถูกกำกับจากอำนาจท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายถึงการแทรกแซงตลาด เป็นแต่เพียงควบคุมตลาดไม่ให้คนของเราถูกกีดกันจากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ผลิตที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องชาตินิยม

ดังนั้น คุณจะเป็นใครก็ได้ แต่การผลิตต้องเป็นไปตามกลไกกำกับของเรา โดยที่เราไม่แคร์ว่า ใครมาเป็นเจ้าของที่ดิน เราต้องสร้างกลไกต่อรองกับตลาด ไม่ให้คนกลายเป็นแรงงานที่ได้รับเพียงแค่ค่าจ้าง แล้วเกิดภาวะแปลกแยกแบบที่คาร์ล มากร์ซพูดไว้ ทำให้คนถูกกีดกันจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ผ่านมารัฐช่วยเหลือตลาด ไปลดอำนาจต่อรองของชาวบ้าน ทำให้ตลาดไปกอบโกยค่าเช่าและส่วนเกินไว้สูงมาก(High Rent) ขณะที่ชาวบ้านกลับถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรจนเกิดความเสี่ยงในการดำรง ชีวิต ทำให้ชาวนาเอย คนงานเอยมีชีวิตที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ได้ค่าตอบแทนน้อย คุณกลายเป็นทรัพยากรแรงงาน เปลี่ยนจากคนเป็นเครื่องจักร ทำให้คนงานกลายเป็นมนุษย์ล่องหน และผู้ผลิตมองไม่เห็นคนงาน

ต้องอย่าลืมว่า คนทั่วไปนั้นมองไม่เห็นตัวตนของคนงานเลย เช่น บริษัทเลย์ ซึ่งปลูกมันฝรั่งทำเป็นเลย์ แล้วมันฝรั่งมาจากไหน ไม่เคยถาม ทั้งที่มันฝรั่งก็มาจากชาวนา แต่ชาวนากลายเป็นมนุษย์ล่องหน และไร้อำนาจในการควบคุมชีวิตตนเอง ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วนโยบายออกมารัฐบาลก็ไม่คืนกำไรให้คุณ เพราะเขามองไม่เห็นคุณ การแบ่งปันมันจึงบิดเบี้ยวจากวาทกรรมของเสรีนิยมใหม่นี้ ทำให้เกิดช่องว่างมหาศาล ดังนั้นจึงต้องสร้างกลไกมาทำให้ความเป็นธรรมและเสมอภาคเกิดขึ้น ตอนนี้เราตกอยู่ภายใต้วาทกรรมและความหมายของเสรีนิยมใหม่ จนเป็นทาสของมัน ซึ่งเสรีนิยมจริงๆ นั้นต้องทำให้ทุกคนเสรีเท่าๆ กันทั้งหมด ไม่ใช่แค่พ่อค้าเท่านั้น
กรณีเกษตรทางพันธสัญญา หรือแม้กระทั่งโครงการหลวงเอง เป็นไปเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยอาศัยพลังสังคม (Social Force) ทำให้เกิดการรีดส่วนเกิน (Surplus) สูงขึ้น โดยที่รัฐไม่ได้เปิดให้คนมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเลย เกษตรพันธสัญญาบางพื้นที่ ยังเชื่อมโยงกับระบบพ่อเลี้ยงอุปถัมภ์ ยิ่งในเวลานี้ มันหลอมรวมทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และอุดมการณ์ซ้อนกันอยู่ ทำให้มองไม่เห็นปัญหาได้ง่ายๆ
กระทั่งนักวิชาการก็ทำงานวิชาการของตัวเอง การทำงานวิชาการวิเคราะห์ทางการเมืองก็แยกส่วนออกมาเป็นประเด็นการ เมืองอย่างเดียว โดยแยกส่วนเศรษฐกิจออกไป ซึ่งทำให้มองไม่เห็นปัญหา ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นนักวิจัย ซึ่งต้องวิเคราะห์ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์บวกกันทั้งหมด จึงต้องทำหน้าที่เปิดโปงปัญหาที่มองไม่เห็นต่อสังคม

แนวคิดเรื่องการมี ‘วันข้าว’ และ ‘ชาวนาแห่งชาติ’ อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

ยาหอมๆ พวกนี้ เช่น การสร้างสภาเกษตรกรฯ…วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ นั้นก็คงต้องบอกว่า ไม่ได้อะไร คือ เขาจะตายอยู่แล้ว คุณดันให้เขาดมยาหอม แทนที่คุณจะให้ข้าวให้น้ำกับเขา ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเป็นกลไกเชิงสถาบันเข้ามากำกับควบคุมตลาด ไม่ให้ชาวนาถูกเอาไปล่อนจ้อนหมดตัว เราจะต่อสู้ทุนนิยมโลกไร้พรมแดนด้วยชาตินิยมแบบนี้ไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนโลกเป็นโลกรัฐชาติ แต่ตอนนี้ มันเป็นโลกไร้พรมแดน และมันคนละบริบทประวัติศาสตร์ จะมาทำแนวทางชาตินิยมอย่างเดียวสู้ไม่ได้ เพราะมันอยู่ผิดโลกแล้ว

ถ้าไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ เช่น โฉนดที่ดิน ซึ่งควรจะเป็นโฉนดชุมชนสำหรับปกป้องคนอ่อนแอ แล้วเมื่อไหร่คนจนถึงจะได้ลืมตาอ้าปากในสังคมเสรีนิยมได้ เราต้องมีตัวช่วยหลายมาตรการเพื่อให้อำนาจในการจัดการทรัพยากร สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจของการควบคุม (Regulate) เราต้องตรวจสอบถ่วงดุลตลาดที่ไร้ความรับผิดชอบ รวมทั้งข้าราชการ เอ็นจีโอ และทุกคน ก็ต้องถูกตรวจสอบ เราเป็นสังคมประชาธิปไตย การตรวจสอบจะทำให้ตลาดทำงานดีขึ้น แล้วทุกคนก็จะเป็นสุข (Happy) โดยคนที่อ่อนแอจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์แก่คนทั้งประเทศด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม : วันข้าวและชาวนาแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ประเด็นเรื่องพื้นที่ปลูกข้าว เป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก นายสุรศักดิ์ เจือสุคนธ์ทิพย์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึง นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสอบถามกรณี กลุ่มประเทศคณะรัฐมนตรีความมั่นคงรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ โอมาน สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต และซาอุดิอาระเบีย แสดงความสนใจเข้ามาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และทำนาปลูกข้าวในไทย

