วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

สิงคโปร์ทุกลมหายใจ

สิงคโปร์ทุกลมหายใจ

ผมมีโอกาสตามอ่านข่าวในวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมานี้ องค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือ CERN (เซิรน์) เดินเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ Large Haldron Collider (LHC) เพื่อค้นหาคำตอบ เรื่องจุดกำเนิดจักรวาล ซึ่งข่าวที่ผ่านมา เกี่ยวกับ เซิรน์ ทำทดลองเครื่องปล่อยอนุภาคโปรตอน ที่มีเครื่องทดลองอยู่ในอุโมงค์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและสวิสฯ แล้วอาจจะเกิดหลุมดำ มีประเด็นค้นพบอนุภาคพระเจ้า และวิธีการสร้างไทม์แมชชีนบ้าง บางอย่างในใจของผม ก็กำลังรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก

มันคงเป็นช่วงเวลาหนึ่งของมนุษย์ทั่วๆไป ที่ไม่สามารถค้นพบการย้อนเวลาได้ หากมนุษย์ค้นพบ การย้อนเวลา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครื่องไทม์แมชชีน เพื่อกลับไปดูอดีตเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งผ่านพ้นอย่างไม่มีวันกลับมาอีกครั้ง เราอาจจะตายได้ ถ้าเสี่ยงขึ้นเครื่องนั้นไป และย่อมมีคนเสี่ยงตายเพื่อค้นพบการพัฒนาโลก ไม่ว่าจะการทดลองสร้างเครื่องบิน รวมทั้งเทคโนโลยีการถ่ายภาพ เครื่องมือบันทึกความทรงจำของมนุษย์


เมื่อสมัยหนึ่ง เครื่องบินลำแรกของโลก มันก็ต้องผ่านการทดลอง และเรียนรู้เรื่องมนุษย์อยากจะบิน ตั้งแต่ความคิดของลีโอนาโด ดาวินซี พยายามสร้างปีกนกให้มนุษย์บินได้ จนกระทั่งสองพี่น้องตระกูลไรท์ ได้รับการจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ได้ว่า สร้างเครื่องบินลำแรกได้สำเร็จ นั้นเอง มนุษย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงในการบันทึกภาพ จากภาพเขียนสู่การถ่ายภาพ จากในอดีต ที่คนเริ่มต้นหวาดกลัวว่า ถูกถ่ายภาพ จะถูกดูดวิญญาณไป

ในที่สุดแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในยอมรับเปลี่ยนความเชื่อของการถ่ายภาพ การสร้างเครื่องบิน ซึ่งถ้าชีวิตมีความเสี่ยง กล้า บ้าบิ่น เพื่อสร้างสรรค์อย่างท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์ และก็พร้อมจะพิสูจน์สิ่งนั้น ผมก็มีความฝันอยากจะบินได้สักครั้ง มีปีกเหมือนกับนก โบยบินสู่อิสระภาพ แต่ว่าการเดินทางครั้งนี้ ผมมาด้วยเทคโนโลยีของมนุษยชาติ ซึ่งผมนั่งเครื่องบิน แอร์เอชีย ราคาไม่แพงมาก โดยผมอยากจะกล้าเดินทางไปสิงคโปร์ ก็ค้นหาแหล่งทุนสำหรับการเดินทาง ก็ได้รับทุนสนับสนุนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ในการไปจากแผ่นดินแม่ คือ ประเทศไทย มาเปิดหูเปิดตาในประเทศสิงคโปร์ ในยุคที่ตอนนั้นประเทศไทย มีข่าวยังเป็นกระแสโด่งดังเป็นประเด็นปัญหากับสิงคโปร์ กรณีอดีตนายกทักษิณ กับกลุ่มเทมาเส็กฯ

กระนั้น ผมเดินทางอยู่ไม่นาน เนื่องจากเงื่อนไขของทุน มีจำกัดระยะเวลา สามวันเท่านั้น ซึ่งความเป็นจริง ผมต้องมาที่สิงคโปร์ เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการ เป็นหลัก ไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวที่ไหนมาก นอกจากผมเดินวนเวียนในมหาวิทยาลัย ที่มีศักยภาพในระดับสูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้ผมรู้สึกว่ามีโอกาสร่วมรับฟังเวทีเสวนาวิชาการจากประเทศต่างๆ ช่วยให้ผมเปิดตัวเองสู่โลกกว้างอย่างสำคัญมาก และการมีอยู่ของเวลา ในการได้ออกไปเดินเล่นบนบาทวิถี ณ. สิงคโปร์ เพราะ เมื่อระลึกถึงการเดินทางสองปีก่อนผ่านไป มันเป็นโชคดีของผมมาก ที่ยังมีชีวิตอยู่หลังจากที่ เดือนกันยายน ก่อนวันที่ 9/9/2549 นั้น ตัวของผม มีอายุครบ 9,999วัน โดยผมอ้างอิงการคำนวณ จากโปรแกรมหมอดูในคอมพิวเตอร์ ครับผม

