วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

2516-กระแสรับน้องใหม่(ไทย)กับเพื่อนสนิท : คุยเรื่องหนังสือ

2516-กระแสรับน้องใหม่(ไทย)กับเพื่อนสนิท : คุยเรื่องหนังสือ

Posted 2007-05-26 19:25:46 By อรรคพล สาตุ้ม

เกริ่นนำ ผมไม่ได้เขียนเรื่องนี้ เพื่อต่อต้านกระทบการรับน้อง(เฟรชชี่) ที่เวียนมาบรรจบอีกครั้ง โปรดอย่าตีความเช่นนั้นครับผม แต่ว่าผมต้องการสร้างบรรยากาศใหม่ ก็กำลังอินเทนรด์สักหน่อย เพราะนสพ.ไทยรัฐ เพิ่งลงข่าวด้านในนสพ.สัมภาษณ์ลูกช้างมช.ไปหมาดๆในฉบับวันนี้ มีเรื่องกระเทย กับปัญหาแต่งชุดนักศึกษาสตรีด้วย และผมจะเล่าเรื่องราวในอดีต คงไม่ย้อนไปไกลยุคกวีต้นรัตนโกสินทร์ หรือก่อนสยามเป็นไทย...ยุคเสรีไทย ที่มีสงครามโลก ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ฯลฯ คือ จะเล่าเรื่องเข้ามาใกล้ช่วงที่เริ่มมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ -หนังสือ(จากบทสัมภาษณ์เดิม)

ซึ่งขอเริ่มขยายความที่เรื่องเส้นผม กับมหาวิทยาลัย โดยแสงดาว ศรัทธามั่น เขียนเรื่องของ"ผม"กับบางส่วนเสี้ยวของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไว้มาก่อน ซึ่งกล่าวว่าช่วงที่เขากว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (1) ก็เป็นช่วง 2514 เผด็จการ กำลังขึ้นมามีอำนาจพอดีเลย และเขาก็เริ่มไว้ผมยาวสลวย เจอพวกนักเลงกวนๆ เจอทหารหัวเกรียน(เกรียน ภาษาวัยรุ่นปัจจุบัน ก็ทรงผมกับพวกบ้าอำนาจ) และเขาก็เจอพระเข้าใจผิดนึกว่าหญิงสาว บ้างหละ แม้ว่าจะมีปัญหากับการแหกคอกไว้ผมยาว ที่ว่ามันหนักหัวใครหรือไม่ ซึ่งสังคมยุคนั้น ยังรับไม่ได้ (ผมยาว-ยุคนี้เป็นกระเทยรึเปล่า?)

จนกระทั่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียกร้องพลังของนักศึกษาผมยาวบ้าง และกลุ่มนักศึกษา(2) ก็ร่วมทำกิจกรรม โดยบางคน(3) ก็จำเป็นต้องเข้าป่าไป(พคท.(ดูท้ายบท)) ในสงครามเย็นแห่งช่วงอุดมการณ์ ที่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจสังคม

อย่างไรก็ดี แนวทางการสำรวจประวัติศาสตร์ ที่ว่าการผนวกกลืนอำนาจให้สมบูรณ์ของชาติไทย ที่น่าจะสำคัญ ที่ไทยเอาชนะพคทได้สำเร็จ สงครามครั้งนี้ทำให้กลืนอำนาจสุดท้ายของล้านนาด้วยหรือไม่ (4,5,6,7) และอิทธิพลของครูบาฯ พุทธศาสนาต่างๆ กำลังเสื่อมพลังศาสนาลดลงน้อยกว่า ทางภาคใต้ และชุมชนอุดมการณ์ โดยผมเคยเขียนเรื่องอุดมการณ์ทางศาสนา และความคิด ที่มีปัญหาไปด้วยกัน ไม่ค่อยได้กับเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีใหม่ในช่วงนั้น( แต่ว่าเราจะไปทางไหน หลังชาตินิยมไทย หรือหลังเสรีไทย ละกัน )
เมื่อเศรษฐกิจ บวกกับชาติไทย เป็นปัจจัยส่วนกำหนดของปัญหาในปัจจุบัน แม้แต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็กำลังจะสถาปนาสถาบันศิลปะล้านนาไทย แต่ทำไม่ได้โดยมีปัญหากับคำว่าล้านนา หรือการไม่มีคำว่าไทย ไม่ได้เช่นกัน(9) จนในที่สุดกลายเป็นศิลปะไทย... หลายสิ่งมันเป็นเรื่องรับน้อง ศิลปะ เพื่อน ที่มีปรากฏอยู่บางส่วนในกระแสภาพยนตร์เรื่อง เพื่อนสนิท(10) กับตลาดหนังสือ