สืบเนื่องมาจากในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ชักชวนนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเข้ามาลงทุนทำนา หรือเช่าที่ดินทำนาและส่งข้าวออกขายต่างประเทศ พร้อมทั้งได้จัดตั้ง “บริษัทรวมใจชาวนา” ขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย แต่ถูกกระแสต่อต้านทั้งจากพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชนกลุ่มเกษตรกร
กรณีที่เกิดขึ้น มีเสียงตอบรับในหลายทาง ทั้งคัดค้าน และรอดูท่าที โดย นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลสนับสนุนให้ชาวต่างชาติลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวในไทย ก็เท่ากับว่า ‘ขายชาติ’ และทำร้ายเกษตรกรและวิถีชีวิตบรรพบุรุษไทย โดยจะทำให้คนส่วนใหญ่ในชาติกว่า 40 ล้านคนที่ทำนา ทำไร่ ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เดือนร้อน…

ด้านบรรดาผู้ส่งออกข้าวระบุว่า รัฐไม่ควรอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีเทคโนโลยีการผลิตสูงอยู่แล้วและยังสามารถส่งออกเครื่องสีข้าวไป ต่างประเทศได้ ส่วนเรื่องการร่วมทุนก็ไม่จำเป็น เพราะผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ แต่เป็นห่วงว่า ขณะนี้มีนายทุนต่างชาติพยายามใช้สิทธินอมินีเข้ามาซื้อที่ดินทำเกษตรกรรมมาก ขึ้น รัฐจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ประเด็นดังกล่าวทำให้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยกัน โดยคณะรัฐมนตรีได้พูดคุยกันถึงจุดยืนของประเทศไทยที่ว่า หากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูป รับซื้อสินค้าเกษตร หรือร่วมโครงการสำรองอาหารและความมั่นคงทางอาหารในกรอบของอาเซียนนั้น ประเทศไทยไม่ได้ขัดข้อง แต่การจะเข้ามาทำนาซึ่งกฎหมายประเทศไทยสงวนอาชีพนี้ไว้ก็คงจะไม่ได้

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า การเข้ามาลงทุนทำธุรกิจด้านการเกษตรของชาวต่างชาติ ต้องดูด้วยว่ามีรูปแบบอย่างไร หากเป็นรูปแบบการร่วมมือทางการค้า แบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ในการรับซื้อสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ก็มีความเป็นไปได้ เพราะไทยสามารถอาศัยความร่วมมือดังกล่าวในการให้กลุ่มประเทศอาหรับเหล่านี้ เป็นศูนย์กลางในการขยายตลาดสินค้าฮาลาลได้ แต่ถ้าการลงทุนเป็นลักษณะการเข้ามาตั้งบริษัท เช่าที่ดิน และจ้างเกษตรกรเป็นพนักงานก็คงเป็นไปไม่ได้ โดยได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบรายละเอียดการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชนไทยด้านธุรกิจการเกษตรที่ ชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนตั้งแต่ 40-49.99% ว่ามีปัญหาเรื่องนอมินีเกิดขึ้นหรือไม่ ภายหลังเกิดกระแสข่าวว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจ ด้านการเกษตรในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย และมีกฎหมายป้องกันเรื่องการตั้งบริษัทนอมินีของชาวต่างชาติอย่างเข้มงวด

ผลของกระแสข่าวการเข้าลงทุนดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า เป็นข่าวที่ทำให้ทุกๆ หน่วยงานได้ให้ความสำคัญด้านการทำนาและพื้นที่การเกษตรมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”

การจัดตั้งวันดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2550-2554 เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทอดพระเนตรการทำนาที่ อ.บางเขน กรุงเทพมหานคร และทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อชาวสยามและข้าวไทย เป็นวาระสำคัญต่อกิจกรรมข้าวไทย ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ
……………………………………….

ที่มาของข้อมูล:http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255206270116&tb=N255206

หมายเหตุ: เครดิตผู้ร่วมสัมภาษณ์ เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ และสุธัญญารัตน์ ฝ้ายตระกูล
เผยแพร่ในประชาไท-ไทยอีนิวส์ www.biothai.netและwww.food-resources.org

สัมภาษณ์อานันท์ กาญจนพันธุ์: เสรีภาพสังคมไทย กับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อานันท์ กาญจนพันธุ์: เสรีภาพสังคมไทย กับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

สัมภาษณ์โดย อรรคพล สาตุ้ม
สัมภาษณ์ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อกับประชาชนพันกว่ารายชื่อเสนอแก้ไขประมวล กฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ซึ่งอานันท์ให้คำอธิบายเรื่องนี้อย่างออกอรรถรสและน่าสนใจ ทั้งกรณีการลงชื่อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และกรณีที่มีการนำกฎหมายดังกล่าวใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานนักวิชาการ และความจำเป็นของการมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมไทย

000

ชวนอาจารย์พูดเชิงปรัชญากฎหมาย พันธกิจของเสรีภาพ
สำหรับนักวิชาการที่ลงชื่อเสนอยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือ เราต้องพูดถึงบริบทในปัจจุบัน ในเมื่อสภาวะสังคม มีความแตกแยกกันมากอย่างที่เราก็ทราบกันอยู่แล้ว เมื่อสังคมแตกแยก มันก็มีการพยายามจะนำเอากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อต่อต้านหรือเพื่อที่จะกำจัดคนที่คิดไม่เหมือนตัวเอง หรือเพื่อจะไปปราบปรามคนที่คิดไม่เหมือนตัวเอง ไปยับยั้งให้คล้ายๆ กับว่ากลายเป็นฝ่ายตั้งรับ

เมื่อเอาไปใช้แบบนี้ มันจะมีปัญหาอย่างนี้ตามมา ดังนั้น ในสถานการณ์แบบนี้ที่มีการนำกฎหมายข้อนี้มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและ เพื่อปราบปรามความคิดที่ความแตกต่าง และก็เผอิญเอามาใช้กับคนอื่นๆ มันก็ไกลตัว แต่นี่เผอิญเอามาใช้กับนักวิชาการ