สัตว์สัญลักษณ์ของสิงคโปร์ อะไรเอ่ย ?...
การเดินทาง แบบบังเอิญๆ หรือว่า ชีวิตของคนเรา ก็หลีกไม่พ้นกรอบของเวลา สถานที่ และชะตาชีวิต ซึ่งเป็นกรอบแห่งการเดินทาง ทำให้ผมเดินสำรวจสิงคโปร์ ในมหาวิทยาลัยออกมาแล้ว พบเจอสิ่งน่าสนใจก็จังหวะของการกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ รวมทั้งงานนิทรรศการภาพถ่าย แล้ว คนอ่านคงเริ่มเข้าใจแล้วว่า การเดินทางอันไร้จุดหมาย เพื่อการท่องเที่ยวแบบทั่วๆไป จริงๆ เพราะว่าไม่นำพาชื่นชมสถานที่ท่องเที่ยวมากมายนัก และบ่งบอกถึง ที่กินอาหารอร่อยๆ กลับต้องมาอ่านเรื่องการเดินทางของผม ซึ่งเดินทางไปเองเกือบ A lone แต่ไม่เหงา บางครั้งก็ปัดผม จับเส้นผม ทำหัวและผมยุ่งๆเหยิงๆ ไม่ให้เส้นผมบังสายตามากเกินไป เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะไม่ได้พบภาพประทับใจเลย

หากว่าการเดินทางแบบบังเอิญ จะทำให้ตื่นเต้นบ้าง ก็คงเป็นเหมือนกับว่า ผมนึกถึงระหว่างทาง มีชีวิตอยู่ ก็คล้ายเพลง ทุกวินาที ให้อารมณ์ ที่มีความสำคัญกับเวลา เพราะว่า เพลง ทุกวินาที ของเจมส์... เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ อัลบั้ม ไซเรนเลิฟ โดยมีคุณค่าสำหรับ Somebody และผมชอบเพลงนี้มาก ในช่วงวัยรุ่น ฟังเพลงนี้ และรู้สึกถึงว่า ไม่มีวันหวนคืนกลับมา เอาเป็นว่า ผมมักไม่อยากหมกมุ่นกับอดีตมากเกินไป ก็บางครั้งดูรูปถ่ายเก่าเพื่อคิดถึงอดีต และพยายามคิดถึงอนาคต เพราะไม่สามารถมองเห็นอนาคตอันแน่นอน แต่ทว่า เมื่อไม่กี่วันก่อน ก็เป็นอีกครั้ง ที่มีเพื่อนของผม โทรมาหาผม ยังคงชวนผมไปทำงานที่มาเก๊า ก็ทำให้ผมวางแผนไว้ในใจเป็นเรื่องของอนาคต ครั้งที่สองถึงสาม ว่าจะไปมาเก๊า แวะเดินถนนคู่รัก แม้ว่าจะหาสาวถูกใจ เดินควงแขน จูงมือยังไม่ได้ก็ตาม และคิดจะเดินทางไปฮ่องกง ตามรอยสถานที่บางแห่ง ที่มีปรากฏในภาพยนตร์ สุดเหงากับความรัก Chungking Express (วันที่ 1 พฤษภาคม 1994 เธออวยพรวันเกิดให้ผม เหตุนี้เองที่ผมจะจดเธอไว้ในความทรงจำ หากจะเก็บมันไว้ในกระป๋องผมไม่อยากให้มันมีวันหมดอายุ แต่ถ้าต้องระบุก็ขอให้ความทรงจำที่ผมมีต่อเธอมีอายุ 10,000 ปี)…น่าไปเรียนรู้วัฒนธรรมเอเชียแบบจีน ผสมตะวันตก

เรื่องที่ผม ยกตัวอย่างภาพยนตร์ เพราะมองเห็น “ภาพ” เกี่ยวกับ Space and Time มาโชว์บรรยากาศแห่งการโหยหาอดีต เหมือนที่ ผมดูภาพยนตร์ หรือ หนังเรื่องเถียนมีมี่ 3650 วัน รักเธอคนเดียว บางฉากสถานที่ฮ่องกงถึงอเมริกา อยู่ในช่วงเวลานั้น (และไม่นานมานี้ ก็ดูหนัง Perhaps Love ของผู้กำกับคนเดียวกันที่ผ่านมา) และนึกถึง In The Mood for Love บางฉากสถานที่ฮ่องกง-สิงค์โปร์-กัมพูชา (Wong Kar Wai คือ ผู้กำกับคนเดียวกัน ซึ่งกำกับเรื่อง Chungking Express และวลีเด็ดในหนังหลายเรื่องของเขา เช่น นกไร้ขา )และอารมณ์แปลกๆ ในบางครั้งนำมาสู่การเขียน ทำให้ผมกลับมาสนทนากับตัวเอง ผ่านงานเขียนเก่าๆในความทรงจำ หลังจากเขียนเรื่องราวว่า ไว้อาลัยให้รุ่นพี่ ซึ่งเสียชีวิตไป เพราะอุบัติเหตุรถชนคน… จึงเขียนกลั่นประสบการณ์การเดินทางในสิงคโปร์ ผ่านภาพถ่ายในทุกวินาที ที่มีลมหายใจไปกับการเดินทาง ทั้งที่มีความปวดร้าว กับ ปวดหลังตามร่างกาย เหนื่อยล้า และเสียกำลังใจ บ้าง แต่ผมก็เคยเขียนๆบันทึกการเดินทางเพื่อให้กำลังใจตัวเอง มันก็เป็นพลังใจกลับมาหาตัวเอง จ้า



