วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“Big Cleaning Day และเดอะเฮด”: การสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติและประชาธิปไตยร่วมกัน

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 22, 2011
“Big Cleaning Day และเดอะเฮด”: การสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติและประชาธิปไตยร่วมกัน

ครบรอบ1 ปีเหตุการณ์19 พฤษภา กับการย้อนวิเคราะห์อดีตกิจกรรม Big Cleaning Day เป็นส่วนหนึ่งของการอธิบาย ต่อการสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติได้เป็นอย่างดี ก็กรุงเทพฯ ถูกเชื่อมโยงกับชาติไทย และการทำความสะอาด ล้างถนน รวมทั้งเดอะเฮด หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ในนิยามของความหมายถึง หัวเป็นมันสมองของคนด้วย แล้วการสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติจากกิจกรรมดังกล่าว โดยหากทำเหมือนการล้างสมองของคนในชาติ ก็ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง ซึ่งรัฐและคนไทยต้องร่วมใช้หัวสมองคิดสร้างทางออกเพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตย

โดย อรรคพล สาตุ้ม

….She said: What is history?

And he said: History is an angel being blown backwards into the future He said: History is a pile of debris And the angel wants to go back and fix things To repair the things that have been broken But there is a storm blowing from Paradise And the storm keeps blowing the angel backwards into the future And this storm, this storm is called Progress…(*)

…ผู้เขียนนำเสนอบทความนี้ ออกเผยแพร่เพื่อรำลึกครบรอบ1 ปีเหตุการณ์19 พฤษภา ซึ่งผู้เขียนแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมแนวคิดเดิม และพัฒนาบทความจากที่เขียนไว้ในปีที่แล้ว โดยไม่ได้อ้างอิงบ้างก็ตาม

เพราะฉะนั้น ผู้เขียนทบทวนข้อจำกัด กับการแลกเปลี่ยนพูดคุยต่อเพื่อนสหาย สำหรับภาพรวมบทความของตนเอง และอ่านเอกสาร ค้นพบการอ้างงานวิจัยทางประสาทวิทยาในปัจจุบันบ่งบอกว่า อารมณ์จะกระตุ้นสมองได้เร็วกว่าการคิดด้วยเหตุผลถึง3,000 เท่า และอารมณ์ยังทำงานต่อเนื่องด้วยการกระตุ้นทัศนคติและพฤติกรรมของเรา

กระนั้น ผู้เขียนได้เขียนบทความต่อเนื่องด้านทหาร-กองทัพมาแล้ว ต้องการสะท้อนแง่มุมหนึ่งของอดีตเพลงชาติไทยเกี่ยวพันสมอง ซึ่งลักษณะเฉพาะของเพลง ก็ดัดแปลงและการลอกเลียนแบบตะวันตก และการสร้างชาติสมัยใหม่ของคณะราษฎร โดยสร้างเพลงชาติเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ความรู้สึกด้วย และผู้เขียนเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเสียง ความทรงจำกับอำนาจฯ โดยสะท้อนความเงียบในหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา19 ในแง่มุมหนึ่ง

ซึ่งปัญหาภาพรวมของการเมืองไทย ที่ยังไม่สามารถเข้าใจง่าย โดยผลกระทบ19 พฤษภา 53 ก็มีผู้ต้องขังยังไม่ได้ออกจากคุก ฉะนั้น เหตุและผลของBig Cleaning Day ย่อมสัมพันธ์ในแง่มุมของการชำระล้างเสียง และภาพความทรงจำของอดีต

อย่างไรก็ดี ประชาชนในแง่มุมหนึ่ง ย่อมต้องเข้าใจว่า การล้างสมองในแง่มุมของจิตวิทยา และปฏิบัติการของชาติเกี่ยวกับสมองของคน คือ การเกิดของจินตนาการเกี่ยวข้องความรู้จากประสบการณ์ เกี่ยวข้องภาพยนตร์ ละคร เพลงชาติ ในยุคชาตินิยมจากสมัยคณะราษฎร เป็นปัจจัยการผลิต โดยประดิษฐ์ให้ความรู้สู่แบบเรียน อนุสาวรีย์ เป็นสิ่งก่อสร้างต่อความทรงจำ และรับรู้เป็นความจริงตามสมองกำหนด ให้มีความหมายแก่ทุกคน และปัญหาใหญ่ ในสมองของคน จึงสัมพันธ์กับจินตนาการของความเป็นชาติ และประชาธิปไตย ท่ามกลางกระแสการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง สำหรับสิ่งเกิดใหม่เป็นความหวังของประชาชน ในการเลือกตั้งว่า ประชาชนมองเห็นคนตาย และคนต้องขัง ต้องได้รับความยุติธรรม เหมือนหัวสมอง ที่มีภาพของตราชั่งของน้ำหนักเหตุผลของความยุติธรรม

ดังนั้น การย้อนภาพของอดีตการปฏิบัติการทางสุนทรีย์ชาตินิยม แทรกซึมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมปฏิบัติการเกาะเกี่ยวความรู้สึกชาตินิยมไปด้วยกัน สะท้อนผ่านการย้อนวิเคราะห์อดีตกิจกรรม Big Cleaning Day ซึ่งมีผู้เข้าร่วมใส่เสื้อเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปะว่า “รักชาติ” เป็นภาพแสดงแทนอย่างชัดเจน ในส่วนหนึ่งของการอธิบาย ต่อการสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติได้เป็นอย่างดี ก็กรุงเทพฯ ถูกเชื่อมโยงกับชาติไทย และการทำความสะอาด ล้างถนน


รวมทั้งงานศิลปะเดอะเฮด หน้าห้างเซ็นทรัลเวริด์ ในนิยามของความหมายถึง หัวสมองของคนด้วย แล้วการสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติจากกิจกรรมดังกล่าว

โดยหากทำเหมือนการล้างสมองของคนในชาติ ก็ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง ซึ่งรัฐและคนไทยต้องร่วมใช้หัวสมองคิดสร้างทางออกเพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตย โดยเรามองย้อนดูพัฒนาการเมืองไทย กับการสร้างรัฐชาติ แล้วรัฐชาติอยู่ในหัวเป็นมันสมองของทุกคน

Big Cleaning Day

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning Day) พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ปะทะในกทม. โดยระบุว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่า 2 เดือน และได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งที่เป็นทรัพย์สินของทางราชการและภาคเอกชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะบริเวณถนนพระรามที่ 1 สี่แยกราชประสงค์ และถนนราชดำริ ซึ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ

ดังนั้น กรุงเทพมหานครจะเร่งฟื้นฟูด้านกายภาพในพื้นที่ดังกล่าว และเร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินมาตรการฟื้นฟูภายใต้โครงการ "ร่วมสร้างกรุงเทพฯ รวมกันเราทำได้" (Together We Can) โดยจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูครั้งนี้ด้วย