ก็เลยทำให้เราคิดว่า ในแง่ที่เราเป็นนักวิชาการ เราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขาทั้งหมด แต่ในแง่ของหลักการ ปรัชญาแบบเสรีนิยม ที่สำคัญที่สุดถึงแม้เราไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของเขา แต่เราจะต้องยืนหยัดในการเปิดพื้นที่ให้เขามีสิทธิพูดในความเห็นที่เขาเห็น ไม่เหมือนกับเราได้ แต่เราไม่มีสิทธิจะไปเอาอะไรมาขัดขวาง ไม่ให้เขาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง นั่นคือปรัชญาเสรีนิยม ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก

ในช่วงที่มีความแตกต่างทางความคิดเห็น ต้องให้ความคิดที่เห็นแตกต่างได้มีพื้นที่และนี่ก็หลักกาเสรีภาพธรรมดา คือ เสรีภาพของความคิดเห็นเป็นเรื่องที่สำคัญ ในขณะที่เราไม่รู้ว่าจะไปทางไหนและสังคมมีความแตกแยกมาก แล้วเราไปปิดกั้นไม่ให้เสียงหนึ่งได้พูด แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า มันจะทางออกอยู่ตรงไหน เพราะเราก็ต่างคน ต่างก็ตันทั้งคู่ ไม่มีทางไปแล้วก็ยืนหยัดอยู่บนกระต่ายขาเดียวของตัวเองอย่าง นี้ ในแง่ของการแก้ไขปัญหา มันต้องเปิดให้พื้นที่ให้คนที่คิดต่างอย่างอื่นนั้นได้ มีพื้นที่ได้พูดแตกต่างบ้าง เพราะในความแตกต่างนั้น มันอาจจะสามารถให้ทางเลือก หรือให้ทิศทางที่แตกต่างออกมาได้ ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่า หลักการเสรีนิยมเหมาะสมสำหรับที่จะใช้ในสถานการณ์ ที่มีความคิดแตกต่างเหล่านี้ได้ดี ก็คือต้องยืนหยัดว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับเราก็ตาม สามารถพูดได้

ดังนั้น ด้วยหลักคิดดังกล่าวนี่เอง ก็เลยทำให้ผมคิดว่า นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาก็จะต้องพูดอะไรที่ไม่เหมือนกับเราอยู่แล้ว และนักวิชาการก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกันทุกเรื่อง ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกเรื่อง

แต่ผมคิดว่า ถ้าเผื่อว่ามีใครมาปิดปากไม่ให้เขาพูด ผมจำเป็นจะต้องเรียกร้องให้เขามีสิทธิได้พูด ในสิ่งที่เขาอยากจะพูด แม้แต่สิ่งที่เขาจะพูดมันผิดกฎหมายไม่ตรงกับใจผมนัก แต่ผมก็ไม่มีสิทธิจะไปปิดปากเขา
ดังนั้น ถ้าหากมีผู้ใด ผู้หนึ่งจะมาอ้างกฎหมายใด กฎหมายหนึ่ง มันจะมาขัดหลักการและปรัชญาเสรีนิยมโดยสิ้นเชิง มันจำเป็นมากสำหรับยุคสมัยนี้ ซึ่งมีความขัดแย้งที่ตรงกันข้ามในสมัยนี้ แล้วหาทางออก ทางเลือกอื่นไม่มี แล้วเรามาปิดกั้น มันก็ยิ่งทำให้แนวทางแก้ไขปัญหามันตีบตัน เราก็ยิ่งกลับไปสู่ยุคที่ตกอยู่ในคู่ตรงข้าม

ซึ่งผมบอกเสมอแล้วว่าการติดกับดักคู่ตรงกันข้าม มันเป็นปัญหา ดังนั้น ในทางวิชาการ ติดอยู่กับคู่ตรงข้ามเสมอ ไม่ขาวก็ดำ ไม่เหลืองก็แดง ในสภาวะคู่ตรงกันข้ามเป็นความมืดบอดทางปัญญา ดังนั้นในสภาวะมืดบอดทางปัญญา มันจะต้องให้สติปัญญา ต้องมีพื้นที่ และจะต้องสลัดคราบต่างๆออกไป สลัดโครงสร้าง และสลัดหัวโขน

ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่าสภาวะ Liminality เหมือน กับสภาวะลูกผี ลูกคน เช่น ก่อนบวชเป็นสามัญชน พอบวชแล้วบรรพชิต คือ สภาวะความเป็นนาค เป็นฆราวาสก็ไม่ใช่ บรรพชิตก็ไม่ใช่เป็นลูกผี ลูกคน และ ตอนเจ้าบ่าว เจ้าสาว คือ ก็ฮ้องขวัญ คือ วัฒนธรรมไทย ต้องทำให้คนรู้สึกว่าให้มีสติ ในสภาวะลูกผี ลูกคน ก่อนเป็นบรรพชิต ไปครอบคนอื่นได้ไง ที่เป็นตัวอย่างแบบไทย

ดังนั้น สภาวะลูกผี ลูกคน คือ ฮ้องขวัญว่าให้สติกับสังคม แล้วถ้าคุณไร้สติ และสังคมเราจะติดกับดักคู่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงเลย ซึ่งสังคมไทยควรก้าวข้ามไปได้แล้ว อะไรที่เป็นอุปสรรค เราต้องเปลี่ยนผ่านสังคมเราต้องพัฒนาทางปัญญา แล้วพอคนให้ปัญญา กลายเป็นว่าคุณเป็นบ้า และผิดกฎหมาย การทำลาย อันนี้เป็นปัญหาใช้กฎหมายเกินเลยไป เราต้องมีสติปัญญา คล้ายๆ กับว่าการเปิดพื้นที่ คือ ยอมให้สภาวะก้ำกึ่ง ลูกผี-ลูกคน มันจะผิดกฎหมายก็ไม่เชิงผิด โอเค ในสภาวะที่มีคนเขียนในเว็บบอร์ดมาว่า ไม่พอใจ แล้วมันจะไปหาความพอใจในสภาวะไม่ปกติได้ไง แต่เราไม่พอใจแล้วก็จะให้ไม่มืดบอดทางปัญญา