ผมเหมือนกับจะนำเรื่องเล่าเที่ยวไปยังไงก็ต้องกลับ และไม่ได้นำท่องเที่ยวที่แปลกประหลาดนัก ใครก็ไปกันได้ และพอกลับมาจากการเดินทาง นึกถึงช่วงแห่งความสุข ที่เราใคร่ครวญ กับวันเวลา แม้ผมจะปวดเมื่อย นั่งพิมพ์งาน บ้าง กับอ่อนล้า บ้าง แต่หยิบภาพเก่าๆ ออกมา ก็มีคุณค่า-ตัวเอง ได้ออกข้ามน้ำ ข้ามทะเลไป ก็คงไม่ให้เรื่องออกนอกทะเลไปไกลกว่าภาพถ่ายหรอก แล้วคราวหน้ามาลองฟังเรื่องบันทึกเวลากับภาพถ่าย และเรียนรู้อดีตเพื่อจะไปสู่อนาคต


ตอนที่ 2
เมื่อผมออกเดินทาง ในแต่ละก้าวของทางเดิน ซึ่งการบันทึกภาพถ่ายโดยถ่ายสถานที่ต่างๆ ทำให้เรามองเห็นโลกผ่านกล้องถ่ายรูป บันทึกภาพความเป็นจริงของสิงคโปร์ และประมาณสองปีก่อน ผมเจอลุงบุญเสริม สาตราภัย สุดยอดแห่งเจ้าของภาพถ่ายเก่าในเชียงใหม่ เขาสะสมรูปภาพเก่า ทั้งภาพถ่ายอดีต การนำรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นช้าง มาเดินโชว์ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้คนได้ชื่นชมรู้จักรัฐธรรมนูญ และยังมีภาพที่ลุงบุญเสริม ถ่ายเก็บไว้เอง อีกมากมาย ซึ่งผมก็มีโอกาสนทนา พูดถึงเรื่องสัญชาติญาณ ความรู้สึก ที่ได้อารมณ์ และจังหวะของการถ่ายภาพในฐานะนักถ่ายรูป

ผมประทับใจ จึงมีภาพสองภาพนำเสนอไปแล้ว ก็อยากนำเสนอจังหวะ ของการถ่ายภาพแล้ว ก็ต้องการบอกว่า คนบางคนรักหลงใหลการถ่ายภาพ และความรักเป็นเรื่องของจังหวะเวลา ไร้ประโยชน์หากเราเจอรักแท้ช้าหรือเร็วเกินไป เป็นคำพูดของตัวละคร ที่ปรากฏในเรื่อง 2046 โดย Wong Kar Wai (ผู้กำกับคนนี้อีกแล้ว ) สำหรับผมเรื่องการบันทึกภาพไม่ชัดเจน ดูเบลอๆ ของสองภาพนี้ คือจุดเริ่มต้น ของเรื่องราวทั้งหมดของการเดินทางเพื่อบันทึกภาพที่นั่นก็ได้



โดยผมนึกขึ้นมาได้ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนพร้อมกับการสนทนากับคนในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ว่า ภาพถ่ายก็บันทึกเวลา และในตัวมันเองภาพถ่ายบันทึกวัตถุ เช่น ถ่ายภาพรถยนต์กำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ก็จะเห็นว่า มีเส้นและแสง-เงา ที่เกิดขึ้นจากการถ่ายภาพ ตามหลักฟิสิกส์นั้น เมื่อเห็นภาพถ่ายย่อมบันทึกเวลาไปในตัวมันเอง และการพัฒนากล้องถ่ายรูป มันมาพร้อมหลักการวิทยาศาสตร์ ให้ตัวกล้อง มีที่วัดแสง ต่างๆ จนกระทั่งการทำงานแบบกล้องดิจิตอล เหมือนการบันทึกภาพ สะท้อนข้อเท็จจริง ตามที่กระจกส่องหน้าของเรา

กระนั้น ผมนำเสนอภาพถ่าย สองภาพนั้น เพื่อบอกถึงการเดินทาง อย่างที่ มันควรจะเป็นไปได้ของชีวิต ที่มีการเดินทางของคนเรา และถ่ายภาพบันทึกความจริงไว้ ขณะที่เดินทางเพื่อถ่ายภาพ ผมใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด แบบรีบเร่ง รวดเร็ว แต่ว่าผมถ่ายเวลาอาจจะได้ ส่วนเสียงเพลงไม่มีถ่ายภาพ หรือถ่ายภาพนักดนตรีเป็นตัวแทน ผมแค่ฟังเสียงเพลงในใจ และลมหายใจของผม ก็ลองมา สัมผัส ตามอารมณ์ร่วมในสิงคโปร์ ผ่านมุมมองของกล้องถ่ายภาพบันทึกอดีตกับผม มาร่วมขอให้ช่วงเวลาแห่งการหวนคืนในความทรงจำอันเบาหวิว ก่อนมันจะเลือนหาย…
…ถนนตึกรามทางเท้าในสิงค์โปร์….
ถ้าผลงานภาพ จะหายไป ทำให้เรา เกิดนึกจินตนาการไปก่อนบางอย่างจะหายไปว่า ภาพถ่ายเหมือนกระจกเงาสะท้อน/เงาในกระจก และตัวเรามีบันทึกภาพถ่ายอาจจะสร้างจินตนาการภาพต่อตัวเรา และสถานที่กลายเป็นเรื่องเล่าใหม่ๆ เพิ่มเติม นอกจากภาพที่ปรากฏเห็นแล้ว บันทึกสถานที่ และตัวเรา จะเพ่งภาพ กระจกเงา ซึ่งภาพถ่ายหลายต่อหลายครั้ง มีการเถียงกัน ในวงเหล้าเพื่อนฝูงกัน เรื่องความรู้ ทางศิลปะบ้าง ฯลฯ