"กรุงเทพมหานครจะดำเนินการฟื้นฟูภาพลักษณ์การเป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยรอยยิ้มให้กลับคืนมาอีกครั้ง โดยอยากให้คนไทยทุกคนให้อภัยและมองไปข้างหน้า ให้ประเทศไทยก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง ลืมว่าเคยสวมเสื้อสีใด สิ่งที่ผ่านมาแล้ว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฎหมาย และการที่คนไทยออกมาร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่ในวันนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าคนไทยยังรักและสามัคคีกันเช่นเคย" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ทั้งนี้ กิจกรรมแรก คือ การทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning Day) ในพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทุกแห่ง หลังจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ส่งมอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครได้ระดมเจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด, พนักงานกวาด พร้อมด้วยรถฉีดน้ำ รถดูดฝุ่น รถเก็บขยะ ไม้กวาด จากสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขตพื้นที่ 3 เขต และเขตใกล้เคียง 19 เขต พร้อมเชิญชวนอาสาสมัคร และประชาชนร่วมกิจกรรม รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 10,000 คน ร่วมกันทำความสะอาด ปัดกวาด ดูดฝุ่นและล้างถนน ขัดล้าง Street furniture ใช้สีฉีดพ่นทับข้อความที่ไม่เหมาะสม โดยการล้างทำความสะอาดถนน และทำพิธีทางศาสนา (1)

จากเนื้อหาของกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งทุกคนรู้สึกเชื่อมโยง Big Cleaning Day ถึงความเป็นชาติของไทย ในจินตนาการของเรา เหมือนกับหนังสือเรื่อง Imagined Communities ของเบเนดิก แอนเดอร์สัน อันเป็นงานศึกษาว่าอารมณ์ความรู้สึก และความเกี่ยวดองเชื่อมโยงของบรรดาผู้คนที่เอาเข้าจริงไม่เคยประสบพบพานหรือติดต่อกันโดยตรงเลยนั้น มันรวมกันก่อตัวเป็นเอกลักษณ์ร่วมที่พวกเขาเข้าใจว่าเป็น ‘เอกลักษณ์แห่งชาติ’ ได้

และ หนังสือชุมชนจินตกรรม ก็ศึกษาเนื้อแท้ที่มีลักษณะพลการและประดิดประดอยขึ้น (แม้บ่อยครั้งจะเหลือวิสัยจะไปยับยั้งทัดทานได้) สิ่งประดิษฐ์ของการนับเนื่องสังกัดที่เพิ่งปรากฏขึ้นนี้(2) ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจของฐานะสัญลักษณ์สำหรับ “เดอะเฮด” และ ‘เดอะเฮด’ ในนิยามของชาติไทยในความหมายต่อหัวสมองของคนด้วย

‘เดอะ เฮด’ ของกรุงเทพมหานคร

"เดอะเฮด"หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการชุมนุมที่ราชประสงค์ไปแล้ว ภาพประติมากรรมรูปศีรษะผู้หญิงเกล้าผม ที่ตั้งตระหง่านตั้งแต่เมื่อครั้งกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักโดยรอบบริเวณ จนมาถึงวันที่เพลิงเผาไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งส่งผลให้อาคารพังถล่มเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ประติมากรรมชิ้นนี้ยังคงโดดเด่นอยู่ที่เดิม หลายคนที่เห็นภาพ หลายคนที่เคยแวะเวียนไปนั่งเล่นพร้อมถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเทศกาลอย่างคริสต์มาสและปีใหม่

"เดอะเฮด" (THE HEAD) คือชื่อประติมากรรมชิ้นนี้ ในเดือนพ.ค.ปี 2552 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการสนับสนุนจากหอการค้าอินเดีย-ไทย สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย รับมอบประติมากรรมระดับโลก จัดแสดงที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้โครงการ "เดอะ สคัลป์เจอร์ แอต เซ็นทรัลเวิลด์" เพื่อเฉลิมฉลอง ครบรอบ 62 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-อินเดีย

โดยจะชูให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแลนด์มาร์คของศิลปะและประติมากรรมใจกลางกรุงเทพฯ "เดอะเฮด" สร้างขึ้นจากโมเดลต้นแบบจากประเทศอินเดีย แล้วนำมาหล่อแบบให้เป็นผลงานประติมากรรมสูง 4 เมตร (รวมฐาน 1 เมตร) สร้างด้วยวัสดุบรอนซ์ทองทั้งหมด ตกแต่งด้วยสีอะคริลิก ใช้เวลาสร้างประมาณ 6 เดือน โดยช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญงานประติมากรรมจำนวน 30 คน ประติมากรเรดดี้ บอกว่า ต้นแบบที่ใช้สร้าง "เดอะเฮด" เป็นผู้หญิงที่สร้างขึ้นจากจินตนาการของตนเอง ไม่มีตัวตน และเขากำลังตามหาผู้หญิงคนนี้อยู่เช่นกัน

ผลงานส่วนใหญ่ของเรดดี้ เป็นผลงานประติมากรรมในรูปแบบอินเดีย-ฮินดู คอนเทมโพรารี่ อาร์ต ศิลปกรรมร่วมสมัย ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากศิลปินแนวป๊อป อาร์ต ชื่อดังระดับโลกอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล ผลงานประติมากรรมที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้กับเรดดี้จะเป็นประติมากรรมรูปศีรษะของหญิงชาวอินเดีย ด้วยการเลือกใช้สีบรอนซ์ทองเป็นพื้นผิวใบหน้าและลำคอ โดดเด่นที่ดวงตาอันกลมโต และเรียวคิ้วดำขลับโค้งได้รูปของหญิงสาว เน้นลูกเล่นที่มวยผมสีดำประดับประดาด้วยดอกไม้สีสันสดใสอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรดดี้ ราวินเดอร์ ซึ่งเรดดี้ กล่าวในครั้งนั้นว่า "เดอะ เฮด" สร้างด้วยวัสดุบรอนซ์ทั้งหมด ตกแต่งด้วยสีอะคริลิก และใช้ไฟเบอร์กลาสในการหล่อแบบ เนื่องจากเป็นวัสดุที่คล้ายพลาสติกมากที่สุด ตั้งอยู่ในหรือนอกสถานที่ก็ได้ ที่สำคัญไฟเบอร์กลาสทนความร้อนได้ดี ส่วนที่เลือกใช้บรอนซ์ เพราะ มีความคงทนอยู่ได้นานนับสิบปี(3)

โดยความเข้าใจเรื่อง "เดอะเฮด"ของเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งไม่ได้รู้สึกแปลกแยกสำหรับคนไทย ในวัฒนธรรมอินเดีย-ฮินดูในพื้นที่ของประเทศไทย เช่น พระพรหม ในฐานะเป็นผู้สร้างโลก สรรพสิ่ง และพระพรหมในเมืองแขก (อินเดีย) เป็นมังสวิรัติ แต่ในไทยกลับนิยมนำหมูมาบวงสรวง ก็ถูกทำให้เป็น ‘ไทย’ ใน “พื้นที่”ของไทยเรียบร้อยแล้ว

แถมความขัดแย้งในอดีต ที่มีศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ เป็นศาลตั้งอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และคนทุบพระพรหม ก็แทบถูกลืมไปแล้ว เนื่องจากการทุบครั้งนั้น คนทุบที่ถูกบอกว่าเป็นคนบ้าเพี้ยน ก็เจอรุมกระทืบตาย และพ่อของเขาก็ยังต้องขอโทษทุกคน