บทสัมภาษณ์ คุยเรื่อง "หนังสือ" กับ "อภิชาติ เพชรลีลา" (ในยุคมหาวิทยาลัยกำลังจะออกนอกระบบ)
อภิชาติ เพชรลีลา หรือ นอม วิเศษสิงห์ เป็นนามปากกาของ นายสุรฉัตร เพชรลีลา เกิดที่กรุงเทพฯ เรียนจบจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯเป็นเวลาสี่ปี แล้วลาออกมาทำงานเขียนหนังสือ มีงานเขียนเล่มแรกคือ “กล่องไปรษณีย์สีแดง” (2543) เป็นสารคดีท่องเที่ยวกึ่งนิยาย ต่อมามีผลงานเขียนนิยายอีกสองเรื่องคือ “อยากให้ลมหนาวหวนมาอีกครั้ง” (2544) กับ นกดวงจันทร์ (2545) และงานเขียนเชิงบันทึกกึ่งสารคดีชื่อ “หนึ่งปีของชีวิต” (2546) และนิยายเรื่อง “แม่” (2546) ในนามปากกา นอม วิเศษสิงห์ ปัจจุบันนอกจากทำงานเขียนแล้วยังเปิดสำนักพิมพ์ในชื่อ “นกดวงจันทร์” อีกด้วย

วันนี้ประชาไทมีโอกาสได้พบปะและร่วมคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับวงการหนังสือไทยในปัจจุบัน ลองมาดูกันว่านักเขียนคนนี้มีมุมมองต่อแวดวงหนังสือในปัจจุบันอย่างไร ...

ประชาไท : มีผลสำรวจออกมาเมื่อปีที่แล้วว่าตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ไทยยังคงโตเรื่อย ๆ มันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของวงการวรรณกรรมรึเปล่า? หรือในความเป็นจริงมันขัดแย้งกัน ?

อภิชาติ เพชรลีลา : ผมคิดว่ามันก็ไม่ได้ขัดแย้งกันนักหรอกนะ ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์กับวงการวรรณกรรมในความหมายโดยรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรมแปล งานวรรณกรรมเยาวชน งานวรรณกรรมที่ไม่ใช่งานเชิงสร้างสรรค์หรืองานที่ซีเรียส มันก็ยังมียอดจำหน่ายที่เติบโตขึ้น แต่ถ้าจะจำเพาะลงไปเป็นงานวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ของนักเขียนในประเทศมันก็ทรง ๆ เป๋ ๆ อยู่ อย่างงานนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี อะไรอย่างนี้ แต่มันก็อยู่ของมันอย่างนี้มานานแล้วล่ะนะ ไม่ได้มีส่วนไปเพิ่มยอดขายให้ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์อะไรเขาหรอก แต่มันก็เหมือนกับการปลูกไม้ใหญ่แหละผมว่า หลายปีกว่าที่มันจะโต -- มันช้า แต่รื่นรมย์

ประชาไท : ปัจจุบันเห็นนักเขียนหลายคนพิมพ์งานของตนเองอย่างคุณก็ทำสำนักพิมพ์นกดวงจันทร์ด้วย ระหว่างการทำสำนักพิมพ์เอง กับการเขียนส่งให้สำนักพิมพ์อื่น มีความแตกต่างกันอย่างไร?

