วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

24 มิถุนา วันชาติ และตราสัญลักษณ์โทรทัศน์ไทย

24 มิถุนา วันชาติ และตราสัญลักษณ์โทรทัศน์ไทย

อรรคพล สาตุ้ม
*บทความนี้ ในชื่อเก่า คือ การเมืองเชิงตราสัญลักษณ์ของทีวีไทยปรับปรุงจากการนำเสนอในงาน An International Conference on Roles of Media during Political Crisis Convened by Asian Mass Communication Studies and Research Centre (AMSAR), School of Communication Arts,University of the Thai Chamber of Commerce and The Foreign Correspondents Club of Thailand (FCCT), The Emerald Hotel, Bangkok, 20th May, 2009

บทคัดย่อ
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 9 นั้น ในอดีต คือ ช่อง 4 บางขุนพรหม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี" หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม ที่ออกแบบโดย กรมศิลปากร นับจากนั้นเป็นต้นมา พ.ศ. 2495-พ.ศ. 2519 แล้วหลังจากที่สถานีได้เปลี่ยนไปออกอากาศในระบบวีเอชเอฟ ทางช่อง 9 แล้ว จึงได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในเป็นรูปคลื่นกระจายสัญญาณ โดยฝั่งซ้ายมีสีที่กระจายอยู่ 3 สี คือแดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ อยู่ภายในวงกลมสีเหลือง ซึ่งอยู่ฝั่งขวาดังกล่าว สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของตราสัญลักษณ์ทีวีไทย ที่มีความน่าสนใจทางการเมืองจากสัญลักษณ์สื่อความเป็นไทย คือ เทวดาผู้หญิง มาสู่หลังยุคทหารกับการเมืองไทย ภายใต้อิทธิพลของประชาธิปไตยครึ่งใบ นั้นเอง
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีพิธีเปิดตัว สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เป็นสักขีพยาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ประกอบด้วย การเปลี่ยนสัญลักษณ์ของสถานีเป็นรูปวงกลม มีเส้นตัดกันอยู่ทางซ้ายมือ แทนลูกโลก ทางขวามือมีตัวเลข 9 สีม่วงซ่อนอยู่ ด้านบนมีเส้นโค้งสีเทา ลักษณะโดยรวมคล้ายดวงตา ด้านล่างมีตัวอักษรย่อ “MCOT” หรือ “อสมท” สีส้ม เดินเส้นขอบสีเทา กำกับอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นตราแรก ก่อนที่ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จะถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การเมืองเชิงตราสัญลักษณ์จากยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และความขัดแย้งทางการเมืองตามมาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งทักษิณ ชินวัตร สามารถโฟนอินเข้ามาที่สถานีช่อง 9 เพียงแห่งเดียวแล้ว ต่อมาสงครามสื่อก็เกิดขึ้นติดต่อกันระหว่างเอเอสทีวี-ผู้จัดการและพันธมิตร กับพีทีวี-แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือปัญหาเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จนกระทั่ง การกลับมาเป็นรัฐบาลของกลุ่มเครือข่ายพรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล จึงเปลี่ยนชื่อสทท.11ในปี พ.ศ. 2551 สทท.11เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที จึงออกแบบตราสัญลักษณ์ขึ้นใหม่ โดยเน้นภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ออกแบบวงกลมสีน้ำเงิน ส่วน สามเหลี่ยมใต้วงกลม วงรีสามวง ตัวอักษรภาษาอังกฤษ NBT ใช้สีขาว จนถึงต่อมารัฐบาลอภิสิทธิ์ ออกแบบเป็นมือถือสังข์ ดัดแปลงจากสัญลักษณ์ของกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์ปาญจนันท์ และใช้ชื่อสทท.ไม่มีสัญลักษณ์ NBT คือ การกลับสู่ลักษณะความเป็นไทยในทีวี สะท้อนการเมืองเชิงตราสัญลักษณ์ทีวีไทย

วันชาติและตราสัญลักษณ์สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยช่อง 4 หรือ ช่อง 9
สถานีโทรทัศน์ไทย คือ ทีวีช่อง 4 หรือ TTV (อังกฤษ: Thai Television Channel 4) นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท “ไทยโทรทัศน์” จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของชื่อสถานีฯ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 ถือกำเนิดขึ้นจากดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และบรรดาข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ว่าต้องการที่จะให้ประเทศไทย มีการส่งโทรทัศน์ในประเทศขึ้น ผู้นำรัฐบาลจึงได้ให้ “กรมประชาสัมพันธ์” จัดตั้ง โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ ต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2493 และต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งวิทยุโทรภาพและตั้งงบประมาณขึ้น ในปี พ.ศ. 2494 และในระหว่างเดือนกันยายน- พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เหล่าข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ทั้ง 7 คน ได้จัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินการส่งโทรทัศน์ครั้งแรกในประเทศไทย[i]
คณะผู้ก่อตั้งบริษัท มีอยู่ 7 คน ประกอบไปด้วย หลวงสารานุประพันธ์ , ขาบ กุญชร , ประสงค์ หงสนันทน์, เผ่า ศรียานนท์, เล็ก สงวนชาติสรไกร, มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ และ เลื่อน พงษ์โสภณ หลังจากนั้นกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 11 ล้านบาท และหน่วยงานภาครัฐแห่งอีก จำนวน 8 แห่ง ถือหุ้นมูลค่า 9 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท และวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 โดยมีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี เมื่ออาคารดังกล่าวสร้างเสร็จ และติดตั้งเครื่องส่งแล้ว จึงมีพิธีเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 เมื่อวันศุกร์ที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2498[ii] ซึ่งถือเป็นวันชาติ และวันต้นไม้ประจำปีของชาติในสมัยนั้น[iii]

โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ในช่วงแรกมีการแพร่ภาพออกอากาศในวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 18.30-23.00 น. ต่อมา จึงได้เพิ่มวันและเวลาออกอากาศมากขึ้นตามลำดับ โดยใช้เครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ แพร่ภาพขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที และเพลงเปิดการออกอากาศของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 และ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด คือเพลงต้นบรเทศ ในวันออกอากาศวันแรก ซึ่งระหว่างพ.ศ. 2495-พ.ศ. 2519 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ใช้ตราสัญลักษณ์เป็นรูป “วิชชุประภาเทวี” หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม ที่ออกแบบโดย กรมศิลปากร ซึ่งแสดงออกเป็นต้นแบบแห่งความเป็นทีวีไทย




จากช่อง 4 เปลี่ยนเป็นทีวีสีช่อง 9 และตราสัญลักษณ์
ช่วงเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2517 เมื่อท.ท.ท. ได้หยุดทำการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ทางช่อง 4 โดยได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และประมาณปี พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2518 ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำ เป็นภาพสี ในระบบ 625 เส้น ระบบวีเอชเอฟ ทางช่อง 9 อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ออกอากาศจริงในราวปีพ.ศ. 2519 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ส่งผลทำให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 สิ้นสุดลงด้วย และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 รัฐบาลภายใต้การนำของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Mass Communication Organisation of Thailand ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท., M.C.O.T.) เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน อ.ส.ม.ท.จึงรับโอนกิจการ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Channel 9) มาดำเนินการต่อ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท. โดยรัฐบาลมอบทุนประเดิม จำนวน 10 ล้านบาท
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารที่ทำการ อ.ส.ม.ท.ที่มีห้องส่งโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 บนเนื้อที่ 14 ไร่ ต่อมา ในราวปี พ.ศ. 2529 ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิธีกรรายการความรู้คือประทีป ในขณะนั้นตอบรับคำเชิญของผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการนำเสนอ ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ร่วมกับบริษัท แปซิฟิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ส่งผลให้คู่ผู้ประกาศข่าวที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น ก็คือ ดร.สมเกียรติ และนางสาวกรรณิกา ธรรมเกษร นั่นเอง

โดยต่อมาปี พ.ศ. 2535 นาย แสงชัย สุนทรวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ในช่วงที่ อ.ส.ม.ท.ถูกเรียกว่า “แดนสนธยา” เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลมืดฝังตัวอยู่ในองค์กร แต่นายแสงชัยก็สามารถขจัดอิทธิพลมืดเหล่านั้นได้สำเร็จ รวมถึงสามารถพัฒนา อ.ส.ม.ท.ได้เป็นอย่างดี แต่แล้วนายแสงชัยก็ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต ระหว่างนั่งรถยนต์เดินทางกลับบ้านพัก ที่เมืองทองธานีถนนแจ้งวัฒนะ จากผลการสอบสวนของตำรวจระบุว่า นางอุบล บุญญชโลธร จ้างวานให้ นายทวี พุทธจันทร์ บุตรเขย ส่งมือปืนไปลอบสังหารนายแสงชัย ต่อมา นางอุบลถูกลอบสังหารเสียชีวิตบนรถยนต์ ก่อนกลับถึงบ้านพัก เช่นเดียวกับนายแสงชัย ซึ่งตั้งแต่พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา[iv] จะเห็นถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แดนสนธยา และบริบทพัฒนาการของการเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบต่อทวีไทย

กระนั้น หลังจากที่สถานีได้เปลี่ยนไปออกอากาศในระบบวีเอชเอฟ ทางช่อง 9 แล้ว จึงได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในเป็นรูปคลื่นกระจายสัญญาณ โดยฝั่งซ้ายมีสีที่กระจายอยู่ 3 สี คือแดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ อยู่ภายในวงกลมสีเหลือง ซึ่งอยู่ฝั่งขวา แต่อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์นี้ใช้อยู่เพียงระยะสั้นๆ ก่อนจะโอนกิจการไปเป็นของ อ.ส.ม.ท. ในปี พ.ศ. 2520 แล้วไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ซึ่งมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในแบ่งเป็นแถบเส้นโค้งสามแถบ ก็มีสามแม่สีแสง คือ แดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ ทับอยู่ใจกลางสัญลักษณ์ ทั้งหมดเดินเส้นด้วยสีขาว และมีเส้นขอบสีดำอยู่ภายนอกสุด แต่ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 อ.ส.ม.ท. ได้จัดตั้งขึ้น ก็ได้มีการเพิ่มคำย่อของหน่วยงานว่า อ.ส.ม.ท. ประทับไว้อยู่ข้างล่างสุดของตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งแสดงออกการเปลี่ยนแปลงของทีวีขาว-ดำ สู่การเชื่อมโยง แม่สีทางแสงประกอบด้วย สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน โดยผ่านยุคประชาธิปไตยครึ่งใบนั้นเอง

กำเนิดสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และตราสัญลักษณ์
สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ถือกำเนิดขึ้นจากดำริของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และฉับไว ในด้านการรายงานเสนอข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงทั้งหมด และเพื่อทันต่อเทคโนโลยี การสื่อสารของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อเป็นการปราศจากความเป็นแดนสนธยาภายในองค์กรอีกด้วย และวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีพิธีเปิดตัว สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล อ.ส.ม.ท. และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เป็นสักขีพยาน

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ประกอบด้วย การเปลี่ยนสัญลักษณ์ของสถานีเป็นรูปดวงตาสีม่วง คือ โมเดิร์นไนน์ทีวี มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม มีเส้นตัดกันอยู่ทางซ้ายมือ แทนลูกโลก ทางขวามือมีตัวเลข 9 สีม่วงซ่อนอยู่ ด้านบนมีเส้นโค้งสีเทา ลักษณะโดยรวมคล้ายดวงตา ด้านล่างมีตัวอักษรย่อ “MCOT” หรือ “อสมท” สีส้ม เดินเส้นขอบสีเทา กำกับอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นตราแรก ก่อนที่ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จะถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา และการปรับรูปแบบการนำเสนอเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เพิ่มข่าวต้นชั่วโมง และแถบตัววิ่งข่าว (News Bar) เพิ่มช่วงแมกกาซีนออนทีวี ในข่าวภาคค่ำ นำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้ ในประเด็น และการนำเสนอแบบสบายๆ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบนิตยสาร รวมถึงประกาศเพิ่มความสัมพันธ์ และเพิ่มบทบาทให้กับเครือข่ายข่าวชั้นนำทั่วโลก เช่น สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (สหรัฐอเมริกา) สถานีโทรทัศน์บีบีซี (สหราชอาณาจักร) สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (ญี่ปุ่น) สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (จีน) เป็นต้น โดยได้เริ่มออกอากาศตั้งแต่เวลา 18:30 น. เป็นต้นมา

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ การออกอากาศโทรทัศน์ ตลอดจนการควบคุมการออกอากาศ โดยแพร่ภาพออกอากาศ จากกรุงเทพมหานคร ไปยังสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาค 32 สถานี สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 79.5 ของประเทศ มีประชากรใน ขอบเขตการออกอากาศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5 ของประเทศ โดยมีรายการประเภทข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง กีฬา และรายการเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้จัดให้มีรายการประเภทข่าวสาร และสาระความรู้ในด้านต่างๆ นำเสนอในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด (Prime Time) เพื่อให้ผู้ชมได้รับข่าวสาร และความรู้ ที่เป็นประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งหวังว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน
แม้ปัจจุบัน ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จะเปลี่ยนเป็น โมเดิร์นไนน์ทีวีแล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเรียกโมเดิร์นไนน์ทีวีว่า “ช่อง 9” แทนคำว่า โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปัจจุบัน เนื่องจากเรียกง่ายๆ เป็นตัวเลขส่งระบบวีเอชเอฟและเป็นชื่อเดิมของสถานี ซึ่งมาจากคำว่า “ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.” และความเป็นสมัยใหม่ของทีวีไทย ซึ่งต้องการตอบสนองการบริโภคความเป็นไทย หลังวิกฤติการณ์ทางการเมืองปี2535-รัฐธรรมนูญปี 2540-วิกฤติเศรษฐกิจ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ โดยนำเสนอผ่านตราสัญลักษณ์ดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวทางออกแบบใหม่เพื่อแบรนด์ของทีวี และต่อมาความขัดแย้งทางการเมืองสงครามสื่อกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยกลุ่มสื่อเครือผู้จัดการ(ASTV) จนถึงช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นรัฐประหารในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะและขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ข่าวการรัฐประหารโดยได้พยายามติดต่อช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อการออกโทรทัศน์ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมไว้ จึงทำให้การออกโทรทัศน์ไม่ได้ และมีการโฟนอินไปยังช่อง 9 ประกาศใช้ พ.ร.ก สถานการณ์ฉุกเฉิน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ[v] ซึ่งนั่นก็เป็นผลสืบเนื่องต่อปัญหาทางการเมืองไทย และจะอธิบายถึงตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย

กรณีตราสัญลักษณ์ ITV ทีวีเสรี-TITV และTPBS : วิกฤติทับซ้อนทางเศรษฐศาสตร์การเมืองความเป็นไทย
เมื่อปัญหาทางการเมืองของระบอบทักษิณดังกล่าว ที่มีจากตัวอย่างของช่อง 9 เกี่ยวเนื่องช่วงระยะเวลาทับซ้อนมาโดยมองผ่านไอทีวี ซึ่งนำเสนอความเป็นทีวีเสรี แตกต่างจากช่อง 3,5 ,7 และมิติเวลาการเกิดช่อง ITV (อังกฤษ: Independent Television ชื่อย่อ: itv) หลังจากยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล้อมรอบด้วยฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์ในยุคที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 และ17พฤษภาคม 2535 โดยสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถือกำเนิดจากดำริของรัฐบาลในสมัยที่ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์เสรี เพื่อการนำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้สู่ประชาชน

โดยเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทาน เพื่อให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยในโครงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าวนั้น ระบุวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งไว้ว่า ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 สถานีโทรทัศน์ทั้งหมด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งสามารถบิดเบือนการนำเสนอข่าว ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้ ประชาชนจึงไม่สามารถรับรู้ข่าวที่ทหารเข้าปราบปรามประชาชนในช่วงนั้นได้ ประจวบเหมาะกับการที่มีเสียงเรียกร้องของประชาชน ให้รัฐบาลใช้นโยบายจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าว เพื่อเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และรายการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้นมา แต่ก็พบกับปัญหาว่า ไอทีวี ถูกแทรกแซงสื่อโดยกลุ่มทุนชินวัตร เข้าไปถือหุ้นส่วนของไอทีวี ต่อมาถึงการประสบปัญหาการขาดทุนในการบริหารงาน
อนึ่ง ทำให้เกิดเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของ ITV และเปลี่ยนชื่อเป็นTITV-TPBS คือ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ จัดตั้งพร้อมองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการจัดตั้ง สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในปี 2550 ขณะนั้น ซึ่งหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ต้องการจะนำช่องสัญญาณระบบยูเอชเอฟ ออกอากาศช่อง 29 ซึ่งเดิมเป็นสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ถูกสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียึดคืนสัมปทาน หลังจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทาน และบริหารกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ไม่ชำระค่าสัมปทาน และค่าปรับกว่า 97,000 ล้านบาท โดยนำช่องสัญญาณนี้มาจัดทำเป็น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ

นับเป็นมิติใหม่ของวงการสื่อสารมวลชนไทย ภายหลังจากที่แนวความคิดของ สถานีโทรทัศน์เสรี ล้มเหลว ทั้งนี้ ส.ส.ท. ได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยได้เข้ามาบริหารคลื่นความถี่ช่อง 29 ซึ่งเป็นของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ก็ดำเนินการสถานีโทรทัศน์เป็นการชั่วคราว และได้เตรียมความพร้อมเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนที่สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ (หรือชื่อในขณะนั้นคือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) จะเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังจากผ่านการทดลองออกอากาศเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งตราสัญลักษณ์ของTPBS ก็ผ่านการประกวดคล้ายคลึงกับกรณี ตราสัญลักษณ์ของ ช่อง 11 โดยการประกวดอัตลักษณ์ของสถานีฯ ขึ้นใหม่ อันได้แก่ สัญลักษณ์ (Logo) และ Interlude ของทางสถานี

ผลการประกวดดังกล่าวได้ตัดสินให้แบบของทีม KITWIN ได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแนวคิดในการออกแบบคือความเป็นอิสระ โดยใช้นกเป็นเครื่องหมายของความมีอิสระ ประกอบกับอักษรไทยคำว่า “ไทย” และมีอักษรภาษาอังกฤษคำว่า “ThaiPBS” กำกับที่ตอนบน และตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยได้แถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการประกาศเปลี่ยนชื่อสถานีโทรทัศน์เป็น ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 และเริ่มใช้อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

โดยต่อมา เนื่องจากมีผู้ชมจำนวนมากเกิดความสับสนเกี่ยวกับชื่อสถานีว่า ควรจะอ่านว่า ไทยพีบีเอส หรือทีวีไทย หรือไทยทีวี ทำให้ทางองค์การฯ ได้ปรับปรุงตราสัญลักษณ์ใหม่ โดยทำออกมาเป็น 3 รูปแบบ คือตราสัญลักษณ์ขององค์การฯ ตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย และตราสัญลักษณ์ของวิทยุไทย โดยมีกำหนดเปิดตัวสัญลักษณ์ใหม่ในวันที่ 15 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการก่อตั้งองค์การฯ

ทั้งนี้ ในส่วนของสัญลักษณ์ใหม่ที่องค์การฯ จะใช้ ยังคงอัตลักษณ์ของทีม KITWIN ซึ่งเป็นภาพนกสีส้มกำลังกระพือปีกบินไว้เช่นเดิม แต่จะปรับปรุงส่วนหัวของนกเป็นสีส้ม เช่นเดียวกับส่วนปีก เพื่อแยกสัญลักษณ์รูปนก กับตัวอักษร ย ในคำว่า ไทย ออกจากกัน แล้วนำชื่อของสถานีฯ ทีวีไทย ประทับอยู่ส่วนล่างสุดของตรา โดยใช้สีส้มที่เข้มขึ้นกว่าสีในตราเดิม โดยเป็นตราที่จะใช้ร่วมกับ ส.ส.ท. และวิทยุไทย ซึ่งจะเปลี่ยนเพียงตัวอักษรส่วนล่างของตราเท่านั้นและได้มีการเพิ่มตัวอักษร “thaipbs.or.th” ลงไปบริเวณด้านล่างของตราสัญลักษณ์ที่ใช้ออกอากาศเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์เวปไซต์ของทางสถานี

ดังนั้น ความซับซ้อนของความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา การแสวงหาอัตลักษณ์ของตราสัญลักษณ์ ท่ามกลางความขัดแย้งของบริบททางการเมือง รวมทั้งการเกิดกรณี PTV-ASTVและกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งจะสะท้อนผ่านช่อง 11 ด้วย โดยการสร้างอัตลักษณ์ของตราสัญลักษณ์จากไอทีวี ซึ่งไม่เคยปรากฏคำว่า “ไทย”มาก่อนกลายเป็นตราสัญลักษณ์ ที่มีคำว่าไทย( Thai PBS) จุดเปลี่ยนทางประวัติความเป็นมาของทีวีไทย ดังนั้น สถานการณ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งบ่งบอกรับรู้ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่เหมือนกับกำเนิดของช่อง 4 และพัฒนาการเป็นช่อง 9 จนกระทั่งถึงตราสัญลักษณ์ช่อง 3, 5, 7 ซึ่งไม่มีวิกฤติของการออกแบบเพื่อความเป็นไทยแบบช่องไทยพีบีเอส นั้นเอง


การเมืองเชิงตราสัญลักษณ์ช่อง 11-NBT : ความเป็นไทยของสทท.11
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ (ชื่อย่อ: สทท.11, ช่อง 11; อังกฤษ: Television of Thailand Channel 11 ชื่อย่อ: TVT.11) ซึ่งมีสถานะความเป็นมาของช่อง 11 และวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารที่ทำการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ จากนั้นเป็นต้นมา จึงกำหนดให้ วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะที่เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ได้ดำเนินการเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางราชการ และนำเสนอรายการที่เป็นสาระความรู้โดยเฉพาะด้านการศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี มาโดยตลอด ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานนั้น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการถ่ายทอดรายการส่วนใหญ่ และบางช่วงเวลา จะให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ในส่วนภูมิภาคดำเนินการถ่ายทอดรายการของตนเฉพาะท้องถิ่นไป แล้วแต่ช่วงเวลานั้นๆ โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงระยะเวลาแรกๆ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 มักถูกมองข้ามจากผู้ชมส่วนใหญ่

เนื่องด้วยความเป็นสถานีโทรทัศน์ของทางรัฐบาล ซึ่งไม่มีรายการที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ โดยเฉพาะรายการประเภทบันเทิง เช่น ละครโทรทัศน์ หรือรายการเกมโชว์ และประกอบกับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่อาจมีโฆษณาได้ จึงทำให้ประเภทของรายการที่ออกอากาศทางสทท. 11 นั้น มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ผู้ชมนั้นมีไม่จำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ในปีพ.ศ. 2539 สทท.11 ได้เสนอให้หน่วยงานภาคต่างๆ สามารถแพร่ภาพโฆษณาให้กับทางสถานีได้ และในบางครั้ง สทท.11 ก็ได้ผลิตโฆษณาออกอากาศภายในสถานีเอง แม้จะเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จนกระทั่งในช่วงนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 เป็นต้นมา

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เริ่มมีชื่อเสียงทางด้านการถ่ายทอดสดรายการกีฬา ซึ่งแต่เดิม สทท. 11 เป็นที่รู้จักกันดีจากการเริ่มนำเอากีฬามวยปล้ำอาชีพมาออกอากาศทางสถานี แต่ทว่า นับตั้งแต่ที่สทท.11 เป็นหนึ่งในผู้ร่วมถ่ายทอดสด การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 2002 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีและไอทีวี ภายใต้การดำเนินการของบริษัท ทศภาค จำกัด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ฮือฮามากในขณะนั้น ที่การถ่ายทอดสดกีฬาต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีวีพูล ตามที่เป็นปกติในวงการโทรทัศน์ก่อนหน้านั้น

ซึ่งถ่ายทอดสดรายการกีฬาต่างๆ ร่วมกันทางทีวีพูล โดยมีโฆษณาคั่น แต่เมื่อสทท. 11 ได้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2002 ร่วมกับโมเดิร์นไนน์ทีวี และไอทีวี โดยไม่มีโฆษณาคั่น แต่นั้น สทท. 11 ก็ได้ถ่ายทอดสดรายการกีฬาอีกหลายรายการจนเป็นที่ติดตามของผู้ชมกีฬาในประเทศเป็นอย่างมาก

เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง หลังจากการมีรัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนผ่านรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ประจำพรรคพระแม่ธรณี พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ทำให้พรรคพลังประชาชน หรืออดีตพรรคไทยรักไทย รวมทั้งกลุ่ม PTV เข้ามาบริหารงานทีวีช่อง11 โดยนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ได้มีแนวความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง สทท.11 เดิม เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบการบริหารงาน และตอบสนองเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี ดังนั้น ในวันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. และสทท.11 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (National Broadcasting Services of Thailand - NBT)

ซึ่งเป็นการใช้ชื่อที่จดทะเบียนสมาชิกกับสหภาพวิทยุ-โทรทัศน์แห่งเอเชีย-แปซิฟิก(Asia-Pacific Broadcasting Union) และเปลี่ยนสีประจำสถานีเป็นสีแดงและได้ออกอากาศรายการในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สมประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานี และเพื่อประโยชน์สาธารณะ สำหรับการเสนอข่าวสารของเอ็นบีที จะมีความแตกต่างจาก สทท.11 คือ เอ็นบีที จะทำการเสนอข่าวในนามของทีมข่าวของสถานีเอง ซึ่งแยกออกจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (ปัจจุบัน คือ สำนักข่าวแห่งชาติ) แต่ในการเสนอข่าวในยุค สทท.11 นั้น จะดำเนินการเสนอข่าวขึ้นตรงกับสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้นำอดีตผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีหลายคน ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยมาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ตวงพร อัศววิไล, จอม เพชรประดับ, จิรายุ ห่วงทรัพย์ , ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ เป็นต้น ซึ่งทางเอ็นบีทีได้นำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นสถานีข่าว ผ่านทางการให้เวลานำเสนอข่าวมากกว่า 13 ชั่วโมง และปรับรูปลักษณ์ของสถานีเพื่อให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม ซึ่งในช่วงแรก เอ็นบีทีถูกจับตาอย่างยิ่งจากหลายฝ่าย จากการที่ประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย หรือไทยพีบีเอส ในลักษณะของ “สงครามสื่อโทรทัศน์ภาครัฐ” เนื่องจากเอ็นบีทีพยายามนำเสนอความเป็นทีวีสาธารณะของภาครัฐบาล ขึ้นรับมือกับไทยพีบีเอส ที่ประกาศตัวเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยไปก่อนหน้า และนอกจากนี้ เอ็นบีทียังถูกจับตามองอย่างยิ่ง ในแง่มุมของการเสนอข่าว ซึ่งมีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอ็นบีทีนำเสนอข่าวในลักษณะเข้าข้างรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นพิเศษ

เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล จากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีนโยบายปฏิรูปสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT โดยจัดประกวดตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งกำหนดแนวคิดตราสัญลักษณ์ให้สื่อถึงความเป็นโทรทัศน์แห่งชาติ มีความทันสมัย ผสมผสานกับความเป็นไทย และตราสัญลักษณ์ใหม่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การใช้ชื่อเอ็นบีที โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เปิดตราสัญลักษณ์ใหม่ และเปิดตัวสถานีในฐานะสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ
ความเป็นมาของตราสัญลักษณ์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ถึง 5 ครั้ง นอกจากนี้ ยังใช้ตราราชการของกรมประชาสัมพันธ์ในบางโอกาสด้วย เช่น บนป้ายด้านหน้าที่ทำการสถานีฯ ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ปรากฏบนหน้าจอในการเปิดสถานีฯ ช่วงเวลาระหว่างประมาณ 03.40 น.

รวมถึงเป็นสัญลักษณ์คั่นระหว่างข่าวแต่ละชิ้น บนแถบตัววิ่งข่าว (นิวส์บาร์) บริเวณด้านล่างของจอ ซึ่งทั้งหมดได้ใช้งานมาจนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2551 (ในยุคของ สทท. 11 กรมประชาสัมพันธ์ ) ตราสัญลักษณ์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2530 ( สทท.11 กรมประชาสัมพันธ์ ) เมื่อเริ่มทดลองออกอากาศ ในปี พ.ศ. 2528 นั้น ยังใช้เพียงตัวอักษรย่อ “สทท.11” พิมพ์ไว้บนหน้าจอเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ปรากฏหลักฐานว่า มีการออกแบบตราสัญลักษณ์ สำหรับใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์สถานีฯ เป็นเส้นทแยงมุมจากขวาบน ลงซ้ายล่าง แบ่งเป็นสามช่อง แต่ละช่องมีสามแม่สีแสง คือ แดง เขียว และน้ำเงิน เป็นพื้นหลัง มีตัวเลข 1 สีดำสองตัว ซ้อนเหลื่อมกัน ทับอยู่ด้านบน ซึ่งมีความหมายถึง ช่องสัญญาณที่ทำการแพร่ภาพออกอากาศ จากสถานีแม่ข่ายที่กรุงเทพมหานคร ในระบบวีเอชเอฟ (VHF) ความถี่สูง ช่องสัญญาณที่ 11 (BAND3 VHF-HIGH CH11) มีตัวอักษรย่อ “สทท.” ตัวเล็ก อยู่ถัดจากตัวเลขไปทางซ้าย ทั้งหมดอยู่ในกรอบโค้งมน ในรูปแบบของจอโทรทัศน์ โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ใช้อยู่สองปี

โดยมีการเปลี่ยนแปลงในพ.ศ. 2530-2544 ( สทท.11 กรมประชาสัมพันธ์ ) ซึ่งต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 สทท.11 ออกแบบตราสัญลักษณ์ใหม่ โดยใช้กรอบลักษณะจอโทรทัศน์เช่นเดิม แต่เปลี่ยนแปลงลักษณะภายใน กล่าวคือ พื้นหลังสุดเป็นเส้นตรงสีน้ำเงิน ขนานตามแนวนอน บริเวณใจกลางของตราสัญลักษณ์ มีเลข 1 สองตัว ตัวทางซ้ายเป็นสีเขียว ตัวทางขวาเป็นสีแดง โดยพื้นที่ทางซ้ายของตัวเลขทางซ้าย เป็นเส้นตรงขนานสีเขียว และพื้นที่ทางขวาของตัวเลขทางขวา เป็นเส้นตรงขนานสีแดง ตามขนาดของตัวเลข ด้านล่างของตัวเลขทั้งสอง มีอักษรย่อ “สทท.” กำกับไว้ด้วย ซึ่งตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ใช้มาถึง 14 ปี จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบตราสัญลักษณ์อีกครั้ง

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2544 สทท.11 เปลี่ยนรูปแบบตราสัญลักษณ์ในรายละเอียดใหม่ โดยปรับปรุงจากการใช้เส้นขนานตามแนวนอน เป็นแถบสีสดใส โดยใช้สีตามสัญลักษณ์เดิม พร้อมนี้ ได้เปลี่ยนตัวเลข 1 ทั้งสองตัว เป็นสีขาว เดินเส้นขอบสีดำ และตัวอักษรย่อ “สทท.” เป็นสีขาวด้วย ซึ่งใช้อยู่เป็นระยะเวลา 7 ปี ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และในปี พ.ศ. 2551 สทท.เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที จึงออกแบบตราสัญลักษณ์ขึ้นใหม่ โดยเน้นภาพลักษณ์ที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยความหมายของตราสัญลักษณ์ดังกล่าว อธิบายว่า “วงกลมสีน้ำเงิน” หมายถึง ศูนย์กลางแห่งข้อมูลข่าวสาร

ส่วน “สีน้ำเงิน” หมายถึงความหนักแน่นเป็นกลาง ส่วน “สามเหลี่ยมใต้วงกลม” หมายถึง ความเที่ยงตรง เป็นกลาง ในการนำเสนอข่าว อย่างไม่หยุดนิ่ง “วงรีสามวง” สื่อถึงแผนที่โลกที่แผ่ออกเป็นสองมิติ หมายถึง การนำเสนอเหตุการณ์สำคัญจากทั่วทุกมุมโลก ตัวอักษรภาษาอังกฤษ “NBT” ใช้สีขาว หรือโปร่งใส หรือเป็นวาวแสงคล้ายแก้ว หมายถึง ความโปร่งใสในการนำเสนอข่าวสาร ที่สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 15.15 น. เป็นต้นมา การแสดงตราสัญลักษณ์ของเอ็นบีทีบนจอโทรทัศน์ จะมีอักษรย่อ “สทท.” กำกับอยู่ด้านล่างของตราสัญลักษณ์ฯ ด้วย ซึ่งในเวลาดังกล่าว เป็นรายการ “หน้าต่างสังคม” เป็นต้น เมื่อเปลี่ยนพรรคการเมืองเป็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลในพ.ศ. 2552 ( สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ) สทท.มีโครงการให้ประชาชนส่งประกวดตราสัญลักษณ์ใหม่ของสถานี โดยกำหนดแนวคิดตราสัญลักษณ์ให้สื่อถึงความเป็นโทรทัศน์แห่งชาติ มีความทันสมัย แต่คงความเป็นไทย และมุ่งสู่สากล ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ผลงานของนาย เนติพิกัติ ตังคไพศาล กราฟิกดีไซเนอร์ จากทีวีไทย ซึ่งได้แนวความคิดจากสัญลักษณ์ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่เป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์ปาญจนันท์ โดยดัดแปลงเฉพาะส่วนที่เป็นมือถือสังข์ให้ทันสมัยมากขึ้น ตราสัญลักษณ์ใหม่ได้เริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การใช้ชื่อเอ็นบีที[vi] จึงถือว่าปิดฉากกลุ่มบริษัทตราสัญลักษณ์เดิมด้วย

การเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ คือ การลบภาพลักษณ์ทางการเมืองของพรรคพลังประชาชน เกี่ยวโยงลึกซึ้งถึงกลุ่มทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ในกลุ่มเอเอสทีวี(ASTV) ซึ่งปะทะกับกลุ่มPTV ในอดีตมาเป็นรายการความจริงวันนี้ ซึ่งวิกฤติการณ์จากข้อกล่าวหากระบอกเสียงรัฐบาลของกลุ่มPTV-ช่อง 11 และพันธมิตรฯ สืบเนื่องหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา ก็เกิดกลุ่มทีวี เช่น PTV ซึ่งต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ โดยมีการประสานงานกับกลุ่มแนวร่วมต่างๆ ตรงกันข้ามกับกลุ่มสื่อผู้จัดการ-ASTV และพันธมิตรฯ ในปี พ.ศ. 2551 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้ถูก วิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล(คณะรัฐมนตรีคณะที่ 57 ของไทย) เช่น ให้มีการจัดรายการ “ความจริงวันนี้”กับทางสถานี NBT เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ตราสัญลักษณ์ของ NBT ที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ย่อมถูกเหมารวม เพราะมาจากเรื่องรายการความจริงวันนี้ ที่มีถูกกล่าวถึงว่า กระบอกเสียงของรัฐบาล โดยมีผู้เสียหายจากข้อเท็จจริงจนต้องออกมาฟ้องหมิ่นประมาทอยู่บ่อยครั้ง เช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ ปปช. รวมไปถึงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนำไปสู่การบุกยึดสถานี วิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยของกลุ่มพันธมิตรฯ ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ถือเป็นการเข้ายึดสถานีโทรทัศน์โดยประชาชนครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ทำให้รู้ว่าตราสัญลักษณ์ช่อง 11 หรือ NBT จำเป็นต้องเปลี่ยนไป

กระนั้น ความเป็นไทย ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ และแบรนด์เนมของการเป็นธุรกิจการค้า ซึ่งการสร้างตราสัญลักษณ์ไม่ใช่เรื่องเรียบง่าย จะไม่มีปัญหาปรากฏว่า เสื้อโบว์ลิ่งโวยช่อง 11 ละเมิดโลโก้ ที่มาข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่บริษัท โกลเด้นโบล์ จำกัด ทำหนังสือเตือนถึงตน ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อขอให้ยุติการใช้โลโก้ใหม่ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ภายในเวลา 30 วัน (9 พฤษภาคม) เนื่องจากมีรูปร่างและลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท โกลเด้นโบล์ฯว่า ตนได้มอบหมายให้นายเผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ไปเจรจากับตัวแทนบริษัทดังกล่าวแล้วว่า ช่อง 11 ไม่มีเจตนาละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือลิขสิทธิ์ใดๆ เนื่องจากโลโก้ช่อง 11 เป็นเพียงโลโก้ที่ใช้ออกอากาศเท่านั้น ไม่ได้ใช้ในการผลิตสินค้าใดๆ จึงไม่น่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์บริษัทดังกล่าวที่ทราบว่า เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้า

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ขั้นตอนการได้มาของโลโก้ใหม่ของช่อง 11 นั้น มาจากการเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งเข้ามาประกวด เพื่อเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีซึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาให้กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีผู้ส่งเข้ามาประกวดกว่า 2,000 ชิ้น และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากวงการสถาปนิก วงการโฆษณา และผู้เกี่ยวข้องอื่นเป็นผู้ตัดสิน จึงจำเป็นต้องไปทำความเข้าใจว่าไม่มีเจตนาลอกเลียนแบบแต่อย่างใด[vii]
โดยทางด้านบริษัท โกลเด้นโบล์ จำกัด ได้ส่งสำเนาทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค198773 และสำเนาเอกสารความแพร่หลายของเครื่องหมายการค้าของบริษัทไปพร้อมกับโนติ๊ส พร้อมอธิบายโลโก้ของบริษัท ประกอบด้วย 2 ภาคส่วน คือภาคส่วนแรกเป็นลวดลายเส้นในลักษณะประดิษฐ์เป็นลายเส้นมุมฉากลบมุมสองเส้น วางประกบกันด้านบนและล่าง และมีช่องว่างระหว่างเส้นทั้งสอง โดยเส้นที่อยู่ด้านซ้ายมือมีการลากเส้นยาวขึ้นด้านบนมีลักษณะคล้ายตัวอักษรโรมัน b ประดิษฐ์ และภาคส่วนที่สองเป็นคำอักษรโรมันคำว่า bowling รวมเรียกขานได้ว่า บี หรือ บี โบลิ่ง และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2546 และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่สาธารณชนผู้บริโภคทั่วไปแล้ว

ดังนั้น ตราสัญลักษณ์สำหรับผู้ชนะการประกวดออกแบบโลโก้สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ซึ่งได้แนวความคิดจากสัญลักษณ์ของกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์ เหตุผลที่คณะกรรมการเลือกเพราะเห็นว่ามีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือสามารถสื่อความหมายว่าเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ มีเอกลักษณ์ที่แฝงความเป็นไทย จดจำง่ายและเด่นชัด รวมทั้งสามารถนำไปปรับใช้กับงานในหลายลักษณะ เช่น งานกราฟิกบนหน้าจอโทรทัศน์ นามบัตร ซองจดหมาย เป็นต้น แต่ว่าวิกฤติการณ์ทางการเมืองไทย ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ จึงทำให้เกิดอาการอ้างการว่าลอกแบบโลโก้โบวลิ่งดังกล่าว และความทันสมัยของตราสัญลักษณ์ คือ เครื่องหมายช่วยสื่อกับคนไทย-นานาชาติ ที่มีการช่วงชิงตราสัญลักษณ์มารับใช้พรรคการเมือง ทั้งการสร้างแบรนด์ของช่อง11 และสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองไปในตัวเอง ในภาวะทีวีไทยอยู่ในวิกฤติการณ์ความขัดแย้งจากสื่อมวลชน-กลุ่มการเมือง และประชาชนทั่วไป

วิเคราะห์ตราสัญลักษณ์กับความเป็นไทยในโลกาภิวัตน์
จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ล่าสุดการเปลี่ยนแปลงของสื่อกลุ่มPTV-ความจริงวันนี้ และ D-Station หรือปัญหาเสื้อเหลือง-เสื้อแดง มาถึงกรณีตราสัญลักษณ์ช่อง 11 หรือ NBT ที่มีปัญหาต่อโลโก้โบวลิ่ง แสดงออกความแตกต่างจากกรณีตัวอย่างของตราสัญลักษณ์ช่องอื่นๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย เป็นศิลปะและการออกแบบที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ก็คือ การมีสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าสำนึกนั้นอาจไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นสิ่งที่สร้างหรือกระตุ้นกันขึ้นมาได้ ในเมื่อสิ่งเหล่านี้มีความหมายแทนตัวตน ผู้คนจึงไม่อาจแน่ใจว่า อัตลักษณ์ของเขาเองนั้นเป็นผลของการชักใย[viii] โดยอำนาจที่มองไม่เห็นชัดเจน คล้ายกับที่รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีสมัคร เสนอเรื่องมือที่มองไม่เห็นทำร้ายรัฐบาล ซึ่งการออกแบบตราสัญลักษณ์ช่อง11 ก็คือ มือถือหอยสังข์ และการออกแบบตราสัญลักษณ์ ก็เหมือนกับแผนที่ ซึ่งเสนอความเป็นตราสัญลักษณ์(Logo) สร้างจินตนาการความเป็นไทยของแผนที่[ix] ซึ่งตราสัญลักษณ์ของทีวีช่อง 3-7-5 และตราสัญลักษณ์ช่อง 9,ไทยพีบีเอส,ช่อง 11 ก็เป็นการสร้างจินตกรรมเชื่อมโยงคน ที่มีการดูช่องทีวี คือ องค์ประกอบของวัฒนธรรมทางสายตาอยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน

ทัศนะของผู้ชมทีวี ต่อกรณี ITV เปลี่ยนเป็น TPBS ด้วย จากการเปลี่ยนรูป ITV เป็น TITV ก่อนเป็น TPBS ที่เป็นรูปพิราบสะท้อนแนวทางเสรีนิยมแบบวิชาชีพสื่อสารมวลชน แต่เสียงอินเทอร์ลูดเข้ารายการเป็นเสียงเอื้อนแบบไทยๆ แถมนกเป็นลายกนก และช่อง 9 อสมท. เปลี่ยนจากแท่งสามสี กลายเป็น สีม่วงแกมขาว สะท้อนแนวคิดเปลี่ยนจากอำมาตยาธิปไตย เป็นเสรีนิยมใหม่แบบทักษิโนมิกส์(ระบอบทักษิณ)ในยุคที่มีการปฏิรูปช่อง 9 เป็น Modern 9 ส่วน ASTV สะท้อนความเป็นไทยแบบอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่มีภาษาอังกฤษเพื่อหาที่ยืนในโลก กรณีทางด้านส่วน PTV เปลี่ยนมาเป็น D-Station เป็นแบบ เสรีนิยมใหม่ และแนวพวกฝ่ายซ้าย( Radical)[x]

โดยเรื่องตราสัญลักษณ์ สะท้อนทัศนคติของคณะกรรมการคัดเลือกตราสัญลักษณ์ มาจากโจทย์ที่กำหนดขึ้นเกี่ยวข้องความเป็นไทย[xi] และเหตุการณ์ตอนที่พระอินทร์เป่าสังข์นั้น ซึ่งรูปพระอินทร์เป่าสังข์เหาะลอยอยู่เหนือเมฆ มีวงกลมล้อมรอบ โดยอิงตามคติในวรรณคดีโบราณว่า พระอินทร์มีหน้าที่เป่าสังข์ชื่อ “ปาญจนันท์” ปลุกพระนารายณ์ให้ตื่นจากบรรทมสินธุ์ในสะดือทะเล เพื่อขึ้นมาปราบเหตุร้ายต่างๆ ในโลก และโดยความเชื่อในศาสนาฮินดู สังข์ถือว่าเป็นมงคล 3 ประการ คือ ถือกำเนิดจากพระพรหม ท้องสังข์เคยเป็นที่ซ่อนคัมภีร์พระเวท และตัวสังข์ มีรอยนิ้วพระหัตถ์ของพระนารายณ์

พิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ จึงมีการเป่าสังข์เพื่อความเป็นศิริมงคล ก็สอดคล้องกับหลักการประชาสัมพันธ์ ที่เป็นการเผยแพร่ ชี้แจงประชาชนเข้าใจอย่างกว้างขวาง และสร้างความเข้าใจอันดี จึงเปรียบได้กับการเป่าสังข์เพื่อเรียกประชุมของเทวดา ตราสัญลักษณ์นี้ใช้สีม่วง ซึ่งเป็นสีของงานประชาสัมพันธ์เป็นสีหลักของตรา และใช้เรื่อยมาถึงกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน[xii]

อย่างไรก็ดี ตราสัญลักษณ์ สทท.พระอินทร์เป่าหอยสังข์ มีที่มาแรงบันดาลใจจากตราสัญลักษณ์กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจาก “กองโฆษณาการ” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานโฆษณาการ” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกัน เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมโฆษณาการ” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 และเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมประชาสัมพันธ์” ดังเช่นปัจจุบันเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2495 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 7 เล่มที่ 64 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2490 กำหนดเครื่องหมายราชการ “กรมโฆษณาการ” ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลเลือกตรานี้ เพราะยึดโยงกับความเป็นไทย และความเชื่อ รวมทั้งศิริมงคลจากจุดกำเนิดของกรมประชาสัมพันธ์

พรรครัฐบาลเข้ามากุมอำนาจทางการเมือง ซึ่งมองสื่อด้วยทัศนคติเป็นการประชาสัมพันธ์ จากการเผยแพร่ ค่านิยมความเป็นไทย ใช้สังข์เป็นสื่อแทนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของโทรทัศน์แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวและสร้างความเข้าใจอันดีไปสู่ประชาชน[xiii] ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความทันสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ บวกกับความเก่าแก่ จึงทำให้เกิดความลั่กลั่นย้อนแย้งว่าด้วยความชัดเจนของตราสัญลักษณ์นั้น สื่อสารรูปสังข์ ดูครั้งแรกเหมือนตัวอักษรภาษาอังกฤษ b (= broadcasting) หรือ b คือ bowling มากกว่ารูปสังข์ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมากกว่าสร้างแบรนด์ได้ชัดเจน ไม่มีประโยชน์ต่อช่อง 11 เท่ากับตราสัญลักษณ์ NHK,BBC,CNN และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวสตาร์ เป็นต้น

ดังนั้น จากอิทธิพลของประเทศอินเดียสู่ไทย ผ่านทางพุทธศาสนา-พราหมณ์ จึงเกี่ยวโยงความเป็นไทยคงรักษาไว้ยากมาก เนื่องจากการแสวงหาอัตลักษณ์ของตราสัญลักษณ์ให้เป็นไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ โดยสะท้อนผ่านตัวอักษร-ตัวพิมพ์แบบไทยของไทยพีบีเอส ที่มีที่มาภาษาจากยุคพ่อขุนรามคำแหง ในการผสมผสานทางความคิดของการประดิษฐ์ประเพณีสู่ตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย โดยปรากฏตราสัญลักษณ์ ช่องทีวีสี ITV กลายเป็นไทยพีบีเอส (Thai PBS) รูปนก และตราสัญลักษณ์ มือพระอินทร์ถือสังข์(ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ)ของ NBT ช่อง11 สทท.แตกต่างตรงกันข้ามกับตราสัญลักษณ์ของช่องทีวี 3,(ททบ.5) ,7,9 โดยชัดเจนว่า “ตัวเลขไม่ใช่แบบตัวเลขไทย” ซึ่งสะท้อนความลักลั่นขัดแย้งกับตราสัญลักษณ์ของไทยพีบีเอส และNBT สะท้อนการรับรู้ของผู้ดูทีวี

ในที่สุดแล้ว ไทยพีบีเอส สื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตยไทยๆ และบ่งบอกแบรนด์ของชื่อทีวีไทยได้เป็นอย่างดี และตราสัญลักษณ์ NBT หรือสทท.11 ต่อวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งการเข้าถึงวัฒนธรรมประเพณีของไทย ผ่านวัฒนธรรมทางสายตาจากการดีไซน์ ก็คือ การออกแบบความเป็นไทย ผ่านตราสัญลักษณ์จากช่อง4 หรือ 9 โมเดิรน์ไนน์อันเสนอความทันสมัย ตรงกันข้ามกับไทยพีบีเอส และสทท.11 ที่มีความขัดแย้งกับเสื้อโบวลิ่ง จนถึงเสื้อแดง คือ กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย สะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองไทยในปัจจุบัน

สรุป
กล่าวโดยสรุป การเมืองเชิงตราสัญลักษณ์ทีวีไทย เกี่ยวข้องสอดคล้องผ่านขั้นตอนการประดิษฐ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเชื่อกันว่ามีจุดกำเนิดมาตั้งแต่โบราณ แท้จริงแล้วไม่ได้มีการปฏิบัติมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ได้ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ตัวอย่างประกอบด้วย “การสร้างวัฒนธรรมประจำชาติ” ของไทย ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น ผัดไทย และเพลงชาติไทย ซึ่งคำว่า ประเทศไทย ก็เพิ่งเกิดขึ้นมาหลังเปลี่ยนนามประเทศสยามเป็นไทย ซึ่งเห็นได้ชัด คือ วันปีใหม่ในประเทศไทยทางราชการ โดยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงครามให้ถือวันชาติ 24 มิถุนายน 2482 ซึ่งวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มีการสื่อถึงเลขเป็นรหัส เช่น ปีกสี่ด้านของอนุสาวรีย์ฯสูง 24 เมตร หมายถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รวมทั้งการสร้างงานศิลปกรรม ละคร เพื่อปลูกต้นรักชาติ เป็นต้น และเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา มีกิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ ได้แก่ การทำบุญตักบาตรที่วัด ซึ่งการประดิษฐ์ประเพณีขึ้นมาใหม่ แล้วแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงคำว่า สยามกลายเป็นไทย
โดยทุกวันนี้ เราก็เรียกแผนที่ของเราว่า แผนที่ประเทศไทยด้วย

ซึ่งต่อมาตราสัญลักษณ์ของกรมโฆษณาการ-กรมประชาสัมพันธ์ โดยพระอินทร์เป่าสังข์ ก็มีรากจากอินเดีย ไม่ใช่มาจากไทย และสร้างตราสัญลักษณ์ทีวีช่อง 4 ซึ่งความเป็นสยามของลักษณะเทวดา ที่มีความชัดเจนที่สุด คือ พระสยามเทวาธิราชเป็นเทวดาสยาม แต่ว่าไม่ใช่ลักษณะตรงกับคำว่า เทวดาไทย และการสร้างขนบประเพณีวัฒนธรรมของชาติไทย จนถึงตราสัญลักษณ์ของกรมประชาสัมพันธ์ แสดงออกทำให้เป็นที่มาต่อพระอินทร์ถือสังข์ คือ ตราสัญลักษณ์ NBT- สทท. (ช่อง 11) ความย้อนแย้งดังกล่าวนั้น จึงเห็นได้ว่าเพื่อค้นหาความเป็นไทย อัตลักษณ์ และตัวตน ซึ่งมีลักษณะสังคมโหยหาอดีต โดยประเพณีเป็นกลไกของรัฐและกลไกทางการเมือง ในทำนองเดียวกันกับกลไกของประวัติศาสตร์ของรัฐประชาชาติ แต่เมื่อรัฐประชาชาติเป็นผลผลิตของสภาวะสมัยใหม่ ก็ทำให้ประเพณีต้องกลายเป็นผลิตผลของสภาวะสมัยใหม่ไปโดยปริยาย หรือ ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ประเพณีเป็น “สิ่งใหม่” อันเป็นที่ต้องการของสภาวะสมัยใหม่ เมื่อเป็นของใหม่ก็ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะบอกว่า อะไรเป็นของแท้ดั้งเดิม อะไรเป็นของเทียมอันเป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่[xiv]

ความจริงนั้น อดีตที่นำมาใช้สื่อถึงตราสัญลักษณ์ของ NBT ก็ไม่ได้เก่าแก่จริงแท้ เพราะคำว่าประเทศไทย และตรากรมประชาสัมพันธ์ ก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ซึ่งแนวคิดเรื่องการประดิษฐ์ประเพณี (invention of tradition[xv]) ซึ่งอีริค ฮอบสบอว์ม (Eric Hobsbawm) เป็นผู้เสนอความคิดดังกล่าวนั่นเอง ส่วนบทความการเมืองเชิงตราสัญลักษณ์ทีวีไทย ก็ต้องมองให้เห็นรื่องชาตินิยมโดยผู้เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับการประดิษฐ์ประเพณีของชาติไทย ที่มีที่มาจากตรากรมประชาสัมพันธ์ ก็ไม่ได้เก่าแก่มากมาย และทำให้สะท้อนภาพว่า การออกแบบตราสัญลักษณ์ของนักออกแบบ ก็ต้องอิงกับแนวคิดการออกแบบทางขนบประเพณีชาตินิยมเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การวิเคราะห์ถึงอัตลักษณ์ในกรณีศึกษา ตราสัญลักษณ์ช่อง11 หรือ สทท. และไทยพีบีเอสนั้น แสดงถึงแนวความคิดเรื่อง “พื้นที่แห่งความทรงจำ”ผ่านตราสัญลักษณ์ เพราะว่า กรณี ช่อง 11 เห็นชัดเจนถึงรัฐบาลกับการออกแบบอำนาจในการเลือกสรรความทรงจำ และควบคุมสังคมว่าควร “จำ” หรือ “ลืม” ตราสัญลักษณ์ช่องทีวีเดิมโดยสร้างปฏิบัติการทางสังคม-วัฒนธรรม เพื่อค้ำจุนให้ “ความทรงจำ” นั้นๆ ดำรงอยู่กับเรา เช่นเดียวกับ การเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์-สร้างอนุสาวรีย์ และพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น โดยบริบทของกรณีตราสัญลักษณ์ของช่อง4 หรือ ช่อง 9 คือ ตัวแทนของการถูกลืม-เปลี่ยนวันชาติ 24 มิถุนา[xvi] ทำให้ความทรงจำหายไป

ส่วนแนวคิดเรื่อง “การประดิษฐ์ประเพณี” แสดงให้เห็นว่าประเพณีไม่ได้ มีการสืบทอดต่อเนื่องยาวนาน แต่ถูกประดิษฐ์ใหม่เพื่อตอบสนองต่อชนชั้น และความเป็นประเพณีประดิษฐ์ของรัฐบาล ผ่านตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย จึงซ่อนเร้นอุดมการณ์ ผลประโยชน์ ที่มีการเลิกสัญญาบริษัทผลิตข่าว ซึ่งเดิมเป็นของ บริษัทดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ไปตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 หลังเปลี่ยนเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งมีข่าวว่าเป็นของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมือง ต่อมานักการเมืองเนวิน ก็เข้ามามีบทบาทกับพรรคประชาธิปัตย์ สมัยเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน ผูกพันกับปัญหาพันธมิตรประชาชน กรณีโพกผ้าเขียนว่ากู้ชาติบุก NBT ต่อมาเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ โดยเสียงบประมาณการจัดงานพิธีเปิดวันเปลี่ยนโลโก้ใหม่ในวันที่ 1 เม.ย. บวกค่าถ่ายทอดสด และจัดงานไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ค่าใช้จ่ายประกวดโลโก้ใหม่ ที่ประมาณการใช้ภาษีประชาชนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท[xvii] ซึ่งก็ซ่อนเร้นโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจไว้อย่างแนบเนียน

อย่างไรก็ดี ยุคโลกาภิวัตน์ และสื่ออินเตอร์เน็ตของโลกไร้พรมแดน แต่ว่ารัฐบาลกับการใช้
ประเพณีประดิษฐ์ผ่านตราสัญลักษณ์ ช่อง 11ได้ก่อให้เกิด “วาทกรรม” ในสังคมขึ้นว่า เป็นการสร้างเพื่ออนุรักษ์ความเชื่อแบบดั้งเดิมในบริบทสังคมไทย ยิ่งกว่านั้นยังถือเป็นภาพสะท้อนอีกตัวอย่างหนึ่งของวิกฤตการณ์ความทันสมัยของสังคมไทย ที่เกิดขึ้นจากกระแสบริโภคนิยมและข้อมูลข่าวสาร ที่ได้เข้าไปมีบทบาทอย่างมากในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไป เพราะว่า ในท้ายที่สุด ตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย ก็ทำให้มองเห็นว่า การออกแบบตราสัญลักษณ์ ก็สะท้อนวิกฤติการณ์ทางการเมือง และเศรษฐศาสตร์เชิงธุรกิจ ต่อความคลุมเครือของตราสัญลักษณ์ NBT-ช่อง 11(สทท.) อยากคงไว้ทั้งความทันสมัย และอนุรักษ์ไทย แต่ก็ลั่กลั่นต่อความหมายของความเป็นไทย ที่ถูกนิยามสร้างขึ้นมาไม่นาน

ดังนั้น โจทย์ของรัฐ ก็สร้างกรอบความคิดของการออกแบบตราสัญลักษณ์ไม่ให้หลากหลายเกี่ยวกับความเป็นไทย เมื่อตัวแทนของรัฐบาล ก็ต้องมาตอบว่าไม่ได้ลอกแบบตราสัญลักษณ์โบว์ลิ่ง ท่ามกลางบริบทวิกฤติการณ์ทางการเมือง ซึ่งการเมืองเชิงตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย ไม่ได้ออกแบบกันง่ายดายให้เข้ากับสังคมไทยได้ชัดเจน เหมือนกับรูปแผนที่ประเทศไทย คือ ตราสัญลักษณ์ว่าด้วยรูปด้ามขวาน ก็มีปัญหาภาคใต้ว่าด้ามขวานถูกลบออกไป หรืออาจจะมองแผนที่ด้านข้างเป็นรูปหัวช้าง มีงวงก็อาจจะแหว่งจากแผนที่ไทย สิ่งที่คิดว่า แผนที่รูปขวานทองของไทย อยู่ยั่งยืนมายาวนานกับความเป็นไทย ยังสั่นคลอนไม่แน่นอน โดยวิกฤติการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย กลุ่มพันธมิตรฯ-กลุ่ม 24มิถุนาฯในนปช.-เสื้อแดง

จึงชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งต่อการเมืองเชิงตราสัญลักษณ์ของทีวีช่อง 11 ของไทย รวมทั้งทีวีช่อง4 หรือ ช่อง 9-ทีวีไทย ต่างๆ ดังกล่าวในยุคสื่อสารไร้พรมแดน ซึ่งทุกคนอาจจะระลึกถึงความสำคัญในวันชาติ 24 มิถุนายนของประเทศไทยไม่ให้เสื่อมสลายหายไป เช่นเดียวกับการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์กรณีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตราสัญลักษณ์ช่อง4 บางขุนพรหม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี" หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม คือ สัญญะความเชื่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในอดีต และตราสัญลักษณ์ NBT ซึ่งสูญสลายหายไปจากจอโทรทัศน์ไทย

เอกสารอ้างอิง(ปรับปรุงเพิ่มเติมแล้ว)
[i] ช่อง 9 ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki และดูเพิ่มเติม ตำนานโทรทัศน์กับจำนง รังสิกุล และสินิทธ์ สิทธิรักษ์ กำเนิดโทรทัศน์ไทย (พ.ศ. 2493-2500)วันที่ 24 มิ.ย. 2498 โดยสินิทธ์ สิทธิรักษ์ ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า จอมพลป. มักเกี่ยวข้องกับวันชาติด้านเทคโนโลยี สื่อ 24 มิ.ย. 2494 เปิดสถานีวิทยุ 10 กิโลวัตต์ และ 24 มิ.ย. 2496 วิทยุ 50 กิโลวัตต์ เป็นต้น
[ii] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนาถึง 5 ธันวา” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2547: 72-121
[iii] อรรคพล สาตุ้ม “24 มิถุนา , 28 กรกฏา,14-6ตุลา,4 ธันวา-10 ธันวา”และ Young PAD ที่มา http://www.prachatai.com
[iv] ช่อง 9 ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki เพิ่งอ้าง
[v] รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ที่มาhttp://th.wikipedia.org/wiki
[vi] ช่อง 11 ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki
[vii] “สาทิตย์” สั่งบอร์ดอสมท.สู้คดี “สรยุทธ”ฟ้อง 249 ล. ปฏิเสธเอ็นบีทีลอกโลโก้ “โกลเด้นโบล์”
ที่มา วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 15:00:22 น. มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1240579433&grpid=00&catid=05
[viii] ดีไซน์+คัลเจอร์ : ประชา สุวีรานนท์ ที่มา http://www.faylicity.com/book/book2/designCulture.html
[ix] เบน แอนเดอร์สัน ; กษิร ชีพเป็นสุข...(และคณะ),ชุมชนจินตกรรม : บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552 : 319-320
[x] ความคิดเห็นของผู้ดูทีวีสงวนนามคนหนึ่ง
[xi] รองศาสตราจารย์ สมเกียรติ ตั้งนโม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูล-ตั้งคำถาม รวมทั้งคำแนะนำแก่ผู้เขียน
[xii] กรมประชาสัมพันธ์ ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki
[xiii] สังข์ ที่มา http://nbttv.prd.go.th/
[xiv] ‘เปิดม่าน’ สังคมที่โหยหาอดีต โดย ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’ ที่มา http://www.prachatai.com
[xv] Eric J. Hobsbawm, Terence O. Ranger “The Invention of tradition” ที่มา books.google.co.th
[xvi] พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึงสิ้นสุด สงครามโลกครั้งที่ 2 : 38 กล่าวถึง คณะราษฎรออกหนังสือพิมพ์ชื่อ เทอดรัฐธรรมนูญ ขึ้นเพื่อใช้เป็นปากเสียง และสมาชิกคณะราษฎรเป็นผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน 2ท่าน คือ สงวน ตุลารักษ์ และซิม วีระไวทยะ ออกหนังสือพิมพ์ ๒๔ มิถุนาเป็นการระลึกถึงวันดังกล่าว ฯลฯ เป็นต้น
[xvii] ‘หอยสังข์สีม่วง’ เป็นเหตุ! ละม้ายคล้ายแบรนด์ Bowling เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 17 ฉ.ที่ 883 วันที่ 1 พ.ค.2552 : 77