ซึ่งนี่แหละความเชื่อ ความเป็นไทย และรัฐชาติ ซึ่งเกิดปัญหาอันสลับซับซ้อนขึ้นมาในความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ยิ่งต้องแยกแยะ และวิเคราะห์ภาพเหตุการณ์ทางการเมือง จากตาดำๆ ของเรา ก็มองภาพโดยรัฐบาล+ทหาร ก็พ.อ.สรรเสริญ ที่มีชื่อเล่นไม่เป็นทางการว่า “ไก่อู แห่งศอฉ.” ซึ่งเขาเป็นโฆษกรัฐบาล และทหารเพื่อสร้างความมั่นคงของชาติผ่านทางทีวีและธุรกิจการพิมพ์ ซึ่งทำการผลิตซ้ำพิมพ์รูป เช่น ภาพการเผาบ้านเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการเกลียดชังมากขึ้น

ท่ามกลางผลประโยชน์จากการขายสิ่งพิมพ์สื่อสารกับผู้ซื้อสิ่งพิมพ์ ภายใต้อิทธิพลทุนนิยมการพิมพ์ ที่มีเครื่องจักรกล ทำการผลิตหนังสือสร้างชุมชนชาติจินตกรรม เหมือนแบบเรียนว่า "เมืองไทยนี้ดี" ซึ่งอาคาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจในเมืองไทย ก็เป็นตัวแทนของการใช้ไฟฟ้า และทรัพยากรธรรมชาติด้วยเช่นกัน และความเชื่อ วัฒนธรรมกับสังคมไทย จากแง่มุมของปัญญาชน ก็แตกต่างกันในการมุมมองต่อการสร้างความเป็นไทย(4)

ฉะนั้น วัฒนธรรมไทยร่วมกับวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นเดอะเฮด ที่น่าสนใจ ถ้าเราถูกครอบงำในเดอะเฮด เพราะเราต้องการ "ปกครองแบบไทย" และเราต้องการ "คนดี" มาเป็นผู้นำอันเป็นองค์ประกอบของชาติ โดยไม่สำคัญว่าจะเป็นประชาธิปไตย เกิดความหลากหลายของชาติ (เพียงแต่ผู้นำ มีศีลธรรมไม่คอรัปชั่น ฯลฯ) และเมืองไทยก็บังคับคนไม่ให้ขัดแย้งกันโดยธรรมชาติ เพราะรัฐไทยในอดีต ก็เคยบีบให้ชาติพันธุ์ หรือ ‘เจ๊ก’ กลายเป็นไทย

แล้วชาติพันธุ์บางส่วนก็ต้องยอมรับ ความจริง ความดี และความงามแบบไทย ในเรื่องนี้ มันลึกซึ้งกับลักษณะไทยเชิงโครงสร้างของปัญหาทางชนชั้นและความเชื่อว่าประชาชนตกอยู่ในวัฎจักร โง่-จน-เจ็บ ที่มีคนยากคนจนไม่พอใจคนมั่งมีจนกลายเป็นความแค้นเคือง

จากปัญหาว่าเมืองไทยนี้ดี ถึงแม้เมืองไทยจะมีปัญหามากมาย แต่ก็ยังดีกว่าชาติอื่นๆ โดยทำให้มองไม่เห็นช่องว่าง และปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เพราะวิธีคิดที่เห็นว่า ความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องที่ถูกต้องนี้ ทำให้คนไทยเฉยเมยต่อความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในแทบทุกมิติของสังคม ไม่ว่าจะในกฏหมาย ในโครงสร้างและนโยบายทางการเมือง ในโครงสร้างและนโยบายทางเศรษฐกิจ ในความสัมพันธ์ระหว่างชั้น ระหว่างเพศ และระหว่างต่างสถานภาพ ในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนชีวิตประจำวัน

ซึ่งผู้เขียนขอกล่าวอย่างย่อๆ ว่า ในหมู่ชนชั้นกลางก็ไม่ร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย เหมือนกับบางส่วนสมัยยุคตุลา 2516 หรือพฤษภา 2535 จนกระทั่งปัญหาจากผ่านฟ้าถึงราชประสงค์ ก็เกิดการเผาตามพื้นที่ต่างๆ ไปทั่วเมืองไทย หลายส่วน นอกจากแถวที่มีเดอะเฮด แน่นอนว่า จากการเก็บข้อมูล และจากการที่ผู้เขียนไปสังเกตการณ์ในฐานะนักข่าว กับข้อมูลของคนมากมายซึ่งวิเคราะห์ไว้ ทำให้พบว่าการต่อสู้ครั้งนี้ ก็ทำให้กระทบจินตภาพของความต้องการ "คนดี" อยู่กับประชาชนเป็นคนดีของชาติ และเมืองไทย ในประชาธิปไตยแบบไทยๆ

โดยเรานึกถึงมุมมอง เช่น หนังสือเกี่ยวกับมุมมองของคนในเรื่อง
“การมองอย่างไร:แนะนำการอ่านสิ่งแวดล้อม ที่มนุษย์สร้างขึ้น” (5) ซึ่งนำเสนอ เรื่อง Art and Reality (seeing with the mind) ก็คือ ศิลปะ และความเป็นจริง ในการมองเห็นในจิตใจ แน่นอนหนังสือ ยังกล่าวถึงเรื่อง Focus ก็คือ การจับจ้องจุดสำคัญของการมองเห็นของคน ซึ่งเราสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับเรื่องการเมืองในมุมมองของแต่ละคน ซึ่งคนเราต่างก็มีมุมมองของแต่ละคน และการมองเห็นในมุมมองจากบทความเรื่อง “นิทเช่ : การอ่าน คือ งานศิลปะ” จากแง่มุมใหม่ (a new perspective) นิทเช่มองว่า มนุษย์มิใช่ผู้ที่มีเหตุผล แต่มนูษย์เป็นสิ่งที่ต้องเอาชนะ (man is something that must be overcome) เป็นสะพานที่ไม่มีจุดจบ

ซึ่งคำนิยามของความคิดดังกล่าว ก็ยังตีความมนุษย์ได้หลายแนว เช่นว่า มนุษย์สุดท้ายแล้วอาจจะต้องการเอาชนะไม่ใช่มีเหตุผล(6) และ เราควรมองเห็นแบบมีเหตุมีผลมากกว่า มุ่งหวังเพียงชัยชนะ และทำให้คนมองเห็นอย่างมีเหตุมีผลว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่ดีกว่าเต็มใบ

จากมุมมองคน ถ้ามองที่ฮวงจุ้ย(7) ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม และถ้าไม่นำไปสู่ Road Map ก็ช่วงก่อนรัฐบาลฮิตพูดคำนี้ แต่ว่ามันก็ชัดเจน ถึงโรดแมป ไม่ปรองดองกันได้ ถ้าเรายังคิดจะฆ่ากันอยู่อีก และคนที่เจ็บ รวมทั้งตาย ก็มี 90 ศพ ซึ่งมันเป็นสิ่งรูปธรรม สำหรับคนที่ถูกกระทำร้ายร่างกาย ทำให้เกิดความโกรธแค้น ปะทะต่อ วัตถุสิ่งของ อาคาร เป็นการปะทะของวัฒนธรรม อันโหดร้ายที่ซ่อนลวงตาให้ไม่เห็นความจริงของเมืองไทยนี้ ทำให้ถูกมองว่าไม่ดีอย่างที่มันควรจะเป็นสยามเมืองยิ้ม อันเสรี ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ

ซึ่งกรุงเทพมหานคร แปลว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร" ซึ่งชื่อเต็มเป็นชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลกและได้จดบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊ค(ดูเพิ่มเดิมในวิกีพีเดียออนไลน์)

ดังนั้น นอกจากสัญลักษณ์ของความเป็นกรุงเทพฯ ศูนย์กลางของประเทศไทย และเราหันมามองการนำเสนอเรื่อง symbolic people ก็คือ สัญลักษณ์ประชาชน เช่น สัญลักษณ์ของลุงแซม ทำท่ามือชี้ สื่อข้อความ ก็บอกว่า “ฉันต้องการคุณ เพื่อเป็นทหารของอเมริกา” ซึ่งเราก็รู้ว่าสัญลักษณ์ของคนธรรมดาประชาชนนั้น หาได้ยากยิ่งสำหรับคนไทย ที่ไม่มีใครเหมือนลุงแซม แล้วความตายของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ (8) ในฐานะเพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2549 ก็ไม่ได้ถูกยอมรับทั้งสองฝ่าย ซึ่งสองมาตรฐานอย่างแน่นอน และสังคมอาจจะยอมรับได้เหมือนการฆ่าตัวตายของสืบ นาคะเสถียรในอนาคต ก็ยังไม่แน่นอน

เพราะว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า..อุดมการณ์ 14 และ 6 ตุลาคม หรืออุดมการณ์เดือนตุลา ได้แก่สิทธิเสรีภาพผูกกับความเป็นธรรมทางสังคมได้แตกสลายลงแล้วในปัจจุบัน เหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายของการแตกสลายนี้คือการแบ่งแยกแตกข้างของพลังประชาชนในสังคมไทยท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐบาลทักษิณในช่วงปีที่ผ่านมา มันใช้เวลา 30 ปี กว่าอุดมการณ์เดือนตุลาจะพัง (9) ซึ่งเพื่อนพ้องน้องพี่ ในเดือนตุลาคมทะเลาะกัน แล้วเราต้องสร้างความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ตายเพื่อชาติให้กับคนในชาติ เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายของลุงนวมทองในเดือนตุลาคม 2549 ให้เกิดมาตรฐานร่วมกัน

จากBig Cleaning Day และเดอะเฮดของกรุงเทพฯ เปรียบเทียบกับพื้นที่ของคนที่ตายของภาคใต้ และเราต้องการสร้างความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกคนที่ตายในชาติ

คนที่ตายในกรุงเทพแตกต่างกับพื้นที่มัสยิดกรือแซะ และตากใบ ซึ่งภาคใต้แตกต่างกับพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งแง่ทางกายภาพของความเป็นพื้นที่เมือง และแง่มุมในความหมายของเทพนคร ที่มีเทพ ผู้มีตาทิพย์ เกี่ยวกับพุทธศาสนา แล้วคนในพื้นที่วัดปทุมฯ ซึ่งผู้เสียชีวิตในเขตอภัยทาน ก็สะท้อนเรื่องความเป็นชาติ ศาสนาของคนไทย คือ ทหารไม่เคยปราณีใคร ในจุดที่อยู่ตามศาสนา เพราะ การฆ่าไม่ใช่เรื่องศีลธรรม และบางครั้ง ในบางยุคของไทย ก็มีวาทะว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป เช่นเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงพื้นที่ของกรุงเทพฯ และสถานที่สำคัญ ที่มีเทพ เทวดา พระพุทธเจ้าคุ้มครอง หรือวัดก็ตาม

ถ้าเราทำความเข้าใจงานศิลปะเดอะเฮด เป็นการแสดงออกผลงานทางศิลปะ แต่ว่าเรื่องราวของความตายของคน ที่ฝังอยู่ในความทรงจำของหัวสมองของคน และอารมณ์ความรู้สึก ก็ใช้นำมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลได้ด้วย โดยการพิจารณาต่อสิ่งที่ย้อนแย้งกับความสัมพันธ์ของอดีตแค่ปี 2549 กับสัมพันธ์กับปี 2547 ในอีกแง่มุมหลังเดือนตุลาคม 2549 ก็เกิดปรากฏการณ์ของทหารโดยคมช.ต่อมา

ที่มีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คำกล่าวบนเวทีปาฐกถาพิเศษ ต่อหน้าผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ต่อหน้าประชาชนนับพันคน รวมทั้งผู้ว่าราชการทั้ง 3 จังหวัด ประธานและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า
“ผมขอโทษแทนรัฐบาลชุดที่แล้ว และขอโทษแทนรัฐบาลนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลชุดที่แล้ว ผมมาขอโทษแทน ผมอยากยื่นมือออกไปแล้วบอกว่าผมเป็นคนผิด ผมขอกล่าวคำขอโทษด้วยด้วยใจจริง”.... “ผมเคยพยายามคัดค้านนโยบายหลายประการของรัฐบาลชุดที่แล้ว และผมก็มีส่วนผิดที่คัดค้านนโยบายแล้วไม่เป็นผล เขาจึงให้ผมอยู่ในลักษณะที่ไม่ให้ความร่วมมือ วันนี้ผมจึงต้องเอ่ยคำขอโทษ ผมขอโทษอีกครั้งหนึ่งครับ”

ผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญเป็นการพูดต่อหน้าผู้สูญเสียสามีและญาติพี่น้องไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 นั้นเอง นับเป็นคำขอโทษอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำรัฐบาลต่อกรณีเหตุการณ์ตากใบที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นับเป็นคำขอโทษที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และประชาคมมุสลิมทั้งในและต่างประเทศกำลังรอคอยมาอย่างยาวนาน (10)

แต่ว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ คือ เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่เพียงพอต่อความเข้าใจเรื่องความตายของการสูญเสียชีวิตของคนโยงใยต่อรัฐชาติ จากคำขอโทษและการกล่าวถึงคงไม่พอ เพราะจากกรณีมัสยิดกรือแซะ และตากใบนั้น ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงวิวาทะว่า เรามุ่งโจมตีรัฐ แต่ว่าไม่โจมตีทหาร เนื่องจากอาศัยวาทกรรมต่อต้านรัฐเพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่เข้าใจปัญหาต่อเรื่องความตาย เชื่อมโยงกับทหาร

โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กล่าวว่า บางคนอาจจะบอกว่า ในกรณีภาคใต้รัฐต้องรับผิดชอบ ในแง่หนึ่งก็ใช่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดอย่างกรณีกรือแซะ เนื่องจากในตอนนั้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ สั่งไม่ให้ยิงเข้าไป แต่พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ก็ไม่เชื่อ แต่ไม่เห็นมีเอ็นจีโอ หรือใครโจมตีพัลลภ หรือ กรณีตากใบ ทำไมไม่เสนอให้ปลดแม่ทัพภาคที่ 4 พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เพราะผิดแน่ๆ กับการที่มีคนตายในการควบคุม แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีคนเสนออย่างจริงจัง ประเด็นคือว่า ถึงการสลายการชุมนุมจะมาจากนโยบายของรัฐบาล แต่มันตลกที่เอ็นจีโอไม่เล่นเรื่องทหารอีกด้านหนึ่งก็ไปพูดเรื่องที่นามธรรมใหญ่โตพุ่งเป้าที่รัฐบาลไปที่ทักษิณ..(11)