อภิชาติ เพชรลีลา : การที่นักเขียนจะทำสำนักพิมพ์เอง พิมพ์งานของตัวเอง กับการที่นักเขียนจะเขียนส่งสำนักพิมพ์ที่เป็นมืออาชีพทำ มันก็ได้อย่างเสียอย่าง ก็ต้องชั่งน้ำหนักเอา อย่างที่ผมพิมพ์เอง เหตุผลหลัก ๆ ก็คือเราควบคุมหน้าตาหนังสือของเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งเนื้อหา,รูปแบบ,รูปเล่ม แล้วอีกอย่างคือถ้าหนังสือเราขายได้ ก็จะได้ส่วนแบ่งจากการที่เราทำงานมากกว่าที่เราได้สิบเปอร์เซ็นต์จากสำนักพิมพ์

แต่มันต้องขายได้นะ ซึ่งตรงนี้มันมีโอกาสเกิดได้กับนักเขียนได้น้อยคนมาก ๆ มันจะเกิดกับใครได้บ้างล่ะ? ชาติ กอบจิตติ , วินทร์ เลียววาริน และก็อาจจะเป็นปราบดา หยุ่นด้วย ซึ่งทุกคนที่ว่ามาต่างก็พิมพ์หนังสือกันเอง สำหรับผม ผมค่อนข้างโชคดีที่หนังสือที่เขียนได้ถูกดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์ (ภาพยนตร์เรื่อง ‘เพื่อนสนิท’ เขียนบทเพิ่มเติมจากหนังสือ ‘กล่องไปรษณีย์สีแดง’ บทประพันธ์ของ อภิชาติ เพชรลีลา) ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกิดกับนักเขียนได้น้อยราย

และสำหรับข้อเสียก็คือ หนึ่ง คุณต้องเป็นนักเขียนที่บรรลุวุฒิภาวะพอสมควร คุณต้องควบคุมงานเขียนของคุณเองได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาบรรณาธิการให้มาช่วยดูให้ และข้อเสียที่สำคัญที่สุดที่เกิดกับนักเขียนโดยทั่วไป ถ้าจะต้องมาพิมพ์หนังสือของตัวเองก็คือ มันจะขาดทุนเอานะสิ ขาดทุนเข้าเนื้อเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็ บางคนก็คิดว่า แทนที่จะเอาเวลาไปทำเรื่องพวกนี้ ก็เอาเวลาไปเขียนหนังสืออย่างเดียวดีกว่า

ประชาไท : แล้วที่คุณพิมพ์หนังสือของตัวเอง ได้เคยมองเรื่องการตลาดไหม?

อภิชาติ เพชรลีลา : ปกติแล้วผมจะไม่เคยมองเรื่องการตลาดเลยนะ คิดแต่จะทำหนังสือให้มันสวย ถูกใจตัวเองที่สุด แต่ที่ไม่ปกติ แล้วดูเรื่องการตลาดเหมือนกัน ก็ตอนที่หนังสือกล่องไปรษณีย์สีแดงกลายไปเป็นภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิท ก็อาศัยการตลาดตาม ๆ กระแสภาพยนตร์ไปเหมือนกัน ซึ่งก็ทำให้หนังสือมันขายได้ดีมากขึ้น แต่ในวงเล็บนะ ว่านั่นหมายถึงเราทำการตลาดให้กับสิ่งที่เราคิดว่าเราทำมันออกมาได้ดีที่สุดแล้ว เต็มที่กับมันแล้ว

ประชาไท : ปัจจุบันนี้ในวงการหนังสือ มันได้มีปรากฏการณ์ของหนังสือจำพวก ‘ฉูดฉาด’ ที่เน้นเรื่องการตลาดมากกว่าเนื้องาน เช่น พวกหนังสือขายเรื่อง sex ของวัยรุ่น หรือหนังสือแฉความรุนแรงต่างๆ ฯลฯ คุณคิดเห็นว่ายังไงบ้าง?