แต่ สิ่งสำคัญคงต้องเรียกได้ว่า ความรู้ และการแสวงหาความรู้ มีหลายรูปแบบ ดังที่ลุงบุญเสริม ช่างภาพ นำเสนอจากสัญชาตญาณ นักปรัชญา ชื่อว่าแบร์กซอง ก็เคยเสนอว่า นี้เป็นการแสวงหาความรู้ วิธีหนึ่งของมนุษย์ โดยการใช้สัญชาตญาณ หาความรู้ และการถ่ายภาพ สะท้อนวิธีการใช้ความรู้มาสร้างเครื่องบันทึกภาพ ทั้งที่ความจำกัดของเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการสะท้อนภาพตัวเอง จากกระจก ช่วยให้คนมาสร้างวาดรูปบันทึกภาพจิตรกรรมตัวเองได้เหมือนจริงมาก เช่น ในผลงานจิตรกรรมยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์

เมื่อผนวกกับความแพร่หลายของ “กระจกเงา” จากโลกตะวันตกในช่วงดังกล่าว ทำให้ความคิดเกี่ยวกับ ”ตัวตน” และความรับรู้เกี่ยวกับ “ความจริง” เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ชนิดที่เทียบเคียงได้กับการปรากฏขึ้นของคอมพิวเตอร์ในสังคมสมัยใหม่ทีเดียวโดยเฉพาะว่าด้วย “ภาพสะท้อนของกระจก” และ “การมอง” นี้ ในจิตรกรรมฝาผนังและการประดับตกแต่งภายในพระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม อันถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของศิลปะแบบ “พระราชนิยม” ในรัชกาลที่ 3 ที่มีวัฒนธรรมแบบตะวันตก และวัฒนธรรมของจีน ศิลปกรรมรุ่งเรืองผ่านทางการค้ายุคเรือสำเภา เป็นต้น
….ภาพแทนคำพูดนับพันคำ…..
จนกระทั่ง ต่อมาลักษณะวัฒนธรรมความเป็นจีน ทางศิลปะลดน้อยลง ในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ยกตัวอย่างจิตรกรรม และประดิษฐกรรม สร้างสรรค์ของมนุษย์ เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง โดยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ยุครัชกาลที่ 5 ก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม ซึ่งมีภาพอาคารกุฎิสงฆ์วาดอย่างตึกแบบสิงคโปร์ ก็มีให้เห็นอยู่ในพัฒนาการภาพเขียน จิตรกรรมฝาผนัง ถ้าคนได้รับอิทธิพลภาพถ่าย นำมาสร้างสรรค์เป็นรูปจิตรกรรมในวัด

เมื่อใบหน้าเราสะท้อนในกระจกเงา มองเห็นตัวตน การพยายามเรียนรู้ความเป็นมารากเหง้าของเรา เช่น ตัวตนของผม มีเชื้อจีน ก็มีอากง เสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็รับประสบการณ์ รำลึกความหลังไม่ลืม โดยการไปเคารพฮวงซุ้ย(สุสาน) ขณะเดียวกันผมก็ได้ข่าวอาหม่าของผม อายุเกือบเก้าสิบปี กำลังป่วย ซึ่งทำให้ความรู้สึก ระหว่างที่เขียนว่า มีความสำคัญต่อการออกเดินทางเพื่อไปเยี่ยมเยือนอาหม่า…และความเป็นมาของการเดินทาง แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เพียงเที่ยวดูสถานที่ก็ได้ ภาพถ่ายเป็นสัญลักษณ์ของคน ชวนให้ตีความได้ และช่วยสะท้อนเหมือนกระจก ให้เห็นธรรมชาติ มากกว่าเรื่องเทคนิค การถ่ายภาพ ที่มีทฤษฏีมากมาย

แต่ว่าสิ่งที่เรา จะเรียนรู้ ที่ห้องอัด ห้องล้างรูป แล้ว นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญ คือใจ นั่นเองบางที มนุษย์ มักสนใจ อะไรกับการถ่ายภาพ ตามกรอบมาตรฐาน หนึ่งๆ มักลืมอีกกรอบหนึ่งๆ ซึ่งอาจจะซ่อนความงามอีกแบบหนึ่ง ทั้งที่เราอาจจะมองไม่เห็น เพราะว่ามันเป็นความงาม ที่มีความเป็นส่วนตัวของแต่ละคน และเรื่องความงามเป็นคนละอย่าง โดยมีความรู้ การอธิบายความงาม คนละชนิด คนละกรอบกัน....

อนึ่ง บางครั้งการค้นหา ความทรงจำ หรือกลิ่น ในประสบการณ์ ดังที่ลุงบุญเสริม เล่าให้ฟัง เขาถ่ายภาพรูปนั้น แต่เขาจำกลิ่นได้ด้วย เมื่อเราเดินทางไปไหน สิ่งที่ไม่ควรแบกไป ก็คือ สิ่งที่เราคิดว่า เป็นเครื่องมือ กล้องดีเลิศ ประเสริฐศรี ด้วยเทคนิค (ใจ) ของเราเอง สำคัญกว่าอื่นใด แม้ว่ารูปภาพจะยัง ไม่พัฒนาไปบันทึกกลิ่น....แต่ว่าภาพได้บันทึกความทรงจำให้เราทบทวนไม่ให้หลงลืมจากความชรา และภาพถ่ายยังช่วยให้เราโหยหาอดีตได้ เพราะว่าภาพถ่าย บันทึกแสง...สี...ธรรมชาติตามความเป็นจริงไว้เรียบร้อย ดังนั้น ภาพแทนคำเป็นร้อยเป็นพันคำ แล้วผมจะพูดถึงภาพอื่นๆ ต่อไป….


























ตอน ที่3(จบ)

วันนี้ ผมเริ่มงานเขียนด้วยความรู้สึกไม่ดีเท่าไหร่ ไม่ใช่ปัญหาอากาศหนาวที่นี่ ในจังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น แต่ว่าผมเพิ่งเดินทางกลับมาจากบ้าน เพราะว่า ผมไปร่วมงานศพ และพิธีขนโลงศพของอาหม่าลงฮวงซุ้ย(สุสาน หรือบ้าน เป็นตัวแทนอนุสรณ์สถาน) อยู่เคียงคู่กับอากงของผม และเนื่องจากผม สัมผัสความรู้สึกความเป็นเอเชีย ผ่านภาพยนตร์ ที่มีภาพเคลื่อนไหว คือดูหนังมากเกินไป จนปวดดวงตา และเริ่มเขียน ระลึกถึงความทรงจำครั้งหลังที่สิงคโปร์ ผ่านมุมมองของภาพยนตร์ มีชื่อว่า Christmas in August เป็นภาพยนตร์เกาหลีใต้ ที่มีความน่าสนใจเกี่ยวกับชีวิต

ใช่ครับ จากชื่อของภาพยนตร์ คริสต์มาส ในสิงหาคม อ่านชื่อเรื่อง ซึ่งแปลตรงๆได้ใจความง่ายๆ แล้วคงแปลกใจ เพราะว่า ชื่อเรื่องชวนปริศนาแห่งการตีความว่า การดำเนินเรื่องเกี่ยวกับในช่วงสิงหาคม ไม่ใช่ช่วงเดือนสำหรับคริสต์มาสตามปกติ ซึ่งหากได้ดูภาพยนตร์กันแล้ว ภาพสื่อถึงความหมายของภาพยนตร์นำเสนอ เรื่องเกี่ยวข้องฤดูกาลในช่วงความหนาวเย็น และทุกลมหายใจของคน สะท้อนคุณค่าของชีวิต ที่ยังอยู่ หรือตายไปแล้ว โดยสำคัญ เท่ากับ การที่ว่า คุณอยู่เพื่อใคร และตายเพื่อใคร ซึ่งพระเอกของภาพยนตร์ แสดงออกความเป็นลูกกตัญญู และถ่ายทอดความรักของเขาออกมาเป็นรูปภาพตัวเองก่อนตาย ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และต่อมานางเอก มาค้นพบภาพถ่ายของพระเอกวางอยู่หน้าร้านถ่ายรูป และคำถามของหนังได้ตั้งย้อนไป ย้อนมา เสมอๆ ถ้าคุณพร้อมที่จะอยู่มีชีวิตแบบตายทั้งเป็น โดยไม่ได้ทำเพื่อใครเลยได้หรือไม่...

ในภาพยนตร์นี้ พระเอกเป็นช่างภาพ เจ้าของร้านถ่ายรูปแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ ท่ามกลางบรรยากาศของเวลาและฤดูกาล ตามธรรมชาติ... ผมอยากเขียนเป็นภาษาพูดบรรยายว่า เอางี้หละกัน ง่ายๆ หากคุณ นึกถึง ใคร ที่มีนัยยะ ช่างภาพถ่ายภาพเก่า และเก็บภาพเก่า ผมก็นึกถึงลุงบุญเสริม สาตราภัย ขึ้นมาทันที คนถ่ายภาพเก่าของเชียงใหม่อีกจนได้ เหมือนกับตอนที่แล้ว จะหาว่าผมจะเล่าซ้ำซากๆไม่ได้ น่ะครับ มันมีความสำคัญมาก เพราะว่า ภาพเก่า คือการกลับสู่อดีตทางความรู้สึกของผม ต่อการเดินทางในสิงคโปร์

โดยจินตนาการบางอย่างเกี่ยวกับอดีต ก็ดูรูปเก่าของวัยรุ่น ยุคภาพสี แตกต่างจากยุคถ่ายภาพขาว-ดำ และระบบดิจิตอล ใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยปรับแต่งภาพได้ด้วย สะท้อนเห็นถึงความแตกต่างรูปถ่ายกับจิตรกรรม ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมา แล้วภาพถ่าย ก็เป็นต้นแบบแก่การวาดภาพจิตรกรรม ตามวัดทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และความหมายของการสร้างงานศิลปะ ก็มีการถ่ายภาพ ที่มีการแสดงออก ลักษณะความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่เกิด จนตาย ในสถานที่ต่างๆ เช่น วัด และสุสาน อาคารสมัยใหม่ ต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยี ก็ช่วยเก็บรักษาภาพถ่าย และนำมาแสดงผ่านทางอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ให้เราได้นำออกมาโชว์ให้ปรากฏแก่สายตาของผู้ชมภาพ

เมื่อเราจะตายจากโลกนี้ไป ไม่สามารถเก็บอะไรไว้ได้ คุณอาจจะหลงเหลือเพียงภาพถ่ายให้คนอื่นดูภาพนั้น และ เราจะคิดถึงคนที่ตาย จะเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ต่อไป โดยไม่ลืมว่าจะเตรียมตัวตายอย่างมีสติ ดังนั้น บางคนอาจจะถ่ายรูปตัวเองไว้ก่อนตาย สำหรับประดับงานศพ เหมือนกับในภาพยนตร์ดังกล่าว เพื่อบันทึกความทรงจำ… ทั้งที่เทคโนโลยีเราพัฒนาไปมาก แต่ว่าการสื่อสารก็ยังเข้าใจได้อยาก เรามีเครื่องมือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งประกอบด้วยกล้องในตัวมือถือเอง มันเป็นเครื่องมือเหมือนกับกระจก ช่วยสื่อภาพ และความคิดผ่านคำพูด แต่ว่า เวลาแห่งการสื่อสารไม่ง่ายดายเลย เพราะว่า ความคิดของเด็กกับผู้ใหญ่ ก็แตกต่างกัน ทั้งเรื่องความคิดทางเวลา เด็กกับผู้ใหญ่ เวลาของผู้ใหญ่ผ่านไปเร็วกว่าของเด็ก หรือว่า เวลาของเด็กช้ามาก

ในเวลาการเดินทางของผมเดินเล่นๆ ไปเรื่อยๆ ระหว่างการเดินทางในสิงคโปร์ขึ้นอยู่ กับการประจวบเหมาะของจังหวะแห่งภาพ ที่ผมอยากจะนำเสนอ แตกต่างจากที่นิทรรศการของโรงละคร ESPLANADE PRESENTS VISUAL ARTS "UNFHOTOGRAPHABLE" (เขาเขียนตัวใหญ่ๆอย่างนี้แหละๆ ลองแปลเล่นๆ เอาเอง) ที่ผมเขียนถึงในตอนที่แล้ว หัวใจแห่งการเดินทาง ภายใต้ความเป็นคนนอก ต่อนิทรรศการนี้ ก็พลังของชีวิตได้ขับเคลื่อนให้ ผมไปที่นั่น หลังจากที่ผมพบผ่านวันที่ 6/6/2006 อันเลวร้าย ซึ่งช่วงชีวิตกับภาพชีวิตของผม กับนิทรรศการภาพบรรจบกันที่นั่น ภาพแต่ละภาพในนิทรรศการต่างก็มีความหมาย และเทคนิคการถ่ายภาพของทุกคน ก็มีความลับ หรือแทนความชั่วร้าย-ดีงาม เหมือนกับสีสันภาพถ่ายขาว(ดี)-ดำ(ชั่ว)...

บางครั้งสิ่งสำคัญ การถ่ายภาพของผม มันไม่ใช่แค่เครื่องมือ ที่มีความทันสมัย กล้องถ่ายภาพของผม ไม่อาจบันทึกเสียงได้ แต่ว่าหากมันได้ถ่ายภาพวงดนตรีแล้ว ผมก็ถือว่ามีเสียงบันทึกอยู่ในนั้น และขณะผมอยู่ในสิงคโปร์ก็ไม่มีกล้องถ่ายภาพมือถือ บันทึกเสียง คลิปวิดีโอใช้ได้เลย วันแรกก่อนขึ้นเครื่องบินออกจากประเทศไทย ผมยังเจอคนไทย และพูดคุยกัน บางคนไม่เคยข้ามพรมแดนออกนอกประเทศ และจะเข้ามาทำงานสิงคโปร์ก็ถามพูดคุยกับผม ส่วนผมก็เจอสาวๆ คนไทยจะไปเที่ยวสิงคโปร์ ระหว่างจะขึ้นเครื่องบิน เราสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน ไม่เกิดอาการ Lost In Translation ระหว่างคนไทยด้วยกัน และน่าเสียดาย ผมไม่ได้บันทึกภาพ นักเดินทางเหล่านี้ไว้สื่อให้คนอ่านเลย

จากภาพถ่าย ซึ่งผมไม่ได้ถ่ายภาพไว้ ด้วยจังหวะไม่เอื้ออำนวย มันมีคุณค่าอะไรมากกว่ารูปภาพ ที่มีการหยิบจับขึ้นมาดูรูปนั้น หากเราจะใช้ภาพถ่ายเพื่อตามหาคนในรูปภาพ เพื่อการค้นพบกัน และเมื่อผมหลงทาง กลางคืนในระหว่างทางกลับจากท่องเที่ยว และบังเอิญเจอสาวสิงคโปร์ ก็ถามทาง โดยผมพูดกับเธอ แล้วเธอถามผมกลับมาเป็นภาษาอังกฤษว่า คุณ สามารถพูดจีน หรือ ภาษาอังกฤษ ผมเกิดอาการอึ้งไปชั่วขณะ คิดในใจว่า Lost In Translation แล้ว ผมพูดถามทางต่อ จนกระทั่ง ผมทราบว่าจะไปทางไหนกลับที่พักได้

ในข้อมูลหนังสือเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับที่ผมเปิดอ่านเจอนานพอสมควรแล้ว กล่าวถึง ความทรงจำภายในและภายนอก เกี่ยวข้องทางจิตวิทยา เช่น กลิ่นทำให้นึกถึงความทรงจำ ภาพถ่าย ปฏิทิน หนังสือ โดยในความทรงจำของแต่ละคน ก็เปรียบเทียบวันเวลา ดั่งรสชาติเค้กในหนังสือ รีเมมเบอร์ออฟทิงส์พาสต์ ที่ทำให้จิตของมาร์เซล์ พรูสต์ ย้อนเวลาได้ แค่การพูดถึง ก็ทำให้คนเราคิดถึงอดีตโดยไม่รู้ตัว(จิตไร้สำนึก ในสมองทำงาน)

ผมคิดว่า เรามีบาปไม่ลืมเช่นเดียวกัน เมื่อทหารอเมริกา เข้าไปรบในเวียดนาม ก็มีบาปจดจำไม่รู้ลืม โดยสิ่งสำคัญ มีอยู่ว่าบาปนั้น ทำให้มองไม่เห็นประโยชน์ของการลืม ดังที่ ฮอร เฮ ลูอิส เบอร์เฮส (นักเขียน) พูดถึงชายหนุ่ม มีปัญหาเขาจำทุกอย่างได้ และไม่สามารถลืมได้ เขาไม่อาจแยกแยะเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ จัดลำดับความสำคัญ สรุปความได้ เขาไม่อาจสรุป Idea รวบยอดได้ ในเรื่องต่างๆ ได้ บอร์เกส สรุปว่า การลืมต่างหากที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ หาใช่จดจำไม่ และการคิด คือ การลืม ใน“เดอะบุ๊ค ออฟเมโมรี”…

กระนั้น ผมรื้อฟื้นความทรงจำกลับมาเขียน ถึงการเดินทางในสิงคโปร์ๆ อยากจะบอก ว่า เราดูละครทีวี เช่น หมวยอินเตอร์ หรือดูภาพยนตร์ แล้วเราก็เหมือนกับการท่องเที่ยวดูวัฒนธรรม และสถานที่ ต่างๆ รวมทั้งการเข้าวัด ในยุคสมัยก็เป็นการเที่ยวงานวัด แต่ว่าไม่ใช่แค่การเดินทางท่องเที่ยวเท่านั้น สำหรับบางคน ที่มีการเข้าวัดทางพระพุทธศาสนาเพื่อธรรมะ ส่วนเรื่องการเดินทางของแต่ละคน มันเป็นเรื่องความหมายทางวัฒนธรรมเอเชีย เช่น ภาพยนตร์ เรื่อง Chungking Express ซึ่งผมกล่าวถึงในตอนที่แล้ว คำว่า Express (แปลได้หลายแบบว่า แสดงความรู้สึก หรือขบวนรถไฟพิเศษ) ในคนเราหลากหลาย มีเป้าหมาย และสถานีปลายทางของการเดินทาง ไม่เหมือนกัน และก็ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์เรื่อง 2046 ของ Wong Kar Wai ผู้กำกับคนเดียวกันอีกเหมือนที่ผมกล่าวถึงตอนที่ผ่านมาว่า เกี่ยวกับการเดินทางขึ้นขบวนรถไฟ ที่มุ่งสู่ปลายทาง 2046 จะมีโอกาสย้อนสู่ความทรงจำแห่งอดีตที่สูญหายของตน เมื่อผมคิดว่าอะไร คือ ความหมายของรักและการถูกรัก…

เรื่อง 2046 เข้ามาในความรู้สึกของผม ซึ่งเรื่อง 2046 นั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่ใช้ความพยายามจะลืมเรื่องที่เกิดขึ้น ในอดีต และฝังความทรงจำที่ตัวเขาเองไม่อาจจะลืมมันลงได้ เป็นสิ่งที่เขาต้องแบกรับมันและอยู่กับมันตลอดมา ซึ่งทำให้มันเกือบเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป… เพราะว่า วิถีชีวิต ต้องดำเนินต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในลักษณะสังคมไทย ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตก และจีน ในความหลากหลายของอัตลักษณ์คนไทย จะมีร่วมยุคสมัยกับสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฯลฯ และเราก็หลงลืม และปฏิเสธ รับวัฒนธรรมบางอย่างไป ในการปรับเปลี่ยนของชีวิต จึงมีพิพิธภัณฑ์ ก็สะท้อนความเป็นวัฒนธรรมของเรา เช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของไทย และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ ก็มีความเป็นมาเกี่ยวข้องความเป็นชาติของเขา แต่ว่าผมไม่ได้บันทึกภาพไว้ การเดินทางของผม ไม่ได้เป็นการถ่ายภาพ แนวเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก และผมสนใจสัญลักษณ์บางอย่างของสิงค์โปร์ เช่น เมอร์ไลออน หรือ สิงโตทะเล เท่านั้น

แต่เรื่องของสิงโตทะเล ก็ยาวมากเกินกว่าจะอธิบายหมด กล่าวข้อมูลไม่ยาวๆ นักว่า สิงโตทะเล ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคณะกรรมการการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board - STB) ในปี 1964 – รูปปั้นนี้มีหัวเป็นสิงโต ร่างเป็นปลา ยืนอยู่บนยอดคลื่น ต่อมาไม่นานทั่วโลกก็ถือกันว่าสิงโตทะเลตัวนี้คือเครื่องหมายประจำชาติสิงคโปร์

แต่เดิมรูปปั้นนี้ตั้งอยู่ที่สวนสิงโตทะเล (Merlion Park) ข้างๆสะพานเอสพลาเนด (Esplanade Bridge) แม่สิงโตและลูกสิงโตได้กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว มีการจัดพิธีติดตั้งสิงโตทะเลในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1972 โดยมีประธานในพิธีคือนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ณ เวลาดังกล่าว ซึ่งก็คือ นายลี กวน ยู ซึ่งสิงโตตัวนี้สูง 8.6 เมตร มีน้ำหนัก 70 ตัน ทำจากวัสดุจำพวกซีเมนต์ โดยช่างฝีมือชาวสิงคโปร์ผู้เสียชีวิตไปแล้วที่ชื่อนายลิมนังเซ็ง ส่วนรูปปั้นสิงโตทะเลตัวที่สองจะมีขนาดเล็กกว่า ขนาดสูงสองเมตรและหนักสามตัน ก็ถูกสร้างขึ้นโดยนายลิมเช่นกัน ตัวสิงโตทำจากวัสดุจำพวกซีเมนต์ ผิวหนังทำจากแผ่นกระเบื้อง และตาทำจากถ้วยชาสีแดงขนาดเล็ก

ผู้ออกแบบคือนายฟราเซอร์ บรูนเนอร์ (Mr Fraser Brunner) เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแวนคลีฟ หัวรูปปั้นเป็นสิงโตหมายถึงสิงโตที่เจ้าชายซางนิลาอุตามะเคยเห็นตอนที่พระองค์พบเกาะสิงกะปุระในปี ค.ศ. ที่ 11 ตามบันทึกของชาวมาเลย์ ส่วนหางที่เป็นปลาคือสัญลักษณ์ของเมืองโบราณเทมาเซ็ค (หมายความว่า "ทะเล" ในภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งสิงคโปร์ถูกค้นพบมาแล้วก่อนที่เจ้าชายนิลาจะตั้งชื่อเกาะนี้ว่า "สิงกะปุระ" (หมายความว่า "สิงโต" (สิงห์) และ "เมือง" (ปุระ) ในภาษาสันสกฤต) นอกจากนี้ สิงโตทะเล หมายถึงจุดเริ่มต้นอันต่ำต้อยของสิงคโปร์ ที่ในอดีตเคยเป็นหมู่บ้านชาวประมง (เช่นเดียวกับเกาะฮ่องกง)

ผมไม่มีความคิด ตีความสัญลักษณ์ หรือใช้ทฤษฎี visualizing และแนวทางการมองภาพถ่ายเป็นตัวบท เรื่องเล่าอะไรเชิงวิชาการ ผมไม่ได้คิดอะไรๆมากมาย มันเป็นเพียงบันทึกความทรงจำของผู้ชาย คนหนึ่งถ่ายภาพระหว่างทางเพื่อไม่ให้หลงลืม การมาเรียนรู้เรื่องราวทางวิชาการโดยตัวของผมมาเอง เพียงคนเดียวในต่างประเทศ และเดินทางชื่นชมสิงคโปร์ เท่าที่ผมจำได้ว่า เดินผ่านอาคารโรงละคร Esplanade ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ กับ สถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำ บริเวณพื้นที่ริมน้ำ ได้แก่ Clarke Quay, Boat Quay ย่านไชน่าทาวน์ (China Town ผมเห็นรอยประทับฝ่ามือดาราฮ่องกง) ย่านชอปปิ้ง บนถนน Orchard และร้านหนังสือ ต่างๆ

แม้ว่า ผมไม่มีเวลาเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งผมก็ยังรู้สึกดีได้ออกมาข้างนอกมหาวิทยาลัย ก็ขอบคุณ นักวิชาการ คนหนึ่ง เขาพาผมท่องเที่ยวชมสิงคโปร์ (เขาขอให้เป็นความลับ ดังนั้น ผมไม่เปิดเผยชื่อ น่ะ ครับ) โอ้โห ไม่งั้น ผมคงลำบากกับการเดินทาง แม้ว่าจะพกแผนที่สิงคโปร์มาจากเพื่อนคนหนึ่งในไทยแล้ว ผมก็อาจจะเดินมึนงงอยู่คนเดียวนั่นเอง ซึ่งผมเดินบนถนน ได้เห็นประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ จีน มาเลย์ อินเดีย และผมพบเพื่อน ใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เช่น รูมเมทของผม ซึ่งเขาเป็นอาจารย์ อยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ และไม่มีปัญหาในการนอนหลับพักผ่อน ด้วยเสียงกรน ครอกๆ แหะๆ (ล้อเล่น)

ก่อนผมจะไปขึ้นเครื่องบิน กลับไทยแลนด์ ก็นั่งรถแท็กซี่ร่วมทางไปสนามบินกับนักวิชาการกัมพูชา (ไม่ได้วางแผนการณ์เรื่องเขาพระวิหาร กันหรอก น่ะครับ ) โอกาสทุกๆอย่างของการเดินทาง เกี่ยวกับการเรียนรู้ ตัวเอง เพื่อน และแสดงออกมิตรภาพ เหมือนกับอยู่ในครอบครัว ญาติ พี่น้อง ของเรา ได้เรียนรู้สถานที่ เวลาในการเดินทางท่องเที่ยวกับผู้คน




ในที่สุด ผมขอให้คนอ่าน มีความสุข ที่แวะเข้ามาเลือกอ่านคอลัมภ์ของผม ดูภาพและข้อเขียน มองเห็นศิลปะความงดงามของภาพถ่ายแห่งชีวิต ผมหวังว่าคนอ่านเปิดใจให้กว้าง ผมอาจจะไม่ได้นำเสนอการท่องเที่ยวค้นพบสิ่งยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไทม์แมชชีน หรือ หลุมดำ และผมไม่ได้ถ่ายภาพ เพื่อพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์อันน่าตื่นตาก็ตาม แต่ว่าการเดินทางของผม มีการค้นพบ คือ ความจริงอันเป็นสุขกับการเดินทางในสิงคโปร์ น่ะครับ !!!…