เมื่อพิจารณาตัวอย่างอันเป็นบทเรียนของความตายจากยุคการเมืองรัฐบาลทักษิณ กับย้อนระลึกถึงคนตายเดือนเมษา-พฤษภาฯ 53 และน้องโบว์ 7ตุลา ฯลฯ รวมทั้งบทเรียนความตายเพื่อชาติของลุงนวมทอง ในกรุงเทพฯ จึงมีความแตกต่างจากความตายของพื้นที่ภาคใต้ คือ การสลับไปมาข้ามไขว้ของเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างสลับซับซ้อน แต่ว่าส่วนจิ๊กซอว์สำคัญ คือ ทหาร ปรากฏตัวในฉากการเมืองไทย กับรัฐประหารโดยทหาร กลับมาสู่ฉากรัฐบาลของคนชื่อสุรยุทธ์ (ซึ่งต่อมามีกรณีเขายายเที่ยง) สมัคร(โดนตุลาการภิวัฒน์), สมชาย และต่อมากรณีว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ผู้นำพรก.ฯฉุกเฉินสมัยทักษิณกับปัญหาภาคใต้มาใช้ใหม่และถูกประณามว่าได้รับการแต่งตั้งจากทหาร

ดังนั้น เราวิเคราะห์ย้อนดูพื้นที่ของกรุงเทพฯ ในกรณีกระแสของความคิดสองชาตินิยมชนกันในยุค 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 ที่มีความคิดเรื่องชาตินิยมต่างกัน และกระแสชาตินิยมในขบวนการเคลื่อนไหว 17 พฤษภา 2535 มาจนกระทั่งยุคเสื้อเหลือง ลูกจีนรักชาติ และเสื้อแดงกับชาวบ้านต่างจังหวัด ก็คือ ปัญหาในเรื่องสืบเนื่องของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง จนต่อมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็คือ การแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย ในฝ่ายหนึ่งที่นับตัวเองเกี่ยวดอง เป็นพวกเดียวกัน เหมือนกับกรณีบรรดานักศึกษาเหยื่อ 6 ตุลาฯ รุ่นน้ารุ่นอาเหล่านั้นว่า “พวกเรา” (12) เหมือนกับฝ่ายเสื้อแดง หรือเสื้อเหลืองเป็นพวกเรา และประเด็นแค่เรื่องความตาย ก็ถกเถียงกันมาก ในมุมมองของแต่ละคน จากบทเรียนความตายของ 14 ตุลา-6 ตุลา และ 17 พฤษภา 2535 เป็นต้น

โดย ธงชัย วินิจจะกูล เคยเขียนถึงเรื่องความอิหลักอิเหลื่อแห่งชาติ เนื่องมาจาก 6 ตุลา 2519 ไม่เป็นประวัติศาสตร์ ไม่มีอนุสาวรีย์ ไม่มีวีรชน ไม่สนใจชีวิต ซึ่งเขาเปรียบเทียบ 14 ตุลา และ 17 พฤษภา 2535 ในด้านความตายถูกยกย่องว่า ‘วีรชน’ ก็แตกต่างจาก 6 ตุลา โดยว่า 14 ตุลา ความตายของพวกเขาเป็นการเสียสละ “แห่งชาติ” ในนามของชาติและเพื่อชาติ โดยที่ชาติในที่นี้เริ่มเกิดความหมายใหม่คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมหาศาลภายในชาติ ทั้งที่มาร่วมเดินขบวนและที่เอาใจช่วยอยู่กับบ้าน ผู้เสียชีวิตเมื่อ 14 ตุลา จึงได้เป็น “วีรชน” ทันที คนจำนวนมากยังเรียกได้เต็มปากไม่ขัดเขิน 14 ตุลา ยังเป็นกรณีพิเศษในแง่ที่ว่า สมญานามดังกล่าวมาจากสาธารณชนและสื่อมวลชนโดยไม่สนใจว่าทางการจะเรียกเช่นนั้นหรือไม่(13) แต่ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา กับตรงกันข้ามกัน

กระนั้น ผู้เขียนยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์ของธงชัย วินิจจะกูล กล่าวว่า ‘ชาตินิยมเหมือนไฟ คุณเล่นไม่ดี นอกจากลวกมือคุณแล้ว จะเผาบ้านด้วย คุณจะควบคุมไม่ได้ ผมดูถูกคนที่ชาตินิยมฝังหัว ว่าล้าหลัง ใจแคบ คิดอะไรตื้นๆ … ชาตินิยมไม่ช่วยอะไรเท่าไร คุณแคร์กับเพื่อนร่วมชาติ ไม่จำเป็นต้องชาตินิยม อันนี้สำคัญกว่า แชร์ความห่วงใย พอใจ ไม่พอใจ กับคนอื่น ใครก็ได้ ชาตินิยม คือความใจแคบ ไม่เมตตากรุณา ไม่มองคนอื่นในแง่ดี น่าเสียใจที่คนเป็นแบบนี้’(14)

ฉะนั้น ความคิดในเรื่องชาตินิยม ที่มีฝังหัวสมอง ในวิธีคิดของคนไทย กับความต้องการอาการใส่ใจผู้อื่น ในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางสายตา เพื่อความเข้าใจทางวัฒนธรรม(15) โดยการมองเห็นที่ใจสำคัญมาก เราใช้สายตา และจินตนาการไม่ให้หลับหูหลับตาทำไปเรื่อย โดยเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังสือ Nationalism and the Imagination ซึ่งหน้าปกหนังสือทำเป็นรูปภาพของคนกับสมอง ซึ่งปรากฏรูปหลายหลากภาพในหัวคน เกี่ยวโยงของคนในชาติ และความตายเพื่อชาติ

แน่นอนว่า ทำไมคนนับร้อยๆ ล้านทั่วโลก จึงรักของที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมันไม่ใช่วัตถุสิ่งของทางกายภาพแบบจริงๆ และหากจินตกรรม หรือการสมมุติขึ้น ถึงแก่ยอมฆ่า และยอมตาย ยอมเสียสละอย่างใหญ่หลวง จนกระทั่งพลีเลือดเนื้อชีวิตตัวเองเพื่อจินตกรรมอันนี้ ตลอดประวัติศาสตร์สองศตวรรษที่ผ่านมา? และพลังของมันอยู่ตรงไหน? โดยมันทำงานอย่างไร? ซึ่งในทางกลับกัน มันมีคุณมีด้านบวกอย่างไรบ้างต่อการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่รังแกที่ผ่านมา? (16) ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องความตายก็เป็นเรื่องถกเถียงทางปรัชญา คือ ความตายมีความหมายถึงการไปจากไปจากสถานที่หนึ่งเพื่อไปยังอีกที่หนึ่ง เช่นเดียวกับตัวอย่างของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ และทำให้เราคิดต่อเรื่องชาติ และประชาธิปไตยตายเพื่อชาติ

มันสมองกับอารมณ์ความรู้สึกในจุดเริ่มต้นเหตุประชาธิปไตยไทย : บทเรียนอันย้อนแย้ง “Big Cleaning Day และเดอะเฮด”

เราย้อนกลับไปดูความทรงจำต่อวันชาติ โดยวันที่ 24 มิถุนา 2475 ซึ่งกลุ่มคณะราษฎร โดยถือว่ามันสมองของกลุ่มอย่างหลวงประดิษฐมนูธรรม หรือปรีดี พนมยงค์ และวันชาติ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และความเข้าใจประชาธิปไตยไทย จากตัวอย่างของความทรงจำว่า รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยเป็นลูกชายของพระยาพหลฯ ก็ถูกลบล้างไปในยุคสฤษดิ์ ในระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ โดยวันที่ 24 มิถุนา 2502 เนื่องในวันชาติ ที่ได้กล่าวถึงภารกิจของแผนการปฏิวัติว่าแผนการปฏิวัติขั้นต่อไป คือ การกวาดล้าง สิ่งซึ่งเป็นภัยต่อชาติ เสมือนเป็นการปัดกวาดชำระสิ่งโสโครกโรคร้ายในบ้านของเรา ภัยอันใหญ่หลวง คือ คอมมิวนิสต์ จำจะต้องขจัดภัยเหล่านี้ให้จงได้ และถ้ามิได้อาศัยอำนาจปฏิวัติสั่งจับคอมมิวนิสต์ ซึ่งตำรวจ มีร่องรอยรู้เห็นอยู่แล้วว่า ผู้ใดเป็นผู้แทนดำเนินการ..ด้วยเหตุนี้ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จึงได้เหลืออำนาจปฏิวัติไว้ในมาตรา 17 สำหรับงานกวาดล้างทำความสะอาดในบ้าน(17)

และแล้วหลังจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลเปลี่ยนวันชาติ ทำให้วันชาติ 24 มิถุนายน หายไป ในยุคการพัฒนา ในฐานะการสร้างชาติ ซึ่งต่อมาเกิดการตีความเรื่อง 24 มิถุนา กับวันชาติ และการอธิบายสำหรับการสร้างชาติใส่ไว้ในหัวสมองของคน ทั้งในวาทกรรมระเบียบวินัย สำหรับยืนตรงเคารพธงชาติ ความสะอาดปราศจากเชื้อโรคในวาทกรรมการแพทย์ และการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อย่างกับการสร้างสรรค์ทางศิลปะของ “เดอะเฮด”

กระนั้น เส้นทางออกแบบโดยแผนที่ความคิดสร้างสรรค์ต่อชาติ ก็คือ ทุกคนรู้จักการใช้สมองซีกซ้าย ร่วมกับสมองซีกขวาเหมือนการเขียนรูป (18) เพื่อออกแบบเขียนรูปวาดในการสร้างสรรค์ของความดีงาม ควบคู่กับเหตุผล เพื่อความงดงามในการมองเห็นชีวิตของคนในชาติ จากหนังสือเรื่องชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิด และการแพร่ขยายของชาตินิยม กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ การเสนอแนะบางประการ ในการตีความที่น่าจะพอใจได้มากกว่าเกี่ยวกับ “ความวิปริต” ของลัทธิชาตินิยม ประเด็นเริ่มต้นของผู้เขียน ก็คือ เรื่องสัญชาติ (nationality) หรือดังที่บางคนอาจจะชอบใช้คำที่มีความหมายสำคัญมากกว่า เช่น ความเป็นชาติ (nation-ness) หรือลัทธิชาตินิยม (nationalism) ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมจำเพาะชนิดหนึ่ง เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งนี้อย่างถูกต้อง

สิ่งที่เราต้องการก็คือการพิจารณาอย่างระมัดระวังว่าสิ่งนี้มาปรากฏดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร ในวิถีทางใดที่ความหมายของสิ่งนี้เปลี่ยนแปลงไปตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และทำไมทุกวันนี้ สิ่งนี้ถึงควบคุมความชอบธรรมในเชิงอารมณ์ความรู้สึกอย่างลึกซึ้งเช่นนั้น ผู้เขียนพยายามที่จะเสนอว่า การสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมานับแต่ปลายศตวรรษที่ 18 คือ การกลั่นตัวแบบเป็นไปเองของ ‘การข้ามไขว้ไปมา’ ที่สลับซับซ้อนของพลังทางประวัติศาสตร์ที่แยกออกจากกัน แต่นั่น ทันใดที่การสรรค์สร้างเกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เริ่มกลายเป็นแบบมาตรฐาน (modular) สามารถนำไปปลูกลงบนพื้นที่ทางสังคมที่แตกต่างหลากหลาย ด้วยระดับของจิตสำนึกต่อตัวเองที่แตกต่างกัน และถูกรวมเข้ากันกับกลุ่มทางอุดมการณ์และกลุ่มทางการเมือง ที่แตกต่างหลากหลายกว้างขวางไพศาลได้อย่างสอดคล้องต้องกัน….(19)

อย่างไรก็ตาม เรากำลังถูกท้าท้ายมาตรฐานในการตีความประชาธิปไตย และการก้าวข้ามประชาธิปไตยแบบไทยๆ ให้เป็นมาตรฐานสากล และเราไม่นำประชาธิปไตยก้าวข้ามไปสู่เผด็จการ โดยย้อนดูในจุดกำเนิดของชาตินิยมที่เป็นประชาธิปไตย ในปี 2475 เหมือนกับที่เกษียร เตชะพีระ เสนอก็คือ "ความเป็นคนชาติเดียวกัน" ก็คือ กำลังเสนอว่า ในสิ่งที่คุณเรียกว่าเป็น"ชาติ" ไม่เพียงแต่เท่ากัน แต่ในความเท่ากันนั้นเกิดจากความเหมือนกันอย่างยิ่ง เวลาที่เราบอกว่าเราเป็นคนชาติเดียวกัน มันมีอะไรบางอย่างในความเป็นชาติ ที่ทำให้เราทั้งหมดเป็นก้อนเดียวกัน โดยมันมีความเป็นปึกแผ่นเดียวกันอย่างยิ่ง แล้วสิ่งที่ทำให้เราเท่ากัน โดยถ้าเราเท่ากัน แล้วถ้าชาติมันมีความเป็นปึกแผ่นเดียวกัน มันมีความเสมอเหมือนกันยิ่งแล้ว ซึ่งมันนำไปสู่คนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข

ถ้าเราลองนึกถึงครอบครัว สมมุติว่ามีพ่อ แม่ และลูกอีก 3 คน, ถ้าพ่อบอกว่าวันนี้พ่อจะไปกินอาหารเยอรมัน แล้วลูก 3 คนบอกว่าวันนี้จะไปดูหนัง ในระบอบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ถามว่า เราจะไปไหน ? ก็ไปกินอาหารเยอรมันใช่ไหม ถึงแม้ว่าลูกจะ 3 เสียง ต่อพ่อ 1 เสียง ที่เสียงข้างมากแพ้เสียงข้างน้อยในระบอบพ่อปกครองครอบครัว เพราะคนเราไม่เท่ากัน ในเงื่อนไขของครอบครัว และอำนาจพ่อโดยสถานะที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ ,"พ่อ"ถือว่าใหญ่กว่า"ลูก"อยู่แล้ว ...แต่ถ้าเรากำลังจินตนาการถึงสังคมหนึ่ง ซึ่งประการที่หนึ่งคนเราเท่ากันอย่างยิ่ง, ประการที่สองที่เราเท่ากันเพราะเราเป็นคนชาติเดียวกัน. เมื่อคนเราเท่ากัน ไม่มีเหตุผลใดๆที่พอจะฟังขึ้น ที่ทำไมคนที่เท่ากันบางคน จึงควรจะมีสิทธิปกครองเหนือคนที่เท่ากันอีกจำนวนมากได้. ถ้าเท่ากันจริง อำนาจย่อมไปอยู่กับคนที่เท่ากันเหล่านั้นที่มีจำนวนมาก ก็คือนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในชาติที่คนเราเท่ากันแล้วเป็นปึกแผ่นที่เสมอเหมือนกันนี่ มันควรที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย(20)....

โดยสรุปอย่างย่อว่า ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นในประเด็นใหญ่“Big Cleaning Day และเดอะเฮด” ในแง่ของสัญลักษณ์การสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติว่า แม้กระทั่งประเด็นพื้นฐานของคนในชาติ กำลังถูกท้าทายว่าคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข ใครได้เสียงเลือกตั้งมากกว่า คนนั้นชนะ ตัวเลขมากกว่ามีอำนาจมากกว่า ตัวเลขน้อยกว่ามีอำนาจน้อยกว่า แต่ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน รวมทั้งสิทธิของเสียงข้างน้อยที่เห็นต่างออกไป ไม่เช่นนั้นบางคน ก็รู้สึกความเป็นไพร่ในตัวเอง ซึ่งรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมในความเป็นไพร่ คือ ชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ไม่ใช่ไพร่มีสังกัดอย่างอดีต แต่ว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนที่รู้สึกเป็นไพร่ ที่รัฐทำกับประชาชน ทำให้เกิดตนเองรู้สึกสำนึกถึงเหมือนสมาชิกสังกัดไพร่อย่างไม่เป็นทางการ

นั่นแหละเป็นปัญหาในหัวสมองของเรา แม้ว่ารัฐ และผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะพยายามร่วมมือกับประชาชนสร้างจินตนาการของชาติ โดยกิจกรรม Big Cleaning Day ทำความสะอาดกรุงเทพฯเพียงเท่านั้น แต่ว่า ปฏิบัติการต่อเนื่อง คือ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือควบคุมทัศนะการมองเห็นของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และรัฐควบคุมความคิดเห็นต่างของคน เหมือนกับที่รัฐพยายามบอกว่าสังกัดคนละสมาชิกพรรคการเมืองทั้งทางการและไม่ทางการ สังกัดคนละเสื้อสีไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ จนกระทั่ง รัฐของสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำหน้าที่ควบคุมผู้คน เหมือนถูกปิดหู ปิดตา ปิดปาก และหลายคนถูกจับตัวไว้

ทั้งนี้ คนไทย ที่มีสัญชาติ เหมือนกับมีหูและจมูก องค์ประกอบของร่างกาย แต่ว่าคนไทยที่ตาย ยังไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วยังอยู่กับสองมาตรฐานทางการเมือง ที่ยังไม่ยอมรับกันเอง แล้วเมื่อไหร่คนไทยจะสามารถพัฒนาสมองหรือก็คือสติปัญญา สำหรับการสร้างชาติโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์เยียวยากัน ซึ่งฤทธิ์ของยา ก็ยังไม่แสดงออกมาเพื่อทางออกร่วมกับรัฐ ซึ่งรัฐควรยอมรับผิดชอบต่อการสูญเสียของลูกกำพร้าทั้งหลาย ที่สูญเสียพ่อในครอบครัวไป นับตั้งแต่ลุงนวมทอง พลีชีพเพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตย และฆ่าตัวตายต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา

ดังนั้น นับจากจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยของครอบครัวในความรัก ผูกพันใกล้ชิดของพ่อแม่ต่อลูกเป็นความสัมพันธ์ของการเชื่อมโยงความรู้สึกรักที่มั่นคงภายในครอบครัว และก็คนสูญเสียชีวิต สูญหาย ไปจากเครือญาติของคนไทย ก็ยังไม่จบอยู่ในหัวสมอง หรือตัวอย่างงานศิลปะเดอะเฮด เป็นเหมือนภาพแสดงไฟแค้นฝังหัวใจคนเสื้อแดง ซึ่งไม่ใช่แค่กิจกรรม Big Cleaning Day ในกรุงเทพฯ จึงไม่เพียงพอบรรเทาต่อการแก้ไขความขัดแย้งต่อการเผาศาลากลางทางภาคอีสาน อื่นๆ ซึ่งก็ใช้ไฟจากธรรมชาติเผาไหม้อาคาร แสดงออกไม่พอใจต่อการสูญเสียชีวิตไปของผู้ถูกยิงจากวัสดุลูกปืน อาวุธ ทั้งตายและบาดเจ็บต่างๆนานา แล้วเส้นทางออกปลดปล่อยความจริงให้คนไทย

จากการสร้างอำนาจเพื่อสถาปนาวาทกรรมผู้ก่อการร้ายต่อชาติ ในหัวสมองคน โดยต่อไปพลังประชาชนจะสร้างอารมณ์ความรู้สึกสร้างสรรค์ต่อในหัวสมองของคนในชาติ รับรู้ความจริง เพื่อเข้าถึงประชาธิปไตยให้ได้ เพราะว่า การสร้างตึก สร้างสถานการณ์ ทำได้ แต่ว่าสร้างชีวิตของคนที่ตายให้กลับคืนมาไม่สามารถทำได้

ฉะนั้น ปัญหาหัวใจทางการเมืองจากอดีตในแง่มุมเกี่ยวข้องหัวสมองของคนไทย และHead of state จนถึงปัจจุบัน แล้วเราร่วมทบทวนอดีตสำหรับเรื่องความทรงจำของภาพความเคลื่อนไหวของนปช. หรือประชาชน จังหวะก้าวหน้าของประชาชนในแง่มุมภาพรวม และปัญหาที่หลงลืมเพื่อความเข้าใจในตราชั่งของความยุติธรรม และความชอบธรรมสู่ความก้าวหน้าไปในที่สุด

ส่วนสรุปบทเรียนของธรรมชาติแห่งความขัดแย้ง ในความหวัง ความฝัน ให้เป็นความจริง โดยช่วงเวลาเฉพาะหน้าทางเลือกในระยะสั้นที่สุด คือ รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเพื่อประเทศไทย และการสร้างอารมณ์ความรู้สึกเข้าใจชาติ และประชาธิปไตย ในระยะยาวเกี่ยวพันคนไทยเพื่อยุคสมัยต่อมาลูกหลานของเรา สำหรับคนรุ่นต่อไป จะไม่มองย้อนกลับมาดูถูกดูแคลนเราว่าไม่สร้างสรรค์เพื่อชีวิต ซึ่งประชาชนเป็นพลังของการพยายามพัฒนาสมอง สร้างความคิด และวัตถุวัฒนธรรม โดยสร้างอารมณ์ความรู้สึกในทางสร้างสรรค์ต่อชาติ และร่วมนิยามในความหมายของประชาธิปไตย

ที่มีภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของประชาชนอยู่ในหัวสมองอย่างแท้จริง


อ้างอิง
1.ผู้ว่าฯกทม.เปิดกิจกรรม Big Cleaning Day ดึงพลังคนกรุงร่วมฟื้นฟูเมืองหลวง สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2553 13:13:25 น.
http://www.ryt9.com/s/iq01/905155

2.เกษียร เตชะพีระ สอนหนังสือชุมชนจินตกรรมของครูเบ็น http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q1/2009february06p7.htm

3.ที่มา"เดอะเฮด"หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7116 ข่าวสดรายวัน หน้า 25
http://www.khaosod.co.th/view_news.phpnewsid=TUROc1lXUXdNekkwTURVMU13PT0=§ionid=TURNeE5BPT0=&day=TWpBeE1DMHdOUzB5TkE9PQ

4.ดูเพิ่มเติมหลายตอน : รศ. สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และ"ความจริง"ที่"ความเป็นไทย"สร้าง (ตอนที่ ๑) http://midnightuniv.org/midnight2545/document9581.html


5. GEORGE NELSON How to See: A Guide to Reading Our Manmade Environment

6.อู่ทอง โฆวินฑะ นิทเช่ : การอ่านคืองานศิลปะ


7.อีกมุม เซ็นทรัลเวิลด์ ถูกเพลิงเผา ฮวงจุ้ย ก็มีเอี่ยว?
http://news.impaqmsn.com/articles_hn.aspx?id=332327&ch=hn

8.อรรคพล สาตุ้ม ระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในฐานะญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคม และ14 ตุลา 2516 บนถนนราชดำเนิน – หลัง 13 ธันวา 2551: “เครื่องมือ” ทางการเมืองของคนไทย

9.ดูเพิ่มเติม :รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ : ความแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาในปี พ.ศ. 2549 เมื่อ double false consciousness และ self-righteousness บังเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย http://invisiblenews.exteen.com/20061018/2549-double-false-consciousness-self-righteousness

10. DeepSouthWatch “ผมขอกล่าวคำขอโทษด้วยใจจริง” ปากคำประวัติศาสตร์เพื่อเหยื่อตากใบของ ‘นายกรัฐมนตรี’ Thu, 2006-11-02 19:25 http://www.deepsouthwatch.org/node/39

11.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2548 : วิวาทะปฏิรูปการเมืองภาคใต้. หน้า 131

12.ดูเพิ่มเติม : คำบรรยายของ เกษียร เตชะพีระ : "จาก 14 ถึง 6 ตุลา : สองชาตินิยมชนกัน...
www.prachatai.net/journal/2008/01/15388 หรือhttp://oldforum.serithai.net/index.php?topic=20846.0

13.ธงชัย วินิจจะกุล ความอิหลักอิเหลื่อแห่งชาติ เนื่องมาจาก 6 ตุลา 2519 ไม่เป็นประวัติศาสตร์ ไม่มีอนุสาวรีย์ ไม่มีวีรชน ไม่สนใจชีวิต http://www.2519.net/newweb/doc/content1/83.doc

14.สัมภาษณ์ ธงชัย วินิจจะกุล : สงครามประชาชน บทเรียน ปชต.ที่ประเมินค่าไม่ได้ ที่มา เวบไซต์ voicetv 23 ธันวาคม 2552 http://www.voicetv.co.th/programs/intelligence/ หรือhttp://thaienews.blogspot.com/2009/12/blog-post_9936.html

15.สมเกียรติ ตั้งนโม พื้นฐานการเรียนรู้ visual cultureความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางสายตา สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9679.html

16.เกษียร เตชะพีระ สอนหนังสือชุมชนจินตกรรมของครูเบ็น http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q1/2009february06p7.htm


17.ดูเพิ่มเติม มาลินี คุ้มสุภา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น

18.สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง การเขียนรูปด้วยสมองซีกขวา: สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://www.midnightuniv.org/midnighttext/0009999867.html

19.เบน แอนเดอร์สัน (ฉบับแปล) ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิด และการแพร่ขยายของชาตินิยม หน้า 7

20.ดูเพิ่มเติม เกษียร เตชะพีระ "กระแสชาตินิยม": Nationalism
http://midnightuniv.org/middata/newpage12.html

(*)หมายเหตุ :เพลงDream Before หรือProgress โดยLaurie Anderson เพราะว่าผลงานเพลง Dream Before หรือProgress เพื่อวอเตอร์ เบนจามิน(walter benjamin) เกี่ยวกับ The Angel of History ซึ่งผลงานแปลเป็นไทย คือ ผลงานศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำเชิงกลไก โดยอ.สมเกียรติ ตั้งนโม ก็แปลThe Work of Art in the Age of Mechanical Reproduction ส่วนหนึ่งในหนังสือIllumination(ค้นหาจากคลังเก็บข้อมูลย้อนหลังของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้) และเราคิดต่อปัญหาของเทวดาแห่งประวัติศาสตร์ กับพยากรณ์อากาศในแง่มุมของอนาคตหลังพายุอย่างไร?

อย่างไรก็ดี กรณีแง่มุมของอ.เบน แอนเดอร์สัน ในหนังสือชุมชนจินตกรรมฯ ในเทวดาแห่งประวัติศาสตร์(The Angel of History) อ้างถึงหนังสือเรื่องIllumination เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องweekends คือ ดวงตาเทวดาในที่นี้ เปรียบเสมือน กล้องถ่ายเคลื่อนที่ในภาพยนตร์ฝรั่งเศสของL.Godard เรื่องWeekends ซึ่งฉายภาพถอยหลังตลอดให้เราเห็นภาพรถยนต์ คนเจ็บคนตาย ซากปรักหักพังกองแล้วกองเล่า จะค่อยๆผุดขึ้นบนเส้นทางหลวงที่ไร้จุดสิ้นสุด ทอดไปจนสุดขอบฟ้า

ทั้งนี้ ลองดูเนื้อเพลง และฟังเพลงเพิ่มเติม สำหรับบทเพลงทิ้งท้ายของการตีความความขัดแย้ง ปัญหาทางธรรมชาติ ความหวัง และความฝัน ถ้ามองปัญหากลับกัน ก็ทำให้เกิดการพัฒนา แก้ไขปัญหาเพื่อสิ่งที่ดีขึ้นให้เจริญก้าวหน้าได้
ที่เว็บ http://www.davemcnally.com/lyrics/LaurieAnderson/TheDreamBefore.asp
http://www.youtube.com/watch?v=ov4HkjQCyMI

หมายเหตุ*** ดูเพิ่มเติม ที่ไทยอีนิวส์ หรือ ประชาธรรม
http://thaienews.blogspot.com/2011/05/big-cleaning-day.html
http://www.prachatham.com/detail.htm?code=a1_24052011_01