อภิชาติ เพชรลีลา : มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกได้นะ แล้วทุกครั้งที่เห็นก็จะรู้สึกแย่มาก ๆ เออ ถ้ามันมีสักสิบยี่สิบเล่ม มันก็เป็นความผิดปกติของไอ้คนเขียนกับไอ้คนพิมพ์ แต่นี่มันเป็นกระแส มีเป็นร้อย ๆ ปก ขายกันเป็นแสน ๆ เล่ม (หรือจะเป็นล้าน?) มันก็เลยกลายเป็นความผิดปกติของสังคมไปแล้ว แสดงว่าสังคมเรามันป่วยไข้แล้วมั้ง เราคงต้องช่วยกันพูดว่า ‘สิ่งที่คุณทำนั้นมันทำร้ายสังคม ทำร้ายคนอ่านนะ!’ ซึ่งที่ผ่านมาในวงการหนังสือรู้สึกว่ามันมีการตรวจสอบกันน้อยมาก คุณจะนิ่งเฉยไม่ได้นะกับปรากฏการณ์แบบนี้ คือมันเหมือนเอาสิ่งที่เป็นอาชีพของคนทำหนังสือมาทำให้มันเป็นแบบนี้ มันเลวร้ายมาก ๆ เลยนะ

ประชาไท : มันดูฉาบฉวย?

อภิชาติ เพชรลีลา : มันยิ่งกว่าฉาบฉวย ... มันเลวไง! --- มันจะไม่เลวได้ยังไง คือหากคุณทำหนังสือโดยไม่คิดถึงใคร ผลกระทบจากสิ่งที่คุณทำมันจะเกิดอะไรกับผู้อ่านบ้าง? โดยเฉพาะกับคนที่เป็นเด็กเป็นเยาวชน แล้วคุณไม่คิดว่ามันจะสร้างมาตรฐานที่ต่ำลงของศีลธรรม ที่คุณทำมันเป็นสื่อนะ เป็นความชั่วร้าย เพราะคุณทำอะไรที่มันเป็น mass แต่สิ่งที่คุณนำมาอ้างเสมอ ๆ ก็คือ คุณนำเสนอสิ่งที่มันเลวร้ายเพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กมันรู้ว่าความเลวร้ายเป็นอย่างนี้ ๆ เหมือนเอาสีข้างเข้าถู กูไม่รับผิดชอบอะไรแล้ว

ประชาไท : แต่ก็เหมือนมีข่าวว่าหนังสือฉูดฉาดประเภทนี้เริ่มจะขายไม่ได้บ้างแล้ว?

อภิชาติ เพชรลีลา : แต่มันก็ทำกันไปเยอะแล้วไง พอถึงช่วงขาลงมันก็ไปทำอย่างอื่นกันได้

ประชาไทย : แล้วคุณคิดว่า กลุ่มที่ไม่ได้ทำหนังสือแบบฉาบฉวย คือกลุ่มที่สร้างงานวรรณกรรมโดยคำนึงถึงความเป็นศิลปะ หรือเพื่อจรรโลงสังคม พวกนี้คุณคิดว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ไหม? อาจไม่ต้องถึงขั้นเทียบกับตลาดกระแสหลัก แต่เอาเท่าที่พวกเขาอยู่ได้และมากพอจะมีกำลังผลิตงานเขียนต่อ

อภิชาติ เพชรลีลา : ถามถึงโอกาสเหรอ ถ้าให้พูดจริง ๆ ก็คือ โอกาสมันน้อย แต่ก็ขอให้ทำงานให้ดีที่สุด แล้วก็โชคดีแล้วกันนะ. (ดูข้อมูลตลาดหนังสือประกอบท้ายบทความ)
บทสรุปของบรรยากาศสนทนาสบายๆ ที่ร้านอาหารแถวหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วยให้ผม ซึ่งเป็นนักอยากเขียนหน้าใหม่ เดินบนทางสายวรรณกรรมกลับไปโหยหาเรื่องกับภาพเขียนประกอบของเทพศิริ สุขโสภา ที่เขียนเรื่องการเดินทางไว้ในนิตยสารอสท(11) ชีวิตบางครั้งของเขาก็เร่ร่อน ไปตามทางจากบ้านมา...ผมก็เช่นกัน ช่วงนี้ก็วิจัยฝุ่นบ้าง เร่ร่อนบ้าง รับจ็อบเพ็นท์องค์จตุคารามเทพ.รุ่นทวดโคตรเศรษฐี(ผมพูดจริงไม่ได้พูดเล่น )..โดยไม่รู้ตัวว่าการรับน้องใหม่ของชีวิตนักเขียนไทยมันยากมาก ในตลาดหนังสือโลกสมัยใหม่...