ดังนั้น สภาวะลูกผีลูกคน มันเป็นเหมือนกับสภาวะหลุดหัวโขน หลุดออกจากสภาวะปกติ เขาเรียกสภาวะเปลี่ยนผ่าน ในทางวิชาการเขาพูดมานานแล้ว และอยู่ในวิชามานุษยวิทยา ผมไม่ได้พูดอะไรเกินกว่าวิชาการของผม

เมื่อผมมีความรู้ ทั้งทฤษฎี และทางปฏิบัติ ไม่ใช่ดีแต่พูดในชั้นเรียน พอถึงเวลาปฏิบัติการทางสังคม นักวิชาการจะนิ่งเฉยได้ไง ไม่ใช่นิ่งดูดายกับสิ่งที่เห็นต่อหน้าต่อตา คนที่นิ่งดูดายไม่ใช่นักวิชาการ หรือ นักวิชาการที่มีสติและปัญญา ผมคิดว่าสภาวะแบบนี้สำคัญ ที่จะต้องเปิดให้สังคม ยอมรับเอาสภาวะลูกผี ลูกคน ในความก้ำกึ่งมาตรฐานใด มาตรฐานหนึ่ง แน่นอนว่าเอามาตรฐานใด มาตรฐานหนึ่งไปวัดไม่ได้ ถ้าเอามาตรฐานไปวัดเขาก็ไม่ถูกมาตรฐานใด มาตรฐานหนึ่งซึ่งมันก็น่าเสียดาย ถ้าเผื่อเราจะใช้มาตรฐานที่มีอยู่ในขณะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงต้องการ มาตรฐานใหม่ เราต้องการสร้างสถาบันใหม่ เราต้องการสติปัญญาแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในโลก ที่กำลังปั่นป่วน เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ไม่ใช่แค่พรมแดนของไทย มันเป็นโลกาภิวัตน์ มันเกี่ยวพันกันทั่วไปมากเลย แล้วเรายังติดวิธีคิดแบบเดิม และ สถาบันเดิมหรือหน้ากากเดิม หัวโขนเดิม

ผมว่าโลกเขาก็คงหัวเราะเรา คือเราบ้า ในสายตาโลก แต่ในสายตาเราคิดว่า ความบ้าเป็นความถูกต้อง (หัวเราะ)

ดังนั้น คนเป็นลูกผี-คน ยังดีกว่าคนบ้า แล้วก็การบ้าติดหัวโขนตัวเอง หรือ เหมือนกับเรามองคนแต่งงาน หรือมองคนเป็นนาค และมองคนเป็นพระว่าไม่ดี เราบวชพระไม่ดี ยืนหยัดแค่ 2 ทาง แล้วเขาต้องฟังทั้งคู่ แล้วเขาต้องอะไรอย่างอื่น ที่เป็นทางสร้างสรรค์ เมื่อคนจะสร้างสรรค์เหมือนที่เขาบอกว่า คนบ้ากับอัจฉริยะ เส้นแบ่งไม่ชัดเจน ซึ่งสภาวะลูกผี ลูกคน ถ้าเอาความชัดเจนก็ติดหัวโขน จึงให้สภาวะลูกผี
ลูกคนเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ของการสร้างสรรค์ ความคิด และสติปัญญา เพื่อให้สังคมไทย เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ ที่เราเติบโตขึ้น ไม่ใช่คิดอะไรแบบเด็กๆ ติดกับสถาบันหัวโขนเดิม คือ คิดอะไรแบบเดิม ในขณะโลกก็ผลักให้เราเปลี่ยนแล้ว แต่เราไม่เปลี่ยน เพราะเราไม่ใส่ใจกับคนที่เป็นลูกผี ลูกคนเหล่านี้ และสิ่งเหล่านี้ผมพูดจากวัฒนธรรมไทย

ถ้าพูดแบบเสรีนิยมที่สุด และที่สำคัญ คือ John Rawls ที่เขียนเรื่อง A Theory of Justice ที่ อาจารย์ธีรยุทธ (ธีรยุทธ บุญมี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ชอบมาอ้าง ที่จริงแล้วเรามาสำรวจตัวเราเองแล้ว เราคิดว่าซ้ายจ๋าหรือว่าเราเป็นสังคมนิยมจ๋า จริงๆแล้ว สังคมนิยมกับเสรีนิยม
จริงๆ แล้วเกิดอันเดียวกัน

ผมคิดว่าขณะนี้เราจะเป็นเสรีนิยมโดยปราศจากการเคารพปัจเจกคนอื่นด้วย แต่เสรีนิยมที่สุดขั้ว คือเน้นปัจเจกมากเกินไป และเสรีนิยม หรือปัจเจกสุดขั้ว คนละอันกัน

ซึ่งเดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) นักสังคมวิทยา ก็ต้องการ Moral Individualism คือ ปัจเจกที่มีศีลธรรมและเคารพสิทธิคนอื่น ที่มีการเคารพสิทธิของเรา และไม่เอาการละเมิดสิทธิของคนอื่น อันนี้จากหลักสิทธิมนุษยชนของตะวันตก หรือคุณจะพูดจากหลักลูกผี ลูกคน เป็นหลักไทยแท้จ๋าเลย ไม่ว่าหลักใด จะมาบอกว่าผมคิดเป็นฝรั่งเกินไป ก็ไม่ใช่ เพราะผมก็ดื่มด่ำในสังคมไทยมานานแล้ว ไม่ว่ามองจากมุมไหน มันก็ให้โอกาสในความเป็นลูกผีลูกคนในการให้สติปัญญาในการเปลี่ยนผ่าน นี่เป็นภาพรวมของทั้งหมดเลยของปรัชญา เพราะเราไม่เข้าใจจากมุมมองของเรา ถ้าคนเดียวติดในหัวโขน และความขัดแย้งบั่นทอนสถาบันต่างๆของสังคม และความขัดแย้งไม่สร้างสรรค์ มันสร้างความรุนแรง แต่ความขัดแย้งสร้างสรรค์ คือ เปิดให้พูดเกิดคุณภาพของปัญญา

ประเมินสถานการณ์ผลกระทบของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คิดว่านักวิชาการตกอยู่ภายใต้เครื่องมือสร้างความกลัวแค่ไหน
ผมคิดว่า ผลกระทบแม้จะกว้างขวางก็ตาม แต่มันจะนำมาซึ่งความมืดบอดทางปัญญา มันก็เสี่ยงไง ถ้าเอามาใช้เป็นเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมืดบอดทางปัญญา แต่ในสถานภาพของนักวิชาการ เราไม่ได้พูดแบบผลประโยชน์ ผมไม่มีส่วนได้ ส่วนเสีย และผมได้อะไร มีแต่ถูกด่าจากคนที่ไม่เห็นด้วย(หัวเราะ)

กฎหมายกับการเป็นเครื่องมือโจมตีคนเป็นเกมการเมือง
ผมก็คิดว่า คนในสาธารณชนทั่วไปก็คงเข้าใจว่าพวกเหล่านี้เป็นเกมการเมืองที่มืดบอดทางสติ ปัญญา ในขณะที่นักวิชาการ ไม่ได้เล่นเกมการเมือง แต่สร้างเสริมสติปัญญาให้คนทั่วไป ซึ่งคนทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นส่วนได้ ส่วนเสียเหมือนกัน

กรณีเหล่านี้ เขาก็ต้องมองออกมาแล้วว่าใครเป็นฝ่ายที่พูดโดยบริสุทธิ์ใจ แล้วใครที่เอามาเป็นเครื่องมือ คือ คุณธรรม สถาบันต้องตั้งอยู่บนคุณธรรม ถ้าคุณธรรมของสถาบัน ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ มันก็จะไปบั่นทอนตัวสถาบันเอง ตรงนี้เป็นจุดอันตราย เพราะสถาบันอะไรๆ ก็ตาม สถาบันศาสนา ต่างๆ ต้องมีอุดมการณ์รองรับ

กลุ่มนักวิชาการที่ลงชื่อดังกล่าว กับการถูกคนแปะป้ายว่าคือ กลุ่มเสื้อแดตัวหนา
มันก็เป็นการจับแพะ ชนแกะ ทำไมคนเราต้องมีเพียงสองขั้ว คือ มันมีความหลากหลายในสังคมไทยไม่ได้เหรอไง อันนี้มันเป็นความคิดเชิงเดี่ยว คือ คนเรามันก็ต้องดูเป็นประเด็นๆ บางประเด็นเราก็เห็นด้วยกับประเด็นนี้ ไม่ใช่เหมารวมประเด็นทั้งหมด ถ้าเอาตามประเด็น ที่เราก็เห็นด้วย มันก็จะเห็นเสื้อมันจะมีหลายสี ถ้าเอามาใส่เสื้อก็ตาม พูดง่ายๆ คือ ถ้าพูดตามประเด็น การที่จะซ้อนสี หรือเห็นด้วยกันได้ของคนที่แตกต่างกัน มันเป็นไปได้ทั้งหมด

แต่ถ้าเกิดเราพูดอะไรแบบเหมารวม ตีขลุมโดยไม่แยกแยะ แล้วแน่นอน มันจะเกิดเป็นทางตัน 2 ข้าง ถ้าเหมารวมในขณะที่ความจริงในสังคมไทย มันมีความหลากหลายมากมายแล้ว ทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายของวิถีชีวิต แล้วเราก็พูดสิ้นคิด กับ 2 คู่ตรงข้าม ที่ต่างก็เป็นสิ่งสมมติทั้งนั้น อันนี้ก็น่าแปลก สมมติว่าเป็นสีเหลือง แดง ทั้งที่เป็นแค่ภาพตัวแทน และทั้งที่คิดความคิดหลากหลาย และแตกต่างเป็นความเป็นจริง เมื่อไหร่เอาสิ่งสมมติมาปกปิดความเป็นจริง ที่หลากหลาย มันเป็นความมืดบอดทางปัญญา หรือเอาหัวโขน มาปิดบังจะเป็นความมืดบอดทางปัญญาของการแก้ไข คือ ทุกอย่างเราต้องมองหลายด้าน

เราไปยึดติดกับสิ่งสมมติ แล้วมันก็เป็นนายเรา เหมือนกับเราเป็นทาสเงินตรา ทุกวันนี้เราก็เป็นทาสของเงิน ทั้งที่เราเป็นสิ่งสมมติ หรือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร กล่าวว่า เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง แล้วเราดันไปยึดติด ตีความ และเหมารวม โดยไม่แยกแยะในแต่ละประเด็น เพราะว่าไม่ทางเดียวกันทั้งหมด บางประเด็นก็อยู่ร่วมกันได้

นักวิชาการต่างประเทศ กับมุมมองต่อนักวิชาการประเทศไทย
นักวิชาการ ถูกข่มขู่แกล้งปราบปราม หรือ ถูกปิดกั้น

คือเรื่องเสรีนิยม สังคมไทยแยกไม่ออกหรอกว่า เผด็จการ หรือเสรีนิยม เพราะว่าการเอากฎหมายดังกล่าวมาใช้เป็นลักษณะนี้เป็นการปิดกั้น ไม่มีทางต่อสู้ และไม่เปิดโอกาสให้เปิดปาก เมื่อคุณพูดไปปุ๊บถูกปิดปากปั๊บ คุณพูดไม่ได้ ถ้าคุณเป็นเสรีนิยม คุณจะปล่อยให้กฎหมายปิดปากคนพูดมาใช้กับคนที่ใช้ปากพูด หรือสมองคิดเหรอ ดังนั้น แน่นอนนักวิชาการต่างประเทศค่อนข้างอ่อนไหวกับเรื่องนี้ แต่นักวิชาการไทย
แยกไม่ออกระหว่างประชาธิปไตย กับเผด็จการ (หัวเราะ)

นักวิชาการบางคน ถามว่า ทำไมต้องเป็นประชาธิปไตย ก็เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไปก็ได้ ถ้าคุณอยู่ในโลกคนเดียวก็ว่าไป คือ คุณอยู่คนเดียว แต่นี่สังคมไทย เราไม่ได้อยู่หลังเขา เรามีคนอื่นมากมายต้องไปเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น เราทำอะไรแบบไม่ยอมรับของชุมชนโลก มันก็เป็นการลำบากในการพัฒนาคุณภาพของเราให้สูงขึ้น ก็คือวิธีการพูดแบบไทยๆ และการกดขี่อยู่แบบเดิม ก็คือ การอ้างแบบอยู่แบบเจ้าขุนมูลนาย ให้คนมากราบเท้าคุณ คืออยู่แบบไทย หรืออยู่แบบปิดกั้นคนอื่น

การแช่แข็งความเป็นอยู่แบบเดิม คือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เพราะว่าโลกของเรา โดยผมพูดอยู่บนพื้นฐานของสังคมวิทยา คือการมองคนเป็นมนุษย์ให้เท่ากัน ใช่ไหมครับ เพราะการมองคนอื่นให้เป็นมนุษย์ด้อยกว่าเรา ก็ทำให้เราถามว่าเราจะพัฒนาไปทำไม

ถ้าอยู่แบบโบราณ หรืออยู่แบบไทย ก็พายเรือกันทุกวัน จะเอาไหม ถ้าเผื่อเราต้องการรถไฟฟ้า ถามว่า คนจนจะมีสิทธิไหมครับ(หัวเราะ) คนพิการ หรือเราจะใช้เฉพาะคนมีขา มันก็ไม่ได้ มันจำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะสิ่งที่เราได้มาในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราเคยมีมาในอดีต ดังนั้น การเรียกร้องอยู่เหมือนเดิม ซึ่งเราก็ไม่ได้อยู่แล้ว เราจะเปลี่ยนอยู่แล้ว ทำไมเราเรียกร้องอย่างเดิม คุณก็อยู่อย่างเดิมไปทั้งหมดสิ ไม่ใช่คุณบอกว่า ถ้าโดยอำนาจคุณอยากอยู่แบบเดิม แต่เรื่องความทันสมัย เรื่องพัฒนาคุณอยากจะได้ มันขัดแย้งในตัวเองนี้หว่า คุณจะเอาสองอย่างไม่ได้ ตัวหนา

ชุมชนชาติจินตกรรมขัดกับสิ่งที่อาจารย์พูดถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่สมเหตุสมผล
ชุมชนชาติ มันเป็นเพียงจินตนาการ มันเหมือนกับที่เราพูดถึงสิ่งสมมติ มันติ๊งต่าง

แล้วคนเราทุกวันนี้เหมือนกับบ้าจี้ เอาติ๊งต่างมาเป็นเจ้าเหนือชีวิต เหนือสติปัญญาของคน ถ้าคุณเป็นอย่างนั้นมันก็มืดบอด แล้วเอาติ๊งต่าง คือสมมติๆ มาเป็นอำนาจเหนือความคิดที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ ความคิดแตกต่างใหม่ เราบอกว่าอยากได้ความทันสมัยที่ต่างจากเดิม ถ้าเกิดคนอื่นพูดไม่ได้ แล้วเอาสิ่งสมมติเดิมมาใช้ปิดกั้นเขา ดังนั้น มันจะต้องเปลี่ยนสมมติเดิมด้วย จะต้องเอาเสรีภาพมาใช้แล้วสังคมต้องเป็นเสรีภาพ และเสรีภาพก็เป็นสิ่งสมมติอีกอัน แต่มันสมมติแล้ว เสรีภาพ มันเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่ติดกับหัวโขนเดิมๆ มันเป็นความมืดบอดทางปัญญา

ดังนั้น เวลาที่สังคมไทยต้องเลือกว่าเราจะยึดติดกับสิ่งสมมติเดิม ที่เป็นความมืดบอดทางปัญญา หรือ เราจะสมมติกับสิ่งใหม่ เพราะมันไม่มีอะไรเป็นของแท้จริงทั้งนั้น ในทางวิชาการเรียกว่า Social Construct
(การ สร้างทางสังคม) มันเป็นการสมมติทั้งนั้น แต่สังคมที่จะมีพลัง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ คือ สังคมที่สมมติอะไรเหมาะกับสถานการณ์

ประเทศไทยเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เป็นเสรีนิยมทางการเมือง มันขัดกันอย่างไร
มันขัดกันเราจะเป็นเสรีนิยมไร้ความรับผิดชอบ เพราะเราเน้นฟรี แต่ไม่ Fair คือเราไม่สร้างสำนึกใหม่ๆ มาถ่วงดุลการเสรี เน้นแต่เปิดเสรีๆ และที่อเมริกาเน้นเปิดเสรีมาก จนเกิดหนี้ ที่คุณไปซื้อบ้าน เอาหนี้เปิดให้ขายต่อ เป็นเสรีมากก็สุดขั้วของปัญหา เสรีสุดขั้ว คือ ความอับจนทางปัญญาแล้ว

จริงๆ แล้วเราเป็นเศรษฐกิจเสรีมากเกินไป โดยไม่สนใจด้านอื่นเลย ความคิดอย่างเสรีอยู่ได้ต้องมีสถาบัน กรณีอเมริกา มีปัญหาเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ ดังนั้น เอาเงินของประชาชนมาอุดวิกฤติเศรษฐกิจอเมริกา มันเยอะมากกว่างบประมาณไทย ดังนั้น เสรีนิยมอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีสถาบันมากำกับ เสรีนิยมต้องมีความรับผิดชอบ เสรีนิยมต้องมีความรับผิดชอบ เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) นักสังคมวิทยากล่าวถึง เสรีนิยมไร้ความรับผิดชอบ เสรีนิยมที่มีความรับผิดชอบต้องใช้ภาษีเพื่อให้ด้านเสรีรับผิดชอบเป็นธรรม มากขึ้น เราเอาด้านเดียว ทุนนิยมครึ่งเดียวไม่สนใจด้านเสรีนิยมที่มีความเป็นธรรม

คนที่โพสต์ในอินเตอร์เน็ต เจอกฎหมายหมิ่นฯ แม้แต่ข้อกล่าวหาเขาก็ไม่มีโอกาสรู้ ว่า
ตำรวจคิดอย่างไร ใช้เงื่อนไขอะไร ซึ่งดูเหมือนเป็นจุดอ่อนว่าอำนาจในการตีความอยู่ในกลไกรัฐ แล้วภาคประชาชนจะพูดอะไรได้

กฎหมาย ใดที่ไม่เปิดให้มีการต่อสู้ทางความคิดหรือมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ได้ไม่น่าจะเป็นกฎหมายเสรีนิยมประชาธิปไตย ดังนั้น จะต้องให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยได้ จะต้องขจัดกฎหมายที่ไม่เปิดให้มีเสรีภาพให้หมด

ขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีความเป็นไปได้ไหม
มันลำบากตอนนี้ เป็นไปได้ยาก สังคมไทย มันไม่ใช่อยู่แค่คนคิดมีสติปัญญาอย่างที่ว่า สังคมไทยเครื่องไม้ เครื่องมือ สื่อ ยังไม่เป็นอิสระพอ

ดังนั้น เราต้องเข้าใจข้อจำกัดของความเป็นจริงที่ว่า ถ้าเกิดมันมีพื้นที่เสรีโต้กันได้ แต่ว่าโลกมีข้อจำกัดนานาประการ เราต้องไม่ฝันหวาน ความถูกต้องไม่ได้แปลว่าความถูกต้องทุกยุคทุกสมัย ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าถูกต้อง แต่ก็ไม่ต้องทำให้ถูกคนอื่นว่าเราเป็นบ้า หรือผิดปกติ เราต้องตั้งเป็นประเด็นให้เขาถกเถียง เพราะเรื่องของความคิดให้คนถกเถียง มีสติปัญญามากขึ้น ไม่ใช่ว่า เราถูกต้องที่สุดแล้วให้สังคมได้ถกเถียง เราไม่ต้องไปกลัว หรือ เราเป็นหัวหอก ถ้ากลายเป็นประเด็นแล้ว เราก็ไม่เอาสังคมมาแบกไว้คนเดียว

เราอย่าผูกขาดความคิดไว้คนเดียว และทำให้สังคมตัดสินให้อยู่กับประเด็นนี้ รวมทั้งรักษาให้เรื่องนี้เป็นประเด็นไว้

กรณี Harry Nicolaides อดีตนักข่าวและคอลัมนิสต์ชาวออสเตรเลีย ทราบข่าวไหม
ทราบข่าว แต่ไม่รู้รายละเอียด รู้เพียงเขาเขียนอยู่ไม่ถึง 10 เล่ม ไม่ได้ตีพิมพ์

เขาเขียนอยู่ในหมุนเวียนวงจำกัด มันก็เป็นแต่การแสดงความคิดเห็น และถ้าการแสดงความคิดเห็น มันเป็นพิษ ก็ไม่รู้จะว่าไงแล้ว เพราะว่า คดีหมิ่นประมาท จงใจทำให้ผู้อื่นเสียหาย มันเป็นกฎหมายอาญาปกติ ถ้าแบบนั้นใช้กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาก็ได้ เพราะคนที่รักก็แสดงความคิดเห็นไม่พอใจก็ได้ เขาผิดกฎหมายไหม แต่กฎหมายหมิ่นประมาทก็ต้องทำด้วยความจงใจ และคนที่รัก จึงแสดงความคิดเห็นบางอย่าง ที่อาจจะขัดอารมณ์ แต่ถูกคนบางกลุ่ม นำมาใช้เพื่อปราบปรามสถาบัน แต่เราไม่เข้าใจ เพราะว่ามันสับสนระหว่างที่ว่า การเอามาใช้คนที่ไม่เห็นด้วยทางการเมืองกับปัญหาทางกฎหมาย คือ เราไม่ใช้ในแง่กฎหมาย แต่เอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือ ถ้าการใช้ทางกฎหมาย มันจะไม่ทำให้เกิดการตีความได้ขนาดนี้ ถ้าใช้ตามหลักนิติธรรมตามกฎหมาย แต่การที่มีกฎหมายตัวนี้อยู่ มันล่อแหลมว่ามันถูกใช้ทางการเมือง และสังคมไทย แยกไม่ออกกฎหมายกับการเมือง ทำให้สังคมสับสนขยายมากขึ้นไปอีก


ถ้าใครจะวิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แม้แต่ทางวิชาการจะเข้าคุกหรือเปล่า และจะเป็นอย่างไรต่อไป
สถาบัน ต้องยืนอยู่บนหลักนิติธรรม และคุณธรรม แต่ถ้าเราไม่ยืนบนหลักนิติธรรม และตีทุกเรื่องเป็นการเมืองไปหมด มีคนเอามาใช้ทางการเมือง แล้วเอาปิดกั้นไม่ให้คุณคิดต่าง และปิดความคิดต่าง ซึ่งทางมานุษยวิทยา ถือว่าเป็นการบ่อนเซาะสถาบัน

สถาบัน ทางสังคมจะอยู่ได้ ก็มีสามส่วน คือ อุดมการณ์ กลไก องค์กร และอุดมการณ์สำคัญที่สุด ซึ่งต้องมีความชอบธรรม และทุกสถาบัน การเมือง เศรษฐกิจ จะมีอยู่ในรูปแบบใด รูปแบบหนึ่งที่ต้องยอมรับได้ทางอุดมการณ์

แต่ว่าคุณกับปล่อยให้กลไกต่างๆ ถูกบ่อนเซาะ คุณจะอยู่ได้เหรอ ใช่ไหมครับ มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครจะต้องรู้เข้าใจ ถ้าใครเรียนมาทางสังคมศาสตร์ และ GRANT EVANS เขียนถึง Modern monarchy and inviolability ในบางกอกโพสต์ ก็พูดเหมือนผมเลย


เป็นไปได้ยากที่จะเป็นอย่างที่อาจารย์พูด
นักวิชาการต้องชี้ให้สังคมมีสติ และเห็นคุณค่า ว่าที่ทำแบบนั้นไม่ใช่การปกป้องสถาบัน

เพราะอุดมการณ์ของสถาบัน คือ ความยุติธรรม แต่ถ้าคุณไปบ่อนเซาะโดยไม่รู้ตัว คุณโง่ คุณบ้าไหม

ผมพูดให้มีสติ แล้วคุณหาว่าไปทำลาย และการพูดถึงสถาบันฯ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง หลายพวก เพราะผมก็ไม่รู้ว่าพวกที่เขียนถึงสถาบันฯ หลายพวก ผมก็ไม่อยากล่วงเกิน ก็ดูเป็นรายๆ ไม่ใช่คนพูดแล้วเสียหายหมด แต่คนที่ทำให้เสียหาย คือ เอาเรื่องนี้ไปขยายบ่อนเซาะ นี่เป็นหลักมานุษยวิทยาเบื้องต้น ขอพูดย้ำเลย ถ้าคนไม่เข้าใจก็พูดกันยากแล้ว


สนธิ ลิ้มทองกุล อัดนักวิชาการไปทั่ว
ช่างเขาปะไร หมายความว่า คือ เขาก็พูดได้สักพัก ถ้าไม่มีประเด็นก็พูดมันส์ปากแค่นั้น

ผมต้องกังวลเหรอ ผมก็บ้าแล้ว (หัวเราะ) บางครั้งมันไม่มีสาระ ผมก็ปล่อยไป ผมไม่แคร์ แต่ไม่ได้ปฏิเสธทั้งหมด มันขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์ไหน ถ้าเขาเริ่มไร้สาระ

ผมก็ไม่ถือสาคนบ้า คนเมา ผมแยกได้แล้ว คือ คนไม่แยกแยะ เพราะเวลาไปเป็นอยู่ในจิตวิทยาฝูงชน ถ้าใส่แว่นสีอะไร ก็ไปทางนั้น แต่คนเราบางสถานการณ์ไม่ยอมถอดแว่น ผมก็บอกว่า คุณถอดแว่นบ้าง แต่จะให้ผมไปพูดว่า คุณพูดผิด ผมก็พูดไม่ได้


ข้อมูลเพิ่มเติม
John Rawls,A Theory of Justice
http://en.wikipedia.org/wiki/A_Theory_of_Justice
สมชาย ปรีชาศิลปกุล แนวความคิดเรื่องการดื้อแพ่งของนักปรัชญาอเมริกัน John Rawls
http://www.midnightuniv.org/midnighttext/0009999827.html
GRANT EVANS, Modern monarchy and inviolability
http://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/11535/modern-monarchy-and-inviolability

หมายเหตุ: เครดิตผู้ร่วมสัมภาษณ์ คือ เนตรดาว เถาถวิล และเผยแพร่ในประชาไทเป็นครั้งแรกวันที่เท่าไร ก็จำไม่ได้แล้ว ซึ่งน่าจะหลังวันที่ 29 ม.ค.52 และเผยแพร่ในสื่อเพื่อประชาธิปไตย
http://www.prachatai.com/05web/th/home/15991

http://www.media4democracy.com/th/index.php?option=com_content&task=view&id=1670&Itemid=69

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ลูกช้างชวนอ่าน:เจ้าชื่อทองกวาว

ลูกช้างชวนอ่านผ่าน Book Fair ครั้งที่ 12(2548)

ลูกช้างชวนอ่านชื่อหนังสือ เจ้าชื่อทองกวาว-ขบวนถา ลงแขก (ผู้แต่งหลายคน)

เขียนแนะนำโดย นายอรรคพล สาตุ้ม(นักศึกษาบัณฑิต ที่มีสถิติการยืมสูงสุด)

เจ้าชื่อทองกวาว มปท. มปพ, 2513 มีให้บริการที่ - ห้องสมุดกลางเลขเรียกหนังสือ - น จ512 เนื้อหา/ความประทับใจ/ข้อคิดที่ได้รับจากการอ่าน

ถ้าถามหาถึงช่วงแสวงหาของคนหนุ่มสาวนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว มีนวนิยายหลายเล่มเหมือนกัน แต่ว่าช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หนังสือเล่มนี้ได้พิมพ์ออกปี พ.ศ. 2516 ก็ได้ตั้งคำถาม เช่น ชีวิตคืออะไร ในแต่ละยุคมักมีคำถามต้องการค้นหาความหมายเกี่ยวกับชีวิต หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ได้สะท้อนภาพการทำกิจกรรมของนักศึกษา จากคำนำของอาจารย์นิธิ กับบรรณาธิการของเล่มอันทำให้เห็นภาพฉากชีวิตอ่อนไหว เหงา เศร้าสร้อย ผลิตหนังสือเล่มนี้ พลังของอุดมคติคนหนุ่มที่มีที่ปรึกษาอาจารย์เอมอร เป็นต้นนั้น สะท้อนความสัมพันธ์ลูกศิษย์กับอาจารย์ด้วย และอย่างเรื่องสั้น “พันธนาการ” ผู้เขียนเกี่ยวกับความรัก เพื่อน ชีวิต และการเดินทาง ก็คงได้แต่หวังว่าความรู้สึกจากการอ่านจะก่อเกิดจินตนาการแก่เรา

อย่างไรก็ดี ตัวผมก็ได้ความรู้ผ่านการรับรู้ช่วงเวลานั้นมาจากประสบการณ์เป็นนักศึกษา เมื่อคนแต่ละคนมีชีวิตกับการศึกษา เรียนจบไป แยกย้ายทำงานคนละทิศคนละทางตามเส้นทางตนเอง บางครั้ง คนบางคนได้จากเราไปพร้อมกับชีวิตของเขาหรือทิ้งฝันกับอุดมคติฝากไว้ ก็เหมือนที่ผู้เขียนหลายคนในหนังสือทองกวาวได้ถ่ายทอดประสบการณ์เอาไว้ ในเรื่องสั้นดุจดั่งว่าตัวผมต้องเพ่งค้นหาภายในของอดีตส่วนตนเพื่อทำการวิเคราะห์ความทรงจำไม่ว่าตำราเรียน หนังสือ เพื่อนที่จริงใจช่วยให้เราวิเคราะห์อดีตกับชีวิตร่วมสมัยเราเองกับสังคม ชีวิตนั้นไม่ใช่เดินตามตำราเป็นสูตรสำเร็จ

-หมายเหตุ :ดูเพิ่มเติม ในเรื่องรางวัลสำหรับยอดนักอ่าน และการเขียนแนะนำหนังสือของคนอื่นๆ
http://library.cmu.ac.th/cmubookfair/bookfair12/readwithbf02.html