******ขอไว้อาลัยแด่ท่านหญิงพูนศุข พนมยงค์ ณ ที่นี้ด้วย ขณะที่ผมนั่งดูทีวีเห็นข่าวการจากไป ในเวลารอรถไฟคนเดียว ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง
ขอบคุณ วิทยากร บุญเรือง , ภฤศ ปฐมทัศน์(ร่วมสัมภาษณ์ และร่วมแก้ไขบทสัมภาษณ์กับพี่อภิชาติ)
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=7459&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai
คำย่อ
พคท.(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย)
อ้างอิง
*ข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
1.เรื่องของผม(เขียนแบบย่นย่อบทความดูเพิ่มเติมฉบับเต็ม)ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ปีที่24 ฉ.12 ต.ค.2546 :27-30*เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ....ผาจิ(หนังสือ)กรณีพื้นที่น่าน ฯลฯ

2.หนังสือสำหรับงานศพของไกรวุฒิ ศิรินุพงศ์ดูเพิ่มเติมhttp://2519me.com/NTOctober/NTOctober/NTOcontent/NTOfiles/northernhero7.htm

3.กลุ่มอิสระ และกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับเงินจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีรายชื่อ... คนนำ(งดขยายความ ดูเพิ่มเติม)ใน Somsak Jeamteerasakul. 1993. “The Communist Movement in Thailand .” Ph.D. thesis, Monash University 25 p.(อ้างจากวิทยานิพนธ์การปรับตัวทางความรู้ ความจริง และอำนาจของชนชั้นนำสยาม พ.ศ. 2325-2411ของทวีศักดิ์ เผือกสม http://www.rd.ac.th/thai-tai2/Sample4.php?id=872 )

4.แนวการเขียนประวัติศาสตร์แบบที่1 โดยผมไม่ได้ชี้ว่าถูกหรือผิดปาฐกถา 14 ตุลา ธงชัย วินิจจะกูล : ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา

5.แนวการเขียน ฯ ที่ 2 : ประจักษ์ ก้องกีรติ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯhttp://www.thammasatpress.com/b_history.shtmlการตีความของผม ต่อสายธารความรู้ผลงานดังกล่าว เชื่อมระหว่างความคิดของเกษียร-ธงชัย-สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นต้น

6.แนวการเขียนของผมต่อยอดมาจากความคิด ปัญหาแบ่งแยกดินแดนที่น่าน โปรดอ่านได้รหัสลับดาวินชี:การอ่านจิตรกรรมฝาผนัง-ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ตอนสุดท้าย(ทางด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกำลังกลัวพวกนายทุนคนจีนในไทย เข้าหาจีน และอิทธิพลคอมมิวนิสต์ในน่าน กับลาว กำลังลุกลามมากขึ้น นักศึกษาเข้าป่า ฯลฯ)http://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=93

7.ยาขอบ-ส.ธรรมยศ ในแผนที่ชาติไทย และทำไมนักเขียนต้องเดินทาง: แสงดาว-เทพศิริ และประมวล เพ็งจันทร์
http://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=156

8.ข้อเสนอทางทฤษฎีของผม ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดการบูรณาการภาคเหนือได้อาจจะเกิดจากการพ่ายแพ้ของพคท. และตามด้วยปัจจัยอื่น ๆอีก ถ้าผมยังมีโอกาสได้เขียนในครั้งต่อไป

9.อ.วิถี พานิชพันธ์ กล่าวไว้

10.กล่องไปรษณีย์สีแดง คือ เพื่อนสนิท เวอรชั่นภาพยนตร์

11.อสท.ปีที่37 ฉ.7 กพ.2540
ข้อมูลเพิ่มเติมประวัติหลวงปู่ทวดเหยียบทะเลน้ำจืด
http://www.ajarn-orn-khunthapradit.biz/index.php?lay=show&ac=article&Id=354074

-ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจสำนักพิมพ์และ หนังสือเล่มในประเทศไทย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 16 - 22 ก.พ. 2550
ผลการสำรวจ "ธุรกิจสำนักพิมพ์ และ หนังสือเล่ม ในประเทศไทย" ซึ่งจัดทำโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประเมินภาพรวมของตลาดในปีนี้ว่า จะยังคงเติบโตได้แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากเหตุบ้านการเมือง สาเหตุหลักๆ ก็เนื่องจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญด้าน "คน" โดยธุรกิจสิ่งพิมพ์ ซึ่งถูกประเมินไว้คร่าวๆ ว่ามีมูลค่าอยู่ราว 16,000 ล้านบาทนั้น ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ผลิต และจำนวนของช่องทางจัดจำหน่าย
เริ่มจากจำนวนของสำนักพิมพ์ในไทยปี 2549 ประมาณการว่ามีทั้งสิ้น 492 สำนักพิมพ์ เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปี 2548 ที่มีทั้งสิ้น 475 สำนักพิมพ์ โดยจากจำนวนทั้งสิ้น 492 สำนักพิมพ์นั้น แบ่งออกเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก (ยอดขายน้อยกว่า 30 ล้านบาท) มากถึง 77.6% หรือเท่ากับ 382 สำนักพิมพ์ ตามด้วยสำนักพิมพ์ขนาดกลาง (ยอดขายตั้งแต่ 30-100 ล้านบาท) มีทั้งสิ้น 75 สำนักพิมพ์ คิดเป็น 15.3% ส่วนสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ (ยอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท) จำนวนทั้งสิ้น 35 สำนักพิมพ์นั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 7.1% แม้ว่าสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่จะมีจำนวนเพียง 7.1% ของจำนวนทั้งหมด แต่กลับมียอดจำหน่ายสูงลิ่วเป็นอันดับหนึ่ง โดยอยู่ที่ 9,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 58.3% จากยอดขายทั้งสิ้น 16,800 ล้านบาท โดยมีสำนักพิมพ์ขนาดกลาง ตามมาเป็นอันดับสอง มียอดขายที่ 5,000 ล้านบาท คิดเป็น 29.8% สุดท้ายเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก มียอดขายทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 11.9%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปที่จำนวนหนังสือที่จำหน่ายเมื่อปีที่ 2549 พบว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 16,800 ล้านบาท โดยคิดเป็นราคาเฉลี่ยต่อเล่มอยู่ที่ 156.72 บาท จากจำนวนหนังสือทั้งสิ้น 107 ล้านเล่มเศษ เมื่อสำรวจลงไปที่พฤติกรรมการจับจ่ายของนักอ่านชาวไทย ก็พบว่ามีการใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือต่อคนต่อปีอยู่ที่ 259.93 บาท เติบโตจากปี 2548 ซึ่งมียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 239.78 บาทอยู่เพียงเล็กน้อย โดยรวมแล้ว แม้ว่าธุรกิจสำนักพิมพ์และหนังสือ จะเติบโตไม่มาก แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่สดใส โดยทางสมาคมประมาณการว่า ธุรกิจสำนักพิมพ์จะมีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 10-15 หรือมียอดขายไม่น้อยกว่า 18,500 ล้านบาท


*หมายเหตุ : ปรับปรุงเพิ่มเติมจากการเผยแพร่ในประชาไทและเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย
http://thaiwriternetwork.com/column.php?id=169&action=show

ไม่มีความคิดเห็น: